เวลานี้ถ้าพูดถึงธุรกิจที่แข่งขันกันรุนแรง จนกลายเป็น Red Ocean ต้องยกให้กับ “ธุรกิจร้านอาหาร” ที่ใครๆ ก็อยากเข้ามาวิ่งอยู่บนถนนสายนี้ มีทั้งเชนใหญ่ ผู้ประกอบการขนาดกลาง และเล็ก ไปจนถึงรายย่อย
บทพิสูจน์ความสำเร็จของธุรกิจนี้ ไม่ได้อยู่ที่การลงทุนเปิดร้าน ไม่ว่าจะเป็นร้านรูปแบบ Physical หรือร้านบนออนไลน์ ที่ให้บริการ Food Delivery เท่านั้น หากแต่อยู่ที่ความสามารถในการสร้างแบรนดิ้ง การพัฒนาสินค้าและบริการให้แตกต่าง เพื่อทำให้ผู้บริโภครู้จัก จดจำ และมีประสบการณ์ที่ดี ตลอดจน Maintain ชื่อเสียง และสร้างการเติบโตในระยะยาวอย่างยั่งยืน
Brand Buffet อยากชวนคุณผู้อ่านมาเรียนรู้กรณีศึกษาเส้นทางธุรกิจ “nice two Meat u” แบรนด์ปิ้งย่างเกาหลีชื่อดังที่มีคิวตลอด จากจุดเริ่มต้นสาขาแรกในไทยที่ย่านสยามสแควร์ กระทั่งทุกวันนี้ขยายสาขาในศูนย์การค้าต่างๆ และ “Fire Tiger by Seoulcial Club” จากชานมไข่มุกเสือพ่นไฟ ล่าสุดได้พัฒนาไปมากว่าการเป็นแบรนด์ชานมไข่มุก ด้วยการต่อยอดสู่ร้านอาหารรูปแบบ Bar & Restaurant แล้ว รวมทั้งแบรนด์แชนด์วิชไข่ “E Bomb” น้องใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวมาได้ 1 ปี
โดย คุณเกศ – ชุติมา เปรื่องเมธางกูร, CEO และ คุณแนท – นันทนัช เอื้อศิริทรัพย์, Managing Director บริษัท รวยไม่หยุด จำกัด สองดูโอนักธุรกิจรุ่นใหม่ ได้เล่าถึงบทเรียนที่ได้เรียนรู้จากการทำธุรกิจ รวมทั้งกลยุทธ์สร้างร้านอาหาร – ร้านเครื่องดื่มในเครือ ประกอบด้วย
– nice two Meat u ภายใต้บริษัท รวยไม่หยุด จำกัด
– Seoulcial Club และ Fire Tiger by Seoulcial Club ภายใต้บริษัท รวยสบายสบาย จำกัด
– E Bomb แบรนด์น้องใหม่ล่าสุด อยู่ภายใต้บริษัท รวยอู้ฟู่ จำกัด
ต่อไปบริษัทต่างๆ จะมาอยู่ภายใต้บริษัท รวยไม่หยุด พร้อมทั้งเปิดแผนสร้างความแข็งแกร่ง Brand Portfolio เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคในทุกไลฟ์สไตล์ ทุกโอกาสการรับประทานได้มากขึ้น
#1 เจ๊งมาแล้วหลายธุรกิจ จนมาเจอธุรกิจร้านอาหารที่เร่ิมต้นด้วย “nice two Meat u”
ถึงปัจจุบัน “nice two Meat u” เชนร้านปิ้งย่างเกาหลี เข้ามาทำตลาดในไทยปีที่ 4 แล้ว โดย บริษัท รวยไม่หยุด จำกัด ได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์จากเจ้าของแบรนด์ที่เกาหลี ในการทำธุรกิจ ขยายสาขา และทำการตลาดในไทย
ถึงแม้จะได้เป็นมาสเตอร์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ แต่การนำมาเปิดตลาดในไทย ก็ไม่ใช่ง่าย! เพราะต้องปลุกปั้นแบรนด์นี้ให้เป็นที่รู้จักในตลาดไทย ท่ามกลางร้านอาหาร และร้านปิ้งย่างมากมาย
อีกทั้งเส้นทางกว่าที่ “nice two Meat U” จะแจ้งเกิดในไทยนั้น “คุณชุติมา” หรือ “คุณเกศ” เล่าว่า เป็นธุรกิจที่ 9 ของตัวเอง จากก่อนหน้านั้นทำมาหลายธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นร้านกาแฟ ยิมมวย ร้านทำเล็บ ร้านนวด ร้านแว๊กซ์ ร้านตัดเสื้อ ช่องทีวี ฯลฯ ปรากฏว่าหลายธุรกิจไม่ประสบความสำเร็จ จนในที่สุดต้องปิดตัวลง!
