จากตัวเลขปี 2020 ที่พบว่า ภูเก็ตสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยวสูงกว่า 320,000 ล้านบาทจากพิษ Covid-19 และถ้าหากโรคนี้จะยังคงอยู่กับเราไปอีกหลายปี การมีโครงการดี ๆ ขึ้นมาช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวอาจเป็นสิ่งจำเป็น ล่าสุดดีป้า และเอไอเอส ได้จับมือกันพัฒนาการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ (Digital Yacht Quarantine) หวังช่วยฟื้นฟูอุตสาหกรรมท่องเที่ยวภูเก็ต ตั้งเป้าปีนี้มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ประมาณ 100 ลำ จำนวนนักท่องเที่ยว 300-500 คน
สำหรับโครงการกักตัววิถีใหม่บนเรือยอชต์ (Digital Yacht Quarantine) นี้ นอกจากจะเป็นความร่วมมือกันระหว่างดีป้า และเอไอเอส แล้ว ยังได้รับการสนับสนุนจากบริษัทพีเอ็มเอชโฮลดิ้ง จำกัด (POMO), กลุ่มผู้ประกอบการบริหารจัดการท่าเรือ และสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย ร่วมด้วย โดยมีการพัฒนาแพลตฟอร์มนวัตกรรมสายรัดข้อมือติดตามสุขภาพอัจฉริยะ ผ่านเทคโนโลยี NB-IoT (NB-IoT Wristband Tourist Tracking) เครื่องมือมอนิเตอร์ข้อมูลสุขภาพ (Health Monitoring) ของนักท่องเที่ยวระหว่างกักตัว 14 วัน สำหรับสร้างความมั่นใจ และเสริมความปลอดภัยด้านสาธารณสุขแก่นักท่องเที่ยวที่เดินทางมายังจังหวัดภูเก็ต และช่วยให้การทำงานของทีมแพทย์ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 เกิดขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นตอนในการให้บริการของโครงการนั้นจะเริ่มตั้งแต่ นักท่องเที่ยวประสานเดินทางเข้ามาทางเรือ ทางสมาคมธุรกิจเรือยอชต์ไทย จะเป็นตัวแทนประสานงาน กับหน่วยงานทางการแพทย์เพื่อทำการตรวจโรคในครั้งแรก พร้อมให้นักท่องเที่ยวสวมสายรัดข้อมืออัจฉริยะ หรือ NB-IoT Wristband Tourist Tracking ที่จะส่งตัวเลขสุขภาพของนักท่องเที่ยวแต่ละท่านตลอด 14 วันของการกักตัวเข้ามาที่ DashBoard ณ ที่ทำการท่าเทียบเรืออ่าวปอ ซึ่งหลังจากที่กักตัวครบ 14 วัน จะมีการนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์อีกครั้งว่า นักท่องเที่ยวมีความเสี่ยงโควิด-19 มากน้อยเพียงใด เพื่อสร้างความมั่นใจก่อนให้นักท่องเที่ยวเดินทางขึ้นฝั่งภูเก็ตต่อไป
คุณฉัตรชัย ตั้งจิตตรง ประธานกรรมการ บริษัท พีเอ็มเอช โฮลดิ้ง จำกัด หรือ POMO สตาร์ทอัพผู้พัฒนาแพลตฟอร์มด้าน IoT กล่าวว่า “POMO เริ่มดำเนินธุรกิจมาตั้งแต่ปี 2557 โดยเป็นสตาร์ทอัพไทยด้าน IoT รายแรกที่สามารถนำสินค้าเข้าสู่ตลาดโลกได้สำเร็จ สำหรับความร่วมมือกับเอไอเอส และดีป้า ในโครงการ Digital Yacht Quarantine นี้ เราได้ใช้ดีไวซ์ 2 รุ่นคือ Activ 10+ และ Smartwatch Active 30+ ที่เป็นทั้ง Tracker และ Health Device ให้นักท่องเที่ยวใส่ที่ข้อมือติดตัวตลอดเวลา เพื่อติดตามและเฝ้าระวังป้องกันการออกนอกพื้นที่ โดยระบบจะทำงานด้วยเซนเซอร์อัจฉริยะที่สามารถวัดชีพจร ค่าความดัน และวัดอุณภูมิร่างกายของนักท่องเที่ยว อีกทั้งยังสามารถแจ้งสัญญาณ SOS ได้ หากนักท่องเที่ยวเกิดเหตุต้องการความช่วยเหลือ ซึ่งข้อมูลต่างๆ จะแสดงไปยัง Dashboard บนเว็บไซต์ แบบ Realtime เพื่อให้ส่งต่อความช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำได้ได้ตลอดเวลา”
ด้านคุณธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหารกลุ่มลูกค้าองค์กร เอไอเอส กล่าวเสริมว่า “ด้วยศักยภาพโครงข่าย AIS NB-IoT ทำให้เราสามารถเชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT บนคลื่น 900 MHz ที่สามารถกระจายสัญญาณออกไปในทะเลได้มากกว่า 10 กม. เมื่อทำงานร่วมกับแพลตฟอร์ม Cloud และแพลตฟอร์มของทาง POMO โครงการดังกล่าวจึงสามารถมอนิเตอร์สุขภาพนักท่องเที่ยว ทั้งอุณหภูมิร่างกาย, อัตราการเต้นของหัวใจ, สัญญาณชีพจร รวมถึงพิกัดของนักท่องเที่ยว และส่งข้อมูลต่อมายังแพทย์และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ให้สามารถวิเคราะห์ข้อมูลความเสี่ยงด้านสุขภาพของนักท่องเที่ยวได้แบบเรียลไทม์ ในระหว่างกักตัว 14 วันบนเรือก่อนเดินทางขึ้นบก”
ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภายในปี 2021 จะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศไทยด้วยเรือยอชต์ประมาณ 100 ลำ จำนวนนักท่องเที่ยว 300-500 คน ซึ่งโครงการนี้จะทำให้ภูเก็ตเป็นต้นแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวและการควบคุมโควิด-19 แห่งแรกในประเทศไทย และเป็นการขับเคลื่อนจังหวัดภูเก็ตสู่เมืองอัจฉริยะเต็มรูปแบบ
“เราเชื่อว่าโครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นและจูงใจนักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติให้เดินทางมายังภูเก็ตมากขึ้น ก่อให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้กลับมาคึกคักและแข็งแกร่งอีกครั้ง” ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทั