สำหรับใครที่ยังมองภาพไม่ออกว่าคอนเทนต์ประเภท Mixed Reality (MR) จะเข้ามาอยู่ในชีวิตเรารูปแบบไหน การจับมือกันของ Microsoft กับผู้พัฒนาเกม Pokemon Go น่าจะเป็นคำตอบได้ดี โดยพวกเขาสร้างปิกาจูเวอร์ชัน Mixed Reality ที่มนุษย์สามารถเข้าไปทำความรู้จัก ให้อาหาร (เป็นลูกเบอรี่) และเป็นเพื่อนกันได้ รวมถึงพาไปแบทเทิลกับผู้เล่นคนอื่น ๆ ของเกมออกมาให้ยลโฉมแล้ว
ตัวช่วยสร้างปิกาจูเวอร์ชัน Mixed Reality ที่ทำได้อย่างน่ารักนี้ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นเครื่องมือของ Microsoft เองในชื่อ “Mesh” ที่สร้างขึ้นเพื่อช่วยให้การพัฒนาคอนเทนต์ Mixed Reality เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น และสามารถนำไปแสดงผลได้ในหลายแพลตฟอร์ม ทั้งอุปกรณ์ HoloLens ของ Microsoft เอง หรือแม้แต่แว่น Oculus ของ Facebook ก็ได้เช่นกัน
ความพิเศษที่มากไปกว่านั้นก็คือ ผู้เล่นคนอื่น ๆ ยังสามารถมองเห็นคอนเทนต์ที่สร้างขึ้นจากซอฟต์แวร์ Mesh นี้ได้ด้วย ซึ่งคุณสมบัติข้อนี้ทำให้หลายอุตสาหกรรมมองเห็นโอกาสในการประยุกต์ใช้มากขึ้น เช่น การจัดคอนเสิร์ต หรือการจัดประชุมทางไกล ที่อนาคต ผู้เข้าร่วมประชุมอาจสามารถ “Holoports” มาได้จากที่บ้าน แล้วก็สามารถเปลี่ยนหน้าตารูปร่างไปเป็นตัวอวาตาร์ที่ต้องการได้เช่นกัน (ในการเปิดตัว Mesh นี้ Alex Kipman ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีจาก Microsoft เองก็เข้าให้ข้อมูลผ่านตัวอวาตาร์)
ทั้งนี้ จุดอ่อนเพียงข้อเดียวของ Mesh ก็คือสิ่งที่พวกเขาทำกันนั้นเกิดขึ้นในโลกเสมือนจริง ไม่ได้เกิดขึ้นในโลกจริง ๆ มากกว่า
จากอุตสาหกรรมราคาแพง สู่โลกความบันเทิง – การทำงาน
ปฏิเสธไม่ได้ว่า นับตั้งแต่ Microsoft เปิดตัว HoloLens และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องไปตั้งแต่ปี 2015 การใช้งานเทคโนโลยีนี้ยังจำกัดอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าสูงลิ่ว เช่น การแพทย์ การผลิตชิ้นส่วนในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ไม่ใช่สำหรับโลกในยุค 2021 อีกต่อไป โดย ซาเทีย นาเดลลา (Satya Nadella) ซีอีโอ Microsoft กล่าวว่า Mesh ไม่ได้ออกแบบมาเพื่ออุปกรณ์สวมศีรษะ HoloLens เพียงรายเดียวอีกแล้ว แต่เขาต้องการให้ Mesh สามารถเข้าถึงได้ทุกแพลตฟอร์ม ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์พีซี สมาร์ทโฟน ฯลฯ หรือจะให้แปลตรง ๆ ก็คือ ผู้ใช้งานอยู่ที่ไหน ใช้แพลตฟอร์มอะไร เครื่องมือแบบไหน Mesh ก็ต้องเข้าถึงได้
Microsoft บอกด้วยว่า บริษัทมีแผนจะเพิ่มฟีเจอร์ใหม่ ๆ ลงใน Mesh อีกในปีหน้า และจะบรรจุลงไปในแอป Microsoft Teams ของบริษัทด้วย
ความสำเร็จของเกม Pokemon Go อาจเป็นกรณีศึกษาที่ดี เพราะ Pokemon Go ออกแบบให้ใช้งานได้บนสมาร์ทโฟน ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้งานกันอย่างแพร่หลายในยุคนั้น แต่หากเทียบงบประมาณที่ Niantic พัฒนา Pokemon Go กับงบประมาณที่ Microsoft, Facebook, HP และอีกหลายค่ายทุ่มลงไปกับโปรเจ็คแว่น AR/VR/MR แล้วคงต้องบอกว่าเทียบกันไม่ได้เลย
การรุกพัฒนาในส่วนซอฟต์แวร์ Mesh ให้เข้าถึงอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้ในวงกว้างจึงถือเป็นก้าวของ Microsoft ที่น่าจับตา ที่สำคัญ หากมองย้อนไปในอดีต ชื่อของ Microsoft ก็คือบริษัทที่เคยประสบความสำเร็จอย่างล้นหลามในยุคคอมพิวเตอร์พีซีครองเมือง ด้วยระบบปฏิบัติการ Windows และ Office มาแล้ว ส่วนตอนนี้ ซึ่งเป็นยุคเริ่มต้นของโลก AR/VR/MR ซอฟต์แวร์อย่าง Mesh ก็อาจเป็นความสำเร็จครั้งต่อไปของ Microsoft ได้เช่นกัน