การระบาดของโควิด-19 ถือเป็นวิกฤติที่ยากจะลืม เพราะนอกจากจะทำให้วิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ยังสร้างผลกระทบต่อการทำธุรกิจมากมาย และหลายคนคาดการณ์ว่าสถานการณ์เหล่านี้คงจะลากยาวไปอีกพักใหญ่ เพราะถึงแม้จะเริ่มมีวัคซีนออกมาปราบโควิด-19 และเริ่มใช้ในหลายประเทศแล้ว แต่ผู้คนยังคงลังเลหรือไม่ต้องการฉีดวัคซีน ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่ายของผู้บริโภคเองอาจยังไม่เปลี่ยนทันที
บริษัท นีลเส็นไอคิว (NielsenIQ) ได้ทำการสำรวจผู้บริโภคกว่า 11,000 คนใน 15 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย ญี่ปุ่น เม็กซิโก รัสเซีย แอฟริกาใต้ สเปน ไทย ตุรกี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนธันวาคม 2563 เพื่อสะท้อนความคิดเห็น พฤติกรรมผู้บริโภค และสภาพเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นหลังการมาของวัคซีนโควิด-19 เพื่อธุรกิจจะได้ปรับตัวและเตรียมความพร้อมรับมือได้อย่างทันท่วงที
“ความมั่นใจ” กำแพงสำคัญที่คนยังลังเล ไม่ฉีดวัคซีน
จากผลสำรวจระบุว่า หากวัคซีนโควิด-19 ที่ได้รับการรับรองให้ใช้งานมาถึง ผู้บริโภคเกือบ 2 ใน 3 หรือประมาณ 64% จะไม่รับการฉีดวัคซีนในทันที เนื่องจากผู้บริโภคมีความลังเลและกังวลในวัคซีน ส่งผลให้ผู้บริโภคกว่า 52% ลังเลที่จะเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่ายในทันที โดยกว่า 58% ขาดความมั่นใจในการรับประทานอาหารนอกบ้าน ขณะที่ 65% ไม่มั่นใจในการเข้าร่วมชมการแข่งขันกีฬา และอีกกว่า 70% กังวลเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลให้เศรษฐกิจอาจฟื้นตัวได้ช้า
“ระดับความเชื่อมั่นเกี่ยวกับวัคซีนและความต้องการที่จะรับวัคซีนอาจเปลี่ยนแปลงไป เมื่อประเทศต่างๆ เริ่มให้มีการใช้มากขึ้น รวมถึงให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับวัคซีน แต่ขณะเดียวกันก็มีหลายสัญญาณที่บ่งชี้ว่าการมีวัคซีนจะไม่ทำให้โลกกลับมาเป็นเหมือนช่วงก่อนที่จะเกิดการระบาดของโควิดได้”
คุณ Scott McKenzie หัวหน้าทีม Global Intelligence บริษัทนีลเส็นไอคิว ย้ำถึงพฤติกรรมของผู้บริโภคที่อาจจะไม่เหมือนเดิม โดยเหตุผลหลักเนื่องมาจากผู้บริโภคส่วนใหญ่ไม่ได้วางแผนที่จะรับวัคซีนทันที โดย 41% จะขอรอเวลาก่อน ขณะที่ 12% จะไม่รับวัคซีนเลย และผู้บริโภคจำนวนมากกว่า 1 ใน 3 หรือประมาณ 36% ระบุว่าจะรับวัคซีนทันที ในขณะที่ 11% ยังไม่แน่ใจ
นอกจากนี้ ผลสำรวจ ยังชี้ให้เห็นว่า ความพร้อมและจำนวนวัคซีนที่แพร่หลายจะทำให้ผู้บริโภคบางส่วนกลับมามีความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายมากขึ้น โดยพบว่า 16% ของผู้บริโภคมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายในสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ขณะที่ 12% จะใช้จ่ายน้อยลง และผู้บริโภคจำนวนมากที่สุดยังคงมีความต้องการใช้จ่ายเท่าเดิม อย่างไรก็ตาม 72% ของผู้บริโภคจะใช้จ่ายอย่างมีสติมากขึ้น
ผู้บริโภคชาวไทย แนวโน้มออมเงินและทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น
สำหรับผู้บริโภคชาวไทยกลับพบว่า มีทัศนคติเชิงบวก โดยผู้บริโภคจำนวนมากกว่าครึ่ง 53% มั่นใจจะกลับไปทำงานที่ออฟฟิศ หากได้รับการยืนยันถึงช่วงเวลาที่สามารถรับวัคซีนโควิด-19 ที่ผ่านการรับรองแล้ว และหลังจากวัคซีนมีการฉีดอย่างแพร่หลายในประเทศไทย ผู้บริโภคจะมีการใช้จ่ายเงินกับการออมเงินหรือการลงทุนมากขึ้น 32% และออกไปรับประทานอาหารนอกบ้าน 29%
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand