ก่อนหน้าการเกิด COVID-19 ไลฟ์สไตล์ของผู้คนทั่วโลก โดยเฉพาะตามเมืองใหญ่ อยู่นอกบ้านมากกว่าอยู่บ้าน ทว่านับตั้งแต่การเกิดขึ้นของ COVID-19 เปลี่ยนวิถีชีวิตคนทั่วโลก ใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้บ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่ยังเป็นทั้งที่ทำงาน ที่เรียนหนังสือ เป็นที่พบปะกับเพื่อนๆ
ถึงแม้เวลานี้มีวัคซีน พร้อมทั้งคลาย Lockdown ต่างๆ แล้ว และคนออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านแล้ว แต่กลับพบว่าไลฟ์สไตล์เปลี่ยนไปแล้ว ไม่ได้กลับมาเป็นเหมือนก่อนเกิด COVID-19 แล้ว
– ลดการไปนั่งรับประทานอาหารที่ร้าน และใช้บริการ Delivery มากขึ้น
– ลดการไปในสถานที่มีคนหนาแน่น
– ช้อปปิ้งผ่านออนไลน์ แทนการไปซื้อที่ร้าน
– องค์กรปรับนโยบายการทำงาน เช่น บางองค์กร หลังจาก Work From Home มาได้สักพัก เมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดคลี่คลาย ได้ปรับเป็นรูปแบบ Hybrid คือ สลับกันเข้าออฟฟิศ เพื่อลดความหนาแน่นของคน, บางบริษัทใช้วิธียืดหยุ่น ให้พนักงานเลือกได้ว่าใครจะ Work From Home ใครจะเข้าออฟฟิศ
และเวลานี้เริ่มเห็นบางองค์กร – บางประเทศ ปรับลดวันทำงานเหลือ 4 วันต่อสัปดาห์ โดยไม่ลดค่าจ้าง เช่น ยูนิลีเวอร์ นิวซีแลนด์ ได้ทดลองการทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2020 – ธันวาคม 2021 เพื่อศึกษาประสิทธิภาพการทำงาน โดย Nick Bangs, Managing Director ของยูนิลีเวอร์ นิวซีแลนด์ บอกว่า วิธีการทำงานแบบเดิมล้าสมัยไปแล้ว และการวัดกันที่ผลลัพธ์ของงานที่ออกมา มากกว่าเวลาที่มาทำงาน
หรือในสเปน เริ่มทดลองทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์ อย่างรัฐบาลสเปน นำร่องทดลองทำงาน 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์เป็นเวลา 3 ปี และที่อังกฤษ มีคนแคมเปญรณรงค์ทำงาน 4 วันต่อสัปดาห์เช่นกัน (4-Day Week Campaign)
สิ่งที่ตามมาจากการที่คนอยู่บ้านมากขึ้น คือ เกิดระบบเศรษฐกิจที่เรียกว่า “Stay-at-Home Economy” หรือระบบเศรษฐกิจการใช้จ่าย และการบริโภคภายในบ้าน (In-home Consumption)
ทำให้แบรนด์ในกลุ่มธุรกิจต่างๆ หันมาพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์เทรนด์ Stay-at-Home Economy เพื่อรองรับ Demand การบริโภค และการใช้จ่ายภายในบ้าน
4 แนวทางแบรนด์ เพิ่มโอกาสธุรกิจรับเทรนด์ Stay-at-Home Economy
ในรายงาน The Next Big Trend: Stay-at-Home Economy วิจัยโดย Ryan Lin ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย, Ipsos ฉายภาพ 4 แนวทางที่ช่วยให้องค์กร หรือแบรนด์ปรับตัว ภายใต้แนวโน้ม Stay-at-Home Economy
1. แบรนด์ที่นำเสนอข้อมูลได้รวดเร็ว ถูกต้อง และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายบนช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์ จะช่วยเพิ่มโอกาสการขาย
