HomeBig Featured“ช่อง 3” ขาดทุน 214 ล้าน ลดลง 46% รายได้ขายลิขสิทธิ์-ดิจิทัลโตแรง ปีนี้ดันรายการข่าวเต็มสูบ

“ช่อง 3” ขาดทุน 214 ล้าน ลดลง 46% รายได้ขายลิขสิทธิ์-ดิจิทัลโตแรง ปีนี้ดันรายการข่าวเต็มสูบ

แชร์ :

ch3 The New Normal

นอกจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ส่งผลกระทบกับธุรกิจแล้ว ในปี 2563 กลุ่มบีอีซี ยังต้องเจอกับการปรับโครงสร้างในองค์กร เปลี่ยนตัวแม่ทัพจาก “อริยะ พนมยงค์” เป็น “สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์” ลูกหม้อคนเดิม ที่มากับวิชั่น “ช่อง 3” เป็นมากกว่าทีวี กับกลยุทธ์สร้างคอนเทนต์หารายได้ในทุกช่องทาง ด้วยกลยุทธ์ Single Content Multiple Platform ที่เริ่มเห็นสัญญาณบวก เมื่อตัวเลขขาดทุนลดลง

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

หลังต้องเจอตัวเลขขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2561 ในระดับกว่า 300 ล้านบาทมาต่อเนื่อง มาในปี 2563 กลุ่มบีอีซี งัดมาตรการคุมเข้มต้นทุน ลดขนาดองค์กร ขายทิ้งธุรกิจคอนเสิร์ตโชว์ เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ มุ่งหารายได้ใหม่จากการขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศและดิจิทัล แพลตฟอร์ม แม้ ปี 2563 ยังขาดทุนอยู่ แต่เริ่มเห็นตัวเลขขาดทุนลดลง

กลุ่มบีอีซี เวิลด์ หรือ BEC รายงานผลประกอบการปี 2563 มีรายได้รวมอยู่ที่ 5,860 ล้านบาท ลดลง 2,449 ล้านบาท หรือ -29.5% จากปี 2562 โดยมีผลขาดทุนสุทธิ 214 ล้านบาท ดีขึ้นกว่าปี 2562 ที่ขาดทุน 397 ล้านบาท  หรือดีขึ้น 46%

รายได้ขายลิขสิทธิ์-ดิจิทัล แพลตฟอร์มมาแรง

แจกแจงรายได้กลุ่มบีอีซี ยังมาจากการขายเวลาโฆษณา ช่อง 3 เป็นหลักสัดส่วน 81% ปี 2563 อยู่ที่  4,757 ล้านบาท ลดลง 29.4% จากผลกระทบโควิด ทำให้เศรษฐกิจหยุดชะงักในไตรมาส 2 บริษัทต่างๆ ชะลอการใช้เม็ดเงินโฆษณาเพื่อรอดูสถานการณ์ รวมถึงกำลังซื้อลดลง

รายได้จากการให้ใช้ลิขสิทธิ์และบริการอื่น 1,053 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.5% จากปี 2562  รายได้ที่เพิ่มขึ้นมาจาก 2 ธุรกิจใหม่ ที่เริ่มในปลายปี 2560 คือ ธุรกิจขายลิขสิทธิ์ละครไปต่างประเทศ (Global Content Licensing) ในปี 2563 ได้เปิดตลาดในประเทศใหม่ๆ และขยายตลาดในประเทศเดิม โดยเพิ่มจำนวนละครที่ออกอากาศในลักษณะ Simulcast พร้อมกัน ซึ่งสร้างรายได้ถึง 408 ล้านบาท ในปี 2563 เพิ่มขึ้น 28%

อีกธุรกิจคือ ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ได้มีการเปิดตัว CH3Plus ตอบสนองผู้ชมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ต้องการความรวดเร็ว โดยมีฟังก์ชันการใช้งานหลากหลายและพัฒนาฟีเจอร์ ใหม่ๆ ต่อเนื่อง เพื่อดูคอนเทนต์ทีวีผ่านช่องทางออนไลน์

