ย้อนหลังไปสัก 5 – 7 ปีในยุคที่การพัฒนาแอปพลิเคชันกำลังเป็นเทรนด์ฮอตของแวดวงการตลาด สิ่งที่ตามมากับแอปพลิเคชันในยุคนั้นก็คือ Notification ที่หลายบริษัทเลือกใช้เพื่อดึงดูดผู้ใช้งานให้มี Engagement กับแอปของตนเองมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงแรก ๆ การมี Notification ก็ประสบความสำเร็จด้วยดี และมีผลการสำรวจพบว่า Notification ช่วยเพิ่ม App Engagement ได้ถึง 88% บ้างก็พบว่า ช่วยดึงผู้ใช้งานให้กลับมาเปิดแอปได้ถึง 65% ขณะที่อีกหลาย ๆ อุตสาหกรรม เช่น Food Delivery, E-Commerce, การท่องเที่ยว ฯลฯ การยิง Notification ออกไปนั้น อาจหมายถึงการได้ยอดขายเพิ่มด้วย
แต่เมื่อเวลาผ่านไป การใช้ Notification ก็เริ่มส่งผลในทางตรงกันข้ามด้วยเช่นกัน โดยมีผลสำรวจจาก Localytics ในปี 2017 พบว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนพร้อมจะยกเลิกการรับ Notification จากแอปเหล่านั้น หากพวกเขากระหน่ำส่งมา “มากเกินไป” ซึ่งมากเกินไปที่ว่านี้ก็คือ แค่ 2 – 5 ครั้งต่อสัปดาห์ก็มีผู้ตอบแบบสอบถาม 37% พร้อมจะปิดแอปแล้ว (ข้อมูลดังกล่าวเป็นการสำรวจความคิดเห็นจากผู้บริโภคอเมริกัน 1,000 คน)
คำถามที่ตามมาสำหรับปี 2021 ก็คือ แล้วทำไมแอปแห่งปี 2021 อย่าง “คลับเฮาส์” (Clubhouse) ถึงยังกล้าใช้มุกเดิม ๆ อย่างการกระหน่ำส่ง Notification อยู่อีก รวมถึงว่า ทำไมผู้บริโภคทุกวันนี้ ถึงได้ยอมรับกับ Notification จำนวนมหาศาลจาก Clubhouse โดยไม่ปริปากบ่นมากเท่าสมัยก่อน
เพราะทุกอย่างคือ “รายการสด”
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Clubhouse ตอบในเรื่องนี้ไว้น่าสนใจทีเดียว โดยทางบริษัทอธิบายว่า Notification นั้นสำคัญสำหรับ Clubhouse มาก เพราะทุกอย่างคือรายการสด บริษัทจึงอยากให้ผู้ใช้งานได้ตัดสินใจด้วยตัวเองว่าจะทำอย่างไรกับคอนเทนต์เหล่านั้นจึงจะเหมาะสม
พร้อมกันนั้น ทาง Clubhouse บอกด้วยว่า ถ้าหากรู้สึกว่าได้รับ Notification มากไปก็สามารถเข้าไปเปลี่ยนการตั้งค่าการส่งได้ โดยระบบของ Clubhouse สามารถตั้งค่า Notification ได้ 5 ระดับ ได้แก่ Very Frequent, Frequent, Normal, Infrequent และ Very Infrequent
เมื่อถามต่อว่าแล้วระดับ Normal ซึ่งเป็นค่าเริ่มต้นของทางแอปนั้นจะทำให้เราได้รับ Notification จาก Clubhouse มากแค่ไหน มีทีมงานของ Engadget ออกมาบอกว่า เขาได้รับมากกว่า 50 ครั้งต่อวัน หรือ 400 กว่าครั้งต่อสัปดาห์ โดยรูปแบบการแจ้งเตือนที่มาจาก Clubhouse นั้นมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการแจ้งเตือนว่าคนรู้จักของเราต้องการเข้ามาใช้ Clubhouse การแจ้งเตือนว่าคนที่เราติดตามสร้างห้องสนทนา การแจ้งเตือนว่าคนที่เราติดตามกำลังพูดอยู่ในห้องสนทนา ไปจนถึงการแจ้งเตือนว่าจะมีการสร้างห้องสนทนาเรื่องใดเกิดขึ้นบ้างในอนาคต ฯลฯ
