นอกจากธุรกิจการบินที่ยังไม่ฟื้นเพราะ Covid-19 แล้ว อีกหนึ่งตลาดที่เจอชะตากรรมเดียวกันอาจเป็นแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยวที่มีรายได้ลดลงอย่างเห็นได้ชัด หนึ่งในนั้นคือ Airbnb ที่ไตรมาส 4 ของปี 2020 บริษัทมีรายได้ 859 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 22% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่เคยทำได้ 1.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ และทำให้ผลประกอบการโดยรวมในปี 2020 ของ Airbnb ขาดทุนไปถึง 4.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แม้ว่าทาง Airbnb จะบอกว่า ผลประกอบการไตรมาส 4 นั้นเป็นตัวเลขที่ทำได้เหนือกว่าบริษัทตั้งเป้าเอาไว้ (บริษัทคาดการณ์ว่ารายได้ในไตรมาส 4 อาจลดลงถึง 50% ซึ่งในความเป็นจริงลดไปแค่ 22%) แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเดินทางท่องเที่ยวซึ่งเป็นรายได้หลักของ Airbnb ยังเกิดขึ้นได้ยากในปี 2021 แม้จะเริ่มมีการฉีดวัคซีน Covid-19 กันแล้วก็ตาม
ถ้าเช่นนั้น Airbnb ในฐานะแพลตฟอร์มที่มีที่พักมากถึง 4 ล้านแห่งให้บริการนักท่องเที่ยวทั่วโลก และในจำนวนนี้เป็นที่พักในประเทศไทยถึง 99,000 แห่ง (ข้อมูลจากปี 2019) กำลังทำอะไรเพื่อให้สถานการณ์ของบริษัทดีขึ้น เราขอชวนไปติดตามกัน
เปิดเทรนด์ท่องเที่ยว ให้ทุกคนเตรียมตัว
การให้ข้อมูลที่จำเป็นกับโฮสต์เป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการให้ข้อมูลที่ทำให้โฮสต์เข้าใจกลุ่มเป้าหมายหลักได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งกลุ่มเป้าหมายหลักในปีนี้ของโฮสต์แต่ละประเทศก็คือ คนชาติเดียวกันนั่นเอง
เพื่อการนี้ Airbnb ได้มีการทำสำรวจร่วมกับ YouGov ถึงแนวโน้มการท่องเที่ยวในปี 2021 (Meaningful Travel Trends Survey 2021) ของผู้คนในประเทศต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย ฟิลิปปินส์ รวมถึงไทย โดย Airbnb พบว่า รูปแบบการท่องเที่ยวของคนไทยในปี 2021 จะให้ความสำคัญกับการเที่ยวพร้อมครอบครัวและกลุ่มเพื่อนมากยิ่งขึ้น
ส่วนในเรื่องระยะเวลา คนไทยต้องการทริประยะสั้น 1 – 3 วันที่สามารถใกล้ชิดธรรมชาติได้ มีราคาย่อมเยา ให้ความสำคัญกับการบริการเฉพาะบุคคล – สุขอนามัยและความปลอดภัย ทั้งหมดนี้คือปัจจัยหลักในการตัดสินใจเลือกที่พักและจุดหมายปลายทาง
จากผลการสำรวจ Airbnb พบด้วยว่า ครอบครัวเป็นเหตุผลอันดับแรก ที่คนไทยอยากออกท่องเที่ยวในประเทศ เพราะ 68% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า การระบาดของ Covid-19 ได้ทำให้ความสัมพันธ์ครอบครัวที่อยู่ด้วยกันแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ตามด้วยการท่องเที่ยวกับคู่รัก การเดินทางคนเดียว และท่องเที่ยวเป็นกลุ่มกับเพื่อน
