ต้องบอกว่าไตรมาสแรกของปี 2021 มีความเคลื่อนไหวจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในประเทศไทยเกิดขึ้นมากมาย และหนึ่งในนั้นคือการประกาศรีแบรนด์บริการอีวอลเล็ต (e-Wallet) ของค่าย SeaMoney ในเครือ SEA Group สู่ชื่อ “ShopeePay” อย่างเป็นทางการ หลังจากที่ใช้ AirPay ในประเทศไทยมานานถึง 6 ปี
หลายคนอาจมีคำถามว่ารีแบรนด์ทำไม ส่วนหนึ่งอาจต้องย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น AirPay ที่เริ่มเปิดให้บริการในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2015 โดยเป็นหนึ่งในธุรกิจภายใต้ SeaMoney ของ SEA Group เจ้าของค่ายเกมดังอย่างการีน่า และแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ Shopee โดยในช่วงแรก พวกเขาเลือกใช้ชื่อ AirPay และออกแบบให้มันเป็นเครื่องมือทางการเงินเพื่อตอบโจทย์สังคมไทยในยุคนั้นที่กำลังเริ่มต้นเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เช่น การเติมเงินโทรศัพท์มือถือ การจ่ายบิลต่าง ๆ การซื้อตั๋วหนัง ไปจนถึงการซื้อสินค้าจากตู้อัตโนมัติด้วยการสแกน QR Code ฯลฯ และบางส่วนก็ตอบโจทย์ธุรกิจของบริษัทอย่างการเติมเงินในเกมด้วย
อย่างไรก็ดี การเติบโตของ SEA Group อย่างรวดเร็วในช่วงปี 2019 – 2020 ทำให้บริการอีวอลเล็ตของบริษัทกลายเป็นเครื่องจักรชิ้นสำคัญ และต้องแอคทีฟตัวเองมากกว่าเดิม…
SEA Group เติบโตขนาดไหนในปี 2019 – 2020
มีรายงานจากสื่อมาเลเซียว่า ในปี 2019 แพลตฟอร์ม Shopee ของ SEA Group ทำสถิติยอดดาวน์โหลด 200 ล้านครั้ง และในไตรมาส 2 ของปี Shopee ก็มียอดสั่งซื้อสินค้าเพิ่มขึ้น 92.7% (จาก 127.8 ล้านออเดอร์ในปี 2018 เป็น 246.3 ล้านออเดอร์ในปี 2019) คิดเป็นมูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง บริการ AirPay ได้ขยับขยายกลายมาเป็นช่องทางการชำระเงินช่องทางหนึ่งบน Shopee ในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
ไม่เพียงเท่านั้น ในปี 2020 SEA Group ยังได้อานิสงส์จากการแพร่ระบาดของ Covid-19 ที่ทำให้ธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตอย่างมาก หนึ่งในหลักฐานสำคัญก็คือยอดขายของ Shopee ในไตรมาส 4 ของปี 2020 ที่พบว่าเติบโตขึ้น 178% หรือคิดเป็นมูลค่า 842.2 ล้านเหรียญสหรัฐ และทำรายได้ตลอดทั้งปีให้กับ SEA Group ถึง 2.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนในปีนี้ ทาง SEA Group ก็คาดการณ์ว่า Shopee จะสามารถสร้างรายได้ให้กับบริษัทถึง 4.5 – 4.7 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากที่เคยทำได้ในปี 2020 เลยทีเดียว
การรีแบรนด์ e-Wallet เป็น ShopeePay ในวันนี้จึงอาจเป็นส่วนหนึ่งของแผนการสร้างความแข็งแกร่งให้กับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของบริษัท เพื่อการเติบโตในสเต็ปต่อไปทั้งของ Shopee และ SEA Group นั่นเอง
ไม่ใช่การีน่าเพย์ ทั้ง ๆ ที่ทำรายได้ให้ SEA Group ไม่น้อย?
