จากผู้สร้างตำนาน “โอ้ว…พระเจ้าจอร์จ มันยอดมาก” ประโยคการันตีสินค้าบนหน้าจอทีวี ที่คนไทยคุ้นหู นับตั้งแต่เริ่มต้นในปี 1999 ถึงวันนี้ 22 ปี “ทีวีไดเร็ค” หรือ TVD ผู้บุกเบิกธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง ขอเดินหน้าทรานส์ฟอร์มองค์กรครั้งสำคัญสู่ Tech Company เกาะเทรนด์อีคอมเมิร์ซกระแสแรง สร้างอีกแหล่งรายได้คู่ทีวีดิจิทัล-ช่องดาวเทียม ปี 2567 ต้องเห็นรายได้ “หมื่นล้าน”
ย้อนดูธุรกิจทีวีช้อปปิ้งที่ TVD ทำไว้ตลอด 22 ปีที่ผ่านมา ต้องเรียกสถิติยาวเยียด เริ่มตั้งแต่จำนวนเวลาที่ใช้ออกอากาศรายการ (Airtime)ทั้งทีวีดิจิทัลและทีวีดาวเทียมรวม 35.66 ล้านนาที “คอลเซ็นเตอร์” รับสายติดต่อสื่อสาร กว่า 223 ล้านครั้ง มีฐานข้อมูลลูกค้ากว่า 10.1 ล้านราย เท่ากับว่า 1 ใน 7 คนของจำนวนประชากรเป็นลูกค้าทีวีไดเร็ค ขายสินค้ามาแล้วกว่า 40,000 ชนิด ยอดขายสะสมตลอด 22 ปี กว่า 39,037 ล้านบาท
สถิติตลอด 22 ปี นั่นคือผลงานในยุคสื่อทีวีทรงอิทธิพล แต่วันนี้รูปแบบการเสพสื่อเปลี่ยนไปออนไลน์กลายเป็นอีกช่องทางหลัก เป็นปัจจัยให้ TVD ต้องปรับตัวเช่นกัน
เทรนด์ทีวีช้อปปิ้งมุ่งหน้าอีคอมเมิร์ซ
หลังจากใช้เวลาปรับโครงสร้างองค์กรตลอดปี 2563 วันนี้หัวเรือใหญ่ TVD คุณทรงพล ชัญมาตรกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีวี ไดเร็ค จำกัด (มหาชน) ย้ำทิศทางธุรกิจทีวีช้อปปิ้งนับจากนี้ต้องขยายน่านน้ำสู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ
หากดูตลาดทีวีช้อปปิ้งต่างประเทศในกลุ่มผู้นำอย่างไต้หวัน ของกลุ่ม Momo.com Inc. ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้ถือหุ้นหลัก TVD 24.99% แนวโน้มชัดเจนว่ารายได้จากอีคอมเมิร์ซแซงหน้าช่องทางทีวีช้อปปิ้งไปหลายปีแล้ว ปี 2020 สัดส่วนอีคอมเมิร์ซอยู่ที่ 91% และนี่คือเส้นทางที่ธุรกิจทีวีช้อปปิ้งของ TVD ในประเทศไทยต้องเดินตาม
นับตั้งแต่จำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในประเทศไทศเติบโตก้าวกระโดด ปัจจุบันอยู่ที่ 57 ล้านคน ธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง ก็โตไม่หวือหวาอีกต่อไป จากเดิมตลาดรวมเคยเติบโตปีละ 20-30% ปี 2020 อยู่ที่ 10% มูลค่าราว 16,000 ล้านบาท อีกทั้งมีคู่แข่งหน้าใหม่ที่เป็นแบรนด์เจ้าของผลิตภัณฑ์และคนดัง สร้างแบรนด์สินค้ามาทำตลาดต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น Amado, กาละแมร์ ที่ทำยอดขายได้สูง ขณะที่ตลาดอีคอมเมิร์ซมีมูลค่า 294,000 ล้านบาท มีช่องทางให้ช้อปหลากหลาย และมีโอกาสขยายตัวได้อีก
