ที่ผ่านมาการผลิตสินค้าของบริษัทระดับโลก ใช้วิธีลงทุนสร้างโรงงานขนาดใหญ่ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพื่อเป็นเครือข่ายฐานการผลิตในจำนวนมาก ทั้งสำหรับรองรับตลาดในประเทศนั้นๆ และส่งออกไปต่างประเทศ
ดังเช่น “ยูนิลีเวอร์” (Unilever) ยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG) ปัจจุบันมีโรงงานขนาดใหญ่มากกว่า 300 แห่งใน 69 ประเทศทั่วโลก โดยโรงงานเหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ผลิตสินค้าในปริมาณมาก ด้วยความเร็วสูง
ถึงแม้การมีโรงงานขนาดใหญ่ จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันในเชิง Economy of scale แต่ใช่ว่าโรงงานใหญ่จะสามารถตอบสนองต่อตลาดได้ทันท่วงทีเสมอไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงเร็ว ผู้บริโภคแต่ละคน แต่ละท้องถิ่นมีไลฟ์สไตล์ และมี Demand แตกต่างกัน รวมทั้งยังมีความเป็นปัจเจกชนมากขึ้น
ดังนั้น ในบางครั้งจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องผลิตในปริมาณน้อย เพื่อสามารถปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล หรือผลิตเพื่อทดสอบตลาดผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่งก่อน แล้วดูผลตอบรับของตลาด หากได้ฟีดแบคดี จึงผลิตเต็มรูปแบบจากโรงงานขนาดใหญ่
ขณะเดียวกันมีหลายครั้งที่ต้องเร่งตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละตลาดท้องถิ่นที่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะเป็นการเพิ่ม หรือลดกำลังการผลิต ซึ่งการปรับเปลี่ยนปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับ Demand ของตลาดอย่างรวดเร็วนั้น ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับโรงงานขนาดใหญ่ที่ถูกออกแบบให้ผลิตจำนวนมาก (Mass Production)
ด้วยเหตุนี้เอง ทีมซัพพลายเชนของยูนิลีเวอร์ ได้พัฒนา Solution การผลิตโมเดลใหม่ นั่นคือ สร้าง “Nano Factory” โดยใช้ “ตู้คอนเทนเนอร์” ขนาด 40 ฟุต ทำเป็นโรงงานขนาดเล็กกะทัดรัด ภายในติดตั้งสายการผลิตที่มีขนาดพอดีกับตู้คอนเทนเนอร์ แต่ครอบคลุมทุกกระบวนการผลิตตั้งแต่ต้นจนจบ (End-to-End) ตั้งแต่ป้อนวัตถุดิบเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต จนได้ออกมาเป็นสินค้าบรรจุอยู่ในแพ็กเกจจิ้ง และติดฉลาก
3 เหตุผลทำไมยูนิลีเวอร์ใช้โมเดล “Nano Factory”
เหตุผลที่ ยูนิลีเวอร์ สร้างโมเดล Nano Factory และผลิตสินค้าป้อนเข้าสู่ตลาด มาจาก 3 ปัจจัยหลักคือ
1. เพิ่มความยืดหยุ่น และความคล่องตัวในการผลิต – ติดตั้ง – เคลื่อนย้ายโรงงานไปได้ทุกที่
ภายในตู้คอนเทนเนอร์ที่เป็น Nano Factory จะติดตั้งการผลิตระบบดิจิทัล และอัตโนมัติ โดยมีโปรแกรมทำหน้าที่ควบคุมการผลิตจากระยะไกล ซึ่งคำสั่งการผลิตทั้งหมดจะถูกส่งมาจากส่วนกลาง และมีเซนเซอร์ติดตั้งที่สายการผลิต เพื่อให้ส่งข้อมูลการผลิตกลับไปที่ส่วนกลางต่อเนื่อง ทำให้สามารถปรับเปลี่ยน – แก้ไขได้เร็ว
ดังนั้น ด้วยตู้คอนเทนเตอร์ขนาด 40 ฟุต และการออกแบบภายในให้เป็นระบบดิจิทัล และอัตโนมัติ ทำให้สามารถขนย้าย Nano Factory ได้ง่ายด้วยรถบรรทุก และเมื่อไปถึงสถานที่ที่จะตั้งโรงงานจิ๋ว เพียงเดินสายไฟ และท่อน้ำ ก็พร้อมใช้งาน ตอบโจทย์ความสะดวก – รวดเร็วในการขนส่ง และติดตั้งได้ในทุกสถานที่ที่เหมาะสม ขณะเดียวกันช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการผลิตสินค้า เพราะสามารถเพิ่ม หรือลดกำลังการผลิตได้ตลอดเวลา
