“Plant-based Food” ไม่ได้เป็นแค่เทรนด์ที่มาแล้วก็ไป แต่กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกการบริโภคของผู้คนยุคนี้ เห็นได้จากเวลานี้ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ระดับโลก กำลังทยอยเปิดตัวสินค้ากลุ่มนี้เข้าสู่ตลาด ล่าสุด “Nestlé” (เนสท์เล่) วางยุทธศาสตร์รุกตลาด Plant-base Food & Beverage เต็มสรรพกำลัง เตรียมวางจำหน่าย “KitKat V” (V ย่อมาจาก Vegan) ช็อคโกแลตทำมาจาก Plant-based Ingredient ตอบโจทย์กลุ่มคนที่รับประทานมังสวิรัติ กลุ่ม Flexitarian หรือผู้บริโภคมังสวิรัติแบบยืดหยุ่น และกลุ่มดูแลสุขภาพ
“หนึ่งในคำเรียกร้องจากผู้บริโภคที่เราเห็นมากที่สุดบน Social Media คือ อยากเห็น KitKat Vegan ดังนั้นเรามีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะนำความต้องการของผู้บริโภค มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์จริง เพื่อให้ผู้บริโภคได้ลิ้มลอง KitKat V ที่ผลิตขึ้นมาสำหรับคนที่ต้องการบริโภค Plant-based ในชีวิตประจำวัน” Alexander von Maillot หัวหน้าฝ่ายขนมหวานของ Nestlé เล่าถึงที่มาของการเปิดตัว KitKat V
อย่างไรก็ตามโจทย์ใหญ่ของ KitKat V คือ การพัฒนารสชาติให้ยังคงมีรสชาติเช่นเดียวกับ KitKat สูตรดั้งเดิม
“รสชาติคือปัจจัยสำคัญของการพัฒนา Plant-based Chocolate ดังนั้นการพัฒนาสินค้าใหม่นี้ “ศูนย์วิจัยและพัฒนาขนม Nestlé” ที่เมืองยอร์ค ในอังกฤษ ได้ใช้ความเชี่ยวชาญด้านวัตถุดิบ เพื่อศึกษา และทดลอง เพื่อให้ได้ช็อคโกแลตสูตร Vegan เป็นทางเลือกให้กับคนที่ชอบช็อคโกแลต KitKat สูตรดั้งเดิม” Louise Barrett หัวหน้าศูนย์วิจัยและพัฒนาขนม Nestlé ที่เมืองยอร์ค กล่าวถึงหัวใจสำคัญของการพัฒนาสินค้าใหม่
“KitKat V” ใช้วัตถุดิบต่างๆ จากพืช เช่น นมจากธัญพืชต่างๆ และโกโก้ที่นำมาใช้มาจากแหล่งปลูกยั่งยืน 100% ทำให้ KitKat Vegan เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองจาก Rainforest Alliance เป็นองค์กรสนับสนุนเกษตรกร และแหล่งปลูกการเกษตรอย่างยั่งยืนที่ Nestlé สร้างความร่วมมือด้วย
สำหรับแผนการวางจำหน่าย “KitKat V” เตรียมวางจำหน่ายในช่วงปลายปี 2021 ในหลายประเทศทั่วโลก โดยจำหน่ายผ่านร้าน KitKat Chocolatory และร้านค้าปลีกบางร้าน เพื่อทดลองตลาด ก่อนจะขยายตลาดในวงกว้าง
Nestlé รุกตลาด “Plant-based Food” – ปั้นแบรนด์ “Harvest Gourmet” พร้อมเตรียมทำตลาดในไทย
ยุทธศาสตร์ของ Nestlé เตรียมรุกตลาด “Plant-based Food & Beverage” มากขึ้น โดยขยายเข้าไปในผลิตภัณฑ์อาหาร และเครื่องดื่ม Category ต่างๆ โดยใช้วัตถุดิบจากถั่ว และธัญพืชต่างๆ มาเป็นส่วนผสม แทนการใช้ผลิตภัณฑ์จากนมวัว ไม่ว่าจะเป็นใช้นมจากข้าว ข้าวโอ๊ต ถั่วเหลือง มะพร้าว ถั่ว และอัลมอนด์ นำมาผลิตสินค้ากลุ่ม Plant-based Food
เช่น ไอศกรีม ที่ไม่มีส่วนผสมจากนมวัว ครีมเทียมทำจากข้าว เครื่องดื่มข้าวโอ๊ต นมถั่ว กาแฟคาปูชิโน และลาเต้สูตร Plant-base นมข้นหวานจากพืช ผลิตภัณฑ์ชีสที่ไม่ได้ทำจากนมวัว เพื่อนำมาทำเมนู Plant-based Burger
นอกจากนี้ Nestlé ยังได้ปั้นแบรนด์ Plant-base Food โดยเฉพาะนั่นคือ “Harvest Gourmet” โปรดักต์ไลน์ภายใต้แบรนด์นี้ เช่น เบอร์เกอร์เนื้อจากพืช ไส้กรอก นักเก็ต เนื้อสับจากพืช ผลิตจากธัญพืชประเภทต่างๆ
นอกจากนี้ยังได้สร้างโรงงานผลิต Plant-based Food แห่งแรกในเอเชียที่เมือนเทียนจิน ประเทศจีน เพื่อผลิตและทำตลาดผลิตภัณฑ์ Plant-based Food ภายใต้แบรนด์ Harvest Gourmet และล่าสุด Nestlé ประเทศไทย ได้นำแบรนด์ Harvest Gourmet ทำตลาดในไทย เพื่อเจาะตลาดสุขภาพ
ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดรวม Plant-based Food ทั่วโลกอยู่ที่ 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และในปี 2025 จะเพิ่มขึ้นเป็น 38.4 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในขณะที่ประเทศไทย เวลานี้ตลาด Plant-based Food มีมูลค่ากว่า 28,000 ล้านบาท และศูนย์วิจัย Krungthai Compass ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าในปี 2024 ตลาด Plant-based Food ในไทย จะมีมูลค่าสูงถึง 45,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ยปีละ 10%
- อ่านเพิ่มเติม: 2021 Year of Health: เมื่อสุขภาพคือไลฟ์สไตล์ – ดัน Plant-based Food และ Functional Drink มาแรงข้ามปี!