ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ก่อนพายุโควิด-19 ลูกใหญ่จะซัดกระหน่ำจนส่งผลกระทบไปทั่วโลก การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพทางการแพทย์ หรือ Medical Tourism เป็นหนึ่งในเมกกะเทรนด์ที่มาแรงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยแต่ละปีประเทศไทยสามารถสร้างรายได้จาก Medical Tourism เป็นเม็ดเงินหลายหมื่นล้านบาท ด้วยเอกลักษณ์ที่ขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพการรักษาที่ได้มาตรฐานสากล บวกกับการบริการและค่าใช้จ่ายที่ถูกกว่าเมื่อเทียบกับการรักษาในต่างประเทศ
กระทั่งต้นปี 2563 เมื่อโควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดและกระจายไปในวงกว้าง ส่งผลให้การเดินทางเปลี่ยนไป ผู้คนต้องกักตัวอยู่บ้านมากขึ้น ขณะที่การเข้าออกประเทศยากขึ้น จนแทบจะทำให้ผู้ป่วยต่างชาติน้อยลงเกือบเป็น “ศูนย์” หลายโรงพยาบาลต้องทำขยับปรับเปลี่ยนการทำธุรกิจใหม่ทุกทางโดยเฉพาะโรงพยาบาลที่โฟกัสลูกค้าต่างชาติเพื่อประคับประคองธุรกิจให้รอดพ้นจากสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ และตลาด Medical Tourism จะกลับมามีบทบาทอีกครั้งเมื่อใด มาฟังคำตอบจาก รศ.นพ. ทวีสิน ตันประยูร ประธานปฏิบัติการด้านการแพทย์ และ ผศ.นพ.ก่อพงศ์ รุกขพันธ์ รองประธานอาวุโสปฏิบัติการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ พร้อมการทรานฟอร์มโรงพยาบาลครั้งใหญ่ให้สอดรับกับโลกการแพทย์ยุคใหม่
โควิด-19 จุดเปลี่ยนโรงพยาบาล
ปฏิสธไม่ได้ว่า ผลพวงของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว ซึ่งธุรกิจโรงพยาบาลก็เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่โดนหางเลขด้วยเช่นกัน รศ.นพ.ทวีสิน บอกว่า การมาของโควิด-19 เปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภคไปหลายอย่าง ทั้งความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพมากขึ้น อยากได้รับการดูแลรักษาที่ลงลึก รวมถึงการทำให้คนหันมาใช้ดิจิทัลติดต่อกับโรงพยาบาลมากขึ้น
ในแง่จำนวนผู้ใช้บริการหรือคนไข้ที่มารับการรักษาก็ลดลงค่อนข้างมาก เพราะส่วนใหญ่ยังกังวล และไม่อยากมาโรงพยาบาล ทำให้โรงพยาบาลที่เน้นจับกลุ่มลูกค้าชาวไทยและผู้ป่วยต่างชาติพากันเหงียบเหงา
แม้ว่าพิษร้ายของโควิด-19 จะสร้างความปั่นป่วนกับธุรกิจโรงพยาบาลอย่างมาก แต่โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์กลับใช้วิกฤติจากโควิด-19 สร้าง “โอกาส” ใหม่ให้กับโรงพยาบาล ด้วยการทรานฟอร์มองค์กร พร้อมๆ กับนำเทคโนโลยีเข้ามาเสริมประสิทธิภาพการรักษามากขึ้น เพื่อรอวันที่น่านฟ้าเปิดจะกลับมาเปิดรับนักท่องเที่ยวและผู้ป่วบต่างชาติอย่างเต็มที่อีกครั้ง
เมื่อพูดการทรานฟอร์ม คนส่วนใหญ่จะนึกถึงการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในธุรกิจ แต่ ผศ.นพ.ก่อพงศ์ บอกว่า การทรานฟอร์มของบำรุงราษฎร์ ไม่ใช่เป็นการลงทุนในเทคโนโลยีการแพทย์ แต่จะเป็นการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรม (World-Class Holistic Healthcare with Innovation) โดยยึดคนไข้เป็นศูนย์กลาง (Patient Centric) แล้วนำเทคโนโลยีมาช่วยทางด้านการแพทย์ เพื่อตอบโจทย์สิ่งที่คนไข้ต้องการ
“การนำเทคโนโลยีมาช่วยทางด้านการแพทย์มีส่วนสำคัญอย่างมากในการทรานฟอร์มการรักษาแบบเดิมๆ ซึ่งเป็นการรักษาคนไข้แบบรายวัน แต่เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาช่วยวิเคราะห์ผลเอ็กซเรย์ได้แม่นยำ รวมถึงช่วยพยากรณ์และวางแนวทางการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
ดึงเทคโนโลยีดิจิทัลเสริมประสิทธิภาพการรักษา
แนวทางการทรานฟอร์มการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรมของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ จะพัฒนาผ่านศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์ (Center of Excellence) โดยจะให้ความสำคัญใน 3 เรื่องซึ่งเป็นจุดแข็งของบำรุงราษฎร์ ประกอบด้วย
1.Critical Care การรักษาผู้ป่วยภาวะวิกฤติ ซึ่งต้องอาศัยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการและทีมสหวิชาชีพที่พร้อมปฏิบัติงานตลอด 24 ชั่วโมง ควบคู่ไปกับการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูงในการรักษา
2.Complicate Disease การรักษาโรคยากหรือผู้ป่วยที่มีอาการซับซ้อนหลายโรค โดยให้ความสำคัญกับการพัฒนาศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคเฉพาะทางที่มีความซับซ้อนมากขึ้น เช่น ศูนย์โรคระบบประสาท ศูนย์ทางเดินปัสสาวะ และศูนย์ปลูกถ่ายเนื้อเยื่อและอวัยวะ พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาช่วยในการรักษามากขึ้น
โดยอนาคตบำรุงราษฎร์ยังมีแผนจะขยายศูนย์ความเป็นเลิศทางการแพทย์เพื่อรักษาโรคเฉพาะทางได้อย่างครอบคลุมทุกมิติ ตั้งแต่การป้องกัน การวินิจฉัย การรักษา ตลอดจนถึงการฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยแผนการขยายศูนย์ความเป็นเลิศ จะดำเนินการผ่านโมเดล Bumrungrad Health Network ร่วมกับโรงพยาบาลพันธมิตรกว่า 60 แห่งทั่วประเทศ เพื่อขยายการรักษาพยาบาลตามมาตรฐานบำรุงราษฎร์ไปสู่กลุ่มลูกค้าระดับกลางในพื้นที่ปริมณฑลและภูมิภาคต่างๆ
“ถ้าอยากเดินเร็ว เราก็เดินคนเดียว แต่ถ้าจะเดินให้ไกล เราต้องเดินไปด้วยกัน เราจึงมีโรงพยาบาลเครือข่ายกว่า 60 แห่ง เพื่อที่จะเดินไปได้ไกลและเป็นที่ไว้ใจของผู้ป่วยทั้งในประเทศและต่างประเทศ”
3.Cutting-edge technology การรักษาผู้ป่วยที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาเพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาให้ดียิ่งขึ้น เช่น หุ่นยนต์ช่วยผ่าตัด da Vinci ช่วยศัลยแพทย์ผ่าตัด MAKO แขนกลหุ่นยนต์เปลี่ยนข้อเทียม คอมพิวเตอร์นำวิถี ฯลฯ เพื่อช่วยให้กระบวนการผ่าตัดที่มีความสลับซับซ้อนหรืออยู่ในตำแหน่งที่เข้าถึงยากทำได้อย่างแม่นยำ ปลอดภัยและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
ขณะเดียวกัน ยังนำอุปกรณ์ Wearable เข้ามาช่วยดูแลผู้ป่วยโรคเรื่องรังมากขึ้นเรื่อยๆ และเฟสต่อไปมีแผนจะนำอุปกรณ์ Wearable เข้าไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยที่บ้านในโครงการ Bumrungrad @Home เพื่อช่วยตรวจจับและแจ้งเตือนเมื่อคนไข้มีปัญหาต่างๆ อุปกรณ์จะคอยแจ้งเตือนมาที่ศูนย์โรงพยายาลทันที
Medical Tourism ไม่ได้สูญหาย
รศ.นพ. ทวีสิน บอกว่า ถ้าวันนี้ประเทศไทยจะไม่เจอพิษสงโควิด-19 การทรานฟอร์มยังเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องทำ และบำรุงราษฎร์ก็เตรียมเรื่องนี้มาตลอด การมาของโควิด-19 จึงเป็นตัวเร่งให้การทรานฟอร์มเร็วขึ้น เพราะธุรกิจไม่สามารถจะทำแบบเดิมๆ ได้อีกต่อไป โดยเชื่อว่าการทรานฟอร์มครั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้การบริการสอดรับกับพฤติกรรมการดูแลสุขภาพของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปแล้ว ยังจะขับเคลื่อนบำรุงราษฏร์สู่ Top 100 ที่ให้การบริการสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรม ภายในปี 2565 หลังจากที่ปีนี้ติดอันดับ 1 ใน 200 โรงพยาบาลที่ให้การบริการสุขภาพแบบองค์รวมระดับโลกด้วยนวัตกรรม
สำหรับภาพรวมตลาด Medical Tourism ที่หลายคนอาจมองว่าเงียบเหงาจากจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่หายไป ผศ.นพ.ก่อพงศ์ บอกว่า ตลาดหายไปแต่ไม่ได้หายไปทั้งหมด เพราะวันนี้ยังมีชาวต่างชาติที่อยากจะเข้ามารับการรักษาในไทยอย่างต่อเนื่อง สะท้อนได้จากโครงการโรงพยาบาลกักกันตัวแห่งรัฐทางเลือก (AHQ) ที่สร้างระบบการกักตัวร่วมกับการรักษาในสถานพยาบาล เพื่อให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติได้รับการดูแลรักษาอย่างเป็นระบบ ทั้งยังเป็นการป้องกันการระบาดโควิด-19 ซึ่งปัจจุบันมี AHQ เข้ามาอย่างสม่ำเสมอ ขณะที่บำรุงราษฎร์มีพอร์ต AHQ หลายพันราย
ส่วนจะใช้เวลาแค่ไหนที่ตลาดจะกลับมาเหมือนเดิม ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ 1.มาตรการการกักตัว ซึ่งหากผ่อนปรนจาก 14 วัน เหลือเพียง 7 วัน อาจจะช่วยให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น 2.วัคซีน เนื่องจากปัจจุบันหลายประเทศมีการฉีดวัคซีนแล้ว และภายในไตรมาส 3 หรือ 4 หลายประเทศจะฉีดวัคซีนครบทุกคน และ 3.มาตรการในการจัดการโควิด-19 มีประสิทธิภาพแค่ไหน