เป็นที่ทราบกันดีว่าปี 2563 เป็นปีที่หนักหนาสาหัสสำหรับหลายธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 โดยเฉพาะภาคธุรกิจเกี่ยวกับท่องเที่ยว ธุรกิจ Hospitality ร้านอาหาร ค้าปลีก และธุรกิจ SME มีทั้งธุรกิจที่ไปต่อได้ และหลายธุรกิจถอดใจ เลิกกิจการ ส่งผลต่ออัตราการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อเนื่องมาถึงหนี้ครัวเรือนเพิ่มสูงขึ้น และความสามารถในการชำระหนี้ลดลง
เมื่อเป็นเช่นนี้ในปีที่แล้ว “KTC” (เคทีซี) ปรับแผนให้ความสำคัญกับคุณภาพลูกค้าเป็นหลัก พร้อมทั้งตั้งสำรอง และตัดหนี้สูญ (Write-off) จึงทำให้ผลการดำเนินธุรกิจในปี 2563 มีกำไรสุทธิ 5,332 ล้านบาท เงินให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ และดอกเบี้ยค้างรับรวม 90,149 ล้านบาท ขณะที่ NPL ต่อเงินให้สินเชื่อรวมเท่ากับ 1.8% ส่วนฐานสมาชิกรวม 3.4 ล้านบัญชี แบ่งเป็น
– ธุรกิจบัตรเครดิต 2,575,684 บัตร
– สินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิตรวม 60,235 ล้านบาท
– NPL ต่อเงินสินเชื่อลูกหนี้บัตรเครดิต 1.3%
– ธุรกิจสินเชื่อบุคคล 814,329 บัญชี
– ยอดลูกหนี้สินเชื่อบุคคลรวม 29,915 ล้านบาท
– NPL ต่อเงินสินเชื่อลูกหนี้สินเชื่อบุคคลเท่ากับ 2.7%
ขณะที่ปี 2564 โฟกัสกลุ่มธุรกิจ Payment “บัตรเครดิต” และมุ่งขยายธุรกิจ “สินเชื่อมีหลักประกัน” หลังจากเข้าถือหุ้น 75.05% ใน “บริษัท กรุงไทยธุรกิจลิสซิ่ง จำกัด” หรือ KTB Leasing ทำให้ KTC สามารถทำธุรกิจเช่าซื้อ และลิสซิ่งทุกประเภท พร้อมทั้งบุกตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ “KTC พี่เบิ้ม” ต่อยอดธุรกิจสินเชื่อมีหลักประกันได้อย่างครบวงจร
“สถานการณ์เศรษฐกิจในปีที่ผ่านมา เป็นปีที่มีความผันผวนค่อนข้างมาก และเป็นวิกฤตที่รุนแรง โดยเซ็กเตอร์ที่ประสบปัญหาหนักคือ Hospitality ไม่ว่าจะเป็นโรงแรม ภาคาการท่องเที่ยว รวมถึงร้านอาหาร ที่ได้รับกระทบตลอดทั้งซัพพลายเชน ค้าปลีก และธุรกิจ SME ทำให้มีธุรกิจที่ไปต่อไม่ได้ และหลายคนรายได้หายไป
ขณะที่กำไรของสถาบันการเงินหลายแห่ง ลดลง สำหรับ “KTC” ยึดคุณภาพลูกค้าเป็นหลัก ทำให้ในปี 2563 บริษัทฯ มีกำไร 5,300 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่เราพึงใจ เมื่อเทียบกับภาวะเศรษฐกิจ
ผลจากวิกฤต COVID-19 และมาตรการต่างๆ ที่ปรับเปลี่ยนต่อเนื่อง เป็นตัวกระตุ้นให้แผนยุทธศาสตร์ KTC ปี 2564 ต้องเร่งเปลี่ยนแปลงองค์กรแบบก้าวกระโดด โดยสร้างการเติบโตในธุรกิจใหม่ให้มากขึ้น เร็วขึ้น เพื่อสร้างคลื่นใต้น้ำจนเป็นพลังคลื่นลูกใหม่ รับเกมธุรกิจที่ไม่มีวันสิ้นสุด (Infinite Game) ด้วยการมุ่งขยายสินเชื่อมีหลักประกันที่หลากหลาย
คู่ขนานไปกับการทำธุรกิจเดิมคือ ธุรกิจ Payment “บัตรเครดิต” โดยจะขยาย Ecosystem ที่สนับสนุนธุรกิจนี้ให้ใหญ่ขึ้น” คุณระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTC ฉายภาพปีที่ผ่านมา และยุทธศาสตร์ในปี 2564
