เป็นชื่อที่หายไปนานทีเดียวสำหรับแวดวงอีคอมเมิร์ซของไทยสำหรับ “เจดี เซ็นทรัล” (JD Central) โดยนับตั้งแต่การเปิดตัวในเดือนกันยายน 2018 พวกเขาก็ไม่ได้ออกมาอัปเดตตัวเลขการเติบโตของบริษัทให้ทราบกันอีกเลย
อย่างไรก็ดี ปี 2021 อาจเป็นฤกษ์ดีของเจดี เซ็นทรัล ที่จะกลับมาเปิดเผยความเป็นไปของบริษัทกันอีกครั้ง โดยมีประธานกรรมการบริหารอย่าง คุณวินเซนต์ หยาง เป็นผู้ออกมาบอกเล่าสถิติต่าง ๆ ในช่วงเกือบสามปีที่เจดี เซ็นทรัลหายไปด้วยตัวเอง
แน่นอนว่า การกลับมาครั้งนี้ต้องมีตัวเลขการเติบโตของแพลตฟอร์มในหลาย ๆ ด้านมาโชว์ให้ดู ซึ่งตัวเลขแรกที่คุณวินเซนต์ หยาง เลือกนำมาบอกเล่าคือการเติบโตของยอดขายเมื่อเทียบจากปี 2018 กับ 2020 ที่พบว่าโตขึ้น 212.6% ส่วนผลการดำเนินงานในปี 2020 เมื่อเทียบกับปี 2019 พบว่า ยอดการใช้จ่ายของผู้ใช้งานเติบโตขึ้น 25% และมีผู้ใช้งานใหม่เพิ่มขึ้น 43% ส่วนร้านค้าที่เข้ามาอยู่ในแพลตฟอร์มเติบโตขึ้น 87% เช่นกัน
ที่น่าสนใจคืออัตราการกลับมาซื้อซ้ำอยู่ที่ 67% โดยค่าเฉลี่ยต่อการสั่งซื้อครั้งหนึ่งอยู่ที่ 2,198 บาท และรายได้ต่อผู้ใช้บริการหนึ่งรายเฉลี่ยอยู่ที่ 8,605 บาทเลยทีเดียว ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับอายุของแพลตฟอร์มที่เรียกว่าเป็นน้องเล็กของตลาด
3 สถานการณ์เหมาะ ปัจจัยทำไมโตเร็ว
วินเซนต์ หยางเผยว่า การจับมือกับกลุ่มเซ็นทรัล เพื่อสร้าง เจดี เซ็นทรัล เมื่อ 3 ปีที่แล้ว ยังเป็นจังหวะที่เหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน ประการแรกคือ ประเทศไทยกำลังมีประชากรอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce Users) เพิ่มอย่างรวดเร็ว โดยนับตั้งแต่ปี 2017 ถึงปัจจุบัน ตัวเลข E-Commerce Users ของไทยโตขึ้นถึง 20% (จาก 28 ล้านคน ในปี 2017 เป็น 48 ล้านคนในปี 2020) ซึ่งถือเป็นโอกาสของผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซทุกราย เพราะมันสะท้อนว่า คนไทยกำลังคุ้นเคยกับการซื้อสินค้าออนไลน์มากขึ้นเรื่อย ๆ
ข้อดีประการที่สอง คือผลการสำรวจของ Google ที่พบว่า 85% ของผู้บริโภคไทยพร้อมจะเปลี่ยนใจได้เสมอหากได้รับข้อเสนอ หรือข้อมูลอื่น ๆ ที่ดีและตรงใจกว่า ซึ่งการที่ผู้บริโภคเปลี่ยนใจได้ง่ายนี้ทำให้แพลตฟอร์มใหม่ ๆ มีโอกาสบุกตลาดได้มากขึ้น (การเปลี่ยนใจง่ายของคนไทยนี้ยังใกล้เคียงกับอินเดีย, ฮ่องกง, อินโดนีเซีย และเวียดนาม ขณะที่ประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา ตัวเลขดังกล่าวอยู่ที่ 33% เท่านั้น)
ข้อดีประการที่สามคือการระบาดของ Covid-19 ที่แม้จะกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจของไทยอย่างมากจากการล็อกดาวน์ จนทำให้ร้านอาหาร โรงหนัง ห้างสรรพสินค้า ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ แต่ในอีกด้านหนึ่ง เขาพบว่า แบรนด์จำนวนมากเกิดการปรับตัว และมองหาเครื่องมือในการทรานสฟอร์มตัวเองเพื่อไปอยู่บนดิจิทัลกันจ้าละหวั่น ซึ่งแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่เตรียมโซลูชันเอาไว้รองรับจะได้ประโยชน์จากการทรานสฟอร์มของภาคธุรกิจไทยอย่างมาก
เจาะ 6 เครื่องมือใหม่ JD Central ถึงยุคใช้ AI ช่วยผู้ขาย
