จากเหตุการณ์การแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ไปทั่วโลกที่ส่งผลให้ธุรกิจการบินต้องหยุดชะงักและไม่มีแนวโน้มว่าจะฟื้นตัวกลับมาได้ในเร็ววัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเราเห็นข่าวการล้มละลาย และยื่นขอฟื้นฟูกิจการของสายการบินต่าง ๆ ปรากฏออกมาอย่างต่อเนื่อง หลายแห่งต้องปิดตัวถาวร หลายแห่งต้องประกาศเลย์ออฟพนักงาน หลายแห่งต้องมองหาธุรกิจใหม่เพื่อเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็นการขายอาหาร การอบรมพนักงานต้อนรับให้ไปช่วยงานพยาบาล หรือแม้แต่ประกาศรุกตลาดซูเปอร์แอปโดยมีฐานข้อมูลลูกค้านับล้านเป็นเดิมพัน
ด้วยเหตุนี้ การออกมาประกาศผลประกอบการปี 2020 ของสายการบิน VietJet จึงสร้างความแปลกใจให้กับธุรกิจการบินทั่วโลกไม่น้อย เมื่อบริษัทบอกว่า พวกเขามีรายได้หลังหักภาษีในไตรมาสที่ 4 ที่ 11.9 ล้านเหรียญสหรัฐ และมี “กำไร” จากปี 2020 ที่โหดร้ายนี้ได้ถึง 3 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 90 ล้านบาท โดยที่ไม่มีการปรับลดพนักงานแต่อย่างใดแม้จะเป็นรายได้ที่ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 30% แต่ก็ทำให้ VietJet เป็นหนึ่งในไม่กี่สายการบินที่ได้รับการบันทึกว่า สามารถทำกำไรได้ในวันที่ทั่วโลกหวาดกลัวการเดินทาง ซึ่งก่อนจะไปล้วงลึกถึง “ตัวช่วย” สำคัญที่ทำให้สายการบิน VietJet ก้าวมาถึงจุดนี้ เราอยากพาทุกท่านไปรู้จักที่มาที่ไปของพวกเขากันก่อน
ตัวตนของสายการบิน VietJet
VietJet นิยามตัวเองว่าเป็นสายการบินราคาประหยัดที่บริหารงานโดยเอกชนรายแรกของเวียดนาม โดยได้รับใบอนุญาตบินทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ สายการบินดังกล่าวก่อตั้งโดย Nguyen Thi Phuong Thao เศรษฐีนีหญิงคนดังของเวียดนาม และเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปี 2011 โดยมีกิมมิกให้แอร์โฮสเตสสวมชุดบิกินี่จนเป็นที่โจษจันไปทั่วโลก
ที่ผ่านมา เส้นทางการบินของ VietJet หลัก ๆ อยู่ในภูมิภาคเอเชีย เช่น กัมพูชา จีน อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย สิงคโปร์ เมียนมาร์ เกาหลีใต้ ไต้หวัน ไทย เป็นต้น
ผลประกอบการ VietJet ก่อน Covid-19 เป็นอย่างไร
เมื่อย้อนกลับไปดูผลประกอบการปีก่อนหน้าของ VietJet ก็พบหลายอย่างน่าสนใจ โดยในปี 2019 พบว่าเป็นปีที่ VietJet มีผู้โดยสารทะลุ 100 ล้านรายเป็นครั้งแรก และมีรายได้รวม 50.6 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 12,000 ล้านบาท) เติบโตจากปี 2018 ถึง 10% ส่วนกำไรก่อนหักภาษีอยู่ที่ 4.5 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 5,980 ล้านบาท) เติบโตจากปี 2018 ถึง 28% เช่นกัน
นอกจากนั้น หากย้อนดูผลประกอบการย้อนหลัง ก็พบว่า ตัวเลขรายได้ของ VietJet เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง
VietJet รับมือกับ Covid-19 อย่างไร
สายการบิน VietJet ไม่ต่างจากสายการบินอื่น ๆ ทั่วโลกที่เจอผลกระทบจากวิกฤติ Covid-19 จนมีผลประกอบการติดลบ 3 ไตรมาสติดกัน (ไตรมาสแรกมียอดขาดทุน 9.89 แสนล้านด่ง ไตรมาสที่สองหนักกว่าด้วยผลขาดทุน 1.12 ล้านล้านด่ง โดยสามารถขนส่งจำนวนผู้โดยสารได้เพียง 2 ล้านคน และมีไฟลท์บินทั้งสิ้น 14,000 ไฟลท์ ส่วนไตรมาสที่สาม แม้การเดินทางในประเทศจะเริ่มกลับมา แต่บริษัทก็ยังมีผลประกอบการขาดทุนอยู่ที่ 9.25 แสนล้านด่งอยู่ดี)
