ถึงแม้เวลานี้การแข่งขันในอุตสาหกรรม Video Streaming รุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งในไทย และตลาดโลกที่กลายเป็นสมรภูมิของแพลตฟอร์มยักษ์ใหญ่ ยิ่งในตลาด Video Streaming แบบจ่ายค่าสมาชิก มวยคู่เอกที่น่าจับตามองคือ
“Netflix” (เน็ตฟลิกซ์) ที่ปัจจุบันมี 200 ล้าน Subscribers และตั้งเป้าเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านรายในปี 2030 กับ “Disney+” (ดิสนีย์พลัส) ที่ใช้เวลาเพียง 1 ปีกว่านับตั้งแต่เปิดตัวเมื่อปลายปี 2019 ล่าสุมียอดสมาชิก 95 ล้านรายแล้ว และ Disney ตั้งเป้าจะเพิ่มขึ้น Subscriber เป็น 230 – 260 ล้านรายภายในปี 2024
เมื่อ Disney+ เป็นคู่แข่งที่น่ากลัว เพราะความได้เปรียบที่มี Business Ecosystem ด้านคอนเทนต์ครบวงจร ทำให้ Netflix ต้องเร่งสปีดทิ้งห่าง โดยอยู่บนจุดแข็งของด้านความหลากหลายด้านคอนเทนต์ ทั้งประเภทใช้กลยุทธ์ Localization for Global ด้วยการจับมือกับผู้ผลิตในประเทศต่างๆ เพื่อผลิตคอนเทนต์ของประเทศนั้นๆ แต่เสิร์ฟให้กับคนทั่วโลกดู และเทคโนโลยีที่ตอบสนอง Personalized Experience
หนึ่งในคอนเทนต์ที่ “Netflix” ให้ความสำคัญลำดับต้นๆ คือ คอนเทนต์จากเอเชีย โดยเฉพาะ “คอนเทนต์เกาหลี” ไม่ว่าจะเป็นหนัง ซีรีส์ และสารคดี เพื่อใช้เป็นแม่เหล็กดึงคน ทั้งการรักษาฐานสมาชิกเดิม ควบคู่กับการสร้างฐานสมาชิกใหม่
ทำไมคอนเทนต์เกาหลี ไม่ว่าจะเป็นคอนเทนต์ของพาร์ทเนอร์ผู้ผลิต/สถานีของเกาหลี และคอนเทนต์ออริจินัลของ Netflix เอง ได้กลายเป็น Strategic Content สำหรับแพลตฟอร์ม Video Streaming ยักษ์ใหญ่จากอเมริกา และกลยุทธ์จากนี้ในการพัฒนาคอนเทนต์เกาหลีบน Netflix ? ไปหาคำตอบกัน
ทุ่มงบ 500 ล้านดอลลาร์ ผลิตคอนเทนต์เกาหลี – เช่าสตูดิโอในเกาหลี ถ่ายทำหนัง และซีรีส์
สำหรับ Netflix งบลงทุนด้านคอนเทนต์ ถือเป็นงบสำคัญขององค์กร ซึ่งหากย้อนกลับไปช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ในแต่ละปี Netflix เพิ่มงบลงทุนด้านคอนเทนต์มาโดยตลอด
ปี 2017: 8,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2018: 12,040 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2019: 15,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2020: 17,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปี 2021 (ประมาณการณ์): 19,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นับตั้งแต่ปี 2015 – 2020 เม็ดเงินที่ Netflix ใช้ลงทุนกับคอนเทนต์เกาหลี มีมูลค่ากว่า 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึงปัจจุบันมีคอนเทนต์ออริจินัลเกาหลีกว่า 80 รายการ
ล่าสุดเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ในงาน “See What’s Next Korea” เปิดตัว Line-up คอนเทนต์เกาหลีประจำปี 2021 พร้อมทั้งเผยถึงงบลงทุน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 15,000 ล้านบาท สำหรับภาพยนตร์ ซีรีส์ และรายการโชว์เกาหลีในปีนี้
นอกจากนี้ เพื่อรองรับการผลิตคอนเทนต์ออริจินัลในเกาหลี Netflix ได้เช่าโรงถ่ายทำ หรือสตูดิโอ 2 สถานที่ พื้นที่รวมทั้งหมด 16,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย
– เช่าโรงถ่ายทำ 6 สตูดิโอที่ YCDSMC – Studio 139 พื้นที่ใช้สอยรวม 9,000 ตารางเมตร