วันนี้ช่องทางช้อปปิ้งออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นแพตฟอร์มไหน รูปแบบใด ได้กลายเป็นช่องทางจับจ่ายสำคัญของผู้บริโภคยุคนี้ไปแล้ว เพราะฉะนั้นนอกจากการจัดส่งที่รวดเร็ว และแม่นยำแล้ว แบรนด์ไหนที่ให้ข้อมูลที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่ชัดเจน และละเอียดครบถ้วน เพื่อให้ผู้บริโภคประกอบการพิจารณาเลือกซื้อนั้น จะยิ่งเพิ่มโอกาสให้แบรนด์นั้นๆ เป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับ
นอกจากนี้แบรนด์ควรสร้างการรับรู้ และสร้างประสบการณ์สินค้าผ่าน YouTuber และ Livestreamer ในช่องที่ตรงกับแบรนด์ และกลุ่มเป้าหมาย เนื่องจากคนกลุ่มนี้เป็น Influencer ที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค ดังนั้นการให้ YouTuber และ Livestreamer สื่อสารถึงประสบการณ์การใช้ผลิตภัณฑ์ จะทำให้เข้าถึงผู้บริโภคได้ง่ายขึ้น และมากขึ้น
ขณะเดียวกันปัจจุบันเป็นยุคของผู้บริโภคอย่างแท้จริง บทบาทของผู้บริโภค หรือผู้ใช้ตัวจริง จึงเปรียบเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดบนออนไลน์ก็ว่าได้ เพราะการบอกปากต่อปาก (Word of Mouth) บนออนไลน์ในกลุ่มผู้บริโภคด้วยกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการแสดงความคิดเห็นบน Social Media และรีวิวจากผู้ใช้จริง ยิ่งช่วยให้แบรนด์เข้าไปอยู่ในบทสนทนาของผู้บริโภคมากขึ้น
ความคิดเห็น และรีวิวจากผู้ใช้งาน จะปรากฏบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างๆ ไปตลอด เช่น บนแพลตฟอร์ม Search Engine และจะถูกค้นหาโดยผู้ใช้ที่ต้องการหาข้อมูลสินค้านั้นๆ
คำแนะนำแบรนด์:
เมื่อแบรนด์สื่อสาร และทำการตลาดบนออนไลน์มากขึ้น จำเป็นอย่างยิ่งต้องใช้เครื่องมือ “Social Listening”
– เพื่อแบรนด์ได้รับรู้ว่าผู้บริโภคมีความคิดเห็นเกี่ยวกับแบรนด์ หรือผลิตภัณฑ์ของตนเอง
– ใช้การวิเคราะห์คู่แข่ง
– ช่วยให้องค์กรมีข้อมูลสำคัญทางออนไลน์ รู้ว่าผู้บริโภคกลุ่มไหน เป็นผู้สนับสนุนแบรนด์ และกลุ่มไหนไม่ใช่ฐานแฟน
2. ออนไลน์ ผสานบริการหน้าร้าน ทำความเข้าใจ Path to Purchase ของผู้บริโภคได้ดีขึ้น
แน่นอนว่า Stay-at-Home Economy ทำให้การซื้อขายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์เพิ่มขึ้น และกลายเป็นโอกาสของแบรนด์ในการเข้าถึงผู้บริโภคได้ทุกที่ ทุกเวลา แต่ไม่ได้หมายความว่าแบรนด์จะหันไปโฟกัสออนไลน์อย่างเดียว เพราะถึงอย่างไร Physical Shop ยังคงมีบทบาทต่อการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภคไม่น้อย
โดยเฉพาะสินค้าที่มีราคาสูง, สินค้า Luxury และสินค้าที่ต้องมีประสบการณ์ได้ทดลองก่อนตัดสินใจซื้อ เช่น เครื่องเสียง, เฟอร์นิเจอร์ ที่ผู้บริโภคต้องการสัมผัสด้วยตัวเองก่อน ซึ่งโดยพฤติกรรมการซื้อสินค้า ผู้บริโภคไปที่ร้าน หรือโชว์รูม เพื่อทดลองสินค้าจริง หากได้รับประสบการณ์ที่ดี และตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้านั้นๆ แล้ว ผู้บริโภคบางคนก็ซื้อจากหน้าร้านเลย ขณะที่บางคน ต้องการราคาดีที่สุด ก็จะกลับไปค้นหาร้านค้าออนไลน์ ที่ให้ราคาดีสุด
