HomeBrand Move !!ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ UGC “TikTok” ดึงผู้ผลิตมืออาชีพปั้น “ซีรีส์สั้น” เล็งเปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับบท-นักแสดง

ไม่ใช่แค่คอนเทนต์ UGC “TikTok” ดึงผู้ผลิตมืออาชีพปั้น “ซีรีส์สั้น” เล็งเปิดให้ผู้ชมมีส่วนร่วมกับบท-นักแสดง

แชร์ :

TikTok

จุดเด่นที่ทำให้ TikTok” กลายเป็นแพลตฟอร์มใหญ่ระดับโลก โดยมียอดดาวน์โหลดกว่า 2,000 ล้านดาวน์โหลด และคาดการณ์ว่ามีฐานผู้ใช้งานทั่วโลกมากกว่า 680 ล้านคน มาจาก 4 องค์ประกอบหลักคือ

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

1. แพลตฟอร์มวิดีโอสั้น รับเทรนด์วิดีโอ และการบริโภคคอนเทนต์ของคนในทุกวันนี้ต้องการสั้น กระชับ เร็ว

2. เป็นแพลตฟอร์ม User Generated Content (UGC) เปิดให้ผู้ใช้งานทุกคนสามารถเป็น Content Creator ได้ เท่ากับว่าใครก็สามารถมาเป็น Influencer ได้เช่นกัน

3. เป็น Discovery Platform ที่ทุกครั้งที่ผู้ใช้งาน เข้ามาบนแพลตฟอร์ม จะเจอคอนเทนต์มากมาย และหลากหลาย ซึ่งคอนเทนต์ที่อยู่บนฟีดของผู้ใช้งานนั้น ได้ใช้ Machine Learning วิเคราะห์พฤติกรรมการเสพคอนเทนต์ของผู้ใช้งาน เพื่อให้แสดงคอนเทนต์ที่เชื่อมโยงกับความสนใจ หรือความชอบของผู้ใช้งานแต่ละคน

4. Localization นั่นคือ TikTok ทั่วโลกมีสำนักงาน และทีมดูแลในแต่ละประเทศ เพื่อให้ทีมแต่ละประเทศ สามารถทำความเข้าใจ และศึกษา Local Insights สำหรับใช้ในการสร้างสรรค์กลยุทธ์​ และพัฒนา Ecosystem ของแพลตฟอร์มให้แข็งแรงในตลาดประเทศนั้นๆ

อย่างไรก็ตาม พัฒนาการของ TikTok” ในประเทศไทย เวลานี้ได้ Diversify คอนเทนต์ออกไปให้มีความหลากหลายมากขึ้น โดยจากเดิมคอนเทนต์ส่วนใหญ่บน TikTok มาจาก UGC เป็นหลัก เริ่มขยายไปยังคอนเทนต์ที่สร้างสรรค์โดยผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ หรือที่เรียกว่า Professionally Generated Content” (PGC) เช่น ข่าว และคอนเทนต์บันเทิงรูปแบบต่างๆ โดยล่าสุดทดลองทำตลาดคอนเทนต์ “ซีรีส์สั้น” ความยาว 1 – 3 นาทีต่อตอน ฉายต่อเนื่องกัน

TikTok

 

สำรวจพฤติกรรมเสพคอนเทนต์รูปแบบ “วิดีโอ” ในผู้บริโภคไทย

– ผลสำรวจ Neilsen ในปี 2563 พบว่า คนไทยใช้เวลากับสื่อดิจิทัลผ่านสมาร์ทโฟนเพิ่มสูงขึ้นเป็น 6.08 ชั่วโมงต่อวัน หรือเพิ่มขึ้นกว่า 59% จากช่วงต้นปีที่มีการใช้เวลา 3.51 ชั่วโมงต่อวัน

– MediaBrix เผยว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ตส่วนใหญ่ รับชมคอนเทนต์ประเภทวิดีโอ โดย 55% รับชมทุกวัน 90% ชอบวิดีโอแนวตั้ง 72% ดูคอนเทนต์รีวิวสินค้า รูปแบบวิดีโอ

– StreamElement ระบุว่าในปี 2563 Live-streaming ได้รับความนิยมมากขึ้น พบว่าคอนเทนต์รูปแบบ Live-streaming เพิ่มขึ้นถึง 99% เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2562

– คอนเทนต์วิดีโอ ได้เข้ามาช่วงชิงเวลาของกลุ่มผู้ชมในโลกออนไลน์

Mobile Phone

Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand

 

เปิดสถิติ “TikTok” คนใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้น – “คอนเทนต์ความบันเทิง” ได้รับความนิยมมากสุด

