เรียกว่าเป็นเสือปืนไวเกาะเทรนด์ธุรกิจกัญชงอีกราย เมื่อ “ทอม เครือโสภณ” ขอลุยตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จับมือ มหาวิทยาลัยขอนแก่นปลูกกัญชง 1,000 ไร่ ทำสารสกัด CBD ดึงแบรนด์ดังทำโปรดักท์ พร้อมเปิด ไลฟ์สไตล์ แฟรนไชส์ Hemp House ขายสินค้าแบบไม่ต้องง้อร้านค้าปลีกอีกด้วย
หลังกระทรวงสาธารณสุข เดินหน้านโยบายปลดล็อก “กัญชา-กัญชง” ให้เป็นพืชเศรษฐกิจใหม่ นำบางส่วนมาใช้ประโยชน์โดยไม่จัดเป็นยาเสพติด ส่วนหลักๆ คือ 1.ใบ (ไม่ติดกับช่อดอก) เปลือก ลำต้น เส้นใย กิ่ง ก้าน ราก ไม่ถือเป็นยาเสพติด 2.เมล็ดกัญชง น้ำมัน สารสกัด 3.สารสกัดแคนนาบิไดออล (CBD) และสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (THC) ไม่เกิน 0.2% (ส่วนของช่อดอกกัญชาและกัญชง รวมทั้งเมล็ดกัญชา ยังไม่ปลดล็อกจากยาเสพติด)
สาระสำคัญของ “กัญชง” ที่มีสารเมาน้อยกว่ากัญชา และได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการธุรกิจ และเป็นกระแสมาต่อเนื่อง เมื่อ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ออกประกาศเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2564 เปิดให้ผู้สนใจเข้ามาขออนุญาตปลูกและผลิตสินค้าที่มีส่วนผสมกัญชง เพื่อจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ได้
โดยผู้สนใจทุกกลุ่มสามารถขอปลูกกัญชงในพื้นที่ขนาดใหญ่เพื่อทำเชิงการค้าได้ ส่วนสินค้าเครื่องดื่มและอาหารอาหารเสริม เครื่องสำอาง ฯลฯ จะทยอยออกกฎหมายมารองรับภายใน 4 เดือน ซึ่งจะอยู่ในช่วงพฤษภาคม 2564 เรียกว่าถนนทุกสายตอนนี้วิ่งหากัญชง หวังเป็นสินค้า “ดาวรุ่ง” สร้างรายได้
จับมือม.ขอนแก่นปลูกกัญชง 1,000 ไร่
คุณจุลภาส (ทอม) เครือโสภณ ผู้ก่อตั้ง บริษัท Golden Triangle Health จำกัด (GTH) กล่าวว่าจากประสบการณ์จัดจำหน่ายสินค้าให้กับร้านค้าปลีกในต่างประเทศ ที่เปิดให้ทำตลาดเชิงพาณิชย์กับสินค้ากัญชงมาก่อน ซึ่งได้รับความสนใจจากผู้บริโภคอย่างมาก จึงเห็นโอกาสทำตลาดกัญชง ในประเทศไทย ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ
โดยได้เซ็น MOU กับมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งจะทำหน้าที่ปลูกกัญชงราว 1,000 ไร่ โรงงานสกัดสาร CBD เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนผสมในสินค้าต่างๆ โดยร่วมกับพันธมิตรคิดค้นและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทำจากกัญชงออกมาใช้ในการรักษาสุขภาพ เพิ่มความผ่อนคลาย ส่งเสริมให้การนอนหลับ การปลูกกัญชงแต่ละครั้งจะใช้เวลาราว 3-4 เดือน จากนั้นเข้าโรงงานสกัดออกมาเป็นสารสกัด CBD และ THC
แผนธุรกิจของ GTH ได้พัฒนาสินค้ากัญชงมีทั้งแบรนด์ของบริษัทเอง เบื้องต้น 3 แบรนด์ คือ TOM , KinChaKan และ ช่อผกา เป็นกลุ่มอาหารคาว ขนมหวาน ไอศกรีม ช็อกโกแลต โดยร่วมกับพันธมิตรผลิตสินค้าให้ เริ่มจากการใช้ สารเทอร์ปีน (Terpenes) เป็นสารให้กลิ่นและรสชาติกัญชง ที่สามารถทำได้แล้วเนื่องจากเป็นสารให้กลิ่นและรสเท่านั้น (ไม่ใช่สารสกัด CBD)
นอกจากนี้ยังมีกลุ่มพาร์ทเนอร์ แบรนด์ ซึ่งเป็นแบรนด์ดังในตลาด จะมาร่วมผลิตสินค้าเริ่มจากกลิ่นกัญชงและสารสกัดกัญชง (ซึ่งจะเกิดขึ้นในอนาคตหลังจากเริ่มมีผลผลิตจากการปลูกและสารสกัด และขออนุญาตผลิตอ้างอิงตามกฎหมาย อย.) ประกอบด้วย Smooth E สเปรย์ปรับอากาศกัญชง Dentiste ยาสีฟันและเมาท์สเปรย์กัญชง Bertram (เจ้าของแบรนด์เซียงเพียวอิ๊ว) ออกแบรนด์ใหม่ยาดม Urban Mint ส่วนผสมกัญชง Divana กลุ่มผลิตภัณฑ์สปากัญชง NRF ผลิตภัณฑ์ซอสพริกกัญชง เถ้าแก่น้อย สแน็คสาหร่ายกัญชง
ด้านช่องทางการจำหน่ายสินค้ากัญชง ขณะนี้เป็นเรื่องใหม่ ช่องทางค้าปลีกต่างๆ อาจยังมีความกังวลในการทำตลาด บริษัทจึงเปิดช่องทางขายของตัวเองในรูปแบบแฟรนไชส์ Hemp House โดยคาดว่าการทำธุรกิจกัญชงจะได้รับการตอบรับที่ดีจากผู้บริโภค สามารถครองตลาดกัญชงในไทยได้ วางเป้าหมายรายได้ปีแรกไว้ที่ 500 ล้านบาท
ปั้นแฟรนไชส์ Hemp House ดูดนักลงทุน
คุณณัฏฐิฏา ภูมิภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Golden Triangle Health จำกัด กล่าวว่า Hemp House เป็นไลฟ์สไตล์ แฟรนไชส์ มี 2 ฟอร์แมท คือ ค่าแฟรนไชส์ 2 แสนบาท และ 3 แสนบาท ขนาด 10 ตารางเมตรขึ้นไป เน้นทำเลอาคารสำนักงาน แหล่งชุมชนทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดหัวเมืองใหญ่ ประเมินรายได้แฟรนไชส์ 1 แสนบาทต่อเดือน และคืนทุนใน 6 เดือน
โดยบริษัทจะสนับสนุนการตลาด 360 องศา ทั้งการตลาดออฟไลน์และออนไลน์ ให้คำปรึกษาการทำตลาด และทำการตลาดร่วมกับพันธมิตร เช่น AIS จะเข้ามาร่วมโปรโมทสินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าเซเรเนด ที่ปัจจุบันมีกว่า 5-10 ล้านคน
นอกจากนี้สนับสนุนสินค้าที่เกี่ยวกับกัญชงเพื่อนำไปจำหน่ายในร้านแฟรนไชส์ ทั้งแบรนด์ของ GTH และกลุ่มสินค้าพาร์ทเนอร์ แบรนด์ ที่จะมีเพิ่มเข้ามาต่อเนื่อง เพราะบริษัททำธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ผลิตออกมาเป็นสินค้าสำเร็จรูป
“ต้องบอกว่าเราถือเป็น First Mover ในธุรกิจกัญชง ที่ทำตั้งแต่การผลิตสินค้าถึงช่องทางจำหน่ายผ่านแฟรนไชส์”
อัพเดทธุรกิจกัญชา-กัญชง วันนี้ทำอะไรได้บ้าง
เนื่องจาก “กัญชง” เป็นพืชที่มีสรรพคุณช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ให้นอนหลับสบาย จึงทำให้ได้รับความสนใจและเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของผู้บริโภค อย่างไรก็ตามหลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่าต้น “กัญชง” ก็คือ “กัญชา” แต่ความจริงแล้วกัญชงแค่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แต่ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา เพราะมีสาร THC (สารเมา) ในปริมาณน้อยกว่ามากจึงไม่มีผลทำให้เกิดมึนเมาหรือเสพติด แต่มีประโยชน์ในด้านการแพทย์และอื่น ๆ เช่น ต้นกัญชงเป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้
ถึงวันนี้ “กัญชา-กัญชง” ทำอะไรได้บ้างหลังจากปลดล็อกบางส่วนไม่จัดเป็นยาเสพติด มาอัพเดทข้อมูลกับ ภญ. สุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)
โดยเริ่มจาก สารเทอร์ปีน (Terpenes) เป็นสารที่ให้กลิ่นและรสชาติ จัดเป็นสารเคมีจากสารสังเคราะห์ สกัดจากพืชหลายอย่างทั้ง กัญชา กัญชง และพืชอื่นๆ สารนี้ อย.อนุญาตให้ใช้อยู่แล้วเพราะเป็นสารสังเคราะห์ที่ให้กลิ่นและรสชาติประเภทหนึ่ง แต่หากแสดงฉลากและโฆษณาว่าเป็นสารเทอร์ปีนจากกัญชา-กัญชง ก็ต้องสกัดจากพืชกัญชา-กัญชงจริง แต่ไม่ใช่มาจากพืชอื่น เพื่อไม่ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด
หากจะดูความแตกต่างของ “กัญชากับกัญชง” ซึ่งมาจากพืชตระกูลเดียวกัน Cannabis แต่ทางกฎหมายได้แยกกันที่ค่า THC (สารเมา) ถ้าเกิน 1% เป็นกัญชา และน้อยกว่า 1% เป็นกัญชง
เนื่องจาก “กัญชา” มีสาร THC สูง กฎหมายจึงให้ใช้เฉพาะการแพทย์และการวิจัยด้านการศึกษา ดังนั้นผู้ที่ขออนุญาตปลูกและใช้งานจึงเป็นหน่วยงานด้านการแพทย์ การศึกษา วิสาหกิจชุมชน
ส่วน “กัญชง” มีสาร THC ต่ำ จึงเปิดให้ทุกคน มาขออนุญาตใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้ ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564
โดยมีกฎหมายปลดล็อกแต่ละส่วนของ “กัญชา” ซึ่งมีสาร THC ไม่เท่ากัน ส่วนที่มี THC สูงสุดคือ ช่อดอก (ยังไม่ปลดล็อกจัดเป็นสารเสพติด) ดังนั้นเมื่อปลูกกัญชา ส่วนที่ยังเป็นยาเสพติด คือ ช่อดอกกับเมล็ดกัญชา เมื่อปลูกแล้วได้ผลผลิต 2 ส่วนนี้ออกมาก็จะต้องส่งไปให้ใช้ทางการแพทย์ ไม่สามารถทำมาใช้เชิงพาณิชย์ได้ ส่วนใบ กิ่ง ก้าน ราก ที่มีสาร THC ต่ำไม่เป็นยาเสพติดให้โทษ สามารถขายส่วนนี้ไปยังบุคคลอื่นเพื่อใช้ประโยชน์ได้
ส่วน “กัญชง” เมื่อปลูกได้ผลผลิตแล้ว ส่วนที่ไม่เป็นยาเสพติด คือ กิ่ง ก้าน ราก ใบ เมล็ด ไม่ถือเป็นยาเสพติด (ยกเว้นช่อดอก)
กรณีการใช้ประโยชน์ หากบุคคลธรรมดาหรือร้านค้า ไปซื้อใบกัญชา-กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติด จากสถานที่ที่ได้รับอนุญาตปลูกถูกต้องตามกฎหมาย และมาประกอบอาหารในบ้านเพื่อรับประทานเอง หรือจำหน่าย สามารถทำได้เลย เพราะไม่ใช่ยาเสพติด ไม่ต้องมาขออนุญาต อย. เพราะถือเป็นหนึ่งของวัตถุดิบปรุงอาหารและเครื่องดื่ม
แต่หากนำสารสกัดกัญชา-กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติด ไปทำเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ (Finished Product) เพื่อจำหน่าย ที่ต้องผ่านการขอ “เลขจดแจ้ง” จาก อย. ก็ต้องมาขออนุญาต ตามประเภทสินค้า เช่น เครื่องสำอาง อาหาร เครื่องดื่ม เพื่อขอตามเงื่อนไขของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ซึ่ง อย.กำลังทยอยทำประกาศปลดล็อกการนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา-กัญชง ไปใช้ประโยชน์ โดยจะทยอยออกมาในเดือนมีนาคม-เมษายน 2564
ปัจจุบันการขออนุญาตปลูกกัญชง มีหลายสายพันธุ์ที่ให้ผลผลิตต่างกัน เช่น พันธุ์ที่ให้ช่อดอกสกัด CBD เมล็ดสกัดสาร THC ลำต้นทำเส้นใยเครื่องนุ่งห่ม
การมาขออนุญาตใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ อย.จะดูตามแผนงานตลอดเส้นทาง ตั้งแต่ขออนุญาตนำเข้าเมล็ดพันธุ์ การปลูก การทำสารสกัด และการขายสารสกัด ต้องชัดเจนว่าปลูกแล้วสกัดที่ไหนขายให้ใคร หากมีแผนชัดเจนก็จะได้รับการพิจารณาอย่างรวดเร็ว ปัจจุบันมีผู้สนใจมาขอรับคำปรึกษาการใช้ประโยชน์จากกัญชงวันละ 2,000 -3,000 คน
เชื่อว่าการใช้ประโยชน์จากพืชกัญชง เป็นเทรนด์ที่หลายประเทศสนใจ และไทยมีโอกาสเป็นฐานในการปลูกและสกัดสารกัญชง เพื่อนำไปขายให้ประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมทั้งกระแส Finished Product ยังแรงต่อเนื่องในช่วง 5-6 ปี กัญชงเป็นสินค้าที่สร้างความได้เปรียบและขายได้ทั่วโลกไม่ใช่แค่ประเทศไทย