อย่างไรก็ดี การปรับตัวของ VietJet ด้วยการเปลี่ยนเคบินผู้โดยสารมาเป็นธุรกิจขนส่งสินค้า (Cargo) ได้สร้างความแตกต่างให้กับบริษัทในไตรมาส 4 เนื่องจากในไตรมาสนี้ VietJet ได้เซ็นสัญญากับค่าย UPS เพื่อจับมือกันให้บริการจัดส่งสินค้าไปยังประเทศต่าง ๆ และยังทำให้สายการบิน VietJet สามารถเพิ่มเส้นทางการบินไปยังสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรปได้เป็นครั้งแรก (การเซ็นสัญญามีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2020 โดยบินสัปดาห์ละหนึ่งไฟลท์ สินค้าที่ขนส่งเป็นอาหารทะเล เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย เวชภัณฑ์ และสินค้าอื่น ๆ)
ตู้คอนเทนเนอร์ขาด ธุรกิจ VietJet Cargo โต
หนึ่งในข่าวใหญ่ของไตรมาสสุดท้ายปี 2020 คือ ปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลน ทำให้ไม่สามารถจัดส่งสินค้าได้อย่างที่ควรจะเป็น ในขณะที่ความต้องการช้อปยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป ที่ประชาชนต้องล็อกดาวน์ตัวเองอยู่แต่ในบ้าน และต้องหันมาช้อปออนไลน์แทนเป็นส่วนใหญ่ จึงนับเป็นความโชคดีของธุรกิจ Cargo ที่ VietJet สามารถเข้ามาเสริมความต้องการในจุดนี้ได้อย่างเหมาะเจาะ และสามารถขนส่งสินค้าจากเอเชียไปให้ผู้บริโภคในยุโรปและสหรัฐอเมริกาได้ช้อปแก้เครียดทันเวลา
ผลก็คือ ไตรมาส 4 ไตรมาสเดียว ธุรกิจ Cargo ของ VietJet เติบโตขึ้นถึง 75% และยังช่วยดึงตัวเลขในภาพรวมตลอดทั้งปีให้โตขึ้นถึง 16% เมื่อเทียบกับปี 2019 ด้วย โดยบริษัทมีรายได้ในไตรมาสนี้ 4.43 ล้านล้านด่ง (ประมาณ 5,800 ล้านบาท) และเป็นรายได้จากธุรกิจเสริม (Ancillary revenue) เกิน 50% ของรายได้ทั้งหมด
ด้วยเหตุนี้ ผลประกอบการไตรมาส 4 ของ VietJet จึงสามารถดึงให้สายการบินกลับมามีกำไรได้อีกครั้ง โดยที่บริษัทบอกว่าไม่ต้องปลดพนักงานแต่อย่างใด
โชคสองชั้น เพื่อนบ้านล็อกดาวน์
การปรับตัวเพื่อมาทำ Cargo ของ VietJet อาจไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร หากสายการบินในประเทศเพื่อนบ้านพร้อมใจทำเหมือน ๆ กัน แต่ก็เป็นโชคดีของ VietJet อีกรอบ เมื่อในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียต่างเผชิญหน้ากับการระบาดรอบใหม่ของ Covid-19 ทำให้ภาคธุรกิจไม่มีใครขยับตัวมากนัก สวนทางกับตัวเลขการระบาดของเวียดนามที่ไม่ได้รุนแรงเหมือนคนอื่น
ไม่เพียงเท่านั้น สงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐ ยังทำให้บริษัทต่าง ๆ ย้ายโรงงานมาตั้งที่เวียดนามมากขึ้น และส่วนหนึ่งของโรงงานที่ย้ายมาก็เป็นบริษัทผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสินค้าที่ทุกประเทศต้องการเพื่อนำไปใช้กับการทำงานแบบ Work From Home หรือการเรียนออนไลน์ VietJet Cargo เลยกลายเป็นตัวช่วยชั้นดีในการพาสินค้าเหล่านั้นไปกระจายให้ถึงมือผู้บริโภค
VietJet Cargo ยังช่วยให้ Hai Nam ผู้ส่งออกอาหารทะเลรายใหญ่ของเวียดนามรอดตาย และใช้โอกาสนี้ขนส่งสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกาได้ด้วยเช่นกัน
รัฐบาลเวียดนามช่วย VietJet บ้างไหม?