“เกศอยากลองทำธุรกิจมาตั้งแต่เด็ก และกล้าจะทดลองอะไรใหม่ๆ ตลอด ทำให้สมัยเรียน Master of Art in Gastronomy ที่มหาวิทยาลับบอสตัน และจบ Mixology ที่ฮาร์วาร์ด เราทำงานหนัก เพื่อหาประสบการณ์ และพยายามเก็บเงินตั้งแต่สมัยเรียน ซึ่งตอนนั้นยังเด็ก ก็ยังทำอะไรมากไม่ได้ ต้องไปทำงานเสิร์ฟ ไปเลี้ยงคนสูงอายุ และในระหว่างเรียน ไปฝึกงานที่ร้านอาหารทั้งท้องถิ่น โดยทำคล้ายๆ Chef Table ในบ้านคนรวย มีทีมครูไปด้วย เราเป็นลูกมือ และทำงานในร้านอาหารดังๆ
และหลังเรียนจบ ด้วยความที่สาขา Gastronomy ต้องเรียนทั้ง Art of Dining, Food Science, Chef, Operation ทั้งระบบหลังบ้าน และระบบหน้าร้าน เรามองว่าต้องไปหาประสบการณ์งานโรงแรม จึงไปทำงานโรงแรม 2 กะคือ แมริออท และฮิลตัน ทำตั้งแต่ทำความสะอาดห้องน้ำ งานเสิร์ฟ และงานส่วน Front Office”
เมื่อกลับมาเมืองไทย ได้เริ่มต้นทำงานกับบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่ง ในระหว่างเป็นพนักงานประจำ ก็ได้เปิดร้านกาแฟเป็นธุรกิจแรกของตัวเองในชีวิต
แต่เส้นทางของการเป็นเจ้าของกิจการเองไม่สวยงามเสมอไป เพราะธุรกิจร้านกาแฟ ไม่เป็นดั่งที่คิดไว้ ทำให้ในที่สุดต้องขายกิจการออกไป
“บางคนพูดว่าธุรกิจร้านเครื่องดื่ม กำไรเยอะมาก แต่ไม่จริงเลย และไม่ใช่กับทุกคน…”
หลังจากไม่ประสบความสำเร็จในธุรกิจแรก คุณเกศ ลุกขึ้นสร้างธุรกิจที่ 2, 3, 4, 5…
“เกศเป็นคนกล้าได้ กล้าเสีย แต่ก่อนจะเจ๊ง หรือถ้ามันจะล้มเหลว เราไม่ได้ยอมแพ้ง่ายๆ อาจจะเศร้าบ้าง แต่มองว่าความผิดพลาด ไม่ใช่สิ่งสุดท้ายในชีวิตของเรา และเราต้องพยายามปรับปรุง แก้ไข พัฒนาให้ดีขึ้น”
ถึงวันนี้มีทั้งธุรกิจที่ยังไปต่อได้ และที่ล้มเหลว แต่หลังจากผิดหวังมาหลายธุรกิจ ในที่สุดก็หันมาจับธุรกิจร้านอาหาร ธุรกิจที่เร่ิมต้นจาก Passion ซึ่งก่อนจะมาอยู่ในแวดวงอาหาร คุณเกศ เล่าถึงสิ่งที่ได้เรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านๆ มาว่า
“ด้วยความที่ธุรกิจที่เราทำมาก่อนหน้านั้น ตัวเราไม่ได้จบสายนั้น ไม่ได้มีความรู้ เป็นแค่คนลงทุน และหาคนมาทำ ทำให้เราไม่ได้มีความรักในสิ่งนั้นจริงๆ อย่างธุรกิจยิมมวย โดยส่วนตัวไม่ได้เป็นคนออกกำลังกาย ไม่เคยต่อยมวยแม้แต่ครั้งเดียว พอเราไม่ได้รักในสิ่งนั้นจริงๆ จึงไม่ได้ทุ่มเทมากพอ
แต่สำหรับธุรกิจร้านอาหาร เป็นสิ่งที่เรารัก มี Passion และเราเป็นคนชอบกินอยู่แล้ว จะมีสมุดเล่มหนึ่ง เวลากินอะไร จะจดเอาไว้ เมื่อเรามาเปิดร้านอาหาร เราจบ Gastronomy มาโดยตรง เรียนทั้งระบบหน้าบ้าน และระบบหลังบ้าน ทั้งในครัว และเชฟ ทำให้เรารู้ระบบบริหารจัดการร้านทุกอย่าง
และทุกวันนี้เกศนอนตี 4 – 5 ทุกวัน พอทำงานระหว่างวันเสร็จ จะใช้เวลาช่วงกลางคืนหลายชั่วโมง ทดลองทำเมนูอาหาร และเครื่องดื่มต่างๆ โดยมีแนท (คุณนันทนัช) เป็นคนชิม”
เมื่อตัดสินใจปักหมุดที่ธุรกิจร้านอาหาร คุณเกศ ได้ชักชวน “คุณนันทนัช” หรือ “คุณแนท” เคยเรียนโรงเรียนเดียวกันสมัยมัธยม มาร่วมปั้นธุรกิจร้านอาหารปิ้งย่างเกาหลี “nice two Meat U”
ทั้งคุณเกศ และคุณแนท กลายเป็นดูโอที่ลงตัว โดยคุณเกศ ดูแลด้านอาหาร – เครื่องดื่ม และการบริหารจัดการระบบร้านทั้งหมด ขณะที่คุณแนท จบปริญญาตรีด้านสถาปัตยกรรม และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ ดูแลด้านการออกแบบร้าน โลโก้ แบรนด์ดิ้ง และด้านการตลาด