นอกจากการวางโครงสร้างพื้นฐาน และสร้างพาร์ทเนอร์ที่ เจดี เซ็นทรัล ลงมือไปในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมาแล้ว เรายังมองเห็นทิศทางการเติบโตในปี 2021 ของเจดี เซ็นทรัลที่เข้มข้นกว่าเดิมด้วยเช่นกัน กับการขนเทคโนโลยีเบื้องหลังออกมามากมายเต็มไปหมด เรียกว่าสมฐานะของ JD.com บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ของจีนกันเลยทีเดียว
ความไฮเทคของเครื่องมือถูกบอกเล่าผ่านคุณก่อลาภ สุวัชรังกูร ประธานบริหารฝ่ายการตลาด เจดี เซ็นทรัล ที่หลายคนอาจคุ้นหน้ากันดี โดยเครื่องมือที่คุณก่อลาภบอกว่าจะเริ่มนำมาใช้ช่วยผู้ขายบนแพลตฟอร์มในปี 2021 นี้ แบ่งออกได้เป็น 4 ด้าน ได้แก่
1. Seller Assistant System
สำหรับในหมวดแรกอย่าง Seller Assistant System สิ่งที่มาพร้อมกันก็คือเครื่องมือ 2 ตัว ตัวแรกชื่อ One-click Solution สำหรับพาผู้ขายไปพบลูกค้าเป้าหมายได้ภายในคลิกเดียว ซึ่งการทำเช่นนี้ได้ ส่วนหนึ่งก็มาจากการวิเคราะห์ฐานข้อมูลลูกค้าและนำมาจับคู่กับสินค้าที่คาดว่าจะเป็นที่ต้องการได้นั่นเอง
เครื่องมือตัวต่อไปคือการนำ Data บนแพลตฟอร์มมาประมวลผลเพื่อช่วยผู้ค้าหน้าใหม่ทำยอดขายแรกให้ได้ ในชื่อ New Product Incubation Process สำหรับเป็นพื้นที่แนะนำผู้ขายหน้าใหม่บนแพลตฟอร์มว่า มีสินค้าใดบ้างที่ไม่ค่อยมีบนแพลตฟอร์ม ผู้ขายหน้าใหม่จะได้ไปหาซื้อมาลองขาย และจะได้ไม่กระโจนลงไปแข่งกับรายใหญ่ที่มีประสบการณ์เชี่ยวชาญ
2. Seller Intelligence System
หมวดสองเป็นเรื่อง Seller Intelligence System ซึ่งก็คือระบบ QPS System สำหรับวัดผลร้านค้าบนแพลตฟอร์ม (คล้าย ๆ กับ KPI ที่องค์กรใช้วัดประสิทธิภาพของพนักงาน) โดย Q คือการวัดผลคุณภาพสินค้าที่ขายบนแพลตฟอร์มว่าคุณสมบัติตรงตามที่ประกาศลงสินค้าไว้หรือไม่ ส่วน P จะวัดผลจากการทำโปรโมชัน การตั้งราคาสินค้าที่สมเหตุสมผล และ S คือการบริการ (Service) ตั้งแต่การสอบถาม สั่งซื้อ ไปตลอดจนบริการหลังการขาย ทางระบบจะเก็บสะสมคะแนนในส่วนนี้และนำไปใช้ในหลาย ๆ ด้าน
ยกตัวอย่างการนำไปใช้ เช่น หากเจดี เซ็นทรัลจะทำโฆษณาเพื่อยิงออกไปข้างนอก ก็จะพิจารณาเลือกสินค้าที่มีค่า QPS สูงก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อให้มั่นใจได้ว่า เป็นสินค้าที่ดี มีคุณภาพ และมีบริการดี ส่วนในแพลตฟอร์มของเจดี เซ็นทรัลเอง เวลาลูกค้าเข้ามาเสิร์ชหา สินค้าที่ได้ค่า QPS สูงก็จะถูกดึงขึ้นมาแสดงผลก่อนเช่นกัน
3. Traffic Generating Support Model
หมวดที่สามเป็นเครื่องมือช่วยสร้างทราฟฟิกเข้ามาที่หน้าร้าน ในชื่อว่า Targeted Customer support ที่สามารถบอกได้ว่า ลูกค้ามีกี่กลุ่ม เป็นใครบ้าง และผู้ขายควรจะเลือกคูปอง หรือโปรโมชันแบบไหนจึงจะเหมาะสมกับลูกค้ากลุ่มนี้
ส่วนข้อถัดมาเป็นเทคโนโลยีที่ยังอยู่ใน pipeline (ยังไม่เปิดใช้งาน) คือ Upgraded Membership Feature ที่เปิดให้ร้านค้าสามารถตั้งค่าได้เองเลยว่า ลูกค้าที่ต้องการควรจะเป็นอย่างไร ซึ่งเจดี เซ็นทรัลบอกว่า การทำเช่นนี้จะช่วยเพิ่มการ visit ให้ถี่ขึ้นได้
4. Seller Friendly App
ข้อสุดท้ายคือการพัฒนาตัวแอปสำหรับผู้ขายให้ใช้งานง่าย และดึงระบบทุกอย่างขึ้นมาอยู่บนมือถือ เช่น สามารถเช็คสต็อก หรือเข้ามาดูข้อมูลหลังบ้านได้จากโทรศัพท์มือถือโดยไม่ต้อง Sign-in จากคอมพิวเตอร์เหมือนในอดีต