โดยมีความร่วมมือทางธุรกิจกับ WeTV ซึ่งเป็น OTT Platform ในเครือเทนเซนต์ (ประเทศไทย) และ Tencent Video ประเทศจีน เป็นความร่วมมือในการนำคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมไปออกอากาศบนแพลตฟอร์ม WeTV ที่สามารถรับชมได้ทั้งในประเทศไทยและอีกหลายประเทศ รวมถึงการตกลงออกอากาศคอนเทนต์ในรูปแบบ Simulcast  ซึ่งจะทำให้ผู้ชมในประเทศอื่นๆ สามารถรับชมคอนเทนต์ได้พร้อมกับประเทศไทย เช่น ละครเรื่อง ตราบฟ้ามีตะวัน พยากรณ์ซ่อนรัก อกเกือบหักแอบรักคุณสามี ร้อยเล่ห์มารยา เล่ห์บรรพกาล

จากการขยายตลาดขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ไปให้แพลตฟอร์มออนไลน์อื่นๆ เพิ่มขึ้น ทำให้ปี 2563 มีรายได้ 429  ล้านบาท เพิ่มขึ้น 74.7%

Ch3plus premium ช่อง 3 BEC

ลดต้นทุนตัดทิ้งธุรกิจคอนเสิร์ต-โชว์

ส่วนรายได้จากการจัดคอนเสิร์ตและแสดงโชว์ปี 2563 อยู่ที่ 9.4 ล้านบาท ลดลง 547 ล้านบาท หรือ -98%  จากปี 2562 ที่มีรายได้ 557 ล้านบาท ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากการล็อคดาวน์ในสถานการณ์โควิด ทำให้คอนเสิร์ต การแสดงโชว์ และงานกิจกรรมต่างๆ ถูกเลื่อนหรือยกเลิกไป

ในวันที่ 8 ธันวาคม 2563 บีอีซี ได้ขายเงินลงทุนในบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน)  ทำให้บันทึกกำไรจากการจำหน่ายเงินลงทุนดังกล่าวในงบรวม 37 ล้านบาท และทำให้กลุ่มบีอีซี “ยุติ” การนำงบกำไรขาดทุนของกลุ่มเทโรฯ มาจัดทำงบการเงินรวมตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2563 เป็นต้นไป

หากดูจากผลประกอบการในปี 2562 บีอีซี-เทโร แจ้งกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า มีรายได้จำนวน 1,610 ล้านบาท ขาดทุน 211 ล้านบาท โดยขาดทุนต่อเนื่องมานับตั้งแต่ปี 2559

กลุ่มบีอีซี มีค่าใช้จ่ายในปี 2563 อยู่ที่ 4,582 ล้านบาท ลดลง 2,953 ล้านบาท หรือลดลง 39%  จากปี 2562 ซึ่งเป็นผลมาจากการลดต้นทุน ด้วยการ “ลดขนาดองค์กร”  จากการยุติออกอากาศช่อง 3 แอนาล็อกหลังสิ้นสุดสัมปทาน  ลดต้นทุนการผลิตรายการและใช้ละครรีรันมากขึ้น รวมถึงการตัดค่าใช้จ่ายจากใบอนุญาตทีวีดิจิทัลตามมาตรา 44  รวมทั้งต้นทุนการจัดแสดงคอนเสิร์ตและโชว์ เนื่องจากไม่สามารถจัดงานได้ในสถานการณ์โควิด

ในปี 2563 บีอีซี ได้ลดจำนวนพนักงานประมาณ 55% จากการปรับโครงสร้างและจากการขายหุ้นบริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด ซึ่งมีอยู่จำนวน 199,999,950 หุ้น หรือคิดเป็น 59.99% ของทุนจดทะเบียน  ให้กับคุณไบรอัน ลินด์เซ มาร์การ์ ผู้ก่อตั้งเทโรฯ ในราคา 15 ล้านบาท  ถือเป็นการขายเงินลงทุนในบริษัทย่อยตามแผนบริหารการลงทุนของบีอีซี โดยได้ซื้อกลุ่มรายการ “เรื่องเล่าฯ” จาก บีอีซี-เทโรฯ ซึ่งจะทำให้มีรายได้เพิ่มในปี 2564