4 การออกแบบที่แตกต่างระหว่าง Clubhouse กับโซเชียลมีเดียรุ่นพี่
Pamela Pavliscak ผู้แต่งหนังสือเรื่อง Emotionally Intelligent Design: Rethinking How We Create Products ให้ความเห็นอย่างน่าสนใจว่า การที่ Clubhouse ส่ง Notification ในปริมาณมหาศาลนั้นมีผลมาจากแนวคิดในการออกแบบที่แตกต่างจากแอปพลิเคชันโซเชียลมีเดียอื่น ๆ อย่างสิ้นเชิง โดยสามารถวิเคราะห์ได้เป็น 4 ข้อหลัก ๆ ได้แก่
1. Clubhouse ดูย้อนหลังไม่ได้
ความนิยมใน Clubhouse ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในไม่กี่เดือนนี้เป็นปรากฏการณ์คล้ายกับที่เคยเกิดขึ้นกับ Facebook, Instagram, TikTok, Twitter ฯลฯ แต่สิ่งที่ต่างออกไปก็คือ บรรดาแอปโซเชียลมีเดียเหล่านั้นไม่ได้ทำให้ผู้ใช้งานรู้สึกกระวนกระวายใจมากเท่ากับความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับ Clubhouse เพราะเราสามารถย้อนกลับมาดูได้ภายหลัง
2. Clubhouse ไม่ต้องจ้องหน้าจอตลอดเวลา
ความแตกต่างข้อต่อมาคือ Clubhouse เป็นแอปที่ไม่ต้องจ้องหน้าจอตลอดเวลา นั่นทำให้ข้อหาเสพติดโซเชียลที่เคยทำให้ Twitter, Snapchat, TikTok, Facebook, Instagram กลายเป็นผู้ร้ายในยุคหนึ่งสมัยหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้กับ Clubhouse ในวันนี้
3. Notification ระดับสแปม
ปัญหาที่หลายคนเริ่มรู้สึกก็คือ การส่ง Notification ระดับมหากาฬของ Clubhouse ทำให้ผู้รับรู้สึกว่ามันใกล้เคียงกับสแปมเข้าไปทุกที แถมการมาบ่อย ๆ ยังทำให้ผู้ใช้งานไขว้เขวจากงานที่ทำอยู่ได้ง่าย และเมื่อมาผนวกเข้ากับธรรมชาติของ Clubhouse ที่มองว่าทุกอย่างคือรายการสด ปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้ที่ติดตั้งแอปย่อมเกิดความเครียด และรู้สึกว่าตัวเองจะพลาดอะไรไปหากไม่ได้เข้ามาฟัง (FOMO : Fear Of Missing Out) ซึ่งความรู้สึกนี้ ไม่เกิดขึ้นมากนักกับแอปโซเชียลมีเดียอื่น ๆ
4. ยังไม่เจอปุ่มปิด Notification จาก Clubhouse
ความแตกต่างข้อสุดท้ายก็คือในขณะที่ Twitter, Snapchat, TikTok, Facebook ออกแบบระบบให้ผู้ใช้งานเข้าไปตั้งค่าการส่ง Notification ได้ แต่ฟีเจอร์นี้ยังหาไม่เจอจาก Clubhouse ผู้ใช้งานทำได้แค่ตั้งค่าระดับความถี่ว่าอยากจะรับ Notification เท่าไร แถมไม่มีรายละเอียดว่า ความถี่ระดับ Normal กับถี่ระดับ Frequent ต่างกันอย่างไรด้วย
ทั้งหมดนี้ จึงกลายเป็นเสน่ห์ของ Clubhouse ที่ใครต่อใครอยากเข้ามาสัมผัสความแปลกใหม่ ส่วนเสน่ห์ข้อนี้จะครองใจผู้ใช้งานได้นานหรือไม่ เป็นสิ่งที่เราต้องติดตามกันต่อไป