2. เพื่อทดสอบตลาด และผลิตสินค้าตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคท้องถิ่น
โรงงาน Nano Factory จะไม่ผลิตสินค้าเดียวกับที่โรงงานใหญ่ของยูนิลีเวอร์ผลิตอยู่แล้ว แต่เน้นการผลิตสินค้าใหม่ ที่ยูนิลีเวอร์ต้องการทดสอบตลาด และตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภคได้เร็ว โดยเฉพาะตลาดท้องถิ่น ที่มีทั้งวัตถุดิบในท้องถิ่นนั้นๆ และความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งการผลิตลักษณะนี้ บางครั้งจำเป็นต้องผลิตใน Scale เล็กลง
ขณะเดียวกันการขยาย Nano Factory ไปตามตลาดท้องถิ่นต่างๆ ย่อมสร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบท้องถิ่น
Olivera Trifunovic ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรม, ยูนิลีเวอร์ เล่าว่า Nano Factory ทำให้เราสามารถผลิตสินค้าในปริมาณน้อยลงได้ และสามารถใช้ประโยชน์จากวัตถุดิบท้องถิ่น หรือวัตถุดิบตามฤดูกาล มาผลิตในโรงงานขนาดเล็กที่ตั้งอยู่ในพื้นที่นั้นๆ ได้เลย โดยไม่ต้องขนส่งจากท้องถิ่นไกลๆ ไปยังโรงงานใหญ่
“ถ้าเราสร้างเครือข่าย Nano Factory จะทำให้เรามีซัพพลายเชนที่ยืดหยุ่น และมี Local Production หลายพันแห่งทั่วโลกที่มากกว่าการสร้างโรงงานผลิตขนาดใหญ่ 1 แห่งที่ต้องสร้างอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งโรงงานขนาดเล็กเหล่านี้ เป็น Asset ที่สามารถเคลื่อนย้าย และนำไปวางได้ทุกที่”
3. ลดการใช้พลังงาน ลดขยะ และลดของเสียที่มาจากการผลิต
ด้วยความที่ Nano Factory เป็นโรงงานขนาดกะทัดรัด ไม่ได้ผลิตปริมาณมากเหมือนกับโรงงานขนาดใหญ่ สิ่งที่ตามมาคือ ช่วยลดการใช้ทรัพยากรด้านพลังงาน ลดขยะ เช่น วัสดุต่างๆ และลดของเสียที่เกิดจากการผลิต
ขณะนี้ยูนิลีเวอร์ ได้ติดตั้ง Nano Factory แห่งแรกที่เมือง Wageningen ประเทศเนเธอร์แลนด์ ซึ่งเมืองนี้เป็นศูนย์กลางด้านธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มของยูนิลีเวอร์ระดับโลก ดังนั้น ในสเต็ปแรกของการทดลองโมเดล Nano Factory ได้ใช้เป็นที่ผลิตน้ำซุปให้กับกลุ่มธุรกิจ Unilever Food Solutions
หากโรงงานตู้คอนเทนเนอร์แห่งแรกที่เนเธอร์แลนด์ประสบความสำเร็จ ในอนาคตอาจนำโมเดล Nano Factory ไปติดตั้งที่โรงงานอาหารต่างๆ ของยูนิลีเวอร์ และขยายขีดความสามารถการผลิตของโรงงานขนาดกะทัดรัดนี้ ให้รองรับการผลิตมายองเนส ซอสมะเขือเทศ ไอศกรีม และกลุ่มผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของยูนิลีเวอร์ เช่น กลุ่มบิวตี้แคร์ กลุ่มผลิตภัณฑ์ภายในบ้าน รวมทั้งยูนิลีเวอร์ยังมีแผนให้เช่าซื้อ เช่า หรือขายโมเดล Nano Factory ให้กับผู้ประกอบการรุ่นใหม่เช่นกัน
โมเดล Nano Factory ตอกย้ำให้เห็นว่าการผลิต และการทำตลาดยุคนี้ แม้แต่ผู้ผลิตรายใหญ่อย่างยูนิลีเวอร์ ได้ให้ความสำคัญกับการทำงานรูปแบบ Agility เพื่อสร้างความคล่องตัว ความยืดหยุ่น และช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการตอบสนองต่อตลาด หรือ Speed to Market ที่สามารถลงลึกทั้งในระดับ Hyper-localization และ Personalization