HomeFinancialตามดู 5 ประเด็นเส้นทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 หลังมี “วัคซีน” ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นไตรมาส 4 หนุนจีดีพีโต 2.6%

ตามดู 5 ประเด็นเส้นทางเศรษฐกิจไทยปี 2564 หลังมี “วัคซีน” ลุ้นท่องเที่ยวฟื้นไตรมาส 4 หนุนจีดีพีโต 2.6%

แชร์ :

GDP 2021

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

หลังประเทศไทยต้องเจอกับสถานการณ์ COVID-19 ระบาดระลอกใหม่ช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ถึงขณะนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยพ้นช่วงต่ำสุดไปแล้ว ตัวเลขจีดีพี -6.1% ในปี 2563 ก็น่าจะฟื้นตัวได้ในปี 2564 เมื่อหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนในวงกว้างรวมทั้งประเทศไทย แต่ปัจจัยการฟื้นตัวยังต้องพึ่งพาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเป็นหลัก

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ธนาคารกสิกรไทย ประมาณการจีดีพี ปี 2564 เติบโต 2.6% ขึ้นกับการกระจายวัคซีนและแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยว โดยมี 5 ประเด็นสำคัญของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในปีนี้

1.ตัวแปรฟื้นเศรษฐกิจพึ่งท่องเที่ยว

เส้นทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2564 ตัวแปรหลักคือ การฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยขึ้นอยู่ว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้เมื่อไหร่ เช็คลิสต์หลักๆ คือ การฉีดวัคซีนในประเทศสำคัญๆ ที่จะเดินทางมาไทย มีความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนไปแล้วแค่ไหน เช่นเดียวกันกับจำนวนผู้ได้รับวัคซีนในประเทศไทย

นโยบายเปิดรับนักท่องเที่ยวของไทย เช่น การลดจำนวนวันกักตัวในประเทศไทยจากเดิมที่วางไว้ 14 วัน และนโยบายของแต่ละประเทศเปิดให้เดินทางมาท่องเที่ยวไทยหรือไม่ การกลับไปกักตัวหลังจากท่องเที่ยวในไทย รวมทั้งความคืบหน้าการประกาศใช้วัคซีนพาสปอร์ต

หากประเทศไทยมีนโยบายการเปิดให้เดินทางและฉีดวันซีนได้ตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในปีนี้ รวมทั้งการใช้วัคซีนพาสปอร์ตมีความชัดเจน  ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มเข้ามาในช่วงไตรมาส 4 ไฮซีซันปีนี้ โดยประเมินตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ ในปี 2564 ไว้ที่ 2 ล้านคน

kbank GDP2021 tourist

2.เจาะ 10 ตลาดความหวังท่องเที่ยวไทย

สำหรับตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านคนที่จะเข้ามาในปีนี้ ประเมินจากการฉีดวัคซีนในตลาดท่องเที่ยว 10 ตลาดสำคัญของไทย ที่เริ่มฉีดไปแล้วตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ คือ ยุโรป (13 ประเทศ) จีน สหรัฐ สิงคโปร์ เกาหลีใต้ รัสเซีย มาเลเซีย ญี่ปุ่น ฮ่องกง เวียดนาม และอื่นๆ โดยกลุ่มนี้คาดว่าจะเริ่มเดินทางเข้ามาในเดือนตุลาคมนี้

ดังนั้นเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้าไทย จำเป็นที่ผู้เกี่ยวข้องในภาคการท่องเที่ยวจะต้องได้รับวัคซีนเช่นกัน หากประเมินจากการจ้างงานในธุรกิจโรงแรมพื้นที่ 20 จังหวัดที่พึ่งพานักท่องเที่ยวต่างชาติ อาจต้องการวัคซีนอย่างน้อย 2.2 แสนโดส ก่อนเดือนตุลาคม หากดูตามแผนการจัดหาวัคซีนของภาครัฐ ก็มีความเป็นไปได้ โดยเฉพาะวัคซีนล็อตใหญ่ของแอสตราเซเนกา จะมาในช่วงเดือนมิถุนายน

คุณเกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด มองว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติอาจทำได้มากกว่า 2 ล้านคน ในกรณีที่การฉีดวัคซีน เพียงแค่ 1 โดสต่อคน เช่น วัคซีนของจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน หรืออาจจะต่ำกว่า 2 ล้านคนก็เป็นไปได้ เพราะวัคซีนเริ่มฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์และผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงก่อน ซึ่งในกลุ่มนี้อาจไม่ใช่กลุ่มนักท่องเที่ยว

ตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 2 ล้านคนในปี 2564  ถือว่ามีจำนวนน้อยกว่าปี 2563 ที่เข้ามาจำนวน 6.7 ล้านคน เพราะไตรมาสแรกยังไม่เจอกับสถานการณ์โควิด  และคงต้องใช้เวลาถึงปี 2566-2567 จึงจะกลับมาปกติเหมือนปี 2562 ก่อนเกิดโควิด ที่มีจำนวน 39 ล้านคน ดังนั้นในปีนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวก็ยังต้องพึ่งพาตลาดไทยเที่ยวไทยเป็นหลัก

3.เศรษฐกิจโต 2.6% ผ่านจุดต่ำสุดโควิดไปแล้ว

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังประเมินตัวเลขจีดีพี ปี 2564 ไว้ที่เติบโต 2.6% โดยรอบนี้ขยับกรอบประมาณการทั้งกรอบล่างและกรอบบนอยู่ที่ 0.8 – 3% จากเดิมเดือนธันวาคม มองไว้ที่  0.0-4.5%

จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงการเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศไทยตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ทำให้ปรับประมาณการกรอบการเติบโตกรอบล่างใหม่ คือจะไม่ต่ำไปกว่า 0.0% และการระบาดระลอกใหม่ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว โดยไม่มีการล็อคดาวน์ทั่วประเทศเหมือนครั้งแรก หากมีการระบาดใหม่อีกก็คงเป็นบางพื้นที่และล็อคดาวน์เป็นบางจุด ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจไม่ลดลงไปกว่านี้

แม้รอบนี้มองว่าตัวเลขการส่งออกน่าจะเติบโตได้ 4.5% ดีขึ้นกว่ารอบก่อนที่คาดการณ์ไว้ 3% แต่นักท่องเที่ยวลดลงจากการประเมินเมื่อเดือนธันวาคม ทำให้ จีดีพี ปีนี้ยังเดิมที่เติบโต 2.6%

อีกปัจจัยบวก คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดย IMF ประเมินเศรษฐกิจโลกได้แรงหนุนจากการกระจายวัคซีน คาดปี 2564 เติบโต 5.5% โดยหลักๆ มาจากการฟื้นตัวของภูมิภาคเอเชีย แต่ไทยยังฟื้นได้ช้ากว่าประเทศเพื่อนบ้าน  ส่วนเศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับมาเติบโตได้ที่ 5.1% โดยรวมปีนี้เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้เร็วกว่าการประมาณการในช่วงปลายปีก่อน

kbank GDP2021 debt

4.หนี้ครัวเรือนยังสูง ปีนี้อยู่ที่ 89-91% ต่อจีดีพี

ยังมีประเด็นเฉพาะหน้าที่ต้องติดตามต่อ คือ ภาระหนี้ โดยเฉพาะหนี้ครัวเรือนที่จะยังมีระดับสูง จากปี 2563 อยู่ที่ 89.2% ต่อจีดีพี  ปี 2564 ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 89-91% ต่อจีดีพี การปรับขึ้นเหมือนกับหลายประเทศที่เจอผลกระทบโควิด เพราะรายได้ขยับไม่ทันตัวเลขหนี้