จะเห็นได้ว่าปัจจุบัน Path to Purchase หรือกระบวนการก่อนตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค มีความสลับซับซ้อน และแต่ละคนแตกต่างกัน
คำแนะนำแบรนด์:
– ทำความเข้าใจผู้บริโภคได้ดีขึ้น แบรนด์ควรผสานการให้บริการทั้งหน้าร้าน กับช่องทางออนไลน์เข้าด้วยกัน
– นำเสนอโปรโมชั่น หรือสิทธิประโยชน์ที่ดึงดูดความสนใจลูกค้า เช่น นำเสนอส่วนลด, ระยะเวลาการรับประกันนานขึ้น, บริการหลังการขายระดับพรีเมีมยม ให้กับลูกค้าที่ไปที่โชว์รูม หรือหน้าร้าน และมาซื้อสินค้าแบรนด์เราจากออนไลน์
– ควบคู่กับการทำวิจัยการตลาด เพื่อช่วยให้แบรนด์เข้าใจ Path to Purchase ของผู้บริโภคได้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การวางแผนกลยุทธ์การขายทั้งหน้าร้าน และออนไลน์อยู่บนความเข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค
3. ได้เวลาความบันเทิงภายในบ้าน
จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ต้องระมัดระวังการใช้จ่าย ทำให้เวลานี้ผู้บริโภคเลือกใช้ชีวิตอยู่กับบ้าน มากกว่าออกไปข้างนอก เพื่อประหยัดเงิน
เมื่ออยู่บ้านมากขึ้น ทำให้ผู้คนแสวงหาความบันเทิงภายในบ้านมากขึ้น (Home Entertainment) เช่น สมัครบริการแพลตฟอร์ม Video Streaming, ทีวีจอใหญ่, เครื่องเล่นเกม, สั่งซื้อหนังสือจากออนไลน์
สิ่งที่ตามมาคือ ในขณะที่ผู้บริโภคลดการใช้จ่ายนอกบ้าน แต่ให้ความสำคัญกับการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า และเครื่องใช้ต่างๆ ภายในบ้านที่มีคุณภาพและฟังก์ชั่นสูงขึ้น เช่น ซื้อทีวีจอใหญ่ขึ้น เพื่อให้ได้คุณภาพทั้งภาพและเสียง, ลำโพงพรีเมียม เพื่อให้ได้คุณภาพเสียง ดีๆ, ลงทุนซื้อคอมพิวเตอร์ สเปคสูงขึ้น
คำแนะนำแบรนด์:
– ใช้ Live Streaming ซึ่งเป็นเทรนด์ได้รับความนิยมอย่างมาก เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มป้าหมายโดยตรง เนื่องจากปัจจุบัน Live Streaming กลายเป็นความบันเทิงรูปแบบหนึ่งของการซื้อขายผ่านออนไลน์ (Shoppertainment) ไปแล้ว
เพราะคนที่ทำ Live Streaming หรือที่เรียกว่า Streamer มีลีลาการพูดคุย และการนำเสนอสินค้าที่สนุก, Real-time และ Connect กับผู้ชม ดังนั้นแบรนด์ควรใช้อิทธิพลของ Streamer ยอดนิยม เพื่อเข้าหาผู้บริโภคโดยตรง สร้าง Brand Awareness พร้อมกับปิดการขายได้เร็ว
– ในแต่ละวันผู้บริโภคถูก Bombard ด้วยโฆษณาออนไลน์ที่สามารถเข้าถึงได้ทุกที่ ทุกเวลา ไม่เว้นแม้แต่บ้าน ที่บางคนอยู่กับบ้านมากขึ้น แต่ใช้เวลากับโทรศัพท์มือถือนานขึ้นกว่าเดิม ดังนั้นแบรนด์ควรครีเอทโฆษณาที่ไม่ก่อความรำคาญให้กับผู้บริโภค และต้องสามารถดึงความสนใจ
เช่น โฆษณาบน Social Media ต้องสามารถกระชากความสนใจของ Audience ได้ในระยะเวลาอันสั้น, ทำโฆษณา Interactive Ads เพื่อดึงให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับโฆษณา หรือโฆษณาแบบให้รางวัล และใช้ประโยชน์ของ Data กับการวิเคราะห์ เพื่อยิงโฆษณาให้ตรงกลุ่มเป้าหมาย
