การประยุกต์ใช้ Data และ AI ของแต่ละประเทศ แต่ละบริษัทก็มีวิธีแตกต่างกันไป สำหรับประเทศญี่ปุ่น ในฐานะที่เป็นผู้ให้บริการรถไฟเบอร์ต้น ๆ ของโลก และมีรางรถไฟทอดยาวนับพันกิโลเมตรทั่วประเทศ ผู้ให้บริการรถไฟในภาคตะวันตกอย่าง West Japan Railway หรือที่เรามักเรียกกันติดปากว่า JR West ก็ได้หาแนวทางที่เหมาะสมกับตนเองออกมาเช่นกัน
JR West เลือกจับมือกับ NTT Data พัฒนาโซลูชันจับความผิดปกติของรถไฟชินคันเซ็นจาก “เสียงของการเดินรถ” โดยใช้ AI ในการวิเคราะห์ วิธีการคือนำไมโครโฟนคุณภาพสูงไปติดตั้งบริเวณริมรั้วกั้นทางรถไฟเป็นระยะ ๆ (แต่ละจุดห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร) โดยทำงานร่วมกับกล้องและเซนเซอร์ เมื่อรถไฟชินคันเซ็นวิ่งผ่านมา เสียงจะถูกส่งผ่านไมโครโฟนเข้าไปให้ AI วิเคราะห์ หาก AI จับความผิดปกติได้ จะมีการแจ้งเตือนไปที่ผู้มีอำนาจสั่งการ เพื่อตัดสินใจว่าจะหยุดการเดินรถขบวนนั้นหรือไม่
การที่ JR West พัฒนานวัตกรรมดังกล่าว ส่วนหนึ่งมาจากเหตุการณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2017 เมื่อมีการตรวจพบว่ารถไฟชินคันเซ็นขบวน Nozomi No.34 ที่วิ่งจากสถานีฮากาตะ (จังหวัดฟุกุโอกะ) มายังกรุงโตเกียว มีกลิ่นเหม็นไหม้ และมีเสียงผิดปกติ โดยพนักงานที่ควบคุมรถไฟสังเกตความผิดปกตินี้ได้ตั้งแต่ตอนที่รถไฟจอดที่สถานีโคคุระ (หรือเพียง 20 นาทีนับจากออกจากสถานีฮากาตะเท่านั้น)
เมื่อทราบปัญหา ทาง JR West ได้เตรียมทีมช่างเพื่อเข้าแก้ไขที่สถานีโอคายาม่า แต่เสียงผิดปกติก็ยังไม่หายไป ซึ่งทางผู้มีอำนาจตัดสินใจอนุมัติให้รถไฟขบวนนี้ออกเดินทางต่อ เนื่องจากเห็นว่ารถยังสามารถวิ่งได้ด้วยดี กระนั้น กลิ่นไหม้ยังคงมีอยู่เมื่อรถไฟวิ่งมาถึงสถานีเกียวโต (เวลาประมาณ 16.20 น.) หรือเท่ากับวิ่งมาแล้วประมาณ 3 ชั่วโมง แต่รถไฟขบวนดังกล่าวก็ยังไม่หยุดวิ่ง จนไปถึงสถานีนาโงย่า ถึงได้พบว่าตู้รถไฟตู้หนึ่งมีรอยแตกที่อาจก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงได้ ทาง JR West จึงตัดสินใจหยุดรถขบวนดังกล่าว และถ่ายโอนผู้โดยสารประมาณ 1,000 ชีวิตไปยังรถไฟขบวนอื่นแทน
แม้พระจะคุ้มครองให้ไม่มีใครเป็นอะไร แต่จะเห็นได้ว่า การปล่อยให้ตัดสินใจโดยใช้สายตา หรือสัญชาตญานมนุษย์ต่อไปนั้น ก็อาจจะไม่ได้โชคดีเหมือนกรณีนี้ไปทั้งหมด ด้วยเหตุนี้ แทนที่จะเข้าบำรุงรักษารถไฟ – รางรถไฟด้วยวิธีเดิม ๆ JR West จึงตัดสินใจปรับเปลี่ยนไปสู่การใช้ AI โดยมองว่า โซลูชันที่คิดค้นขึ้นมานั้น จะช่วยให้การบำรุงรักษารถไฟของบริษัททำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตรงจุดมากขึ้น และมีต้นทุนต่ำลง โดยมีการประเมินกันว่า อาจลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าได้ประมาณ 500 ล้านเยน หรือประมาณ 142 ล้านบาท ภายในปี 2030 (ปัจจุบัน รถไฟของ JR West ให้บริการเป็นระยะทางกว่า 5,000 กิโลเมตรในภูมิภาคตะวันตกของญี่ปุ่น)
ใช้ Data วิเคราะห์การขายตั๋วในโกเบ
นอกจากใช้ AI ในการตรวจสอบความผิดปกติของรถไฟแล้ว JR West ยังเริ่มนำระบบ Data Analytics ไปวิเคราะห์การทำงานของตู้ขายตั๋วรถไฟอัตโนมัติในย่านโกเบด้วย โดยในทุก ๆ เช้า ข้อมูลการขายตั๋วจะถูกส่งเข้ามาที่เซิร์ฟเวอร์เพื่อวิเคราะห์ว่ามีความผิดปกติใด ๆ หรือไม่ และ JR West ก็ใช้ข้อมูลนี้ในการคาดการณ์โอกาสที่ตู้ขายตั๋วจะทำงานผิดพลาดได้ด้วย ซึ่งจะทำให้บริษัทส่งทีมช่างเข้าไปแก้ไขได้ล่วงหน้า โดยไม่กระทบกับการขายตั๋วโดยรวม
ระบบ Data Analytics นี้ ยังทำให้ทาง JR West สามารถยืดเวลาการซ่อมบำรุงตู้ขายตั๋วอัตโนมัติและเกทที่ใช้ในการเก็บตั๋วออกไปได้หนึ่งเท่าตัว จากทุก ๆ 3 เดือนเป็น 6 เดือน ซึ่งจากประสิทธิภาพของระบบที่กล่าวมา JR West มีแผนจะเปิดใช้ระบบ maintenance ตัวใหม่ที่เชื่อมโยงกับ Data Analytics อย่างเป็นทางการ ในช่วงฤดูใบไม้ผลิปีนี้
AI ทดแทนการขาดแคลนแรงงาน
ที่สำคัญ นี่อาจเป็นหนึ่งโซลูชันที่ช่วยให้ JR West ยังเดินหน้าต่อไปได้ท่ามกลางสถานการณ์ขาดแคลนแรงงาน หลังมีการเปิดเผยว่า ในอีก 4 ปีข้างหน้า พนักงานของ JR West ราว 4,000 คนที่ทำงานในตำแหน่งวิศวกร นายสถานี พนักงานซ่อมบำรุง จะเกษียณอายุ หรือคิดเป็น 20% จากพนักงานทั้งหมด 19,000 คน ซึ่งการขาดแคลนพนักงานยังมีผลอย่างมากต่อการซ่อมบำรุงรางรถไฟ เนื่องจากงานดังกล่าวต้องทำในเวลากลางดึกหลังจากรถไฟเลิกเดินรถแล้วเท่านั้น
ด้วยเหตุนี้ ในระหว่างปี 2020 – 2022 ทาง JR West จึงมีการลงทุนอีกก้อนที่ใหญ่ไม่แพ้กัน นั่นคือ การสร้างอุปกรณ์บำรุงรักษารางรถไฟใหม่มูลค่า 11,700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อช่วยให้เปลี่ยนรางได้เร็วขึ้น 30%
ประกอบกับทางบริษัทพบข้อมูลที่ว่า ในช่วงปี 2013 – 2018 จำนวนผู้โดยสารที่มาใช้สถานีโอซาก้าในตอนเที่ยงคืน – ตีหนึ่งมีจำนวนลดลง 17% เมื่อบวกกับวิกฤติ Covid-19 ที่เปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงานจากการเข้าออฟฟิศสู่ Work From Anywhere ทาง JR West เลยมีแผนจะปรับตารางเวลารถไฟให้จบการวิ่งเร็วขึ้น ซึ่งจะทำให้เหลือเวลาสำหรับการบำรุงรักษารางรถไฟในตอนกลางคืนมากขึ้นด้วยนั่นเอง
แม้ว่าเราอาจเคยชื่นชมคลิปพนักงานซ่อมบำรุงญี่ปุ่นที่ช่วยกันเปลี่ยนรางรถไฟช่วงกลางดึกจนเสร็จสมบูรณ์ทันกับการวิ่งของรถไฟขบวนแรก แต่ในชีวิตจริง พนักงานกลุ่มนี้ในญี่ปุ่นมีจำนวนน้อยลงเรื่อย ๆ โดยข้อมูลของ JR Group พบว่า ในระหว่างปี 2008 – 2018 จำนวนพนักงานส่วนซ่อมบำรุงของบริษัทลดลงถึง 20% ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกหากวันนี้ ผู้ให้บริการรถไฟรายใหญ่ของญี่ปุ่นอย่าง JR West จะต้องขอความช่วยเหลือไปยัง AI และระบบ Automation ให้เข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนแล้วก็เป็นได้