นอกจากนี้ได้ปิดบริษัทย่อยที่ไม่ได้ดำเนินกิจการอีก 4 บริษัท คือ 1.บริษัท แซทเทิลไลท์ ทีวี บรอดคาสติ้ง  จำกัด 2.บริษัท บีอีซี สตูดิโอ จำกัด 3.บริษัท ยู แอนด์ ไอ คอร์โปเรชั่น จำกัด ซึ่งทุกบริษัท บีอีซี ถือหุ้น 99.99%

กลุ่มบีอีซี ถือว่ามีผลการดำเนินงานในปี 2563 ดีขึ้น จาก “ขาดทุน” ในไตรมาส 1 และ 2 เป็น “กำไร” ในไตรมาส 3 และ 4 มาจากรายได้การขายโฆษณา ขายลิขสิทธิ์ต่างประเทศและดิจิทัล แพลตฟอร์ม เพิ่มขึ้น ขณะที่ต้นทุนลดลง ปี 2563 มีผลขาดทุนสุทธิลดลงจากปี 2562 อย่างมาก

CH3 news ช่อง 3 บีอีซี

กลยุทธ์ปี 64 ดันรายการข่าวเพิ่มรายได้

สำหรับทิศทาง ปี 2564 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเป็นการฟื้นตัวภายใต้ความเสี่ยงด้านการเมือง สถานการณ์โควิด ระลอกใหม่ ความล่าช้าในการกระจายวัคซีน หนี้สินภาคครัวเรือนยังอยู่ระดับสูง การท่องเที่ยวซึ่งสร้างรายได้หลักให้ประเทศไทยยังคงได้รับผลกระทบสูงจากโควิด และอาจส่งผลให้มีการชะลอการใช้เม็ดเงินโฆษณาในอุตสาหกรรมสื่อช่วงต้นปี 2564

กลยุทธ์ของบีอีซี เน้นไปที่การหารายได้และกำไรจากธุรกิจใหม่ๆ ตามวิชั่น ผู้ผลิตคอนเทนต์ที่ไม่ได้เป็นแค่สถานีทีวีอีกต่อไป สร้างให้ BEC World เป็นองค์กรที่มีความคล่องตัว (Lean Organization)  โดยมีเป้าหมายเชิงรุก ดังนี้

1.รักษาเรตติ้ง-ขยายฐานผู้ชม

เป้าหมายปี 2564 บีอีซี ต้องการรักษาเรตติ้งทีวีและจำนวนผู้ชม ในฐานะสถานีทีวีเบอร์ 1 ของผู้ชมในกรุงเทพฯ และหัวเมืองสำคัญและขยายฐานผู้ชมเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มผู้ชมอายุ 15-24 ปี และ 25-29 ปี เน้นพัฒนาคอนเทนต์ละครใหม่ในช่วงไพร์มไทม์ และสร้างรายได้ช่วง นอน ไพร์มไทม์ จากรายการข่าวและวาไรตี้ รวมทั้งรายการสุดสัปดาห์ เพื่อขยายฐานผู้ชม

โดยมีแผนพัฒนาคอนเทนต์ที่เข้าถึงกลุ่มผู้ชมหลากหลาย ทำให้คอนเทนต์สร้างรายได้จากช่องทางดิจิทัล แพลตฟอร์มและการขายลิขสิทธิ์ไปต่างประเทศ ด้วยกลยุทธ์ Single Content Multiple Platform

กลยุทธ์ “รายการข่าว” เน้นการนำเสนอข่าวทันเหตุการณ์และเชื่อถือได้ผ่านพิธีกรข่าวมืออาชีพ ผ่านการวิเคราะห์เชิงลึก การรายงานข่าวที่เข้าใจง่ายและตรงประเด็น เสนอข่าวที่มีข้อมูลน่าเชื่อถือได้ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์  โดยใช้พื้นที่ข่าวออนไลน์ สร้างการรับรู้และขยายฐานไปยังคนรุ่นใหม่

sorayuth ch3 news ช่อง 3 สรยุทธ

หลังจากคุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา  พิธีกรข่าวชื่อดังมีกำหนดออกจากเรือนจำในเดือนมีนาคมนี้ ซึ่งมีการยืนยันจากรายการข่าวช่อง 3 แล้วว่าคุณสรยุทธ จะกลับมาร่วมงานกับช่อง 3 อีกครั้ง ถือเป็นปัจจัยบวกที่จะช่วยเพิ่มเรตติ้งรายการข่าวช่อง 3 และโอกาสสร้างรายได้เพิ่มในปี 2564

ส่วน “ละคร” เน้นขยายฐานผู้ชมนอกเมืองและอายุน้อยลง เนื้อหาและรูปแบบละครใหม่ โดยผู้ผลิตและดารานักแสดงรุ่นใหม่ สร้างความสนใจและแปลกใหม่ให้กับผู้ชม ทั้งเทคนิคการเล่าเรื่องแบบใหม่ โครงเรื่องที่คาดเดาได้ยาก รวมไปถึงการรับบทบาทใหม่ของนักแสดงช่อง 3

รายการวาไรตี้ เสนอรูปแบบใหม่ ทั้งรายการ International Format และรายการที่สร้างสรรค์เอง ปรับปรุงรายการเดิมให้แข็งแรงขึ้น

2.การสร้างและกระจายรายได้ใหม่

ปี 2564 เป้าหมายของ บีอีซี คือการดำเนินธุรกิจให้มีความหลากหลายมากขึ้น สามารถแข่งขันได้ในระดับโลก โดยลดการพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาทีวีในประเทศ จากทิศทางอุตสาหกรรมโฆษณาทีวีลดลงอย่างต่อเนื่อง ช่อง 3 สร้างนวัตกรรมโฆษณารูปแบบใหม่ตอบสนองผู้ลงโฆษณาในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณารูปแบบ โฮมช้อปปิ้ง QR Code, SMS สร้างการรับรู้แบรนด์และการมีส่วนร่วมผ่านการตลาดแบบบูรณาการ (Integrated Marketing Solutions) เช่น การสนับสนุนแบบ Sponsorship การจัดกิจกรรม

การดำเนินธุรกิจด้วยกลยุทธ์ Single Content Multiple Platform จะเป็นการสร้างและกระจายรายได้ในช่องทางอื่นๆ โดยบีอีซี คาดหวังให้ธุรกิจการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ และดิจิทัล แพลตฟอร์ม ปีนี้รายได้เติบโต 20%  การจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์ในต่างประเทศ โฟกัสที่ประเทศจีนและอาเซียนเป็นหลัก

ส่วนดิจิทัล แพลตฟอร์ม ผ่านทาง Content Streaming Service Operations ต่างๆ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งได้ลงทุนอย่างต่อเนื่องเพื่อพัฒนาบริการออนไลน์ ปัจจุบันช่องทางออนไลน์หลัก คือ CH3Plus ที่เป็นดิจิทัล แพลตฟอร์มผู้ให้บริการรับชมรายการทีวีสด ดูทีวีย้อนหลัง รวมถึงรายการทีวีแบบบอกรับสมาชิก โดยตั้งเป้าหมายเป็นช่องทางใหม่สร้างรายได้ให้บีอีซี ผ่านรายการละคร วาไรตี้ และความนิยมในเหล่าดารานักแสดงของช่อง 3

3.ลดขนาดองค์กร เสริมแกร่งการเงิน

หลังจากปี 2562 บีอีซี ได้คืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง (ช่อง 13 และช่อง 28)  และปี 2563 ยุติออกอากาศระบบแอนาล็อก ทำให้องค์กรมีขนาดเล็กลง ช่วยประหยัดต้นทุน และปรับโครงสร้างองค์กรให้เหมาะกับการแข่งขันในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้องค์กรปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้นและมีฐานะการเงินดีขึ้น

หลังจากนี้คงต้องจับตาดูกลยุทธ์การพลิกฟื้นรายได้ ช่อง 3 ที่วางไว้ว่าจะสามารถกลับมาทำกำไรอีกครั้งได้เมื่อไหร่ ท่ามกลางความท้าทายของสถานการณ์โควิดปีนี้ที่ยังไม่แน่นอน แต่ก็ยังเห็นสัญญาณบวกจากรายได้ขายลิขสิทธิ์และดิจิทัล ขยับขึ้นมาต่อเนื่อง และอีกแรงหนุนสำคัญการคืนจอของพิธีกรข่าวคนดัง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ที่เป็นอีกความหวัง พาช่อง 3 สู่เส้นทางกำไร!


แชร์ :

You may also like