การพัฒนาธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ให้เป็นที่ยอมรับท่ามกลางการแข่งขันที่รุนแรง ไม่ใช่เรื่องง่าย และหากเป็นแบรนด์ผู้ท้าชิงที่เข้ามาทีหลังด้วยแล้ว ยิ่งยากและท้าทายเป็นทวีคูณ แต่สำหรับ “สิงห์ เอสเตท” (Singha Estate) ธุรกิจในเครือบุญรอดบริวเวอรี่ของตระกูลภิรมย์ภักดี กลับใช้เวลาเพียง 6 ปี หลังจากเข้ามาโลดแล่นในตลาดอสังหาฯ เมื่อปี 2014 จากที่ดินเก่าของตระกูล จนถึงวันนี้ขยายพอร์ตอย่างรวดเร็วครอบคลุมธุรกิจอสังหา 3 กลุ่ม ได้แก่ ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจเชิงพาณิชย์ ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ต
เส้นทางของสิงห์ เอสเตท มีวิธีคิดอย่างไร? ถึงสามารถฉีกตัวเองจากคู่แข่ง จนทำให้แบรนด์โลดแล่นในตลาดได้อย่างโดดเด่น คุณฐิติมา รุ่งขวัญศิริโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. สิงห์ เอสเตท มีคำตอบ พร้อมกับก้าวต่อไปที่กำลังเดินหน้าขยายธุรกิจไม่หยุด สู่การลงทุนในนิคมอุตสาหกรรม ธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้าและธุรกิจบริการด้านนวัตกรรม ซึ่งเป็นอีกจิ๊กซอว์สำคัญที่จะเข้ามาเติมเต็มสิงห์ เอสเตท ให้แข็งแกร่ง และดันรายได้ธุรกิจอสังหาฯ ให้เพิ่มขึ้น 3 เท่าตัวภายใน 3 ปีจากนี้
เส้นทางนี้จึงต้องสร้างความต่าง
ในแวดวงอสังหาฯ สิงห์ เอสเตท ถือเป็นหนึ่งในผู้เล่นที่มีพัฒนาการด้านการเติบโตที่น่าสนใจ เพราะถึงตอนนี้จะมีอายุเพียง 6 ปี ซึ่งหากเทียบกับคน ต้องยอมรับว่ายังเด็กอยู่มาก แต่ผลงานที่สร้างการเติบโตอย่างต่อเนื่องจากการลงทุนและการพัฒนาอสังหาฯ ในช่วงที่ผ่านมา เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของแบรนด์น้องใหม่ในวงการนี้ได้เป็นอย่างดีเช่นกัน
ซึ่งหากย้อนกลับไปเมื่อปี 2014 เหตุผลสำคัญที่ทำให้ สิงห์ เอสเตท เข้ามาลุยตลาดอสังหาฯ อย่างเต็มตัว ทั้งๆ ที่รู้ว่าสนามนี้แข่งขันกันดุเดือดก็ตาม หลักๆ เลยมาจากความต้องการที่จะสร้างการเติบโตในตลาดใหม่ๆ และต้องการกระจายความเสี่ยง นอกจากธุรกิจเครื่องดื่มที่กลุ่มสิงห์มีความแข็งแกร่งอยู่แล้ว และเมื่อส่องมาดูตลาดอสังหาฯ เมื่อประมาณ 6 ปีที่แล้ว ถือเป็นหนึ่งในเซ็กเม้นต์ที่ยังเติบโตต่อเนื่อง
ถึงแม้การแข่งขันสูงจะไม่ใช่อุปสรรคในการทำธุรกิจ แต่การจะสร้างแบรนด์ในตลาดที่คู่แข่งมีความแข็งแกร่ง อีกทั้งแต่ละเซ็กเม้นต์มีเจ้าตลาดอยู่แล้ว แน่นอนว่าย่อมเป็นโจทย์หินไม่น้อยทีเดียว และทำให้กลยุทธ์ที่จะนำมาใช้บุกตลาดต้อง “แตกต่าง” จากคนอื่น โดยสิงห์ เอสเตทเริ่มจากการพัฒนาโปรดักต์ที่แข็งแกร่งให้ครบทุกเซ็กเตอร์ ไม่ว่าจะเป็นบ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม อาคารสำนักงานให้เช่า โรงแรม และศูนย์การค้าแบบไลฟ์สไตล์มอลล์ โดยเน้นการร่วมมือกับพันธมิตรในการพัฒนาโครงการตั้งแต่ระดับกลางถึงบน มาใช้เป็น “จุดแข็ง” สร้างความต่างจากคู่แข่ง และยังทำให้สามารถขยายพอร์ตธุรกิจได้อย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้ผ่านมาเพียงแค่ 6 ปี ปัจจุบัน สิงห์ เอสเตท จึงมีธุรกิจครอบคลุม 3 กลุ่ม ประกอบไปด้วย ธุรกิจที่พักอาศัย ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกพาณิชย์ โดยธุรกิจที่พักอาศัยมี 23 โครงการ เช่น แบรนด์สันติบุรี The ESSE และแบรนด์อื่นๆ โดยสร้างรายได้ให้บริษัทฯ ประมาณ 57% ของรายได้ทั้งหมด ขณะที่ธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตปัจจุบันมี 39 แห่ง ใน 5 ประเทศ มีห้องพักรวมกัน 4,647 ห้อง สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ประมาณ 24% ของรายได้ทั้งหมด และธุรกิจอสังหาเพื่อการพาณิชย์ ประกอบด้วยอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีกพาณิชย์สร้างรายได้ให้บริษัทฯ ประมาณ 15% ของรายได้ทั้งหมดในปี 2563 ทั้งยังเป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาฯ ที่มีการเติบโตรวดเร็ว โดยมีมูลค่าสินทรัพย์รวมอยู่ที่ 65,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 จากที่เริ่มต้นธุรกิจในปี 2014 ด้วยมูลค่าสินทรัพย์รวม 9,000 ล้านบาท