“บัตรเครดิต” กระตุ้นให้เกิดการใช้ประจำ – เตรียมรีลอนซ์แพลตฟอร์ม KTC U SHOP
บัตรเครดิต ยังคงเป็น Core Business ของ KTC ซึ่งการเกิดขึ้นของสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ต้องเข้มงวดในการอนุมัติบัตรเครดิตมากขึ้น เพื่อโฟกัสคุณภาพลูกค้าที่ดี และได้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตร กลายเป็นว่าเวลานี้ 5 อันดับแรกของบัตร KTC ที่มียอดใช้จ่ายมากที่สุดคือ
- ประกัน
- สถานีบริการน้ำมัน
- ซูเปอร์มาร์เก็ต
- โรงพยาบาล
- e-Marketplace เช่น Shopee, LAZADA
แต่ไหนแต่ไรยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต KTC ในด้านการท่องเที่ยว ติดอันดับ 2 มาโดยตลอด ทว่าตั้งแต่ปี 2563 การใช้จ่ายส่วนนี้หายไป และคาดการณ์ว่าทั้งในปี 2564 และ 2565 การใช้จ่ายผ่านบัตรเกี่ยวกับการท่องเที่ยว จะยังไม่กลับมาติด Top 5 เว้นแต่ว่าจะเปิดให้มีการเดินทางต่างประเทศได้
“ในช่วง COVID-19 เราเห็นยอดใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต กับการซื้อสินค้าในซูเปอร์มาร์เก็ต มี Ticket Size ใหญ่ขึ้น เนื่องจากคนไม่ได้ออกไปข้างนอกมากเหมือนแต่ก่อน ทำให้เวลาไปซื้อสินค้าที จะซื้อในปริมาณมาก และเราเห็นการสั่ง Food Delivery และสินค้าออนไลน์ โตขึ้นเยอะมาก
นอกจากนี้สิ่งที่เราเห็นคือ การใช้บัตรรูปแบบ Contactless ไม่ว่าจะเอาบัตรเครดิตผูกกับโทรศัพท์มือถือ หรือผูกกับ Wearable Device เช่น Fitbit Pay เพราะคนกลัวการสัมผัส และร้านค้าต่างๆ เริ่มส่งเสริมให้มีการชำระเงิน Contactless” คุณพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจบัตรเครดิต ฉายภาพการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมการใช้บัตรเครดิตในไทย
แต่ไม่ว่าผู้บริโภคจะมีพฤติกรรมการใช้จ่ายเปลี่ยนไปอย่างไร หัวใจสำคัญของตลาดบัตรเครดิต แต่ละค่ายพยายามทำให้บัตรเครดิตของตนเอง เป็นบัตรใบแรกที่ผู้บริโภคเลือกใช้ ทำให้เกิดการใช้ประจำ และใช้ต่อเนื่อง
สำหรับเป้าหมายในปี 2564 บัตรเครดิต KTC ตั้งเป้าจำนวนสมาชิกใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 235,000 ใบ และยอดใช้จ่ายเติบโต 8% หรือประมาณ 210,000 ล้านบาท ส่วนกลยุทธ์การตลาดที่ทำให้เป็นบัตรเครดิตที่ผู้บริโภคใช้ประจำ คือ คะแนน KTC FOREVER (25 บาท = 1 คะแนน) โดยสามารถแลกคะแนน เป็นส่วนลด หรือสิทธิประโยชน์ต่างๆ ได้ง่าย รวมทั้งขยายพันธมิตรคู่ค้า เพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตร และสนับสนุนการเติบโตของพันธมิตรด้วยผลิตภัณฑ์ และบริการต่างๆ ของ KTC