ต้องบอกว่า ไม่เฉพาะแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ทำรายได้ให้ SEA Group อย่างมากในปีที่ผ่านมา แต่ธุรกิจเกมที่อยู่ภายใต้ชื่อบริษัทการีน่า (Garena) เจ้าของเกมดังอย่าง Free Fire, PUBG, RoV, FIFA ฯลฯ ก็เป็นอีกหนึ่งเครื่องจักรทำเงินให้กับ SEA Group เช่นกัน โดยรายได้ของการีน่าในปี 2020 เติบโตขึ้น 77.5% คิดเป็นมูลค่า 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ
แต่ SEA Group ก็เลือกที่จะใช้ชื่อ ShopeePay ให้กับบริการทางการเงินของกลุ่มไม่ใช่ การีน่าเพย์ เหตุผลของข้อนี้มาจากอะไร คุณศุภวิชญ์ หงส์อมรสิน ผู้อำนวยการ ช้อปปี้เพย์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยว่า “เพราะการผลักดันให้ธุรกรรมดิจิทัลเติบโตนั้น มาจากฝั่งอีคอมเมิร์ซเป็นหลัก เราเลยมองว่าเป็นโอกาสดีที่จะรีแบรนด์ชื่อ AirPay เป็น ShopeePay อีกทั้งถ้าไปดูประเทศอื่น เขาจะใช้ชื่อบริการอีวอลเล็ตโดยผูกกับแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซกันทั้งสิ้น”
ยกตัวอย่างที่คนไทยคุ้นเคยกันดีก็อาจเป็น Alibaba ที่มีบริการ AliPay หรือ WeChat ที่มี WeChat Pay นั่นเอง และเมื่อถามถึงกลุ่มผู้เติมเกมผ่านแอป AirPay เดิมว่ารู้สึกอย่างไรกับชื่อใหม่ ทางคุณศุภวิชญ์ เผยว่ากลุ่มผู้ใช้งานไม่มีปัญหาแต่อย่างใด
เราจะได้เห็นอะไรใน “ShopeePay”?
ในจุดนี้ คุณศุภวิชญ์ เผยว่า อันดับแรกคือการได้เห็นการเชื่อมต่อแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กับโมบายวอลเล็ตเข้าด้วยกัน เช่น เมื่อสินค้ามาส่งที่บ้าน ก็สามารถใช้ ShopeePay สแกนบาร์โค้ดเพื่อชำระเงินได้เลยทันที โดยทางผู้บริหาร ShopeePay มองว่าสามารถเพิ่มความสะดวกสบายให้กับผู้ซื้อ – ผู้ขายบนแพลตฟอร์มได้มากขึ้น อีกทั้งยังปลอดภัยกว่าในยุคที่การระบาดของไวรัส Covid-19 ยังไม่จบลงง่าย ๆ
สิ่งที่อาจเกิดขึ้นประการที่สองคือ การทำการตลาดที่สะดวกขึ้น เพราะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ SeaMoney.com ระบุว่า ประเทศอื่น ๆ อย่างเช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ต่างใช้ชื่อ ShopeePay กันมาแล้วตั้งแต่ต้น มีเพียงประเทศไทยและเวียดนามเท่านั้นที่ SEA Group ให้บริการอีวอลเล็ตในชื่อ AirPay
แน่นอนว่า ทาง Shopee จะเริ่มเดินเครื่องจักรตัวใหม่ที่ชื่อ ShopeePay นี้ในมหกรรมช้อปปิ้งระดับ Mega ของทางแพลตฟอร์มที่จะจัดขึ้นตั้งแต่วันนี้ถึง 4 เมษายน ด้วยเช่นกัน โดยจะมีการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่าน ShopeePay ในรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อของแล้วได้ดีลส่งฟรี 0 บาท การได้โค้ดส่วนลด 1 สตางค์ และอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งทั้งหมดก็เพื่อสร้างประสบการณ์การใช้งาน และทำให้ผู้บริโภคไทยมีความคุ้นเคยกับ e-Wallet ตัวใหม่ที่มาพร้อมสีส้มสดใสนี้มากขึ้น
แต่ที่มากไปกว่านั้นอาจเป็น “บริการทางการเงิน” เพราะมีรายงานจาก Bloomberg ระบุว่า ทาง SEA Group ตั้งเป้าให้บริการทางการเงินเป็นหนึ่งในเป้าหมายสร้างการเติบโตให้กับบริษัทด้วยเช่นกัน และเครื่องมืออย่าง ShopeePay ก็คือช่องทางสำคัญในการนำบริการทางการเงินไปหาผู้ใช้งาน เห็นได้จากไตรมาส 4 ของปี 2020 การทำธุรกรรมผ่าน e-Wallet ของทางกลุ่มพุ่งขึ้นทะลุ 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐไปแล้ว จากผู้ใช้งานกว่า 23.2 ล้านคน ขณะที่ตัวเลขรวมของทั้งปีก็คิดเป็นมูลค่าถึง 7.8 พันล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
ทั้งหมดนี้จึงเป็นจิ๊กซอว์ที่ SEA Group กำลังประกอบร่างเข้าด้วยกัน เพื่อให้ Ecosystem ของบริษัทแข็งแกร่ง และเติบโตพอที่จะจับต้องในรูปแบบผลกำไร
น่าสนใจทีเดียวว่าสิ้นปีนี้ SEA Group จะมีตัวเลขที่น่าตื่นตาตื่นใจในแง่มุมใดบ้างมาเปิดเผยให้ทราบกัน