ปี 2563 หนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14 ล้านล้านบาท โดยหนี้ที่อยู่ภายใต้การดูแลและรับความช่วยเหลือทางการเงินจากสถาบันการเงินต่างๆ อยู่ที่ 2.79 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 20% ของหนี้ครัวเรือน หลังจากผ่านขั้นตอนการพักชำระหนี้ไปแล้ว จากนี้จะเป็นระยะการเปลี่ยนผ่าน เมื่อเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้นมาตรการช่วยเหลือแบบกระจายทุกกลุ่มเหมือนที่ผ่านมาก็สามารถลดความเข้มข้นลงได้ เพื่อช่วยเหลือทางการเงินเฉพาะกลุ่มที่ยังได้รับผลกระทบอยู่

จากการสำรวจของศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำนวน 300 ตัวอย่าง พบว่า ครัวเรือนไทยยังกังวลกับสถานการณ์รายได้ลด ปัญหาค่าครองชีพ และภาระหนี้สูง โดยสัดส่วน 10.8% ของผู้ตอบแบบสอบถาม มีภาวะทางการเงินเสี่ยงต่อวิกฤติ จึงยังจำเป็นต้องมีการต่ออายุมาตรการดูแลให้กับครัวเรือนเหล่านี้ เช่นเดียวกับธุรกิจเอสเอ็มอี

kbank GDP2021 gov policy

5.เกาะติด 4 โจทย์ใหญ่ในปี 2564

ส่วนประเด็นที่จะมีผลต่อทิศทางเศรษฐกิจในระยะถัดไป มี 4 ประเด็นที่ต้องติดตาม

การกระจายวัคซีนในประเทศและแนวทางเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตามแผนของภาครัฐ ระยะแรกเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน วัคซีน 2 ล้านโดส น่าจะทำได้ตามแผน ในพื้นที่ 10 จังหวัด  ส่วนระยะที่ 2 อีก 61 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน ปีนี้เฉลี่ย 10 ล้านโดสต่อเดือน

– ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก  มีการปรับตัวขึ้นเร็ว จากประเด็นการปรับลดกำลังการผลิตของ OPEC  เดือนมกราคาอยู่ที่ 60.37 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ปีนี้วางรกรอบราคาน้ำมันไว้ที่ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ทั้งนี้ราคาพลังงานที่สูงขึ้น ถือเป็นแรงกดดันเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นจาก 0.8% ปีก่อน เป็น 1.1%

– มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากภาครัฐ แม้ว่าการทยอยเริ่มฉีดวัคซีนในประเทศจะยังไม่ครอบคลุมประชากรจำนวนมาก จนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ แต่ก็คาดว่าหากมีการแพร่ระบาดอีกระลอกในประเทศจะไม่รุนแรงเท่ากับที่ผ่านมา ดังนั้นเม็ดเงินสำหรับใช้กระตุ้นเศรษฐกิจที่เหลือราว 3.7 แสนล้านบาท คาดว่าจะมีมาตรการฟื้นฟูเศรษฐกิจออกมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อประคองการใช้จ่ายในประเทศจนกว่าจะเริ่มเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงไตรมาส 4 ปีนี้

มาตรการที่รัฐสามารถออกมาช่วยได้ คือ การจัดกลุ่มหนี้และมาตรการดูแลเพิ่มเติมในระหว่างที่ภาวะเศรษฐกิจและรายได้ยังไม่ฟื้นตัวปกติ และการปรับอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป

– คุณภาพหนี้ โดยเฉพาะ NPLs ยังเป็นประเด็นที่ต้องติดตามในอีก 1-2 ปีข้างหน้า โดยปี 2563 อยู่ที่ 3.12% ปีนี้คาดไว้ 3.3% ยังไม่สูงเพราะยังอยู่ภายใต้มาตรการผ่อนปรนของรัฐ

จากการประเมินแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2564 ของศูนย์วิจัยกสิกรไทย สรุปว่าเศรษฐกิจโลกผ่านจุดต่ำสุดแล้วและส่งผลบวกต่อภาพการส่งออกไทยดีขึ้น แต่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องใช้เวลาและช้ากว่าเศรษฐกิจโลก เนื่องจากพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติสูง และอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยมีสัดส่วน 20% ของจีดีพี


แชร์ :

You may also like