เหตุผลที่เลือกทำร้านอาหารปิ้งย่างเกาหลี เพราะทั้งคู่ชอบอาหารปิ้งย่าง ถึงกับบินไปเกาหลี เพื่อไปหาร้านปิ้งย่างโดยเฉพาะ จนกระทั่งได้รู้จักกับร้าน nice two Meat u และในที่สุดได้ตัดสินใจซื้อมาสเตอร์แฟรนไชส์ มาเปิดสาขาในไทย โดยเลือกทำเลแรกคือ “สยามสแควร์ ซอย 3”
“ณ วันนั้นเลือกเปิด nice two Meat u สาขาแรกในไทยที่สยามฯ เพราะเกศเปิดธุรกิจหลายอย่างที่สยามฯ อยู่แล้ว เหมือนเรา เริ่มมาจากสยามฯ แต่แอเรียนี้ปราบเซียนเหมือนกัน ร้านไหนที่เปิดในย่านนี้ ถ้าขายได้ ก็คืออยู่ได้ แต่ถ้าขายไม่ได้ ก็คืออยู่ไม่ได้
นอกจากนี้โลเกชั่นสยามฯ มีความพิเศษอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นย่านที่มีผู้คนหลายกลุ่ม อย่างเราจับ Target ทั้งพ่อแม่ผู้ปกครอง ที่มารับมาส่งลูกเรียนพิเศษ นักเรียน นักศึกษา คนทำงาน และชาวต่างชาติ”
#2 “บริการ – คุณภาพอาหาร – รสชาติอาหาร” กลยุทธ์สร้างแบรนด์ – ประสบการณ์ลูกค้าให้กลับมาอีก
หากใครผ่านร้าน nice two Meat u หรือตั้งใจจะไปใช้บริการสาขาต่างๆ จะเห็นว่าบางช่วงเวลา เช่น ช่วงเย็น ช่วงกลางวันของวันหยุด มีคิวแน่นตลอด
คุณเกศ และคุณแนท เล่าว่าปัจจัยที่ทำให้ nice two Meat u เป็นที่รู้จัก และมีลูกค้ามาใช้บริการต่อเนื่องมาจาก 3 หัวใจหลักของร้านอาหาร
1. งานบริการ
ทุกสาขามีพนักงาน 1 – 2 คนให้บริการต่อ 1 โต๊ะ เท่ากับว่าแต่ละสาขาต้องใช้พนักงานส่วนงานบริการลูกค้าไม่ต่ำกว่า 40 – 50 คนต่อสาขา ขณะที่ในครัว แต่ละ Station มีพนักงานไม่ต่ำกว่า 3 คน เช่น ครัวอบมี 3 คน พนักงานหั่นหมู 3 คน คนทำเมนูปูดองซีอิ้วเกาหลี 3 คน
จะเห็นได้ว่า nice two Meat u ให้ความสำคัญกับการลงทุนพนักงานร้าน ไม่ว่าจะส่วนบริการหน้าร้าน และงานครัว สวนทิศทางธุรกิจร้านอาหารในปัจจุบัน ที่พยายามลดขนาดร้าน และจำนวนพนักงานต่อสาขา เพื่อควบคุม Fixed Cost โดยเน้นให้บริการ Delivery มากขึ้น
เหตุผลที่ nice two Meat u เน้นจ้างพนักงานจำนวนมาก มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ
– ร้านที่มีพนักงานเยอะ บวกกับการใช้เพลงสนุกๆ ช่วยสร้างบรรยากาศร้านให้ดูคึกคัก และดึงให้ลูกค้าใช้บริการ
– เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับลูกค้า ทั้งได้รับบริการที่สะดวก – รวดเร็ว
– เมื่อลูกค้าได้รับบริการที่สะดวก และรวดเร็ว ทำให้เทิร์นโต๊ะเร็วด้วยเช่นกัน ซึ่งโดยเฉลี่ยลูกค้าที่มารับประทานที่ nice two Meat u ใช้เวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง ย่อมส่งผลให้คิวลูกค้าไม่ต้องรอนาน
“จากประสบการณ์ตรงของตัวเองหลายอย่าง ด้วยความที่เกศเคยเป็นพนักงานมาก่อน จึงให้ความสำคัญการงานบริการมากๆ และร้าน nice two Meat u มีคิวเสมอ ถ้าเราปล่อยให้ลูกค้าคอยคิวนาน หรือเข้ามาในร้านแล้ว สั่งอาหารไป ยังไม่เสิร์ฟสักที จะทำให้ความรู้สึกลูกค้าเสีย หงุดหงิด กินอะไรก็ไม่อร่อยแล้ว
แต่ถ้าพนักงานเราเยอะ ทั้งในครัว และส่วนให้บริการ ลูกค้าสั่งเมนูอะไรไป อาหารออกมาเร็ว โดยที่มีพนักงานปิ้งให้ และถ้าของบนโต๊ะหมด เช่น น้ำจิ้ม พนักงานเสิร์ฟน้ำจิ้มใหม่ให้ทันที จะทำให้ลูกค้าพึงพอใจ และมีความสุขกับการรับประทานอาหารมื้อนั้นๆ เมื่อลูกค้ามีความสุข ก็จะกลับมาใช้บริการอีก ดังนั้นความสำคัญของงานบริการ มีผลไปถึงหลายๆ อย่างของธุรกิจร้านอาหาร”
2. คุณภาพอาหาร