โมเดลความหลากหลาย คือทางรอดในยุควิกฤติ
ต้องยอมรับว่า การแตกไลน์โปรดักต์ให้ครอบคลุมทุกตลาด นอกจากจะทำให้สิงห์ เอสเตท มีโปรดักต์ครบทุกเซ็กเม้นต์ แตกต่างจากผู้ประกอบการในตลาดที่ส่วนใหญ่จะโดดเด่นในแต่ละตลาดแล้ว ยังเป็นวิธีสำคัญที่จะช่วยกระจายความเสี่ยงให้กับธุรกิจ โดยเฉพาะในช่วงที่เกิดสถานการณ์วิกฤต
สะท้อนชัดจากการแพร่ระบาดของโควิด -19 ในปีที่ผ่านมา ที่ส่งผลกระทบต่อทุกอุตสาหกรรรม ธุรกิจโรงแรมของสิงห์ เอสเตทที่สร้างรายได้ประจำตให้กับกลุ่มมาตลอดก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน แต่การวางโครงสร้างธุรกิจให้มีความหลากหลายด้วยธุรกิจ 3 ขา รวมถึงการกระจายโรงแรมไปในหลายประเทศ ทำให้ สิงห์ เอสเตท ยังคงสร้างรายได้ต่อเนื่องท่ามกลางสถานการณ์ที่ยากจะคาดเดา ซึ่งเป็นสิ่งที่ยืนยันถึงแนวทางการทำธุรกิจที่สิงห์ เอสเตทเดินมาตลอด 6 ปีนั้นมาถูกทาง
แค่ 3 ขาไม่พอ ขยายธุรกิจใหม่ เสริมแกร่งธุรกิจหลัก
ถึงวันนี้สิงห์ เอสเตทจะสามารถปักหมุดในตลาดอสังหาฯ ได้อย่างรวดเร็ว แต่คุณฐิติมา บอกว่า นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น เพราะสิงห์ เอสเตทวางเป้าหมายในการขึ้นเป็นหนึ่งในธุรกิจอสังหาฯ แถวหน้าของไทย นั่นหมายความว่าสิงห์ เอสเตทจะต้องงัดทุกกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตให้มากกว่าที่เป็นอยู่ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มรายได้เป็น 3 เท่า ภายใน 3 ปีนับจากนี้ หรือสร้างธุรกิจให้มีมูลค่าสินทรัพย์จาก 65,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2563 เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าสินทรัพย์ 80,000 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2566 และในขณะเดียวกัน ยังตั้งเป้าเพิ่มอัตราผลกำไรในการทำธุรกิจด้วย
โดยกลยุทธ์สำคัญที่จะนำสิงห์ เอสเตทไปสู่เป้าหมายใน 3 ปี มาจากการเดินหน้าขยายธุรกิจใหม่ ทั้งธุรกิจผลิตกระแสไฟฟ้า ธุรกิจนิคมอุตสาหกรรม และบริการด้านนวัตกรรมที่เกี่ยวเนื่อง โดยจะผสานธุรกิจใหม่เข้ากับธุรกิจเดิมที่มีอยู่ เพื่อเติมเต็มให้ธุรกิจของสิงห์ เอสเตท มีความได้เปรียบและสามารถคว้าโอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจในตลาดทั้งในประเทศและระดับโลกได้มากขึ้น
คุณฐิติมา ให้เหตุผลของการขยายธุรกิจใหม่เข้ามาเติมในพอร์ตว่า การมีธุรกิจเพียง 3 ขา ไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อีกต่อไป เพราะตลาดวันนี้เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนและไม่เหมือนเดิม ส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา ดังนั้น แม้ภาพรวมตลาดอสังหาฯ อาจจะเติบโตไม่มาก แต่มีบางเซ็กเม้นต์ บางตลาดยังไปได้ ทำให้สิงห์ เอสเตท จึงต้องพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ เข้ามาเสริมทัพในครั้งนี้
“หัวใจของการขยายฐานธุรกิจใหม่ในครั้งนี้ นอกจากจะช่วยเติมเต็มสร้างโอกาสใหม่ๆ ในตลาดอสังหาฯ มากขึ้นแล้ว ยังกระจายความเสี่ยงจากความหลากหลายของธุรกิจที่มีวงจรต่างกัน ทำให้สามารถรับมือกับความผันผวนที่ไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และทำให้สามารถเติบโตสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่แล้ว สิงห์ เอสเตท ยังกำลังศึกษาแนวคิดและวิธีใหม่ๆ ระดับโลก เพื่อจะนำมาใช้ในการบริหารจัดการธุรกิจโรงแรมและรีสอร์ตของบริษัทฯ เพื่อเพิ่มศักยภาพของธุรกิจให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ในทุกสถานการณ์อีกด้วย