นอกจากชูจุดเด่นด้าน Point และ Redeem แล้ว KTC เตรียมรีลอนซ์แพลตฟอร์ม e-Marketplace ของตัวเอง “KTC U Shop” จากในอดีตเป็นรูปแบบ Leaflet สินค้า สอดอยู่ในจดหมายแจ้งยอดชำระที่จัดส่งให้กับบ้านลูกค้า แต่เมื่อเปลี่ยนเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีเต็มรูปแบบ ทำให้คนใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ และแพลตฟอร์มดิจิทัลมากขึ้น ส่งผลให้การใช้งานกระดาษลดน้อยลง (Paperless) ย่อมทำให้บทบาทของ Leaflet ค่อยๆ ลดความสำคัญลง
KTC จึงเปิดช่องทางเว็บไซต์ KTC U SHOP และทาง LINE เป็นอีคอมเมิร์ซสำหรับขายสินค้าของพันธมิตรคู่ค้า แต่ต่อไปมีแผนรีลอนซ์ KTC U SHOP ให้เป็น e-Marketplace รองรับสินค้าพันธมิตร และทำให้ลูกค้า KTC สามารถนำคะแนนสะสมบัตรเครดิตที่มี มาใช้ในการซื้อสินค้า หรือรับสิทธิประโยชน์ได้เลย
“สำหรับการแข่งขัน ทุกคนพยายามจะผูกลูกค้าอยู่ใน Ecosystem ของตัวเอง ด้วยการสำเสนอบริการครบวงจร ซึ่ง KTC มีสินเชื่อหลายรูปแบบ อย่างในปี 2564 เราจะรีลอนซ์ KTC U SHOP จากปัจจุบันยังอยู่บนหน้าเว็บไซต์เดิม เพื่อให้เป็น e-Marketplace ที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ที่ชอบซื้อสินค้าผ่านออนไลน์
ทุกวันนี้สินค้าใน U SHOP มีประมาณ 3,000 SKU สินค้าที่นำมาจำหน่าย มีทั้ง Household, Electronic, Gadget และสิ่งที่เราอยากสร้างความแตกต่างคือ ผลิตภัณฑ์ธรรมชาติจาก SME เราทำ e-Marketplace ไม่ได้เพื่อแข่งกับใคร แต่ทำเพื่อสนับสนุนพันธมิตร และทำให้ลูกค้าสามารถแลกคะแนนได้เลย”
“KTC พราว” โฟกัสคุณภาพลูกหนี้ดี เพื่อป้องกันความเสี่ยง
สำหรับตลาดดสินเชื่อบุคคล ปรากฏว่าสถานการณ์ COVID-19 ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าถดถอยลง อีกทั้งยังเจอกับอัตราการว่างงานสูงขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ ทำให้ธุรกิจสินเชื่อไม่มีหลักประกัน “KTC พราว” ให้ความสำคัญกับคุณภาพของลูกค้าเป็นหลัก โดยมีการคัดกรองผู้สมัครมากขึ้น มากกว่าเร่งการเติบโตอย่างก่อนเกิด COVID-19 เพื่อให้ได้กลุ่มลูกค้าคุณภาพ ควบคู่กับการสร้างความผูกพันฐานสมาชิกเดิม เพื่อเป็น “บัตรกดเงินสด” ใบแรกที่ลูกค้านึกถึงเมื่อจำเป็นต้องใช้เงิน ผ่าน 4 ช่องทางหลัก คือ ธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ สาขา KTC Touch เจ้าหน้าที่ Telesales โดยเป้าหมายปี 2564 ตั้งเป้าจำนวนสมาชิกบัตรกดเงินสด KTC พราว ใกล้เคียงกับปีที่ผ่านมา อยู่ที่ 135,000 ราย
“KTC พี่เบิ้ม” ดาวรุ่งดวงใหม่
เพื่อป้องกันความเสี่ยงธุรกิจ และขยายขอบเขตสินเชื่อมีหลักประกันให้หลากหลาย “KTC” ได้ขยาย Business Portfolio มาทำตลาด “สินเชื่อจำนำทะเบียนรถ” ทั้งรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ภายใต้แบรนด์ “KTC พี่เบิ้ม” ในปี 2563