ในปี 2563 ได้ชื่อว่าเป็นปีทองของ TikTok เพราะด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้คนต้องอยู่กับบ้านมากขึ้น จึงต้องหากิจกรรมคลายเครียด – แก้เบื่อในระหว่างใช้ชีวิตที่บ้าน จนกลายเป็นแอปพลิเคชัน ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดอันดับ 1 ในช่วง 11 เดือนของปีที่แล้ว จะมีหล่นมาเป็นอันดับ 2 ในเดือนเมษายน โดย “Zoom” ขึ้นเป็นแอปฯ ที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุดในเดือนดังกล่าว

ขณะที่ในไทย ข้อมูลจาก App Annie ได้เปรียบเทียบการใช้แพลตฟอร์ม TikTok ระหว่างเดือนมกราคม ปี 2564 กับเดือนมกราคมปี 2563 พบว่า

– ประเทศไทยมีการดาวน์โหลด TikTok เพิ่มขึ้น 44%

– การใช้เวลาบนแพลตฟอร์มของผู้ใช้แต่ละคน สูงขึ้น 71%

– ระยะเวลาการใช้งานในแต่ละครั้ง เพิ่มสูงขึ้น 47%

นอกจากนี้ Kantar ได้สำรวจความรู้สึกของผู้ใช้คนไทยที่มีต่อ TikTok พบว่า

– 83% มองว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มนำกระแส

– 82% มองว่า TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่เป็นบวก และทำให้ผู้ใช้รู้สึกดีเมื่อใช้เวลาอยู่บนแพลตฟอร์ม

ขณะที่ Top 5 ประเภทคอนเทนต์ที่มียอดวิวสูงสุดคือ

1. Entertainment

2. Daily Life

3. Food & Drink

4. Games

5. Comedy

TikTok

 

คนไทยชอบคอนเทนต์บันเทิง “TikTok” ลงทุนผลิตซีรีส์เอง และจับมือผู้ผลิตมืออาชีพ ทำ Original Series

ในปี 2564 TikTok ยังคงเดินหน้าขยายฐานผู้ใช้ในประเทศไทย และด้วยความที่ทุกวันนี้เป็นยุคแพลตฟอร์ม และคอนเทนต์ ทำให้แต่ละแพลตฟอร์มต่างช่วงชิงเวลาผู้ใช้กัน ดังนั้นการแข่งขันจึงอยู่ที่การทำให้ User ใช้เวลาอยู่กับแพลตฟอร์มของตนเองให้นานที่สุด (User Spent Time) และเข้ามาใช้ถี่มากขึ้น

หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ การเพิ่มความหลากหลายของคอนเทนต์ โดยเฉพาะคอนเทนต์คุณภาพดี เนื่องจากคอนเทนต์ดี และน่าสนใจ จะเป็นตัวดึงให้ผู้ใช้อยู่กับแพลตฟอร์มได้นาน และเข้ามาถี่ขึ้น

ดังนั้นเมื่อ Entertainment Content กลายเป็นคอนเทนต์ที่มียอดวิวมากสุดบน TikTok จึงได้ขยายจากคอนเทนต์ประเภท User Generated Content มายังคอนเทนต์ประเภท Professionally Generated Content (PGC) ด้วยการจับมือกับผู้ผลิตคอนเทนต์มืออาชีพ (Content Provider) เช่น สำนักข่าว ค่ายเพลง ค่ายละคร ผู้ผลิตรายการโทรทัศน์ มาร่วมสร้างสรรค์คอนเทนต์บน TikTok

พร้อมกับขยายความยาวของคอนเทนต์ จากเดิมในยุคเริ่มแรก TikTok กำหนดความยาวคอนเทนต์ละ 15 วินาที ต่อมาขยายให้ถึง 60 วินาที แต่ด้วยความยาวดังกล่าว การนำเสนอบางคอนเทนต์อาจไม่เพียงพอ เช่น คอนเทนต์ความบันเทิง ในที่สุดจึงได้ขยายความยาวเป็น 3 นาที ซึ่งความยาววิดีโอที่เพิ่มขึ้น เพิ่มโอกาสในการสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้หลายรูปแบบ ทั้งในฝั่ง Creator – Content Provider และฝั่ง Advertiser

TikTok

ล่าสุด TikTok ทดลองทำคอนเทนต์ Original Series รูปแบบ “ซีรีส์แนวตั้งแบบสั้น” ความยาวตอนละ 1 – 3 นาที ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ทำให้ผู้คนสามารถติดตามรับชมได้จนจบและรอติดตามต่อในตอนต่อไป โดยร่วมมือกับ Star Hunter Entertainment ผลิตซีรีส์สั้น 3 เรื่อง

