HomePR Newsมุ่งหน้าสู่ยุคแห่งการนำเสนอผู้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รายงานฉบับแรกของ Netflix เผยผลสำรวจด้านความหลากหลายในคอนเทนต์ [PR]

มุ่งหน้าสู่ยุคแห่งการนำเสนอผู้คนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียม รายงานฉบับแรกของ Netflix เผยผลสำรวจด้านความหลากหลายในคอนเทนต์ [PR]

แชร์ :

เมื่อครั้งที่เราเปิดตัวซีรีส์เรื่องแรก ๆ ในปี 2013 อย่าง House of Cards (เกมอำนาจ) และ Orange Is the New Black (ออเรนจ์ อีส เดอะ นิว แบล็ค) ความตั้งใจของเราคือการเล่าเรื่องราวที่หารับชมไม่ได้ที่อื่น ไม่ใช่เพียงในด้านความหลากหลายของเรื่องราวที่เราถ่ายทอดออกไปเท่านั้น แต่ยังรวมถึงความหลากหลายของผู้คนและวัฒนธรรมที่ผู้ชมจะได้สัมผัสผ่านหน้าจออีกด้วย

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เมื่อเราได้เริ่มสร้างภาพยนตร์และสารคดีของตนเอง เราก็ได้ผลักดันขอบเขตในด้านความหลากหลายเรื่อยมา จนกระทั่งมีผลงานเรื่องแรกกับนักสร้างสรรค์มากความสามารถจากกลุ่มคนที่มักไม่ได้รับการนำเสนอบนหน้าจอเท่าที่ควร ไม่ว่าจะเป็น ลาเวิร์น ค็อกซ์  เรเชล มอร์ริสัน  แยนซี ฟอร์ด หรือดี รีส นอกจากนี้ ผลงานของ Netflix อย่าง Dear White People (ถึงคนขาวที่รัก), When They See Us (สายตาแห่งอคติ), Atypical (เอทิปปิคอล), Master of None (มาสเตอร์ ออฟ นัน) และ Nanette (แด่แนเน็ตต์) ล้วนเป็นเรื่องราวที่เข้าถึงอารมณ์ความรู้สึกของกลุ่มผู้ชมที่มักไม่ค่อยได้เห็นเรื่องราวของตนเองบนหน้าจอทีวีเท่าไรนัก จากทั้งหมดนี้ เราคิดว่าเราได้ช่วยเสริมสร้างให้เกิดความเท่าเทียมอย่างกว้างขวางขึ้น… แต่เราก็ยังหันมาย้อนถามตัวเองว่าที่เราทำไป ทำให้เกิดความเท่าเทียมและหลากหลายขึ้นจริงไหม และที่เราทำมันพอแล้วหรือยัง

 

เพื่อตอบคำถามนี้ เราจึงเชิญ ดร. สเตซี่ แอล สมิธ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการโครงการ USC Annenberg Inclusion Intiative ให้มาศึกษาและวิเคราะห์ผลงานภาพยนตร์และซีรีส์ของเราที่สร้างโดยทีมงานในสหรัฐอเมริกา ตลอดระยะเวลา 2 ปี จากปี 2018 ถึง 2019 โดย ดร. สมิธและทีมของเธอต่างเป็นที่รู้จักในด้านนี้อยู่แล้ว จากผลงานอย่างการจัดทำรายงานความไม่เสมอภาคในภาพยนตร์ยอดนิยม (Inequality in Popular Films) ซึ่งได้สำรวจการนำเสนอเรื่องราวและตัวละครทั้งในด้านเพศ ชาติพันธุ์ กลุ่ม LGBTQ+ และผู้พิการ บนหน้าจอต่าง ๆ ทั่ววงการบันเทิง

รายงานวิจัยโดย USC Annenberg ที่เริ่มเผยแพร่ในวันนี้ เป็นบทวิเคราะห์ถึงการเลือกผู้สร้างรายการ โปรดิวเซอร์ นักเขียน และผู้กำกับของ Netflix (สามารถอ่านบทสรุปและของรายงานได้ที่นี่ และอ่านรายงานฉบับเต็มได้ที่นี่) เราได้เผยแพร่รายงานนี้เพื่อให้เกิดความโปร่งใส เพราะหากไม่มีข้อมูลประเภทนี้อยู่ในมือ ก็คงยากที่จะประเมินได้ว่าเราช่วยให้สถานการณ์ด้านความเท่าเทียมดีขึ้นจริงหรือไม่  และรายงานนี้ก็แสดงให้เห็นว่า แม้ Netflix จะเสริมสร้างความหลากหลายและเท่าเทียมให้มากขึ้นได้ในระดับปีต่อปี แต่เราก็ยังต้องพัฒนาอีกมากเช่นกัน

จากตัวบ่งชี้ด้านความเท่าเทียมในภาพยนตร์และซีรีส์ทั้ง 22 ปัจจัย เราพบว่ามี 19 ปัจจัยที่พัฒนาขึ้นจากปีก่อนหน้า โดยเรามีอัตราการเลือกผู้กำกับภาพยนตร์ที่เป็นผู้หญิงและผู้หญิงผิวสี และการสร้างซีรีส์ที่นำโดยผู้สร้างที่เป็นผู้หญิง สูงกว่าค่าเฉลี่ยของวงการบันเทิง ขณะที่ในด้านการแสดง เราก็ประสบความสำเร็จในด้านความเท่าเทียมกันทางเพศ ด้วยอัตราส่วนบทนำในภาพยนตร์และซีรีส์ต่าง ๆ ที่สมดุลกัน นอกจากนี้ เรายังเพิ่มอัตราส่วนนักแสดงนำและนักแสดงสมทบผิวดำให้สูงกว่ามาตรฐานได้ตลอดระยะเวลา 2 ปีที่ทำการวิเคราะห์นี้ แต่ในขณะเดียวกัน เราก็พบว่าไม่ใช่ทุกกลุ่มชาติพันธ์ุที่ได้รับการนำเสนอเพิ่มขึ้น โดยหากเทียบกับจำนวนประชากรของสหรัฐอเมริกา เรายังคงขาดการนำเสนอคอนเทนต์สำหรับชาวละตินอเมริกัน ตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ อเมริกันอินเดียน ชนพื้นเมืองของอลาสก้า และกลุ่มคนพื้นเมืองของฮาวายและหมู่เกาะในแถบแปซิฟิก และแน่นอนว่าเรายังต้องเพิ่มการนำเสนอและสะท้อนตัวตนของกลุ่ม LGBTQ และผู้พิการเช่นกัน

ชมวิดีโอสรุปรายงานวิจัย โดย ดร. สเตซี่ สมิธ ได้ที่นี่

การศึกษาและวิจัยเป็นเวลาหลายปีโดย ดร. สมิธ รวมถึงผลการวิจัยล่าสุดนี้ด้วย ล้วนยืนยันอย่างชัดเจนว่าการสร้างความเท่าเทียมกันในโลกเบื้องหลังของวงการบันเทิง จะสะท้อนให้เกิดความเท่าเทียมมากขึ้น
อย่างกว้างขวางในผลงานที่ผู้ชมได้สัมผัส และการเปิดกว้างทั้งในส่วนเบื้องหน้าและเบื้องหลังนี้ ยังขึ้นอยู่กับความหลากหลายและเท่าเทียมของผู้บริหาร Netflix ที่รับผิดชอบการสร้างสรรค์เรื่องราวเหล่านี้ด้วย เมื่อไม่นานมานี้ เราได้เผยแพร่รายงานความเท่าเทียมของพนักงาน Netflix เป็นครั้งแรก และจากประสบการณ์ตลอดหลายปีที่ผ่านมา  เราพบว่าการขับเคลื่อนให้เกิดความเปลี่ยนแปลงที่แท้จริงนั้น จะเกิดขึ้นได้ก็ด้วยการมี “มุมมองที่ไม่แบ่งแยก” ซึ่งหมายความว่าเราต้องตั้งคำถามอย่าง “เรายังขาดเสียงของคนกลุ่มไหน?” “การเล่าเรื่องแบบนี้เหมาะสมแล้วหรือไม่?” หรือ “เรากำลังกีดกันใครออกไปอยู่หรือไม่?” ให้มากขึ้น มุมมองแบบนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงถึงสมาชิกองค์กรในทุกระดับ รวมไปถึงเรื่องราวที่ออกไปสู่สายตาผู้ชมด้วย

การยกระดับในด้านความเท่าเทียมจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเราเปิดให้คนที่ยังเป็นกลุ่มน้อยในวงการนี้ได้มีโอกาสแสดงออกและส่งเสียงให้มากขึ้น รวมไปถึงลดช่องว่างทางทักษะและความสามารถด้วยโปรแกรมการเรียนรู้ที่ตรงตามความต้องการ และในวันนี้เรามีความยินดีและตื่นเต้นที่จะประกาศการจัดตั้งกองทุน Netflix เพื่อโอกาสแห่งการสร้างสรรค์ โดยเราจะลงทุนเป็นมูลค่า 100 ล้านเหรียญสหรัฐตลอดช่วง 5 ปีข้างหน้านี้ เพื่อสนับสนุนองค์กรอิสระที่มีความเชี่ยวชาญในการเล่าเรื่องของกลุ่มคนที่ไม่ได้รับการนำเสนออย่างเท่าเทียมในอุตสาหกรรมโทรทัศน์และภาพยนตร์ รวมไปถึงโครงการที่จะช่วยค้นหา ฝึกฝน และมอบโอกาสในการทำงานให้กับผู้ที่มีความสามารถทั่วโลก

ชมวิดีโอประกาศจัดตั้งกองทุน Netflix เพื่อโอกาสแห่งการสร้างสรรค์ได้ที่นี่

กองทุนนี้จะสานต่อโครงการที่เราลงทุนไปก่อนหน้าในการเสาะหาและฝึกฝนคนรุ่นใหม่ที่เปี่ยมไปด้วยความสามารถ อย่างที่เราได้ร่วมมือกับ Ghetto Film School โครงการ Project Involve โดย Film Independent, Firelight Media และ Black Public Media ในการบ่มเพาะนักเล่าเรื่องผิวดำ รวมไปถึงการสนับสนุนโครงการ Latinx Inclusion Fellowship Series จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติ Los Angeles Latino ที่มุ่งเสริมทักษะให้กับผู้กำกับเชื้อสายแอฟริกัน – ลาตินอเมริกัน และนอกจากในสหรัฐอเมริกาแล้ว ในประเทศญี่ปุ่น เรายังมีการส่งเสริมนักสร้างสรรค์อนิเมะรุ่นใหม่ด้วยการจัดโครงการฝึกสอนร่วมกับ WIT Studio ส่วนในแคนาดา เรายังได้จัดตั้งโครงการบ่มเพาะนักสร้างสรรค์ร่วมกับ imagineNATIVE เพื่อสนับสนุนผู้กำกับ โปรดิวเซอร์ และนักเขียนบทจากกลุ่มคนพื้นเมือง อย่างเช่นในกรณีของไคลีย์ เมย์ และในขณะนี้ เรายังนำผลงานซีรีส์ของเราอย่าง Top Boy ในสหราชอาณาจักร และ 3% ในบราซิล มาเป็นพื้นฐานของโครงการเพื่อการฝึกสอนบุคลากร ผ่านทางการเชิญชวนผู้กำกับรุ่นใหม่จากหลากหลายภูมิหลังให้มาร่วมติดตามเรียนรู้กระบวนการถ่ายทำอย่างใกล้ชิดถึงที่กองถ่ายด้วย

อับราฮัม อาเดเยมี ผู้เข้าร่วมโครงการฝึกสอนผู้กำกับ

“หลังจากที่ได้กำกับภาพยนตร์สั้นเรื่องแรก ผมก็วางเป้าหมายว่าอยากก้าวต่อไปเป็นผู้ช่วยผู้กำกับ หรือเป็นผู้กำกับกล้อง 2 ก่อนที่จะลงมือกำกับทีวีซีรีส์สักตอน หรือสร้างภาพยนตร์ของตัวเองต่อไป ประสบการณ์ของผมกับซีรีส์ Top Boy นับว่าตอบทุกโจทย์เลย โดยในช่วงแรก ผมก็ไม่คิดว่าจะต้องเริ่มต้นสัปดาห์แรกของการถ่ายทำด้วยงานยากระดับที่ต้องถ่ายทำฉากหนึ่งด้วยตัวเอง แต่ผมก็สามารถฝ่าฟันความท้าทายนี้ไปได้ และภูมิใจที่ได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่นี้ด้วย ผมต้องขอขอบคุณทุกคนที่เปิดประสบการณ์ใหม่นี้ให้กับผม และผมก็ตื่นเต้นมากที่จะได้ก้าวเดินต่อไปด้วยความมั่นใจว่าผมสามารถเป็นผู้กำกับที่สร้างสรรค์ผลงานของตัวเองได้ในอนาคต”

อับราฮัม อาเดเยมี ผู้เข้าร่วมโครงการฝึกสอนผู้กำกับในซีรีส์ “Top Boy” ซึ่งมุ่งแก้ไขปัญหาด้านความหลากหลายในวงการผู้กำกับของสหราชอาณาจักร

เราจะยังคงทำงานกับ ดร. สมิธ และ USC ต่อไป และจะจัดทำรายงานนี้ขึ้นทุกสองปี นับจากนี้ไปจนถึงปี 2026 ทาง ดร. สมิธ บอกกับผมว่าเธอเองยังไม่เคยเจอรายงานวิจัยเชิงปริมาณฉบับไหนที่มีความละเอียดอ่อนในระดับนี้เลย และถึงกับยกให้รายงานฉบับนี้เป็นมาตรฐานใหม่ของวงการ ซึ่งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการหันมาพิจารณาตนเอง ในฐานะก้าวแรกบนเส้นทางสู่ความเท่าเทียม นอกจากนี้ เรายังมีความสนใจที่จะทำการวิจัยในรูปแบบนี้ในประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก โดยหวังว่าเราจะสามารถสร้างมาตรฐานใหม่ให้กับทั้งตัวเราเองและอุตสาหกรรมบันเทิงในภาพรวม

แพริส บาร์เคลย์ โปรดิวเซอร์ผู้ได้รับรางวัลเอ็มมี่ ผู้กำกับ และที่ปรึกษาในกิจกรรมเวิร์กช็อปภายใต้โครงการฝึกสอนผู้กำกับ

“โครงการฝึกสอนผู้กำกับออริจินัลซีรีส์ของ Netflix ซึ่งกำลังดำเนินการอยู่ในระยะนำร่องในขณะนี้ มีเป้าหมายที่จะก้าวขึ้นมาเป็นโครงการชั้นนำของวงการในด้านนี้ Netflix เองมีแนวทางในการทำงานแบบทุ่มเทเกินร้อยอยู่แล้ว และโครงการนี้ก็จะเป็นไปในแนวทางเดียวกัน เราต้องการฝีกสอน พัฒนา และเตรียมความพร้อมให้กับกลุ่มผู้กำกับหน้าใหม่ที่มีความหลากหลายได้มีโอกาสทำงานกำกับซีรีส์ โดยพวกเขาจะได้เรียนรู้จากผู้กำกับ นักเขียน โปรดิวเซอร์ และบุคลากรชั้นนำมากมาย ด้วยบทเรียนที่ครอบคลุมถึงเคล็ดลับที่หลักสูตรด้านภาพยนตร์ทั่วไปไม่สอนกัน และที่พิเศษสุดก็คือผู้ที่เข้าร่วมโครงการจะมีโอกาสได้ทำงานจริง กำกับจริง กับผลงานซีรีส์ของ Netflix ด้วย”

แพริส บาร์เคลย์ โปรดิวเซอร์ผู้ได้รับรางวัลเอ็มมี่ ผู้กำกับ และที่ปรึกษาในกิจกรรมเวิร์กช็อปภายใต้โครงการฝึกสอนผู้กำกับ

หากมองในภาพรวมแล้ว เราหวังว่าความพยายามทั้งหมดของเรานี้จะช่วยให้ความเปลี่ยนแปลงที่ ดร. สมิธอยากเห็นมานานในด้านการสร้างความเท่าเทียมและเปิดกว้างในระยะยาวให้กับวงการบันเทิง ขยับเข้าใกล้ความเป็นจริงได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ในวันนี้ เรายังอยู่ในขั้นแรกเริ่มของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสื่อสารและบอกเล่าเรื่องราวให้กับผู้ชมได้สัมผัส ด้วยความจริงที่ว่าเรื่องราวดี ๆ อาจมาได้จากทุกที่และทุกคน ไม่ว่าเจ้าของเรื่องนั้นจะเป็นใคร และก็อาจชนะใจผู้ชมได้ทุกหนแห่งด้วยเช่นกัน เราหวังว่าการที่เราพยายามทำความเข้าใจและประเมินตัวเราเองให้มากขึ้นจะช่วยกระตุ้นให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางกว่าที่เคย ไม่ใช่แค่ที่ Netflix เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอุตสาหกรรมของเราอีกด้วย

เท็ด ซารานโดส

 


แชร์ :

You may also like