กลายเป็นดราม่าที่กระทบกับหลายฝ่ายจากกรณีที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่ทั่วโลกออกมาประกาศแบนการใช้ “ฝ้าย” ที่ผลิตจากมณฑลซินเจียงของจีนโดยที่แบรนด์ยักษ์ใหญ่เหล่านั้นให้เหตุผลว่า เพราะการผลิตฝ้ายในมณฑลซินเจียงมีการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม และมีการเลือกปฏิบัติกับชนกลุ่มน้อยที่มีความแตกต่างด้านชาติพันธุ์
ขณะที่ทางการจีนออกมาตอบโต้ว่าข้อมูลเหล่านั้นไม่เป็นความจริงตั้งแต่ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา แต่ความเสียหายก็เกิดขึ้นแล้ว และนำไปสู่ความไม่พอใจของชาวจีน จนมีการตอบโต้ว่าจะแบนสินค้าจากแบรนด์ดังเหล่านั้นเช่นกัน
การประกาศแบนการใช้ฝ้ายจากซินเจียง จนนำไปสู่ดราม่าครั้งใหญ่ระหว่างแบรนด์ตะวันตกกับจีนเกิดขึ้นหลังจากสหรัฐอเมริกา และชาติพันธมิตรประกาศคว่ำบาตรจีนโดยอ้างว่าจีนมีการละเมิดสิทธิมนุษยชนมุสลิมอุยกูร์ในซินเจียงด้วยการใช้แรงงานชนกลุ่มน้อยให้ทำงานเก็บฝ้ายเพื่อป้อนโรงงานสิ่งทอ
แต่ความรุนแรงของสถานการณ์ในตอนนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่าสาเหตุส่วนหนึ่งมาจาก “แบรนด์” ที่ออกมาประกาศหยุดใช้ฝ้ายจากมณฑลซินเจียงล้วนเป็นแบรนด์ยักษ์ใหญ่ และทำเงินจากชาวจีนไปเป็นจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น Nike ที่ปีที่แล้ว ทำเงินจากสินค้ากลุ่มรองเท้ากีฬาจากแผ่นดินจีนไปได้ถึง 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินไทยที่ 142,876 ล้านบาท (อ้างอิงจาก Statista)
เช่นเดียวกับ H&M ที่ปัจจุบันมีตลาดจีนเป็นตลาดใหญ่อันดับ 4 ของแบรนด์ และเคยทำยอดขายไปได้ถึง 339 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 10,529 ล้านบาทในปี 2020 (นับถึงแค่เดือนพฤศจิกายน 2020) ส่วน Adidas ที่เข้าร่วมวงประท้วงกับเขาด้วยก็เคยมีรายงานจากรอยเตอร์ว่า Adidas สามารถทำกำไรได้สูงสุดจากตลาดจีนในปี 2019 เช่นกัน ซึ่งจนถึงตอนนี้ การปะทะกันดังกล่าวได้ลุกลามไปจนถึงขั้นที่เราจะเสิร์ชหา Official Store ของ H&M บนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซไม่ว่าจะเป็น JD.com, Taobao, Pindaodao, ฯลฯ ไม่เจออีกต่อไปแล้ว
การกระทำดังกล่าวส่งผลให้มีชาวจีนจำนวนมากออกมาต่อว่าแบรนด์เหล่านี้อย่างเผ็ดร้อนบนแพลตฟอร์ม Weibo ด้วยการบอกว่า แบรนด์ตะวันตกเหล่านี้ไม่มีความจริงใจ คิดจะทำเงินจากชาวจีนบนแผ่นดินจีน แต่กลับนำข่าวที่ไม่เป็นความจริงเกี่ยวกับฝ้ายซึ่งเป็นวัตถุดิบของจีนไปกระจายทั่วโลกจนทำให้ชาวจีนเสื่อมเสีย
สำหรับแบรนด์ที่ถูกแบนในจีนแผ่นดินใหญ่นอกจาก H&M, Nike, Adidas, Burberry แล้วยังมี Puma, Uniqlo, Lacoste, New Balance, Tommy Hilfiger และ Converse ด้วย
นอกจากชาวจีนจะประนามการกระทำของแบรนด์ดังบนโลกออนไลน์ของจีนแล้ว การจะใช้ศิลปินของจีนเพื่อโปรโมตสินค้าก็ดูจะไม่ง่ายอีกต่อไป เพราะบรรดาดารา – เซเลบริตี้ต่างตอบโต้การกระทำของแบรนด์ดังไม่ต่างจากชาวจีนร่วมชาติ ซึ่งหลาย ๆ คนยอมที่จะควักเงินของตัวเองเพื่อ “บอกเลิกสัญญา” กับแบรนด์ดังเหล่านั้นกันเลยทีเดียว
ยกตัวอย่างคนดังที่ออกมายกเลิกสัญญาเช่น หวง ซวน, วิกตอเรีย ซ่ง ยกเลิกสัญญากับ H&M หรือหวังอีป๋อ – ถานซงอวิ้น ที่ยกเลิกสัญญากับ Nike ฯลฯ
ตลาดหุ้นก็ไม่โอเค?