– เช่าโรงถ่ายทำ 3 สตูดิโอที่ Samsung Studio พื้นที่ใช้สอยรวม 7,000 ตารางเมตร
“Netflix ยินดีขยายการลงทุนในเกาหลี รวมถึงเพิ่มจำนวนผลงานภาพยนตร์ และซีรีส์เกาหลีด้วย โดยสตูดิโอสองแห่งนี้ เป็นอีกตัวอย่างสำคัญที่บ่งชี้ถึงความมุ่งมั่นในการลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของเกาหลีอย่างต่อเนื่อง
ทำให้ Netflix มีความได้เปรียบด้านการขยาย และสนับสนุนการผลิตคอนเทนต์เกาหลี ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ และภาพยนตร์ ทั้งยังช่วยสร้างงานสายการผลิตในกลุ่มคนที่มีอาชีพด้านการผลิตงานสร้างสรรค์ในเกาหลีอีกด้วย” Amy Reinhard รองประธานฝ่ายปฏิบัติงานสตูดิโอของ Netflix เล่าเหตุผลของการลงทุนเช่าสตูดิโอถ่ายทำในเกาหลีโดยเฉพาะ
จาก K-Content แบรนด์ดิ้งเกาหลีให้เป็นที่รู้จัก สู่การเป็นแม่เหล็กชั้นดี ดึงคนทั่วโลกอยู่กับ Netflix
เกาหลีใต้เป็นหนึ่งในประเทศที่ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชน ผนึกกำลังกันใช้พลัง “Soft Power” ไม่ว่าจะเป็น
– K-Content หรือ K-Entertainment ประกอบด้วย K-Pop, K-Series, K-Movie, K-Variety Show, K-Comic, K-Animation
– K-Beauty ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และความงามแบรนด์เกาหลีต่างๆ
– K-Food มีทั้งอาหาร ผลไม้ – เครื่องดื่มประจำชาติดั้งเดิมของชาวเกาหลี และเมนูอาหารครีเอทใหม่ ที่กลายมาแพร่หลายในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน
– K-Goods สินค้าต่างๆ แบรนด์เกาหลี
สิ่งเหล่านี้ถูกนำมาใช้ เพื่อแบรนด์ดิ้งประเทศ และวัฒนธรรมให้เป็นที่รู้จัก ก่อเกิดเป็นปรากฏการณ์ “K-Wave” ทำให้คลื่นวัฒนธรรมเกาหลีขยายไปทั่วโลก และเชื่อมโยงกลับมาสู่ภาคการท่องเที่ยวของเกาหลี และอุตสาหกรรมต่างๆ ของประเทศ
จนทุกวันนี้อิทธิพล “ความเป็นเกาหลี” หรือ “Koreanization” แทรกซึมเข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของผู้คนทั่วโลกในรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่สิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงการเปิดรับคอนเทนต์ต่างๆ ทั้งซีรีส์ รายการวาไรตี้ เพลง ภาพยนตร์ และวัฒนธรรมอาหาร นำไปสู่การแผ่ขยายของ “ทุนเกาหลี” ที่เข้าไปลงทุนในประเทศต่างๆ
ทำให้ “เกาหลีใต้” กลายเป็นประเทศอันดับต้นๆ ของโลก ทั้งในด้าน “Hard Power” ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การทหาร ด้านเทคโนโลยี รวมทั้งด้าน “Soft Power”
จากศักยภาพด้านการพัฒนา Soft Power ของเกาหลีใต้ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทำให้ Netflix เห็นศักยภาพว่าคอนเทนต์เกาหลี สามารถดึงผู้ชม Netflix ทั่วโลกได้
ดังที่ Ted Sarando ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม และประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายคอนเทนต์ Netfflix กล่าวผ่านวิดีโอในงาน See What’s Next Korea ว่า “มากกว่า 2 ปีที่ผ่านมา เราเห็นคนทั่วโลกตกหลุมรักคอนเทนต์เกาหลี ที่ผลิตในเกาหลี และมีผู้ชมทั่วโลกบน Netflix
ดังนั้น พันธกิจของ Netflix ต่อเกาหลีจะยังคงแข็งแกร่ง โดยเราจะลงทุน และร่วมมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์ในเกาหลีอย่างต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาคอนเทนต์ในหลากหลายประเภท และรูปแบบต่างๆ”
ที่ผ่านมาซีรีสเกาหลีหลายเรื่องบน Netflix สามารถสร้างฐานคนดูได้ในหลายประเทศทั่วโลก อย่าง Sweet Home กลายเป็นซีรีส์ที่ถูกใจหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี กาตาร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ อินเดีย และอีกหลายประเทศ
ส่วน Kingdom, The King: Eternal Monarch, Start-Up, It’s okay to Not Be okay เป็นซีรีส์ยอดฮิตติดตลาดที่กลุ่มผู้ชมในฮ่องกง ไทย อินเดีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่นและในอีกหลากหลายประเทศ
ขณะที่ Line-up คอนเทนต์ออริจินัล Netflix เกาหลีในปี 2021 มีตั้งแต่ซีรีส์ ภาพยนตร์ และรายการโชว์ รวมมากกว่า 10 เรื่อง เช่น The Silent Sea, D.P., My Name, Move to Heaven, Squid Game, Love Alarm Season 2, Hellbound, All of Us are Dead, Kingdom: Ashin of the North, Night in Paradise, So Not Worth It, Lee Su-geun: The Sense Coach และ Paik’s Spirit
ทั้งนี้ถ้าเป็นคอนเทนต์ออริจินัลของ Netflix มีองค์ประกอบหลายอย่าง
– เนื้อเรื่องมีความแปลกใหม่ เพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ให้กับผู้ชม
– ผสานความเป็น Local และ Global เนื่องจาก Netflix เป็นแพลตฟอร์มทั่วโลก ในขณะที่การผลิตคอนเทนต์ ใช้วิธี Open Business Ecosystem ที่เปิดกว้างให้กับผู้ผลิตคอนเทนต์ทั่วโลก ดังนั้น ความเป็น Local จึงเชื่อมโยงกับผู้ชมท้องถิ่น ขณะเดียวกันต้องมีเนื้อหาที่เชื่อมโยงกับความเป็น Global นั่นคือเรื่องราวที่คนทั่วโลกเข้าใจ เช่น มิตรภาพระหว่างเพื่อน ความรัก – ความผูกพัน
– สนุก และมีความต่อเนื่องของการเล่าเรื่อง เพื่อให้ผู้ชมติดตามจนจบภาคนั้นๆ และรอลุ้นภาคต่อไป ในกรณีที่เรื่องนั้นวางแผนสร้างต่อเนื่องหลายซีซั่น
– ใน 1 ซีซั่นของคอนเทนต์ออริจินัล โดยเฉลี่ยจะไม่เกิน 10 Episode และปล่อยทุกตอนพร้อมกัน เพราะเมื่อหลอมรวมระหว่างคอนเทนต์แปลกใหม่ สนุก มีความต่อเนื่องของการเล่าเรื่อง และผสานระหว่าง Local กับ Global จะสร้างพฤติกรรมการรับชมที่เรียกว่า “Binge-watching” นั่นคือ การรับชมคอนเทนต์นั้นๆ รวดเดียวจบ หรือใช้เวลา 1 – 2 วันดูจบ
ปรากฏการณ์ Binge-watching เคยเกิดขึ้นกับคอนเทนต์ออริจินัลของ Netflix มาแล้วในหลายเรื่อง เช่น เมื่อครั้ง Kingdom 2 หลังจากที่ผู้ชมติดใจในภาค 1 ทันทีที่ฉาย ด้วยความที่มี 6 ตอน ทำให้หลายคนดูยาวต่อเนื่องจนจบเรื่อง
จะเห็นได้ว่าคอนเทนต์เกาหลี ทั้งหนัง และซีรีส์หลายเรื่อง หรือแม้แต่รายการโชว์ ได้การตอบรับจากผู้ชมทั่วโลก เพราะความกลมกล่อมของเรื่องที่ผสานทั้งความเป็น Local และ Global บวกกับความพยายามสร้างสรรค์ Plot เรื่องใหม่ๆ การได้นักแสดงมากฝีมือที่ดึงดูดผู้ชม และการโปรโมท เพื่อสร้างการรับรู้
นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมเกาหลีใต้สามารถแบรนด์ดิ้งชาติ ด้วย Soft Power ได้สำเร็จ และทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในคอนเทนต์สำคัญของ Netflix ไปแล้ว
และด้วยคอนเทนต์ที่อัดแน่นขนาดนี้ จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไม “Reed Hastings” ซีอีโอ Netflix เคยให้สัมภาษณ์กับสื่อว่าคู่แข่งใหญ่สุดของ Netflix คือ ความง่วง!
Photo Credit : Netflix