ถึงแม้วันนี้กลุ่มธุรกิจนี้ยังอยู่ในสเต็ปเริ่มต้น และการแข่งขันตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน มีผู้เล่นรายหลักที่อยู่ในตลาดมาก่อน แต่ KTC มองว่า KTC พี่เบิ้ม จะเป็น New S-curve ของบริษัท เพราะมี Demand ที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอยู่ในตลาด และความเป็นสินเชื่อมีหลักประกัน จึงมีความเสียงต่ำ และให้ผลตอบแทนเร็ว สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน
“ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ มีคู่แข่งที่อยู่มานาน ตอนเราศึกษาตลาด เริ่มต้นด้วยทีมเล็กๆ รูปแบบสตาร์ทอัพ ทำต้นแบบ จากนั้นทดสอบ เพื่อเรียนรู้ พบว่าตลาดนี้ยังมีโอกาสอีกมาก เพราะยังมี Pain Point ของลูกค้าที่ยังไม่ได้รับการตอบสนอง โดยเราจะเข้าไปทำตลาดกลุ่มอยากได้สินเชื่อวงเงิน 200,000 – 300,000 บาท
เช่น กลุ่มฟรีแลนซ์ เจ้าของกิจการขนาดเล็ก พ่อค้าแม่ค้า หรือพนักงานรายได้ไม่สูงมากนัก แต่ไม่สามารถเข้าถึงธนาคารได้ หรือเข้าไปหา Non-bank แล้ว แต่ส่วนใหญ่วงเงินสินเชื่ออยู่ที่ 30,000 บาทเท่านั้น จึงไม่ตรงกับความต้องการ ดังนั้น KTC พี่เบิ้มจึงเน้นสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยนต์เป็นหลัก เพราะเราเห็นว่าลูกค้าอยากได้วงเงินใหญ่โดยเฉลี่ย 300,000 บาท” คุณเรือนแก้ว เกษมสวัสดิ์ศรี ผู้อำนวยการ – ธุรกิจสินเชื่อทะเบียนรถ KTC พี่เบิ้ม
ขณะที่โมเดลตลาด เน้นระบบออนไลน์ และมีทีมงาน “พี่เบิ้ม Delivery” ติดต่อประสานงานกับลูกค้าโดยตรง และมีแอปพลิเคชันให้กับทีม Delivery เพื่อทำรายการจบ ณ สถานที่ๆ ลูกค้าอยู่ได้เลย รับเงินทันทีภายใน 2 ชั่วโมง โดยไม่เน้นลงทุนเปิดสาขา แตกต่างจากสินเชื่อจำนำทะเบียนรถอื่น ที่เน้นขยายสาขา เพื่อใช้เป็น Network เข้าถึงลูกค้า
หลังจากสร้างฐานตลาดในกรุงเทพฯ และปริมณฑลแล้ว ผ่าน พี่เบิ้ม Delivery และใช้ความได้เปรียบ “ธนาคารกรุงไทย” ในปี 2564 จะขยายพื้นที่ให้บริการไปยังต่างจังหวัดมากขึ้น เริ่มต้นที่ภาคตะวันออก ภาคเหนือตอนบน และภาคใต้ตอนบน โดยตั้งเป้ายอดสินเชื่อในปี 2564 ประมาณ 1,000 ล้านบาท
“ความไม่แน่นอนของการแพร่ระบาด COVID-19 ทำให้บริษัทฯ ยังต้องประเมินผลกระทบต่อเนื่องเป็นระยะ โดยคาดว่าสภาพคล่องส่วนเกินในตลาดยังมีอยู่ และอัตราดอกเบี้ยยังคงอยู่ในระดับต่ำ
บริษัทฯ มีแผนจัดสัดส่วนเงินกู้ยืมระยะสั้นมากขึ้น และระดมเงินกู้ยืมระยะยาวไม่เกิน 12,000 ล้านบาท ในช่วงอายุที่สั้นลงจากเดิม เพื่อรองรับหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปี 2564 และการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อบริษัทฯ โดยจะเน้นการบริหารต้นทุนทางการเงินให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้เป็นสำคัญ และบริหารพอร์ตลูกหนี้โดยรวมให้มีคุณภาพที่ดี โดยคาดว่าปี 2564 บริษัทฯ จะมีอัตราการเติบโตของกำไรในระดับที่ยอมรับได้ และดีกว่าปีที่ผ่านมา” คุณระเฑียร กล่าวทิ้งท้าย