จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ยึดผู้นำตลาดเพลงไทยทุกแพลตฟอร์ม เฉพาะเดือนม.ค. 2564 ยอดวิวพุ่งทุบสถิติกว่า 1,400 ล้านสตรีม เพิ่มขึ้น 40% ช่องทางเฟซบุ๊กพุ่ง 2 เท่าตัว กวาดทุกเซกเมนต์ทั้งเพลงป็อบ ร็อค และลูกทุ่ง ย้ำตลาดเพลงไทยยังไม่ตาย พร้อมเดินหน้าแผนบันได 7 ขั้นสู่การเติบโตในอนาคต
คุณภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ในเดือนมกราคม 2564 ที่ผ่านมา ยอดรับฟังเพลงของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคในทุกแพลตฟอร์ม เพิ่มขึ้น 40% เมื่อเทียบกับเดือนมกราคมปีก่อน หรือ มียอดสตรีมรวม 1,490 ล้านสตรีม โดยช่องทางหลักเป็นการฟังเพลงผ่านยูทูบ คิดเป็นสัดส่วน 66% รองลงมา คือ เฟซบุ๊ก 27% Spotify 4% และช่องทางอื่นๆ 3% เช่น Joox Apple Music LINE TV AIS Play และ True ID เป็นต้น
สำหรับการฟังเพลงผ่านแพลตฟอร์มเฟซบุ๊คมีอัตราการเติบโตสูงสุด เพิ่มขึ้นถึง 248% ปัจจุบันแฟนเพจเฟซบุ๊ก GMMGRAMMYOFFICIAL มียอดไลค์ 3.1 ล้านไลค์ มีผู้ติดตามกว่า 8.2 ล้านราย นอกจากนี้ ยังมีแฟนเพจเฟซบุ๊กของค่ายเพลงในเครือจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ และแฟนเพจของศิลปินที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก เช่น genierecords มีผู้ติดตาม 1.6 ล้านราย grammygoldpage 4 ล้านราย ศิลปิน ลาบานูน (labanoon) มีผู้ติดตาม 3 ล้านราย ต่าย อรทัย (Taiorathai27) 6.1 ล้านราย หนุ่ม กะลา (NUMKALA6) 2.5 ล้านราย เป็นต้น
“เราเริ่มพัฒนาช่องทางการฟังเพลงบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กในช่วงปลายปี 2562 ถือเป็นช่องทางที่มีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ต้องอยู่บ้านมากขึ้น การ Work from Home ทำให้มีการฟังเพลงมากขึ้น เพลงกลายเป็นส่วนสำคัญในไลฟ์สไตล์ของผู้คน และสื่อสังคมออนไลน์อย่างเฟซบุ๊คกลายเป็นช่องทางหลักในการเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังที่หลากหลาย ครอบคลุมทั้งเพลงป็อบ ร็อค โดยเฉพาะเพลงลูกทุ่งมียอดวิวสูงมาก”
ปัจจุบัน สื่อสังคมออนไลน์ของกลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฟซบุ๊ก มีผู้ติดตามรวม 80 ล้านราย เพิ่มขึ้น 35% จากปี 2563 ยูทูบ มีผู้ติดตาม 77 ล้านราย เพิ่มขึ้น 20% อินสตราแกรม มีผู้ติดตาม 16 ล้านราย เพิ่มขึ้น 15% และทวิตเตอร์ มีผู้ติดตาม 5 ล้านราย เพิ่มขึ้น 12%
สำหรับแผนการดำเนินธุรกิจของจีเอ็มเอ็ม มิวสิคในปีนี้ จะมีการออกอัลบั้ม ซิงเกิลใหม่ เพลงประกอบละคร รวม 300 – 400 เพลง การจัดกิจกรรมคอนเสิร์ต โชว์บิซ รวม 15 งาน
“การเติบโตอย่างต่อเนื่องของผู้ฟังเพลง โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มดิจิทัลใหม่ๆ ที่เกิดขึ้น ถือเป็น ข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าธุรกิจเพลงไม่มีวันตาย และยังได้รับความนิยม สามารถต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการสร้างสรรค์รูปแบบเพลงในแต่ละประเภทที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในแต่ละกลุ่มได้”