กลายเป็นกระแสที่สร้างความสนใจในแวดวงการเงินไปทั่วโลก สำหรับปรากฎการณ์ที่นักลงทุนรายย่อยจำนวนมากรวมตัวกันเข้าไปซื้อหุ้นของร้านจำหน่ายวิดีโอเกมในสหรัฐ GameStop จนดันราคาหุ้นให้พุ่งทะยานขึ้นไปกว่า 17 เท่า ในเวลาเพียงไม่กี่สัปดาห์ จากที่เคยเหมือนจะเป็นหุ้นที่ดูไม่มีอนาคตเพราะผลประกอบการมีแต่ดิ่งลง และทำให้กองทุนเฮดจ์ฟันด์ขาดทุนอย่างหนัก จากสถานการณ์นี้ ทำให้หลายคนสงสัยไม่ได้ว่า จะเป็นการส่งสัญญาณ Money Game จนนำไปสู่ภาวะฟองสบู่ในตลาดหุ้นสหรัฐหรือไม่? และจะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยแค่ไหน?
บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด (SCBS) ได้นำเสนอบทความเรื่อง บทเรียน GAMESTOP เมื่อตลาดถูกเปลี่ยนเป็น MONEY GAME และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือไม่ เพื่อฉายภาพปรากฎการณ์ดังกล่าว
จุดเริ่มต้นปรากฎการณ์ GAMESTOP
คุณศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ Chief Investment Officer บริษัท หลักทรัพย์ไทยพาณิชย์ จำกัด บอกว่า ปรากฎการณ์ GameStop มีจุดเริ่มต้นจากกลุ่มผู้ใช้งานในเว็บ Reddit ห้อง wallstreetbets ที่เป็นชุมชนขนาดใหญ่คล้ายเว็บ pantip.com ในบ้านเรา ได้โพสต์วิเคราะห์ว่าหุ้น GameStop ที่เป็นร้านขายเครื่องเกมส์ และแผ่นเกมส์ที่แนวโน้มธุรกิจกำลังถูก Disrupt จากที่ผู้บริโภคซื้อเกมส์ผ่านช่องทางดิจิตอลนั้น ราคายังต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐาน และได้ถูกยืมหุ้นไปขายล่วงหน้าหรือเรียกว่า Short Sell จำนวนมาก
ชาวชุมชนใน Reddit จึงได้ชักชวนนักลงทุนคนอื่นให้ซื้อหุ้นตัวนี้ส่งผลให้ราคาปรับตัวจากระดับ 39 ดอลลาร์สหรัฐ จากวันที่ 19 มกราคม 2564 ขึ้นไปที่ 347 ดอลลาร์สหรัฐ ในวันที่ 27 มกราคม 2564 หรือปรับตัวเพิ่มขึ้นสูงถึง 789% โดยใช้เวลาไม่ถึง 1 สัปดาห์ เรียกได้ว่ากองทุน Ark Invest หรือ Bitcoin ที่สร้างผลตอบแทนได้สูงมากในปีก่อน ก็เทียบไม่ติดเลยทีเดียว
GameStop Short Squeeze จะส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นมากแค่ไหน
คุณศรชัย ให้ความเห็นว่า โดยปกติแล้วหุ้นที่ไม่ได้มีน้ำหนักในดัชนีสูงจะไม่ค่อยกระทบกับตลาดหุ้นในภาพรวมเท่าใดนัก แต่ในครั้งนี้เพราะว่ามีกองทุนอย่าง Melvin Capital ซึ่งมีผู้ร่วมลงทุนอย่างบริษัท Citadel และ Point 72 ได้ทำการ Short sell หุ้น GameStop ไว้เป็นจำนวนมากโดยจะได้กำไรหากหุ้นปรับตัวลดลง
แต่ในทางกลับกันหากหุ้นปรับตัวเพิ่มขึ้นจะสามารถขาดทุนมากกว่าเงินต้นที่ลงทุนไว้ เพราะหุ้นนั้นราคาปรับลดลงได้ไม่ต่ำกว่า 0 แต่ตอนปรับตัวขึ้นนั้น กลับไม่มีเพดานจำกัดไว้ หรือเรียกได้ว่าเป็นการลงทุนที่ “จำกัดกำไร แต่ไม่จำกัดขาดทุน” อีกทั้งการที่นักลงทุนรายย่อยดันหุ้นขึ้นไป ทำให้บริษัทที่เงินทุนจำกัดต้องจำใจปิดสถานะทั้งที่ขาดทุน โดยการที่ต้องนำเงินไปซื้อหุ้นในตลาดมาคืน หรือถูก “Short Squeeze” ก็ยิ่งเป็นการเร่งให้ราคาหุ้นปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยสื่อต่างประเทศคาดว่าผู้ที่ทำการ Short sell ในครั้งนี้จะเสียหายราว 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 6 แสนล้านบาท
จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามสำคัญตามมาคือ ปัจจุบันคนที่ Short Sell นั้นยอมแพ้ หรือปิดสถานะหรือยัง เพราะหากยังไม่ปิดสถานะกองทุนจะต้องมีเงินใหม่เข้ามาเพื่อค้ำเป็นหลักประกันหรือสำรองไว้เพื่อซื้อหุ้นที่ยืมไปขายล่วงหน้ามาคืน ซึ่งวิธีง่ายที่สุดก็คือการที่กองทุนจะขายหุ้นตัวอื่นที่อยู่ในพอร์ตการลงทุนเพื่อมาชดเชยนั่นเอง แต่ก็อาจจะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่ที่ทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ หรือตลาดหุ้นทั่วโลกอาจปรับตัวลดลงได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้
นอกจากนั้น นักลงทุนรายย่อยเมื่อเห็นวิธีการเช่นนี้ได้ผลกับหุ้น GameStop ก็เลยทำให้มีการชักชวนซื้อหุ้นขนาดเล็กเช่น หุ้น Koss ผู้ผลิตหูฟัง หุ้นโรงหนัง AMC และหุ้น Blackberry ส่งผลให้หุ้นกลุ่มเหล่านี้ต่างปรับตัวเพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในระยะเวลาอันสั้น
ไม่นับกับการที่ผู้มีชื่อเสียงหลายคนได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ครั้งนี้ ทั้ง Michael Burry ผู้ที่ทำกำไรจากเหตุการณ์ Hamburger Crisis ในปี 2008 หรือที่เราอาจรู้จักจากหนังเรื่อง “The Big Short” ที่ได้มีกำไรจากการลงทุนในหุ้น GameStop กว่า 1,500% หรือ Elon musk เจ้าของบริษัทรถยนต์ไฟฟ้าอย่าง Tesla ก็มีการใช้ Twitter พูดถึงหุ้น GameStop และไม่เห็นด้วยกับการที่วงการ Wallstreet ทำการออกกฏไม่ให้นักลงทุนซื้อหุ้น GameStop เพื่อกันการปั่นหุ้น แต่ไม่มีการห้ามนักลงทุนสถาบันในการซื้อหรือทำ
Money Game ในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร
นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้อาจจะทำให้ภาครัฐเข้ามาปรับกฏเกณฑ์ในด้านตลาดการเงินรวดเร็วและเข้มขึ้น เพราะตลาดหุ้นสหรัฐฯ นั้นไม่มีการจำกัดการปรับตัวสูงสุด เหมือนตลาดหุ้นบ้านเราที่จำกัดการเพิ่มขึ้นหรือลดลงสูงสุดวันละ 30% ทำให้สามารถเกิดภาวะที่ตลาดเป็นการเก็งกำไรได้รวดเร็วอย่างที่เห็นในเหตุการณ์นี้ เหมือนกับกรณีหลังวิกฤติ Hamburger Crisis ในปี 2008 ที่ทาง กลต. สหรัฐฯ ได้ปรับห้ามทำการ Naked Short ซึ่งคือการทำ Short Sell โดนผู้ขายไม่ได้มีการยืมหุ้นมาไว้ก่อนในวันที่สั่งขายหุ้น
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ อาจจะเห็นการเข้ามาปรับปรุงหลักเกณฑ์ในการจำกัดการ Short Sell หรือการจำกัดการ Leverage ของนักลงทุนก็เป็นไปได้ อีกทั้งทางรัฐบาลของโจไบเดน และนางเจเน็ต เยลเลนก็ได้จับตาเฝ้าดูอย่างใกล้ชิดกับกรณีนี้เช่นกัน ซึ่งจะส่งกระทบต่อ Sentiment ตลาด และทำให้นักลงทุนเริ่มรู้สึกว่าต้องทำการลดความเสี่ยงจากการที่ตลาดหุ้นร้อนแรงเกินไป โดยทำการลดสัดส่วนในการถือหุ้นลงไปบ้างส่งผลให้ตลาดหุ้นในช่วงนี้อาจจะเห็นการปรับฐานบ้าง
หากมองในแง่มุมของปัจจัยพื้นฐานนั้นหุ้นร้านเกมส์ที่มีผลประกอบการขาดทุน แต่มีการซื้อขายที่ P/BV 60 กว่าเรียกได้ว่าเป็นราคาที่แพงอย่างแน่นอน แต่ขอยกคำพูดของเบนจามิน เกรแฮมซึ่งเป็นอาจารย์ของนักลงทุนเอกอย่าง วอร์เรน บัฟเฟตต์ว่า “ในระยะสั้นตลาดหุ้นเป็นเครื่องโหวตลงคะแนนเสียง แต่ในระยะยาวตลาดหุ้นเป็นเครื่องชั่งน้ำหนัก” หรือหมายความว่า ในระยะสั้นมันไม่เกี่ยวหรอกครับว่า หุ้นตัวไหนจะถูกหรือแพง ใครจะวิเคราะห์ผิดหรือถูก มันสำคัญแค่ว่าเงินฝั่งไหนมากกว่าฝั่งนั้นก็จะเป็นผู้ชนะในหรือที่เราชอบเรียกกันว่า Money Game นั่นเอง
ด้วยความที่นักลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในภาวะโลภ นักลงทุนหน้าใหม่เห็นคนที่ลงทุนก่อนหน้าได้กำไรไปมากก็จะเข้ามาลงทุนตามๆกัน โดยหากมีเงินใหม่เข้ามาก็จะทำให้สามารถดันฟองสบู่ขึ้นไปเรื่อยๆ ได้ จนกว่าที่จะมีใครสักคนได้สติ นึกถึงความเป็นเหตุผลขึ้นมาว่าสิ่งที่กำลังทำอยู่ไม่ใช่การลงทุนแต่เป็นการเก็งกำไร ก็จะเป็นจุดจบของ Money Game ในครั้งนี้
เหตุการณ์ในครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของฟองสบู่ตลาดหุ้นหรือไม่
การปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของหุ้น GameStop นั้น นอกเหนือจากปัจจัยที่ชาวชุมชน Reddit รวมกันไล่ซื้อหุ้นแล้ว ยังมาจากปัจจัยของตัวเศรษฐกิจเองด้วย ทั้งการที่ภาครัฐออกนโยบายกระต้นเศรษฐกิจอย่างล้นหลาม โดยมีการแจกเงินช่วยเหลือรายเดือนให้กับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 และสภาวะดอกเบี้ยต่ำ และการที่ผู้คนมีการ WFH มากขึ้นทำให้มีนักลงทุนรายย่อยซื้อขายหุ้นผ่านทางแอพพลิเคชั่นมากขึ้น ประกอบกับตลาดหุ้นในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวขึ้นทำ New High ได้ก็ยิ่งทำให้คนที่ได้กำไรจากตลาดหุ้นรู้สึกฮึกเหิมว่ากำไรได้มาง่าย ก็ยิ่งเอาเงินเข้ามาใส่ตลาดหุ้นเพิ่มเข้าไปอีก
จากปัจจัยที่กล่าวมา เป็นการบ่งบอกถึงการเริ่มต้นภาวะฟองสบู่ที่มาจากกลุ่มหุ้นขนาดเล็กก่อน โดยยังไม่เห็นฟองสบู่เข้าไปในหุ้นขนาดใหญ่ เพราะเป็นหุ้นที่มีขนาดใหญ่กว่า และปัจจัยพื้นฐานดี ทำให้ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากไม่สามารถทำการไล่ซื้อได้เหมือนหุ้น GameStop
แต่สิ่งที่ต้องจับตาดูคือ การที่นักลงทุนรายย่อยยังมีการใช้ Leverage ทั้งการซื้อหุ้นด้วย Margin หรือลงทุนใน Derivatives มากอยู่หรือไม่ โดยจากผลสำรวจของนักลงทุนรายย่อยในช่วงเดือนกันยายนมีนักลงทุน 43% ที่ลงทุนโดยใช้ Margin หรือซื้อ Options หรือการเปิดบัญชีนักลงทุนใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น RobinHood แอปฯ เทรดดิ้งหุ้นนั้นยังมีคนดาวน์โหลดเพิ่มขึ้นกว่าหกแสนรายในช่วงอาทิตย์ผ่านมา
โดยหากเป็นเช่นนี้ต่อไปจะเป็นสัญญาณที่เราเห็นว่าตลาดเริ่มเข้าสู่สภาวะฟองสบู่มากขึ้น ซึ่งนักลงทุนควรจะต้องระมัดระวังอย่างมากหากจะเข้าลงทุนในหุ้นที่กำลังเป็นข่าวอยู่ในช่วงนี้ และหากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น รวมถึงหากธนาคารกลางเริ่มดึงสภาพคล่องออกจากระบบนั้นก็จะเป็นการที่ฟองสบู่อาจจะแตกได้ในท้ายที่สุด
กรณีหุ้น GameStop จะเกิดกับตลาดหุ้นไทยเราหรือไม่
สำหรับตลาดหุ้นไทย คุณศรชัยมองว่า ค่อนข้างแตกต่างกับตลาดหุ้นสหรัฐฯ เพราะเรามีจำกัด Floor / Ceiling ที่ให้หุ้นปรับตัวขึ้นลงได้ไม่เกินวันละ 30% รวมถึงการที่หากเห็นการเก็งกำไรในหุ้นที่มีการเคลื่อนไหวผิดปกติ ทางตลาดหลักทรัพย์ก็มีการใช้มาตรการประกาศ Cash Balance ให้ต้องใช้เงินเต็มจำนวนในการซื้อขายหุ้นเท่านั้นเพื่อลดภาวะเก็งกำไรในตลาด
อีกทั้งสถานะ Short Sell ของหุ้นไทยนั้นยังมีสัดส่วนที่น้อย และไม่สามารถทำการ Naked Short ได้ ทำให้ภาวะฟองสบู่ที่จะเกิดจากการถูก Short Squeeze เหมือนกรณีหุ้น GameStop ค่อนข้างจะทำได้ลำบาก