แน่นอนว่าการปะทะกันครั้งนี้ ไม่ได้ทำให้แบรนด์ตะวันตกดูดีเป็นพระเอกอยู่ฝ่ายเดียว เพราะในอีกด้าน ตลาดหุ้นก็เริ่มไม่โอเคกับกระแสที่เกิดขึ้นแล้วเช่นกัน โดยมีรายงานว่าราคาหุ้นของ H&M ตกลงทันที 2.8% เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับค่าย Nike หนึ่งในตัวตั้งตัวตีที่หุ้นตก 5.8%
Aneesha Sherman นักวิเคราะห์จาก Bernstein ให้ความเห็นถึงกรณีที่หุ้น Nike ตกหนักกว่าใครเพื่อนว่า “การกระทำดังกล่าวเหมือนกับการทุบหม้อข้าวตัวเอง เนื่องจาก Nike ต้องพึ่งพายอดขายในจีนแผ่นดินใหญ่ค่อนข้างมาก อีกทั้งจีนแผ่นดินใหญ่ยังเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูง และยอดการใช้จ่ายของชาวจีนก็มีแต่จะเพิ่มขึ้น จึงถือเป็นตลาดที่ไม่ควรสูญเสียไปด้วยประการทั้งปวง”
Muji ประกาศใช้ฝ้ายจากซินเจียง แต่หุ้นตก 6.8%
น่าสนใจว่า แบรนด์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง Muji มีท่าทีกับประเด็นนี้แตกต่างออกไป โดยพวกเขาเลือกที่จะใส่ข้อความว่า เสื้อผ้าที่พวกเขาขายบนเว็บไซต์ Muji นั้นใช้ฝ้ายจากซินเจียง ซึ่งทำให้ชื่อของ Muji ถูกจัดรวมไว้ในกลุ่มแบรนด์ที่ชาวจีนรู้สึกดีด้วย ไม่ต่างจากแบรนด์อย่าง Li Ning ที่ประกาศเช่นกันว่าสินค้าของพวกเขาใช้ฝ้ายจากซินเจียง
การตัดสินใจของ Muji สะท้อนว่าจีนยังถือเป็นตลาดที่สำคัญสำหรับพวกเขา โดย Muji มีหน้าร้านอยู่ในจีนแผ่นดินใหญ่ถึง 274 แห่งและยอดขายจากจีนยังคิดเป็น 17% ของยอดขายทั้งหมด
อย่างไรก็ดี นักลงทุนในญี่ปุ่นไม่โอเคกับการตัดสินใจนี้ โดยพบว่าราคาหุ้นของ Ryohin Keikaku บริษัทแม่ของ Muji ตกลงหนักกว่าใครเพื่อน ถึง 6.8% เมื่อเช้าวันศุกร์ที่ผ่านมา เนื่องจากนักลงทุนเกรงว่า บริษัทจะได้รับผลกระทบจากดราม่าในตลาดอื่น ๆ นอกจีนไปด้วย
ด้านฝ่ายประชาสัมพันธ์ของ Muji ออกมาชี้แจงว่า บริษัทได้มีการตรวจสอบในเรื่องซัพพลายเชนว่ามีการละเมิดกฎหมายหรือไม่อย่างต่อเนื่อง และจนถึงตอนนี้ก็ไม่พบสิ่งผิดปกติ แต่ Muji จะขอให้บรรดาซัพพลายเออร์รักษาสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีเอาไว้อย่างเคร่งครัด และกำชับให้มีความระมัดระวังในการทำงานเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากพบการกระทำที่ไม่เหมาะสม บริษัทจะแจ้งให้ซัพพลายเออร์แก้ไขให้ถูกต้องทันที รวมถึงอาจพิจารณายกเลิกสัญญาระหว่างกันหากไม่มีการแก้ไขใด ๆ ด้วย