4. ประยุกต์ใช้ AR – VR สร้างประสบการณ์ช้อปปิ้ง
ปัจจุบันเทคโนโลยี AR (Augmented Reality) และ VR (Virtual Reality) เพื่อสร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับลูกค้า ถูกนำไปใช้อย่างแพร่หลายในหลายอุตสาหกรรม ทั้ง B2B, บริการทางการแพทย์, ก่อสร้าง, ที่อยู่อาศัย, การทหาร, การศึกษา รวมถึงอุตสาหกรรมความบันเทิง เช่น เกม, ภาพยนตร์ และ Live Broadcasting
จากผลสำรวจ Goldman Sachs Global Investment Research ฉายภาพตลาด AR และ VR จะมีมูลค่าตลาดเพิ่มขึ้น 35,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2025
คำแนะนำแบรนด์:
– ในอีกไม่นานนี้ อุปกรณ์ VR จะเข้าไปอยู่ในครัวเรือนมากขึ้น และกลายเป็นอุปกรณ์ประจำบ้านที่ผู้บริโภคใช้สร้างประสบการณ์การซื้อสินค้า และบริการได้จากบ้านของผู้บริโภคเอง
แบรนด์ไม่ควรมองข้ามเทคโนโลยีดังกล่าว แต่ควรศึกษา และพิจารณาถึงความเหมาะสมในการนำปรับใช้ เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การนำเสนอประสบการณ์สินค้าและบริการ
จาก 4 แนวทาง และคำแนะนำแบรนด์ทำการตลาดรับเทรนด์ “Stay-at-Home Economy” คราวนี้มาดูแบรนด์ที่พัฒนาโปรดักต์ และบริการที่ตอบโจทย์การบริโภค และการใช้จ่ายภายในบ้าน
“โออิชิ” จากร้านอาหารญี่ปุ่นสู่ “ซอสปรุงรสญี่ปุ่น” เจาะเข้าครัวเรือนไทย
ภายใต้ Brand Essence ของ “โออิชิ กรุ๊ป” (Oishi Group) คือ อาหารญี่ปุ่น ที่ครอบคลุมทั้งกลุ่มธุรกิจร้านอาหาร, กลุ่มธุรกิจเครื่องดื่ม และกลุ่มธุรกิจ Packaged Food อาหารพร้อมรับประทาน (Ready to Eat) เช่น แซนวิช, เกี๊ยวซ่า, Ready Meal ตอบโจทย์ความสะดวก และรวดเร็วเป็นหลัก
แต่จากสถานการณ์ COVID-19 ที่ส่งผลต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน สร้างความเปลี่ยนแปลงกับพฤติกรรมการบริโภค จากเดิมที่คนใช้ชีวิตอยู่นอกบ้าน ก็ปรับมาใช้ชีวิตอยู่กับบ้านมากขึ้น ทำให้คนใช้บริการ Food Delivery หรือทำอาหารเองที่บ้าน
ด้วยเหตุนี้เอง จากที่ผ่านมาโอกาสธุรกิจของโออิชิ อยู่กับไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตนอกบ้านเป็นหลัก ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร, สินค้าอาหารสำเร็จรูป หรือแม้แต่เครื่องดื่มที่ตอบโจทย์ Refreshing ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์ ขยายพอร์ตโฟลิโอมาจับตลาด In-home Consumption
โดยอออกผลิตภัณฑ์เครื่องปรุงรส พร้อมเปิดตัวน้ำจิ้ม และซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่นตราโออิชิ หรือ ซอสโออิชิ ประเดิม 3 สูตรแรกคือ น้ำจิ้มสุกี้ยากี้ ซอสเทอริยากิ และ ซอสโชยุ ตอบโจทย์นักกิน และคนรักการทำอาหารกินเองที่บ้าน
“ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และการปิดเมือง กระทั่งการแพร่ระบาดระลอกใหม่นี้ เป็นปัจจัยสำคัญที่เกี่ยวข้องและส่งผลให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เห็นได้ชัดเจนคือ นิสัยการกิน – ดื่ม หรืออาจกล่าวได้ว่า ผู้บริโภครับประทานอาหารนอกบ้านน้อยลง และส่วนใหญ่พอมีเวลาว่าง จึงสนใจหันมาเข้าครัวเตรียมอาหารและปรุงอาหารรับประทานเองที่บ้านบ่อยขึ้น
โดยเทรนด์ดังกล่าวส่งผลต่อเนื่องถึงสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการทำอาหาร อีกทั้งยังสอดคล้องกับตลาดเครื่องปรุงรสในประเทศไทยที่มีแนวโน้มเติบโตในระยะยาว ด้วยโอกาสทางการตลาดที่เปิดกว้าง โออิชิในฐานะที่คร่ำหวอดในวงการธุรกิจอาหารมานาน ยังคงเดินหน้าตามแผนกลยุทธ์การตลาดการนำเสนอผลิตภัณฑ์ใหม่อย่างต่อเนื่อง” คุณเมขลา เนติโพธิ์ รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหารสำเร็จรูป บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ โออิชิ กล่าว
นี่จึงเป็นที่มาของการเปิดตัวสินค้ากลุ่มใหม่ น้ำจิ้ม และซอสปรุงรสสไตล์ญี่ปุ่น ตราโออิชิ หรือ ซอสโออิชิ ได้รับการพัฒนาและต่อยอดจากน้ำจิ้มและซอสปรุงรสต่าง ๆ ที่มีให้บริการภายในร้านอาหารญี่ปุ่นเครือโออิชิ โดยวางจุดขายเป็นผลิตภัณฑ์น้ำจิ้มและซอสปรุงรสญี่ปุ่นเอนกประสงค์ สามารถนำไปจิ้มหรือปรุงรสอาหารญี่ปุ่นได้อย่างหลากหลาย ซึ่งสามารถตอบโจทย์ในเรื่องความสะดวกสบาย และประหยัดเวลาได้ดี”
เบื้องต้นวางจำหน่ายผ่านร้านอาหารญี่ปุ่นในเครือโออิชิ ที่มีสาขาหน้าร้านกระจายอยู่ทั่วประเทศ มากกว่า 200 แห่ง ประกอบด้วย โออิชิ แกรนด์, โออิชิ อีทเทอเรียม, โออิชิ บุฟเฟต์, นิกุยะ, ชาบูชิ, โออิชิ ราเมน, คาคาชิ รวมทั้งโฮว ยู เป็นช่องทางขายหลัก เสริมด้วยบริการจัดส่งถึงบ้านโออิชิ เดลิเวอรี่ ทั้งโทร. 1773 หรือสั่งซื้อออนไลน์ oishidelivery.com และตั้งเป้าขยายช่องทางขายเข้าสู่ทั้ง Modern Trade ทั้งซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านสะดวกซื้อในเร็วๆ นี้
ซัมซุง จับเทรนด์ Stay-at-Home Economy ทุ่มทำตลาดทีวีจอยักษ์ – ลำโพงสุดล้ำ ตอบโจทย์การใช้งานหลากหลาย
ตามที่กล่าวไปข้างต้น เมื่อคนอยู่บ้านมากขึ้น ทำให้บ้านไม่ใช่แค่ที่อยู่อาศัย แต่ยังเป็นทั้งที่ร่วมกิจกรรมความบันเทิง ที่ทำงาน ที่พักผ่อน และที่อยู่อาศัย ทำให้คนพร้อมจะใช้เงินเพื่อเนรมิตบ้าน ให้มีสภาพแวดล้อมตอบสนองได้หลาย Multi-function
เห็นได้จากการเปิดตัวกลุ่มผลิตภัณฑ์ภาพและเสียงรุ่นใหม่ปี 2021 ของ “ซัมซุง” (Samsung) ล่าสุดจัดขึ้นที่กรุงโซล เกาหลีใต้ ยกทัพทีวีจอยักษ์ และลำโพง มาทำตลาดรับแนวโน้มการเติบโตของเทรนด์ Stay-at-Home เช่น
– ทีวี MICRO LED เทคโนโลยีภาพ Inorganic LED ทนทานต่อการเกิดจอไหม้ (burn-in) ให้หน้าจอยังคงมีสีสันสดใสตลอดการใช้งาน และมาในหน้าจอขนาดใหญ่ ทั้งขนาด 110 นิ้ว และ 99 นิ้ว พร้อมวางจำหน่ายในไตรมาสที่ 2 และจะตามมาด้วยจอขนาด 88 นิ้ว และ 76 นิ้ว ในอนาคต จะทำให้อิ่มเอมกับประสบการณ์โรงภาพยนตร์ที่บ้านได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น
นอกจากนี้สามารถรับชมคอนเทนต์บน MICRO LED ได้ถึง 4 หน้าจอพร้อมกัน ด้วยฟีเจอร์ 4Vue (Quad View) เช่น ดูกีฬาหลายช่องพร้อมกัน หรือจะดู Walk-through ไปพร้อมๆ กับการเล่นเกม
– ทีวี Neo QLED ยกระดับการรับชมสำหรับทุกคอนเทนต์ ให้เข้ากับความต้องการของผู้บริโภคที่มีรูปแบบการใช้ทีวีหลากหลายมากขึ้น โดยมีฟีเจอร์ Game Bar ที่ทำให้เกมเมอร์สามารถปรับขนาดหน้าจอให้เหมาะกับเกมได้อย่างรวดเร็ว และ Super Ultrawide GameView ยกเอาสัดส่วนหน้าจอสุดกว้างแบบฟีเจอร์บนจอมอนิเตอร์มาใส่ไว้ในทีวี
Neo QLED 8K มีขนาด 65 นิ้ว 75 นิ้ว และ 85 นิ้ว ในขณะที่รุ่น 4K (QN90A และ QN85A) จะมีให้เลือกหลายขนาด เริ่มต้นที่ 50 นิ้ว
– ลำโพงซาวด์บาร์ Q Series มาพร้อมกับเทคโนโลยี Q Symphony ผสานการทำงานของลำโพงหลายตัว เพื่อโอบล้อมผู้ฟังด้วยสียงรอบทิศทางแบบ 3 มิติ และซาวด์บาร์สามารถประเมินสภาพแวดล้อมเพื่อส่งคลื่นเสียงไปยังผู้ฟังได้อย่างแม่นยำ และในรุ่น Q950A ยังสามารถทำงานร่วมกับผู้ช่วยอัจฉริยะอย่าง Amazon Alexa และ Bixby ได้ด้วย
“ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา ทีวีทำหน้าที่เป็นเพียงแหล่งรวมความบันเทิงภายในบ้านเท่านั้น แต่จากความเปลี่ยนแปลงในปีที่ผ่านมา ทำให้เทคโนโลยีหลายอย่างกลายเป็นสิ่งจำเป็น เมื่อบ้านต้องเป็นทั้งที่ทำงาน ห้องเรียน ฟิตเนส และอีกมากมาย เพราะในขณะที่คนใช้เวลาอยู่บ้านมากขึ้น ทีวีก็มีบทบาทเพิ่มขึ้นตามไปด้วย
ทำให้ในปัจจุบันผู้บริโภคต้องการใช้ทีวี เพื่อหลากหลายวัตถุประสงค์ ทั้งทำการประชุมทางไกล หรือแม้แต่เป็นตัวช่วยในการออกกำลังกาย ซัมซุงจึงได้พัฒนาทีวีด้วยนิยามใหม่ เพื่อให้มีฟีเจอร์การใช้งานที่ตอบสนองผู้บริโภคในหลายอย่าง” มร.เจมส์ ฟิชเลอร์ รองประธานอาวุโส ธุรกิจเครื่องใช้ไฟฟ้า ซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ สหรัฐอเมริกา กล่าวถึงนิยามใหม่ของที่วี
ทั้งนี้ก่อนหน้านี้มีบางกลุ่มธุรกิจปรับตัวรับแนวโน้ม Stay-at-Home Economy แล้วเช่นกัน เช่น ในกลุ่มร้านขนมหวาน ร้านเบเกอรี่ และคาเฟ่ พัฒนากลุ่มสินค้า Ready to Bake หรือผลิตภัณฑ์พร้อมอบ ตอบโจทย์ผู้บริโภคอยากทำเบเกอรี่เองที่บ้าน
อ่านเพิ่มเติม: “After You – Auntie Anne’s – Vista Café” ส่งครัวซองต์-เพรทเซลพร้อมอบ รับเทรนด์คนอยากทำเบเกอรี่ที่บ้าน
นี่เป็นเพียงตัวอย่างส่วนหนึ่งของแบรนด์ที่สร้างโอกาสธุรกิจบนเทรนด์ Stay-at-Home Economy เชื่อว่ายังมีอีกหลายแบรนด์ หลาย Category กำลังปรับตัวรับแนวโน้มดังกล่าวเช่นกัน
เพราะถึงแม้สถานการณ์ COVID-19 ในบางประเทศเริ่มคลี่คลาย และมีวัคซีนแล้ว ทว่าการแพร่ระบาดยังคงมีอยู่ ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจซบเซา ภาคการท่องเที่ยวยังไม่ฟื้นกลับมา คนกังวลด้านการเงิน และการงาน กระทบต่อกำลังซื้อ บวกกับบางองค์กรปรับนโยบายการทำงานให้เป็นรูปแบบ Hybrid หรือยังคง Work From Home ทำให้หลายคนเลือกอยู่บ้านมากขึ้น ใช้เวลาอยู่กับครอบครัว และกิจกรรมงานอดิเรก หรือความบันเทิงต่างๆ
Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand