ท่ามกลางตัวเลือกแบรนด์เสื้อผ้าแฟชั่นที่มีมากมาย และดีไซน์เนอร์หน้าใหม่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่เชื่อว่าคำตอบในใจหลายคน โดยเฉพาะสาวๆ แฟชั่นนิสต้า คงต้องมีแบรนด์เสื้อผ้าผู้หญิงอย่าง Shaka (ชากะ) อยู่ในนั้นอย่างแน่นอน เพราะด้วยคาแรคเตอร์แบรนด์ที่มีเอกลักษณ์ในเรื่องการออกแบบที่แตกต่างแบบมีสไตล์ บวกกับความประณีตในการตัดเย็บที่ไม่เหมือนใครและยังแฝงกลิ่นอายของญี่ปุ่น จึงทำให้ Shaka กลายเป็นแบรนด์ที่โด่งดังและครองใจเหล่าสาวๆ มาจนถึงทุกวันนี้
แต่หลายคนคงไม่รู้ว่า เบื้องหลังการพัฒนาแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทยที่มีชื่อเหมือนญี่ปุ่นนี้ มาจากสาวไทยที่มี passion และประสบการณ์ในการทำเสื้อผ้า จึงสร้างแบรนด์ของตัวเองเมื่อ 20 ปีที่แล้ว
Brand Buffet พามาคุยกับ คุณลลิษณัลล์ ขะมาลา กรรมการผู้จัดการ บริษัท วาย.เอ็ม.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทย) จำกัด สาวไทยผู้หลงใหลในแฟชั่น กับการเดินทางของแบรนด์ Shaka พร้อมๆ กับการสร้างตัวตนตลอด 21 ปี ให้ยังคงเสน่ห์มัดใจสาวๆ แบบยั่งยืน
จาก Passion นำพาสู่เส้นทางแฟชั่น
หากย้อนกลับไปสัก 30 ปีที่แล้ว ในยุคที่แบรนด์แฟชั่นไทยยังค่อนข้างเป็นเรื่องไกลตัวในบ้านเรา ส่วนใหญ่จะมีก็แต่แบรนด์แฟชั่นจากฝั่งตะวันตก เหตุผลส่วนหนึ่งน่าจะมาจากพฤติกรรมการแต่งตัวของคนสมัยนั้น ที่นิยมตัดเสื้อผ้าสวมใส่เอง อีกทั้งความหลากหลายของเสื้อผ้ายังมีให้เลือกน้อย แถมไอเดียเกี่ยวกับแฟชั่นก็ยังมีไม่มากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน จึงส่งผลให้แบรนด์แฟชั่นไทยในช่วงนั้นไม่ได้แพร่หลาย
แต่สำหรับคุณลลิษณัลล์กลับเห็นโอกาส เมื่อผนวกกับความชอบในเรื่องเสื้อผ้าเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บวกกับประสบการณ์ที่ร่วมงานกับ “คุณวาตานาเบ้” ผู้ผลิตเสื้อผ้าญี่ปุ่นแบรนด์ดัง YaccoMaricard (ยัคโกะมาริคาร์ด) ทำให้ได้เห็นแพทเทิร์น และขั้นตอนการทำงานที่ละเอียด ก็ยิ่งหลงใหลกลิ่นอายความเนี๊ยบของเสื้อผ้าญี่ปุ่น จึงตัดสินใจร่วมกับคุณมาริโกะ วาตานาเบ้ก่อตั้งบริษัท วาย.เอ็ม.เอฟ.อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทย) จำกัด เพื่อพัฒนาและผลิตแบรนด์เสื้อผ้า YaccoMaricard โดยส่งออกไปที่ญี่ปุ่นในช่วงแรก หลังจากนั้นเกือบ8ปี จึงเริ่มทำ retail ในเมืองไทย
10 ปีต่อมา หลังสั่งสมประสบการณ์ในตลาดแฟชั่น จนเชี่ยวชาญ และรู้ลึกในสิ่งที่เกี่ยวข้อง เธอก็เริ่มอยากมีแบรนด์ของตัวเอง กอปรกับตอนนั้นสไตล์ของ YaccoMaricard ค่อนข้างเป็นผู้ใหญ่ โดยเน้นจับกลุ่ม Mature adult เธอจึงมองว่าน่าจะมีแบรนด์เสื้อผ้าที่ดูเด็กลง ซึ่งประจวบกับลูกสาวของ คุณ วาตานาเบ้ เรียนจบด้านแฟชั่น ดีไซน์จากประเทศอังกฤษ เธอกับลูกสาวของพาร์ตเนอร์ชาวญี่ปุ่นจึงร่วมกันสร้างแบรนด์ Shaka แห่งแรกในไทยขึ้นมาในปี 2000 ณ ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
“Shaka เป็นภาษาญี่ปุ่น มาจากคำว่า โอชากะซามะ หมายถึงพระพุทธเจ้า เพราะเราต้องการคำสั้นๆ จำง่าย และมีความน่ารัก แต่เมื่อนำมาใช้กับแบรนด์เสื้อผ้า Shaka จึงเป็นแบรนด์ที่สื่อถึง Cleverly Cute หรือเป็นความน่ารักและสมาร์ท”
คุณลลิษณัลล์ บอกถึง Brand DNA ของชากะ ซึ่งมีคำจำกัดความดังนี้ Sensual (มีสเน่ห์ดึงดูด น่าค้นหา), Contemporary (ร่วมสมัย), Smart and Intelligent (ฉลาด มีไหวพริบ) เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของสาวชากะยุคใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป พร้อมบอกด้วยว่า การมีพาร์ทเนอร์เป็นชาวญี่ปุ่น นอกจากจะทำให้เสื้อผ้าของ Shaka มีกลิ่นอายญี่ปุ่นแตกต่างจากแบรนด์ไทยทั่วไปแล้ว ยังทำให้ได้เรียนรู้เทคนิคและวิธีการตัดเย็บด้านแฟชั่นที่ประณีต ซึ่งมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวยากที่จะลอกเลียนแบบกันได้ โดยเฉพาะเทคนิคการตีเกล็ด และการใช้เนื้อผ้าที่มีคาแรคเตอร์มาผสมผสานกันอย่างลงตัว จนกลายเป็นจุดแข็งของแบรนด์ที่ทำให้ Shaka ถูกใจสาวๆ แฟชั่นนิสต้าเมื่อเปิดตัวครั้งแรกในไทย และกลายเป็น Shaka Lover มาจนถึงทุกวันนี้
“กลุ่มลูกค้าของ Shaka ในช่วงแรกๆ จะเป็นลูกสาวของคุณแม่ที่ซื้อ YaccoMaricard โดยเป็นคนรุ่นใหม่อายุราว 22-34 ปี มีความเป็นตัวของตัวเอง ต้องการความแตกต่าง”
3 คัมภีร์ มัดใจสาว Shaka อยู่หมัด
หลังจากเปิดสาขาแรกไปได้ไม่นาน Shaka ก็ลุยขยายสาขาที่ 2 ต่อเนื่องที่หลังสวนทันที จนปัจจุบันมีทั้งหมด 4 สาขา ได้แก่ สยามเซ็นเตอร์ (SIAM CENTER 1st Floor) เอท ทองหล่อ (EIGHT THONGLOR 1st Floor) เดอะ พรอมมานาด (THE PROMENADE 1st Floor) และไอคอนสยาม (ICONSIAM 1st Floor) แถมยังขยายฐานสาวชากะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีแบรนด์แฟชั่นไทยเกิดขึ้นอย่างแพร่หลาย และเป็นตัวเลือกมากขึ้นในปัจจุบัน โดยอาวุธลับสำคัญที่ทำให้ Shaka ยังคงมีเสน่ห์มัดใจแฟชั่นนิสต้ามาอย่างต่อเนื่องจนก้าวเข้าสู่ปีที่21 คุณลลิษณัลล์ มองว่า มาจาก 3 ปัจจัย
1. การยึดมั่นในคุณภาพ ใส่ใจทุกรายละเอียด
แม้ว่าจะได้พาร์ตเนอร์เป็นชาวญี่ปุ่น ซึ่งขึ้นชื่อในเรื่องคุณภาพ แต่การจะทำเสื้อผ้าให้มีคุณภาพดีตลอด 20 ปี ต้องใส่ใจในทุกรายละเอียด ตั้งแต่การออกแบบอย่างพิถีพิถันจากดีไซเนอร์ไทย การเลือกผ้าที่มีคุณภาพทั้งจากญี่ปุ่นและในไทย ที่ให้ผิวสัมผัสพิเศษ กระบวนการผลิตและการตัดเย็บที่ประณีตจากฝีมือช่างไทย นั่นจึงทำให้เสื้อผ้าของ Shaka มีคุณภาพ แตกต่างจากแบรนด์ทั่วไป
2. คาแรกเตอร์แบรนด์ที่บอกความเป็นตัวตนชัดเจน
ถึงจะเป็นแบรนด์แฟชั่นไทย แต่คาแรคเตอร์แบรนด์ Shaka มีความชัดเจนมาก เพียงแค่เห็นก็รู้ได้เลยว่า เป็นผลงานของแบรนด์ ไม่ว่าจะเป็นแพตเทิร์น การตัดเย็บ และการดีไซน์ที่สะท้อนตัวตนของสาวชากะที่มีสไตล์เป็นตัวของตัวเองอย่างเด่นชัด ไม่ยึดติดในเทรนด์ทั้งหมด ที่ต้องใส่เหมือนๆ กัน ซึ่งในการออกแบบแต่ละคอลเลคชั่น คุณลลิษณัลล์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่จะนำไลฟ์สไตล์ความต้องการของพวกเราและลูกค้ามาพัฒนาสร้างสรรค์ ผสานกับเทรนด์สีและเทคนิคการตัดเย็บที่เป็นเอกลักษณ์แบบชากะ เมื่อผนวกกับการออกแบบเสื้อผ้าให้สวมใส่ได้หลากหลายโอกาส ก็ทำให้สาวๆ ชากะขยายตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
3. การรู้จักปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป
แม้จะมีคาแรคเตอร์ที่ชัดเจน แต่คุณลลิษณัลล์ยอมรับว่า เมื่อโลกเปลี่ยน พฤติกรรมการสวมใส่เสื้อผ้าของผู้บริโภคก็ปรับเปลี่ยนไป Shaka เองก็ปรับตัวเองให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่เช่นกัน โดยนอกจากแบรนด์ Shaka แล้ว ยังมีการแตกแบรนด์ย่อยออกมาอีก 2 แบรนด์คือ Shaka Leisure และ Shaka SAKU
โดย Shaka Leisure จะเป็นแบรนด์เสื้อผ้าสไตล์แคชชวลสำหรับสาวชากะในวันสบายๆ เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของคนยุคนี้ที่นิยมแต่งตัวสบายๆ มากขึ้น โดยดีไซน์เน้นความเรียบง่าย และยังคงกลิ่นอายความเป็นญี่ปุ่น ส่วน Shaka SAKU เป็นงาน เซมิ-กูตูร์สำหรับใส่ออกงาน โดยเน้นความประณีตและมีงานคราฟท์ ที่สวยงามบนตัวงาน
พร้อมๆ กับการขยายช่องทางออนไลน์อย่างจริงจังมากขึ้น มีการพัฒนาเว็บไซต์ โซเชียลมีเดีย และร่วมกับ Marketplaces บนลาซาด้า และได้ทำ Exclusive Collection ซึ่งนอกจากการเป็นช่องทางขายให้เข้าถึงลูกค้ามากขึ้นแล้ว ยังเป็นช่องทางสื่อสารและ Educate ให้ลูกค้ารู้จักตัวตนความเป็นชากะมากขึ้นด้วย
“เราไม่ได้มองแยกว่าเป็นออฟไลน์หรือออนไลน์ เราพัฒนาทุกช่องทางให้ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด ในส่วนของช่องทางออนไลน์สามารถตอบโจทย์ลูกค้ากลุ่มใหม่ๆ โดยเฉพาะลูกค้าที่อยู่ในพื้นที่ไกลจากสาขา และไม่สามารถมาช้อปในช่วงที่โควิดระบาด ขณะที่หน้าร้านก็มีความสำคัญเช่นเดิมเพราะหลายคนยังต้องการมารับประสบการณ์ที่สาขา ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัสและ ลองสวมใส่ชุด”
“ตัวตน” ใหม่ในวัย 21 ปีของ Shaka
แม้ว่าคุณภาพและการตัดเย็บจะเป็นจุดแข็งสำคัญของแบรนด์เสื้อผ้าสัญชาติไทย Shaka แต่คุณลลิษณัลล์ ยอมรับว่า วันนี้กำลังเจอกับความท้าทายอย่างมากจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป จากตัวเลือกที่มีมากขึ้น รวมถึงโลกแฟชั่นที่เปลี่ยนไป และการระบาดของโควิด-19 ทำให้ Shaka ต้องศึกษาพฤติกรรมลูกค้าตลอดเวลา เพื่อนำข้อมูลมาพัฒนาสินค้าและแบรนด์ให้ตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
“ปีที่ผ่านมา เรามีการทำ วิจัย Focus group กับลูกค้าชากะทั้งกลุ่มเดิมและกลุ่มใหม่ ทำให้เราเข้าใจลูกค้ามากขึ้น โดยเฉพาะสิ่งที่ลูกค้าเคยรักเราและตอนนี้ยังรักเรานั่นคือ คุณภาพ เพียงแต่วันนี้พฤติกรรมอาจเปลี่ยนไป เพราะโตขึ้น เสื้อผ้าหรือรูปร่างอาจจะไม่เหมือนเดิม ทำให้เราต้องพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์กลุ่มลูกค้ามากขึ้น”
พร้อมๆ กับการสื่อสารตัวตนของแบรนด์ ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น เพื่อให้แฟชั่นนิสต้า เข้าใจความเป็นชากะมากขึ้น โดยปีนี้ Shaka จึงหยิบเอกลักษณ์งานฝีมือที่โดดเด่น มาต่อยอดสร้างสรรค์เป็น 3 Identity ใหม่ และใช้สื่อสารผ่าน คอลเล็คชั่นสปริง/ซัมเมอร์ 2021 โดย 3 Identity ใหม่นี้ ประกอบด้วย
1. ICON TUCK เป็นแนวคิดที่มาจากการต่อยอดทักษะงานฝีมือของ YaccoMaricard ตลอด 30 ปี การสร้าง texture ผืนผ้าโดยการตีเกล็ด รีดแบนกึ่งกลางเกล็ด ให้เกิดเป็นแถบ Stripe นูนต่ำที่มีมิติ ขนาดต่างกันตามบอดี้ผู้หญิง แต่ละไอเทมส์ของicon tuck series นี้ มีความร่วมสมัย โชว์เอกลักษณ์ใหม่ของแบรนด์ Shaka ที่แสดงออกถึงความเข้มแข็ง และละเอียดอ่อนอย่างมีลูกเล่น ในแบบผู้หญิงชากะ
2. SHAKA S-CURVE การนำ Alphabet ตัว S ซึ่งสอดคล้องกับชื่อชากะมาสร้างดีไซน์ แพทเทิร์นเพื่อให้เห็นบอดี้ของสาวชากะเด่นชัดยิ่งขึ้น โดยจะนำเอาเส้นสายที่นุ่มนวลของตัว S มาใส่ในเทคนิคการตัดเย็บเพื่อเสริมบุคลิกสาวชากะให้ดูเพรียว และสง่างามมากยิ่งขึ้น
3. RECYCLE MATERIAL เมื่อพูดถึงความยั่งยืนในวงการแฟชั่น หลายคนมักนึกถึงการนำวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอนำกลับมาดีไซน์ใหม่ แต่สำหรับ Shaka ไม่ใช่แค่นั้น เพราะนิยามความยั่งยืนของชากะคือ การไม่เพิ่มภาระให้กับสิ่งแวดล้อม ดังนั้น ความยั่งยืนของชากะจึงเริ่มตั้งแต่ในส่วนของโรงงานที่มีระบบการบำบัดน้ำเสียเพื่อไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม การดูแลพนักงานให้ทำงานอย่างมีความสุข โดยมีการเปิด Nursery ให้พนักงานนำบุตรหลานมาฝากระหว่างทำงานได้ ทั้งยังมีการให้ องค์ความรู้ ในการตัดเย็บ รวมถึงการนำวัสดุ Recycle มาใช้ใหม่ โดยคอลเล็คชั่นนี้ Shaka ได้หยิบเอาพลาสติกที่ไม่ใช้แล้วมาทำให้เกิดรูปแบบใหม่ ทั้งกระดุมและหัวเข็มขัดในรูปทรงต่างๆ เพื่อใช้เป็นวัสดุในการตกแต่งเสื้อผ้าของ Shaka
คุณลลิษณัลล์ ยอมรับว่า การนำเอาผ้าหรือวัสดุเหลือใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอกลับมาดีไซน์ใหม่ให้น่าสนใจ ยังเป็นเรื่องท้าทาย เพราะไม่ใช่ทุกวัสดุจะนำมาใช้ได้ แต่ต้องสอดรับกับตัวตนของชากะด้วย รวมถึงกระบวนการผลิต และต้นทุนที่ไม่เหมือนเดิม ซึ่งต้องค่อยปรับและพัฒนากันไปเรื่อยๆ โดยในคอลเล็คชั่นใหม่ๆ จากนี้ไป เราก็จะได้เห็นตัวตนที่ยั่งยืนของชากะชัดเจนยิ่งขึ้น