เรื่องแรกคือ “Bad Roommate” ซีรีส์แนวสืบสวนสอบสวน ตามมาด้วยซีรีส์แนวใสเอาใจวัยรุ่นกับ “ปิ๊งรักเจ้านายร้าย My Super Boss” เรื่องราวของเด็กจบใหม่ที่ต้องก้าวจากชีวิตวัยเรียนมาสู่ชีวิตจริงในโลกแห่งการทำงานกับบทพิสูจน์ที่ท้าทายในที่ทำงาน และเรื่องสุดท้ายคือซีรีส์ “Marry Me in 30 days … 30 วันฉันจะมีเธอ” เรื่องราวความรักของสาวลูกครึ่งอีสานญี่ปุ่น โดยออกกาศทุกวัน เริ่มตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคมปี 2564

นอกจากจับมือกับ Content Provider มืออาชีพแล้ว “TikTok” ยังได้ลงทุนทำซีรีส์สั้นเองด้วยเช่นกัน เตรียมฉายในช่วงสงกรานต์ระหว่างวันที่ 13 – 15 เมษายนนี้ มีทั้งหมด 3 ตอน

ความน่าสนใจของซีรีส์เรื่องนี้ ทำรูปแบบ Immersive Content นั่นคือ ผู้ใช้งาน TikTok หรือคนดูสามารถมี interact กับคอนเทนต์ โดยให้คนดูมาเล่นกับพระเอกของเรื่องได้ผ่านทางหน้าจอ เพื่อสร้าง Engagement ระหว่างคนดู – คอนเทนต์ และแพลตฟอร์ม

TikTok

TikTok ประเทศไทยเริ่มทำซีรีส์สั้น เพราะเราอยากเริ่ม Explore คอนเทนต์รูปแบบใหม่ และซีรีส์สงกรานต์ที่เราลงทุนทำนั้น เพื่อให้ผู้ผลิตมืออาชีพค่ายต่างๆ เห็นว่านี่คือ แนวทางการนำเสนอคอนเทนต์ความบันเทิงรูปแบบใหม่ๆ ที่เขาสามารถทำกับ TikTok ได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การทำซีรีส์ เรายังอยู่บนจุดแข็งของการเป็นแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น คงไม่ขยายไปถึง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง เนื่องจากซีรีส์สั้น มีเสน่ห์ตรงที่เนื้อเรื่อง และการนำเสนอกระชับ ดูจบแล้วอยากดูต่อ ทำให้เกิดการดูต่อเนื่อง และสร้าง Engagement ได้ง่าย อีกทั้งผู้ใช้ TikTok ที่ดูซีรีส์แล้ว อาจนำเสียงตัวละครไปเล่นต่อ หรือทำ Challenge ต่อ ยิ่งสร้างกระแสให้กับคอนเทนต์นั้นๆ ได้มากขึ้น 

ในอนาคตเรากำลังคิดอยู่ว่าอาจจะมีแคมเปญว่าถ่ายซีรีส์ไปก่อน จากนั้นให้คนคอมเมนต์ว่าฉากต่อไป ที่อยากเห็นเป็นฉากอะไร แล้วไปถ่ายตามที่คนส่งคอมเมนต์เข้ามามากสุด เพื่อให้ผู้ใช้ TikTok รู้สึกว่ามีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ซีรีส์เรื่องนั้นๆ เพราะเรามองว่า TikTok เป็นมากกว่า Social Media เราเป็นแพลตฟอร์มที่เมื่อไรที่ผู้ใช้เข้ามา จะเจอคอนเทนต์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็น Short Form, Live-streaming, ซีรีส์สั้น

โดยคอนเทนต์นั้น ต้องเป็น Immersive Content นั่นคือ ผู้ใช้สามารถมี Interact กับคอนเทนต์นั้นๆ ได้ อย่าง Live-streaming คนถามได้ หรือซีรีส์สั้น เปิดให้คนโหวตได้ ไม่ใช่เป็นคอนเทนต์สื่อสารทางเดียว นี่จึงทำให้ TikTok เป็นแพลตฟอร์มที่ทำให้ผู้ใช้งานได้มีส่วนร่วมกับแพลตฟอร์ม และคอนเทนต์ได้มาก” คุณสุรยศ เอี่ยมละออ Head of Consumer Marketing สรุปทิ้งท้าย

TikTok

หากซีรีส์บน TikTok มีการตอบรับจากผู้ชมดี และมี Demand อยากดูคอนเทนต์ยาวขึ้น ก็มีความเป็นไปได้ว่า TikTok จะขยายความยาวของคอนเทนต์ให้มากกว่า 3 นาที จะเห็นได้จากปัจจุบัน Douyin แอปพลิเคชันวิดีโอสั้นในเครือ ByteDance ที่มีใช้เฉพาะในประเทศจีน ก็ได้ขยายความยาววิดีโอไปถึง 5 นาทีแล้ว ซึ่งช่วยเพิ่มโอกาสของการสร้างสรรค์คอนเทนต์ได้หลากหลายรูปแบบ


แชร์ :

You may also like