คุณภาพ ถือเป็นหนึ่งใน Core Value ของธุรกิจร้านอาหาร เนื่องจาก nice two Meat u วางตำแหน่งระดับ Medium to High ดังนั้นวัตถุดิบที่นำมาทำอาหาร และเสิร์ฟให้กับลูกค้าจึงเลือกเกรดพรีเมียม เช่น เนื้อสัตว์
3. รสชาติอาหาร และการพัฒนา Localized Menu ให้ถูกปากคนไทย
ถึงแม้จะเป็นแบรนด์ปิ้งย่างจากเกาหลี แต่การได้สิทธิ์มาสเตอร์แฟรนไชส์ มาทำตลาดในไทย ทางเจ้าของแบรนด์ที่เกาหลี เปิดโอกาสให้สามารถพัฒนา Localized Menu ได้ เพื่อตอบโจทย์คนไทยที่ชอบอาหารรสจัด และมีความหลากหลายของเมนู เช่น น้ำจิ้มรสจัด และเมนูปูดองซีอิ้วเกาหลี ที่มีรสจัดจ้าน
“สิ่งที่ทำให้ nice two Meat u แตกต่างจากแบรนด์อื่นคือ 1. คนไทยชอบการเอาอกเอาใจ ชอบการดูแลอย่างดีที่สุด ดังนั้นการที่เรามีพนักงานให้บริการประจำแต่ละโต๊ะ จึงตอบโจทย์ลูกค้าไทย และ 2. มีอาหารรสจัด Localized รสชาติที่แตกต่าง ถูกปากคนไทย ทำให้ลูกค้าเห็นความหลากหลายของเมนูอาหาร ที่ไมใช่แค่ปิ้งย่างเกาหลีอย่างเดียว”
นอกจากนี้อีกปัจจัยสำคัญของ nice two Meat u คือ ไม่เร่งขยายสาขาให้ได้มาก และเร็ว หากแต่เลือกเปิดสาขาในโลเกชั่นที่ใช่ และสอดคล้องทั้งกับแบรนด์ และกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยปัจจุบันในไทยมี 9 สาขา และปี 2564 เตรียมเปิดเพิ่มอีก 7 สาขา ได้แก่ เซ็นทรัล อีสต์วิลล์, เซ็นทรัล เวสต์เกต, เซ็นทรัล แจ้งวัฒนะ, เทอร์มินัล 21 พระราม 3, พรอมานาด, เดอะมอลล์ บางแค, เดอะมอลล์ ท่าพระ
#3 จาก “Seoulcial Club” ร้านกาแฟที่ไม่ตอบโจทย์คอกาแฟ จุดเปลี่ยนสู่การกำเนิดแบรนด์ “Fire Tiger”
ด้วยความที่ร้าน nice two Meat u เน้นให้บริการเมนูอาหารคาว ลูกค้าเรียกร้องอยากให้มีบริการเครื่องดื่ม และขนมหวาน ทำให้หลังคุณเกศ และคุณแนท ตัดสินใจต่อยอดสู่ธุรกิจร้านกาแฟ ในชื่อ “Seoulcial Club” ติดกับร้าน nice two Meat u
โดยภาพที่วางเอาไว้เวลานั้น คือ เมื่อลูกค้าที่รับประทาน nice two Meat u เสร็จ ออกมารับประทานเครื่องดื่มต่อที่ร้าน Seoulcial Club พร้อมทั้งลงทุนซื้อเครื่องทำกาแฟเทคโนโลยีใหม่สุด เครื่องละกว่าล้านบาทเข้ามาใช้ที่ร้าน
แต่ปรากฏว่าไม่เป็นไปตามที่คิดไว้!
“หลังจากเปิดร้าน ไม่เป็นที่ตอบรับจากลูกค้า เราก็มานั่งคิดว่าทำไมร้านเราก็สวย กาแฟเราก็รสชาติดี แต่ทำไมลูกค้าไม่ตอบรับ แล้วเราพบว่า เป็นเพราะคอนเซ็ปต์ของร้าน ไม่เข้ากับโปรดักต์ ด้วยความที่ร้านตกแต่งให้มีความเป็นผู้หญิงมากๆ มีดอกไม้ประดับตามจุดต่างๆ ของร้าน แต่คอกาแฟไม่ใช่สไตล์นี้
นั่นคือความผิดพลาดของเรา จึงพยายามแก้ ด้วยการแตกโปรดักต์ใหม่เป็นเมนูขนมหวาน และเครื่องดื่มหวานแวว น่ารัก เพื่อจับกลุ่มวัยรุ่นอื่นเข้ามาใช้บริการ
จนในที่สุด เราออก “เมนูชานมไข่มุก Fire Tiger” หรือ “ชานมไข่มุกเสือพ่นไฟ” พอออกมาปุ๊ป เมนูอื่นขายไม่ได้เลย และกลายเป็นคิวยาว ทำให้เราแตกออกมาเป็นแบรนด์ Fire Tiger by Seoulcial Club” พร้อมทั้งเปิดคีออส ทำในคอนเซ็ปต์กรงเสือ และมีปากเสือยื่นออกมา เกิดเป็น Viral ทั้งคนไทย และนักท่องเที่ยวต่างชาติมาถ่ายรูปลง Social Media ของเขา”
ที่มาของชื่อแบรนด์ Fire Tiger คุณเกศ เล่าว่า ด้วยความที่ตัวเอง และคุณแนทชอบแฟชั่น ชอบแต่งตัว ชอบครีเอทสิ่งต่างๆ จึงคิดว่าต้องมีสัตว์ตัวหนึ่ง นำมาเป็นมาสคอตของแบรนด์ เหมือนกับ nice two Meat u มีมาสคอตเป็นหมู ซึ่งตอนแรกคิดว่าจะเป็นมังกรดีไหม ปรากฏว่ามีอยู่วันหนึ่ง ขณะกำลังพัฒนาเมนูเครื่องดื่ม น้องชายเดินเข้ามา แล้วบอกว่าทำไมไม่ทำแก้วเป็นลายเสือ พอลองทำลายออกมา คุณแนทบอกว่าใช้มาสคอตแบรนด์เป็นเสือดีกว่า จึงตกลงกันว่าใช้ชื่อแบรนด์ “Fire Tiger” ทั้งเมนู การออกแบบร้าน และยูนิฟอร์มพนักงานอยู่ในคอนเซ็ปต์เสือ
“เราเพิ่ม Gimmick ให้กับโปรดักต์ มีพ่นไฟ ซึ่งปกติชานมไข่มุก จะเป็นชานมไข่มุกธรรมดา และมีไข่มุกอยู่ด้านล่างแก้ว แต่เรามี Topping เป็นไข่มุก ผสมเจลลี่ ด้านบนมี Crispy Black Sugar ทำให้เครื่องดื่มมี Texture เนื่องจากเรามองว่าการพัฒนาเมนูเครื่องดื่ม ณ วันนี้ ต้องทำให้คล้ายกับเป็นขนมหวานด้วย ดื่มเข้าไปมีเนื้อสัมผัสให้เคี้ยวเป็นขนมได้ จากองค์ประกอบเหล่านี้ ทำให้แบรนด์ Fire Tiger เริ่มมีชื่อเสียงตั้งแต่นั้นมา”
ปัจจุบันสาขาของ Seoulcial Club มี 1 สาขาที่ไอคอนสยาม (ICONSIAM) ขณะที่สาขาแรกที่สยามแควร์ ซอย 3 ได้เปลี่ยนเป็น Fire Tiger แล้ว พร้อมทั้งขยายสาขาภายใต้แบรนด์ Fire Tiger by Seoulcial Club
#4 “Fire Tiger Dessert Café” และ “Bar & Restaurant” เมื่อแบรนด์แข็งแกร่ง ต่อยอดธุรกิจได้ไกล
หลังจากเปิด Fire Tiger ชานมเสือพ่นไฟมาได้สักพัก ต่อมาได้พัฒนาโมเดล “Fire Tiger Dessert Café – โรงเตี๊ยมเสือพ่นไฟ” เพื่อขยายโปรดักต์ไลน์สู่ “ขนมหวาน” ที่เมนูต่างๆ base มาจากชานม เช่น บัวลอยชานมเสือพ่นไฟ บัวลอยนมเสือ น้ำแข็งไสชานมเสือพ่นไฟ พุดดิ้งนมเสือน้ำลำไย พุดดิ้งชานมเสือ ฯลฯ
คุณเกศ เล่าถึงความพยายาม Differentiate แบรนด์ว่า นับตั้งแต่วันที่เปิดตัว Fire Tiger ชานมพ่นไฟ ณ วันนั้นกระแสชานมไข่มุกยังไม่ได้แรงมาก พอเปิดไป คู่แข่งยิ่งมากขึ้นเรื่อยๆ สิ่งที่ Fire Tiger ทำคือ ต้องแข่งกับตัวเอง ปรับตัวด้วยการพัฒนาโปรดักต์ใหม่ให้มีความแตกต่างจากแบรนด์อื่น ไม่ได้แข่งกับคนอื่น เพราะโลกสมัยนี้ แข่งกับคนอื่นไม่ทันแน่นอน
ประกอบกับแบรนด์ดิ้ง Fire Tiger มีความแข็งแรงพอสมควร ดังนั้นการออกโปรดักต์ใหม่ จึงใช้ base ที่แบรนด์มีอยู่แล้ว มาครีเอทต่อยอดสิ่งใหม่ๆ อย่างการพัฒนาเมนูขนมหวานของ Fire Tiger Dessert Café มาจากชานม เพราะลูกค้าชื่นชอบรสชาติชานมของ Fire Tiger มาสร้างความหลากหลายของโปรดักต์ให้มากขึ้น
“ทุกวันนี้เดินไปทุกหัวมุมถนน เจอร้านชานมเต็มไปหมด ในขณะที่เราเห็นว่าประเทศไทย มีร้านขนมหวานไม่กี่ร้าน ไม่ได้มีมากนัก และเรามองว่าร้านชานม จะเป็นแค่คีออส เพื่อขายรูปแบบ Grab and Go ไม่ได้แล้ว ควรพัฒนาเป็นแนวคาเฟ่ เหมือน Culture กาแฟมีที่นั่งคุยกัน นั่งทำงาน ตอนนี้เราคิดว่า Culture ชานมเป็นแบบนั้นแล้ว ต้องมีบรรยากาศ มีเมนูหลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่เครื่องดื่มขายแบบ Grab and Go” คุณแนท เล่าเสริมถึงที่มาของการพัฒนาร้าน Fire Tiger Dessert Café
จาก Dessert Café ล่าสุด Fire Tiger ต่อยอดสู่การปั้นโมเดลใหม่คือ “Fire Tiger Bar & Restaurant – โรงเตี๊ยมเสือพ่นไฟ” คอนเซ็ปต์ Chinese & Vietnamese Fusion ครอบคลุมทั้งอาหาร ทั้งเมนูอาหารจีน และอาหารเวียนนาม สไตล์ฟิวชั่น ขนมหวาน และเครื่องดื่ม รวมทั้งในอนาคตจะมีบริการบาร์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เปิดสาขาแรกที่ไอคอนสยาม