5. เปิดตัว JOY University
นอกจากโซลูชันเพื่อสนับสนุนผู้ขายจากการวิเคราะห์ข้อมูลในด้านต่าง ๆ แล้ว ทางแพลตฟอร์มยังเปิดตัว JOY University สำหรับสอนการใช้งานเครื่องมือต่าง ๆ แบบละเอียดทีละขั้นตอน ซึ่งมองว่าจะช่วยผู้ขายรายย่อย และ SME ไทยเข้าใจการใช้งานระบบได้มากขึ้น
6. ปั้น JOY Fulfillment ให้เป็น Next Day Delivery
สุดท้ายเป็นเรื่องของ JOY Fulfillment ที่ในวันนี้ เจดี เซ็นทรัลบอกว่า สามารถทำใหตัวเลขความผิดพลาดในส่วน Out of stock cancellation ที่เกิดจากการสื่อสารผิดพลาด ระหว่างคลังสินค้ากับผู้ขายเซลลเลอร์ลดลง 50% YoY ส่วนในปีนี้ ทาง JOY Fulfillment ได้ตั้งเป้าเพิ่มอัตราการให้บริการส่งของให้ถึงมือลูกค้าภายในวันถัดไป (Next-Day Delivery) สูงขึ้น 100% ด้วย
การพัฒนาของอีคอมเมิร์ซ vs ความท้าทายผู้ขายไทย
ท่ามกลางสถานการณ์ Covid-19 ที่ยังไม่หายไป นี่อาจเป็นหนึ่งในสัญญาณที่ชัดเจนว่า ยักษ์ใหญ่ที่เป็นผู้เล่นในธุรกิจอีคอมเมิร์ซของประเทศไทยไม่เคยหลับ พวกเขายังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และก้าวเข้ามามีบทบาทกับตลาดออนไลน์ของไทยมากขึ้นเรื่อย ๆ สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (DEPA) ที่พบว่า ภาพรวมของตลาด e-commerce ไทยนั้นกำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ (มูลค่ามากกว่า 4 ล้านล้านบาทใน ปี 2019 โดยเติบโตกว่า 6.9% จากปี 2018 และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดในปี 2020)
แม้ว่าการทำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยส่วนใหญ่กว่า 40% จะเกิดขึ้นบนโซเชียลมีเดีย เช่น Facebook, Line, Instagram แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีก 35% ซึ่งมีมูลค่าสูงมากไม่แพ้กัน ก็กำลังเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์ม E-Market Place อย่างลาซาด้า, ช้อปปี้ และเจดี เซ็นทรัล
ด้วยมูลค่าที่เพิ่มขึ้น และการแข่งขันที่งวดขึ้นเช่นนี้ แรงกดดันที่มีต่อผู้ค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์จึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วยอย่างไม่ต้องสงสัย และผู้ชนะในสมรภูมิดังกล่าวอาจเป็นผู้ขายที่สามารถใช้ข้อมูล – เครื่องมือที่แพลตฟอร์มเตรียมไว้ให้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ซึ่งผู้ขายของไทยจะก้าวไปสู่จุดนั้นได้หรือไม่ อาจต้องย้อนกลับไปดูข้อมูลของดีป้ากันอีกครั้ง โดยข้อมูลของทางดีป้าเผยว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ขายสินค้าออนไลน์ประมาณหนึ่งล้านราย และผู้ขายเหล่านี้สามารถ contribute ยอดขายบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ได้ประมาณ 23% เท่านั้น ขณะที่ผู้ขายจากต่างประเทศที่มีอยู่เพียง 87,000 รายนั้น กลับสามารถ contribute ยอดขายในตลาดอีคอมเมิร์ซไทยได้ถึง 77%
เส้นทางต่อจากนี้ของผู้ขายออนไลน์ชาวไทยจึงอาจไม่ใช่การยอมแพ้ หากแต่เป็นการลุกขึ้นมาสู้อีกครั้งบนเครื่องมือที่แต่ละแพลตฟอร์มเตรียมไว้ให้ และใช้มันเอาชนะทั้งในการขายภายในประเทศ รวมถึงการส่งออกไปขายยังต่างประเทศที่แพลตฟอร์มได้เปิดประตูเอาไว้ให้แล้ว