HomeDigitalรัฐประหารยุค Digital “เมียนมาร์”​ บล็อกแอปในเครือ Facebook ทั้งหมด

รัฐประหารยุค Digital “เมียนมาร์”​ บล็อกแอปในเครือ Facebook ทั้งหมด

แชร์ :

หากเป็นในอดีต ภาพที่หลายคนคุ้นเคยกับการปฏิวัติรัฐประหารก็คือการที่กลุ่มคณะปฏิวัติเข้าควบคุมสถานีโทรทัศน์และยุติการนำเสนอรายการตามปกติ แต่สำหรับการปฏิวัตในยุคนี้ ดูเหมือนว่า การสั่งปิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook รวมถึงบริษัทลูก ๆ อย่าง Messenger, WhatsApp และ Instagram จะกลายเป็น To Do List ที่คณะปฏิวัติต้องทำด้วยเช่นกัน

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ภาพที่คุ้นเคยนี้เกิดขึ้นซ้ำอีกครั้งเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กับคำสั่งปิดแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอย่าง Facebook ของคณะรัฐบาลใหม่ของเมียนมาร์ โดยผู้ให้บริการโทรคมนาคมในเมียนมาร์อย่างเทเลนอร์ (Telenor) และ MPT ซึ่งเป็นผู้ให้บริการโทรคมนาคมของรัฐบาลต่างออกมายอมรับว่ามีการสั่งปิด Facebook, Messenger, Instagram และ WhatsApp จริง และถึงแม้ทางค่ายผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะปฏิบัติตามคำสั่งนั้น แต่ในรายงานข่าวของ Nikkei ก็ระบุด้วยว่า ค่าย Telenor ไม่ได้มองว่าเป็นคำสั่งที่จำเป็นและเข้ากับสถานการณ์แต่อย่างใด

myanmar block facebook

คำสั่งแบน Facebook ของรัฐบาลเมียนมาร์ (ขอบคุณภาพจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ @hninyadanazaw)

ด้านรัฐบาลใหม่ให้เหตุผลว่า มีชาวเมียนมาร์จำนวนมากใช้โลกออนไลน์ในการวิจารณ์การทำรัฐประหาร ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว อาจนำไปสู่การสร้างและกระจาย Fake News ที่อาจสั่นคลอนเสถียรภาพของประเทศได้นั่นเอง

สิ่งที่เกิดตามมาก็คือ ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจำนวนหนึ่งพยายามแนะนำให้ผู้คนในเมียนมาร์ใช้เครื่องมืออื่นเข้าถึงโลกออนไลน์ เช่น การเปลี่ยนมาใช้แอปพลิเคชัน Signal ในการสื่อสาร หรือเปลี่ยนมาล็อกอิน Facebook ผ่าน VPN แต่ก็ต้องยอมรับว่า มีผู้บริโภคชาวเมียนมาร์จำนวนไม่น้อยที่เกิดอาการไปไม่เป็น เนื่องจากคนเหล่านี้ใช้งาน Facebook เป็นหลัก ประหนึ่งว่ามันคืออินเทอร์เน็ตสำหรับพวกเขาไปแล้วจึงไม่ได้ศึกษาหาทางเลือกอื่น ๆ เตรียมไว้ก่อน

ด้านตัวแทนจาก Facebook ก็ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาร์เปิดการเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มอีกครั้ง โดยอ้างว่า เพื่อให้ชาวเมียนมาร์สามารถสื่อสารกับครอบครัว และเข้าถึงข่าวสารสำคัญต่าง ๆ ได้

อย่างไรก็ดี ไม่เฉพาะรัฐบาลเมียนมาร์ที่บล็อก Facebook แต่รัฐบาลหลายประเทศต่างก็เคยบล็อก Facebook มาแล้วก่อนหน้านี้ เช่น รัฐบาลอียิปต์ที่เคยบล็อกการเข้าถึง Facebook ในเหตุการณ์ลุกฮือของประชาชนเมื่อเดือนมกราคมปี 2011 เพื่อต่อต้านรัฐบาลของประธานาธิบดีฮอสนี มูบารัก ซึ่งในเหตุการณ์นั้นมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 846 คน และได้รับบาดเจ็บกว่า 6,000 คนเลยทีเดียว

facebook ban myanmar

เช่นเดียวกับแคว้นแคชเมียร์ ประเทศอินเดียที่แบน Facebook, Twitter และ WhatsApp ในเหตุการณ์ความรุนแรงเมื่อเดือนเมษายน 2017 หรือประเทศเพื่อนบ้านของไทยอย่างอินโดนีเซียก็เคยแบน Facebook และ Instagram ในปี 2019 หลังมีเหตุจลาจลจากผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี

นอกจากนั้นก็ยังมีประเทศซูดานและศรีลังกาที่เคยมีการแบน Facebook ในปี 2019 ด้วย ซึ่งทุกประเทศที่มีการแบน Facebook นั้น พบว่าเกิดขึ้นในขณะที่มีปัญหาทางการเมืองภายในประเทศทั้งสิ้น และทั้งหมดเป็นการแบนแบบชั่วคราว จึงเชื่อว่าจนถึงตอนนี้ ทีมประชาสัมพันธ์ของ Facebook น่าจะมีความเชี่ยวชาญในการรับมือการแบนของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ แล้วเป็นอย่างดี

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

Source

Source

Source

Source

Source


แชร์ :

You may also like