กลุ่มเป้าหมายของ “Fire Tiger Bar & Restaurant” ครอบคลุมทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ แม้ขณะนี้ยังอยู่ในช่วง COVID-19 ทำให้นักท่องเที่ยวไม่สามารถเดินทางมาไทยได้ แต่มองว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว จะมีนักท่องเที่ยวกลับมาเที่ยวประเทศไทยแน่นอน วัยรุ่น คนวัยทำงาน และกลุ่มครอบครัว
“คนส่วนใหญ่มอง Fire Tiger เป็นแบรนด์ชานมไข่มุก ทำให้เมื่อครั้งตัดสินใจขยายมาทำ Bar & Restaurant ก็มีคนบอกว่าอาจทำให้แบรนด์ดิ้งไม่ชัดเจน แต่เรามองว่าแบรนด์ดิ้งของ Fire Tiger มีความแข็งแรงในตัวเอง บวกกับมีแฟนคลับอยู่แล้ว จึงต้องใช้ความได้เปรียบในความแข็งแกร่งของแบรนด์มาต่อยอด
ดังนั้นการทำ Bar & Restaurant ด้วยแบรนด์ที่คนรู้จักอยู่แล้ว ย่อมง่ายกว่าการปั้นแบรนด์ใหม่ ขณะเดียวกันต้องการขยายแบรนด์ Fire Tiger ไปยังโมเดลใหม่ๆ เพื่อขยายฐานลูกค้า และยังคงเป็นแบรนด์ที่ผู้บริโภคชื่นชอบ”
ปัจจุบัน Fire Tiger รวมทุกฟอร์แมต (Fire Tiger ชานมเสือพ่นไฟ Fire Tiger Dessert Café Fire Tiger Bar & Restaurant) มี 13 สาขาในไทย และขายแฟรนไชส์ใน 4 ประเทศคือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา รวมทั้งกำลังคุยกับอีกหลายประเทศ แต่เนื่องจากติด COVID-19 จึงยังไม่ได้เปิด
#5 บทเรียน “COVID-19” ความชะล่าใจของแบรนด์ที่ขายดี
เป็นที่ทราบกันดีว่าการเกิดขึ้นของ COVID-19 ตั้งแต่ปี 2563 – 2564 สร้างความหนักหนาสาหัสให้กับธุรกิจร้านอาหาหรอย่างมาก เพราะต้อง Lockdown ปิดบริการ Dine-in ชั่วคราว ทำให้ต้องพึ่งช่องทาง Delivery และ Take Away เป็นหลัก ถึงแม้วันนี้ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการตามปกติแล้ว แต่ด้วยวิถีชีวิต และพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป ส่งผลให้ Delivery และ Take Away กลายเป็น Now Normal ธุรกิจร้านอาหารไปแล้ว ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ ลูกค้าใช้บริการน้อยลง คู่แข่งมากขึ้น เพราะใครๆ ก็ต่างเข้ามาในธุรกิจนี้ และยังคงอยู่ภายใต้สถานการณ์ความไม่แน่นอน
ทั้ง nice two Meat u และ Fire Tiger เป็น 2 แบรนด์ที่ได้รับผลกระทบเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับตัวเข้าสู่ Food Delivery ได้ช้า เหตุจากความชะล่าใจ!
“COVID-19 ทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งก่อนหน้านี้เราชะล่าใจมาก ถือเป็นความผิดพลาดของเราที่มองย้อนกลับไปเหมือนกัน ด้วยความที่เราเปิด nice two Meat u และ Fire Tiger ขายดีมาตลอด เราไม่เคยง้อ Delivery เลย เพราะแพลตฟอร์มเหล่านี้คิด GP ก่อนหน้านั้นจึงมองว่าไม่มีความจำเป็น เราคิดอย่างนั้นมาตลอด
แต่พอเกิด COVID-19 จึงไม่ได้การแล้ว เราไม่ได้มีบริการ Delivery อะไรเลย ณ วันนั้นเรารีบดีล ยอมจ่าย GP เพื่อเอาแบรนด์ต่างๆ ของบริษัทเข้าไปอยู่บนแพลตฟอร์ม Food Delivery แต่ด้วยความที่เราขยับตัวช้า และไม่ได้เป็น Official Partner ทำให้ร้านเราไม่ได้ปรากฏขึ้นเป็นร้านแรกๆ เวลาผู้บริโภคเข้ามาที่แพลตฟอร์ม
สิ่งที่เราเรียนรู้ได้คือ ไม่ว่าเราจะขายดีแค่ไหน ไม่ว่าเราจะมีลูกค้าเยอะอย่างไร ก็อย่ามั่นใจตัวเองเกินไป เพราะอะไรก็เกิดขึ้นได้ และเราต้องหาทางขายให้ได้ทุกช่องทาง จับทุก Target รับประทานที่ร้านก็ได้ ซื้อกลับบ้านก็มี และมี Delivery ด้วยเช่นกัน
ขณะเดียวกันแพ็กเกจจิ้งต้องพร้อม ลูกค้าเอากลับบ้าน ต้องพร้อมรับประทาน สะอาด แพ็กเกจจิ้งเหมาะกับอาหารนั้นๆ รักษาคุณภาพอาหาร และรสชาติแม้ไม่ได้ 100% เสิร์ฟจากครัว แต่ต้องทำให้เหมือนเดิมมากที่สุด”
สำหรับ nice two Meat u ด้วยความที่เป็นอาหารประเภทปิ้งย่าง ไม่ได้เหมาะกับ Food Delivery จึงได้พัฒนาเป็นเมนูเซ็ท ให้เหมาะสมกับการจัดส่ง โดยไม่เล่าสงครามราคา และโปรโมชั่น เช่น แจกกระทะ ลดราคา เพราะด้วย Positioning ของแบรนด์อยู่ใน Medium to High
ขณะที่แบรนด์ใน Portfolio ที่ขายดีของบริษัท คือ Fire Tiger และ E Bomb เมนูหลักคือแซนวิสไข่ เป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เปิดมาในช่วง COVID-19 ปีที่แล้ว เพราะ Delivery ได้สะดวก และรับประทานง่าย
นอกจากขยายช่องทางการขายให้ครอบคลุมทั้ง Din-in, Delivery, Take Away แล้ว อีกกลยุทธ์ที่ทำคู่กัน คือ พัฒนาโปรดักต์ให้แปลกใหม่ และสอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคในช่วงเวลานั้นๆ หรือในยุคนั้นๆ
คุณแนท ยกตัวอย่าง ชาไข่เสือ ออกมาช่วง COVID-19 เมื่อปีที่แล้ว เป็นน้ำส้มยูซุ ให้วิตามินซี ขายดีมาก ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในยุค COVID-19 เพราะฉะนั้นสิ่งที่แบรนด์ต่างๆ ในเครือทำ ไม่ได้หั่นราคา แต่เน้นทำโปรดักต์ให้ตอบโจทย์จริงๆ
#6 เพิ่มแบรนด์ใน Portfolio และคอนเซ็ปต์ร้านทุกแบรนด์ต้องสวย โลเกชั่นดี ถ่ายรูปได้
เมื่อถามถึงความสำเร็จของทั้ง nice two Meat u และ Fire Tiger ที่เดินทางมาถึงวันนี้ ทั้งแบรนด์เป็นที่รู้จัก มีสาขาตามโลเกชั่นต่างๆ และมีฐานแฟนคลับ คุณเกศ และ คุณแนท บอกกับ Brand Buffet ว่า
“คนอาจมองว่าเราฟลุ๊คหรือเปล่าในการสร้าง nice to Meat u ขึ้นมา แล้วพอมา Fire Tiger ก็ดัง เป็นสองแบรนด์ที่รู้จักกัน แต่ในความจริงแล้ว การทำธุรกิจร้านอาหาร – ร้านเครื่องดื่ม ไม่ใช่ง่ายที่จะทำให้คนรู้จัก จดจำ และมีลูกค้าประจำ อย่างปัจจุบันมีแบรนด์ E Bomb เรายังคงต้องสร้างการรับรู้ต่อเนื่อง เพราะยังมีผู้บริโภคบางส่วนไม่รู้จัก
เพราะฉะนั้นถ้าถามว่า ณ วันนี้ เราประสบความสำเร็จหรือยัง ? เราคิดว่ายังไม่สำเร็จ เพราะแบรนด์ใน Portfolio ยังอายุน้อยมาก อย่าง nice two Meat u ในไทยอายุ 4 ปี ขณะที่ Fire Tiger อายุ 2 ปี และ E Bomb 1 ปี ระยะเวลาสั้นมากที่จะสามารถพิสูจน์อะไรได้ เรามองว่ายังไม่ใช่เรื่องประสบความสำเร็จ แต่ต้องดูยาวกกว่านี้
เนื่องจากธุรกิจร้านอาหารแข่งขันสูงมาก แบรนด์หนึ่งเปิดอันนี้ออกมา พอดัง ทุกคนก็แห่เปิดตาม และคนรุ่นใหม่ อยากเป็นเจ้าของธุรกิจ อยากเป็นเจ้านายตัวเอง หลายคนเลือกเปิดร้านอาหาร ยิ่งในช่วง COVID-19 คนเข้ามาในธุรกิจนี้เยอะ
แต่เราก็มีความมั่นใจในสิ่งที่เราทำ อย่างตอนแรกของการนำ nice two Meat u มาเปิดในไทย มีคนพูดว่าเป็นเทรนด์ มีคิวแค่ 2 เดือนก็หมดแล้ว แต่ 4 ปีที่ผ่านมา เรายังมีคิวทุกสาขา แน่นเหมือนเดิม เราก็แอบภูมิใจเล็กๆ เหมือนเราสร้างแบรนด์ขึ้นมาแบรนด์หนึ่ง แล้วเขาเติบโตแข็งแรง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายที่เดินเข้าไปร้านอาหารร้านนั้น แล้วคิวเต็มตลอด”
ขณะเดียวกันอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้นักธุรกิจรุ่นใหม่ทั้งสองคน ได้เรียนรู้คือ การมีแบรนด์เดียวใน Portfolio ไม่เพียงพอแล้ว เพราะด้วยพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคไทย แสวงหาประสบการณ์แปลกใหม่ และใช้ Social Media ดังนั้นจึงต้องมีร้านคอนเซ็ปต์ใหม่ ที่ตอบโจทย์ทั้งความอร่อย โลเกชั่นเดินทางสะดวก สอดคล้องกับแบรนด์ และกลุ่มเป้าหมาย ร้านสวย ถ่ายรูปได้ เพื่อให้ลูกค้าได้ลง Social Media