ต้องบอกว่ารัฐบาลเวียดนามก็มีส่วนช่วยสายการบิน VietJet แบบอ้อม ๆ เช่นกัน โดยความช่วยเหลือมีทั้งการขยายเวลาชำระภาษี รวมถึงลดค่าธรรมเนียมต่าง ๆ ให้ เช่น ค่าธรรมเนียมในการขึ้นลงของเครื่องบิน ค่าธรรมเนียมบริการภาคพื้นดิน ค่าธรรมเนียมการควบคุมทางอากาศ ฯลฯ
อย่างไรก็ดี ทางบริษัทก็หวังว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางการเงินจากรัฐบาลเพิ่มเติม ไม่ต่างจากที่รัฐบาลเคยให้ความช่วยเหลือสายการบินแห่งชาติอย่าง Vietnam Airlines มาแล้ว (สายการบิน Vietnam Airlines ได้รับเงินช่วยเหลือฉุกเฉินจากภาครัฐเป็นเงิน 12 ล้านล้านด่ง หรือประมาณ 15,718 ล้านบาทเพื่อเสริมสภาพคล่อง) โดยการร้องขอความช่วยเหลือของ VietJet ครั้งนี้มีขึ้นในเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ซึ่งในตอนนั้น ข้อมูลจาก Nikkei Asian Review ระบุว่า สายการบินมีการลดการจ่ายเงินเดือนให้กับพนักงานลงแล้วถึง 50%
พนักงาน VietJet ทำอะไรในช่วงที่ไฟลท์บินลดลง
คำตอบคือ “เข้ารับการอบรม” โดย Nguyen Thi Phuong Thao ประธานของ VietJet เคยกล่าวให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ว่า ตลอดปี 2020 สายการบินมีการจัดอบรมให้กับพนักงานมากถึง 27,000 ครั้ง โดยที่ครึ่งหนึ่งของตัวเลขนี้เป็นการจัดอบรมออนไลน์
สาเหตุของการจัดคอร์สอบรมจำนวนมากนั้น ทางบริษัทเผยว่า ต้องการให้พนักงานตื่นตัวอยู่เสมอ และพร้อมสำหรับการกลับมาเมื่อธุรกิจการบินฟื้นคืนชีพอีกครั้ง
แม้ผลประกอบการปี 2020 ของสายการบิน VietJet จะแสดงให้เห็นว่า VietJet ปรับตัวได้ถูกทาง กับการหันมาขนส่งสินค้าในยุค Pandemic แทนการขนส่งผู้โดยสารที่ยังไม่สามารถทำได้อย่างสะดวก และใช้โอกาสนั้นพลิกฟื้นทำกำไรได้อย่างที่หลายคนคาดไม่ถึง แต่เส้นทางนี้ก็ยังคงมีอุปสรรครออยู่อีกมาก โดยเฉพาะการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์จาก Bloomberg ที่บอกว่า กว่าโลกจะกลับเข้าสู่สภาพเดิมอาจต้องใช้เวลาถึง 7 ปี
อย่างไรก็ดี ความสำเร็จของ VietJet เมื่อเทียบกับสายการบินแห่งชาติอย่าง Vietnam Airlines ก็ยังเป็นสิ่งอัศจรรย์ และต้องยอมรับว่าพวกเขาแข็งแกร่งมากทั้ง ๆ ที่ไม่มีคนยื่นมือเข้าช่วยมากนัก ตรงข้ามกับ Vietnam Airlines ที่แม้จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลแล้ว แต่ก็ไม่สามารถพลิกฟื้นกิจการได้ แถมบริษัทยังบอกว่า โอกาสในการกลับมาทำกำไรอีกครั้งอาจต้องรอเวลาไปถึงปี 2023 รวมถึงกว่าจะแก้ขาดทุนสะสมได้หมดก็อาจต้องรอจนถึงปี 2025 เลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้ จึงปฏิเสธไม่ได้ว่า เรื่องราวในปี 2020 ของ VietJet สมควรถูกบันทึกเป็นความภาคภูมิใจของคนในองค์กร รวมถึงเป็นกรณีศึกษาให้สายการบินอื่น ๆ ใช้เป็นแรงบันดาลใจที่จะพลิกฟื้นองค์กรกลับมาด้วยเช่นกัน