นอกจากนี้ คนไทยยังมองหาการเดินทางที่มีราคาย่อมเยาและให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน รวมถึงโปรโมชั่นและส่วนลดต่าง ๆ และค่าเดินทางที่สมเหตุสมผลด้วย
คนไทยยินดีจ่าย 5,000 – 15,000 บาทเพื่อการเดินทาง
คุณอมันพรีท บาจาจ ผู้จัดการทั่วไป ประจำอินเดีย เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ฮ่องกง และไต้หวันของ Airbnb กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยินดีที่จะใช้จ่าย 5,000 – 15,000 บาท ในการเดินทางปีนี้ ขณะที่กลุ่มผู้ตอบคำถามอายุมากกว่า 55 ปีมีความยินดีที่จะใช้จ่ายมากกว่า 50,000 บาทเลยทีเดียว
ส่วนช่องทางในการหาข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวนั้น 66% ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า มาจากโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Instagram รองลงมาก็คือการแนะนำจากครอบครัวหรือเพื่อน บล็อกนำเที่ยว รายการโทรทัศน์ ข่าว นิตยสารท่องเที่ยว กระทู้ Pantip เป็นต้น
ขายประสบการณ์ออนไลน์โตแค่ไหน
ปีที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงยังจำได้กับการจัด Online Experience ของ Airbnb หรือก็คือการขายประสบการณ์ออนไลน์แทนการเดินทางที่ไม่อาจเกิดขึ้นได้จริง โดยแพกเกจที่มีขายมีตั้งแต่ นั่งสมาธิกับพระที่วัดในโอซาก้า ประเทศญี่ปุ่น เล่นกับแกะ ทำพาสต้าเวอร์ชันคุณยายที่อิตาล สอนทำขนมอบที่ซานฟรานซิสโก กิจกรรมสอนทำหมั่นโถวที่สิงคโปร์ กิจกรรมดูดวงที่นิวยอร์ก คลาสสอนทำอาหารที่โมร็อกโก เป็นต้น ซึ่งเมื่อผู้ใช้งานคลิกเข้าไปยังกิจกรรมที่ตนเองสนใจแล้วจะพบว่ามีราคาค่าเข้าร่วมปรากฏอยู่ เช่น นั่งสมาธิกับพระญี่ปุ่นราคา 311 บาท หรือทำหมั่นโถวราคา 800 บาท ฯลฯ
คุณอมันพรีทได้มีการเปิดเผยความสำเร็จของการจัด Online Experience ในปีที่ผ่านมาด้วยว่า ภายใน 2 สัปดาห์แรกของการเปิดให้จอง มีผู้ให้ความสนใจจองเข้ามาถึง 50,000 ครั้ง (ในประเทศไทยก็มีผู้ประกอบการในเชียงใหม่จัด Online Experience บน Airbnb ด้วยเช่นกัน) อย่างไรก็ดี ไม่มีการเปิดเผยตัวเลขของการรจองประสบการณ์ออนไลน์ตลอดทั้งปีให้ทราบแต่อย่างใด
“จากที่เราจัด Session เพื่อรับฟังความคิดเห็นของภาคส่วนต่าง ๆ บน Airbnb เราพบว่า Stakeholder ทุกฝ่ายบนแพลตฟอร์มต่างอยากขับเคลื่อนต่อไป บทเรียนสำคัญที่เราได้เรียนรู้คือธุรกิจไม่ควรหวาดกลัวเกินไปในการสร้างนวัตกรรม เพราะรูปแบบการเดินทางท่องเที่ยวที่เรารู้จักนั้นได้จบไปแล้ว การเดินทางรูปแบบใหม่ยังเป็นสิ่งที่เราไม่อาจคาดการณ์ได้ เราจึงต้องทำทุกทางเพื่อสนับสนุน Stakeholder ให้มีความมั่นใจและสามารถจัดการเดินทางในอนาคตได้อย่างเหมาะสม” คุณอมันพรีทกล่าวปิดท้าย
ทั้งนี้ ทางแพลตฟอร์มคาดว่า การเดินทางท่องเที่ยวจะกลับมาสดใสได้อีกครั้งในช่วงปลายปีนี้ และนักเดินทางมีแนวโน้มจะใช้เงินเพิ่มขึ้นด้วย