“วันนี้ เราไม่สามารถมีร้านๆ เดียวใน Portfolio ของเราได้แล้ว เนื่องจากพฤติกรรมคนไทย หรือคนทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นกระแส Social Media และโลกหมุนไปไวมาก ทำให้คนขี้เบื่อเร็วขึ้น ยิ่งพอมี COVID-19 คนเดินทางออกนอกประเทศไม่ได้ แต่ก็ยังชอบไปสถานที่ต่างๆ หาสิ่งใหม่ๆ หาอาหารอร่อยๆ ไปในร้านที่มีคอนเซ็ปต์ใหม่ เพื่อถ่ายรูป ทุกคนเป็น Instagrammer ชอบถ่ายรูป และแชร์
ทำให้ทุกวันนี้ ร้านอาหาร ไม่ใช่แค่อร่อยอย่างเดียว แล้วจะขายได้ แต่ต้องเป็นร้านที่มีคอนเซ็ปต์ด้วย อร่อยด้วย สวย โลเกชั่นดี เดินทางง่าย ทุกอย่างประกอบกัน
แต่ในความหลากหลายของ Portfolio ร้านอาหารเรา ไม่ได้อยากเปิดมาเป็นสิบๆ แบรนด์ แต่ใน 1 แบรนด์ ต้องสามารถแตกออกไปได้หลายอย่าง เช่น Fire Tiger ที่วันนี้ต่อยอดเป็น Bar & Restaurant และไม่ได้มองว่า 1 แบรนด์ ต้องขยายเป็นร้อยสาขา โมเดลนั้นเราคิดว่าไม่ได้เหมาะกับประเทศไทยในวันนี้
และในการขยายสาขา อยู่ที่โลเกชั่น และตำแหน่งของแบรนด์นั้นๆ เช่น nice two Meat u เป็น Premium Korean Bar B Q ซึ่งไม่สามารถขยายได้เป็นร้อยสาขา ไม่สามารถไปได้ในทุกโลเกชั่น เพราะถ้าเข้าถึงง่ายเกินไป คนจะเบื่อ ไม่มีความ Exclusive รู้สึกว่ากินเมื่อไรก็ได้”
นอกจาก 4 แบรนด์ (nice two Meat u, Seoulcial Club, Fire Tiger, E Bomb) ภายใน 1 – 2 เดือนนี้ คุณเกศ – คุณแนท เตรียมเปิดตัวอีกหนึ่งแบรนด์ร้านอาหารชื่อว่า “ต้าถัง ฮอทพอท” (Da Tang Hotpot) เป็นแบรนด์ที่ปั้นขึ้นเอง ที่สยามสแควร์ ซอย 3 ซึ่ง คุณเกศ มองว่าถึงแม้เวลานี้ยังคงอยู่ในสถานการณ์ COVID-19 แต่ในทุกวิกฤตไม่ว่าจะครั้งใดก็ตาม ย่อมมีโอกาสเสมอ
“ทุกๆ ครั้งที่เกิดปัญหา หรือเกิดวิกฤต จะทำให้เราย้อนกลับมามองทุกอย่างว่าเราทำอะไรได้บ้าง จะพัฒนา หรือปรับปรุงจุดไหน ทำให้เราได้เรียนรู้ และต้องก้าวนำสิ่งที่คนอื่นยังไม่ทำ ไปก่อนหนึ่งก้าวเสมอ แม้เรารู้ว่าคนอื่นต้องก้าวตามเรามา แต่ก็ต้องพัฒนาทุกอย่างให้ไปไกลขึ้นเรื่อยๆ โดยไม่ต้องหันไปมองคนอื่น ให้เราวิ่งแข่งกับตัวเอง และหาจุดด้อยตัวเอง เพื่อปรับปรุงจุดด้อยนั้น หรือแม้กระทั่งจุดแข็งที่เรามี อย่าชะล่าใจ เพราะคนอื่นเขาก็พัฒนาจุดแข็งได้เช่นกัน
เกศมองว่าการทำธุรกิจ มองโลกในแง่ดีไม่ได้ สมมติเวลาเราขายไม่ดี คนอื่นอาจมองว่า เพราะช่วงนี้มี COVID-19 ช่วงนี้ไม่มีคนมาเดินห้างฯ ช่วงนี้คนน้อย ซึ่งไม่ใช่ เรามองย้อนกลับมาเสมอว่าจะเป็นไปได้อย่างไร เมื่อห้างฯ ยังเปิดอยู่ ถึงคนน้อยก็ตาม แต่ต้องมีความผิดปกติที่เรา ทำอย่างไรให้ลูกค้ามาใช้บริการที่ร้านเรา มาแล้ว ได้รับความพึงพอใจ กลับมาใช้บริการอีก ต้องมองที่เรา ไม่ใช่โทษสิ่งรอบข้าง ถ้าเราขายไม่ดี ขาดทุน นั่นแสดงว่าเราต้องมีอะไรบางอย่างที่ยังไม่ดีพอ แล้วให้กลับมาแก้ที่ตัวเรา” คุณเกศ สรุปทิ้งท้าย
FYI
ผลประกอบการ บริษัท รวยไม่หยุด จำกัด (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
ปี 2562 รายได้รวม 74,738,868.93 ล้านบาท / กำไร 2,031,043.81 บาท
ผลประกอบการ บริษัท รวยสบายสบาย จำกัด (ข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า)
ปี 2562 รายได้รวม 75,830,660 ล้านบาท / กำไร 3,851,921.25 บาท