นโยบาย TVD ในปี 2021 ในฝั่งธุรกิจ B2C กลุ่มทีวีช้อปปิ้ง จึงใช้กลยุทธ์ Harmonized Channel โดยการใช้ศักยภาพช่องทางการขายต่างๆ ทั้ง ทีวีช้อปปิ้ง คอลล์เซ็นเตอร์ ร้านค้าปลีก TVD Shop และอีคอมเมิร์ซ เพื่อผลักดันการเพิ่มยอดขายจากช่องทางออนไลน์อย่างเต็มตัว
สอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ที่หันมาเลือกซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้น สามารถขายสินค้าได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยช่วงไตรมาส 1-2 จะรุกเพิ่มยอดขายสินค้าบนแพลตฟอร์ม Social Commerce ด้วยคอนเทนต์ที่น่าสนใจผ่านโซเชียลมีเดียต่างๆ เช่น TikTok พัฒนาเว็บไซต์ www.tvdirect.tv และแอปพลิเคชัน TVD เข้าถึงลูกค้าทุกช่องทาง โดยวางเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนยอดขายช่องทางออนไลน์ให้ได้ 15% จากรายได้ 4,000 ล้านบาทในปีนี้ และเป้าหมายในปี 2567 สัดส่วน 50% เท่ากับช่องทางทีวี ด้วยรายได้ 10,000 ล้านบาท
รีโพซิชั่นนิ่งธุรกิจทีวีช้อปปิ้ง
ส่วนช่องทางขายผ่านทีวี ได้รีโพซิชั่นนิ่งธุรกิจทีวีช้อปปิ้งครั้งใหญ่ จากปัจจุบันมีทีวีดาวเทียมทั้งหมด 28 ช่อง โดยวางตำแหน่งทางการตลาดของแต่ละช่องใหม่เป็น 6 กลุ่ม ได้แก่
1.TV Direct ทางทีวีดิจิทัล ซึ่งมีเวลาออกอากาศ 12 ช่อง คือ ช่อง 3 ช่อง 5 ช่อง 7 ช่อง 9 อมรินทร์ทีวี เวิร์คพอยท์ทีวี พีพีทีวี เนชั่นทีวี ช่องวัน จีเอ็มเอ็ม 25 ไทยรัฐทีวี และ นิวทีวี กลุ่มนี้นำเสนอสินค้าใหม่ แปลก และแตกต่าง
2.Joy Shopping ทีวีดาวเทียม ช่อง 37 สินค้ากลุ่มราคาย่อมเยา
3.Smart Shop ทีวีดาวเทียม/เคเบิลทีวี ช่อง 39 สินค้าตลาดแมสแบบห้างสรรพสินค้า
4.Quantum Fitness ทีวีดาวเทียม ช่อง 40 สินค้าฟิตเนสเพื่อออกกำลังกาย
5.Ezy Shop ทีวีดาวเทียม/เคเบิลทีวี ช่อง 48 สินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าอุปโภคบริโภค
6.At Home ทีวีดาวเทียม ช่อง 55 สินค้าสำหรับบ้าน
นอกจากนี้ยังมีพาร์ทเนอร์อีก 3 ช่องทีวีดาวเทียม ที่ทำธุรกิจแบ่งรายได้ร่วมกัน (revenue sharing) คือ ช่อง 56 ขายสินค้าของ RS Mall ช่อง 75 Voice TV และช่อง 77 Top News จากการเปิดตัวของช่อง Top News ล่าสุดซึ่งมีผู้ติดตามชมจำนวนมากเห็นได้จากยอดขายจานดาวเทียมเพื่อดู Top News เพิ่มขึ้นกว่า 2 แสนชุด TVD มีช่วงเวลาขายสินค้า 7 ช่วงต่อวัน ช่วงละ 10 นาที ถือเป็นฐานผู้ชมที่มีกำลังซื้อสูง สามารถขายสินค้าราคาแพงได้ เช่น จักรยานไฟฟ้า ราคา 20,000 บาท
ขณะเดียวกันได้เพิ่มจำนวน Call Center เป็น 500 ราย จากสิ้นปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 300 ราย เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้าเดิมของ TVD ที่มีอยู่กว่า 10.1 ล้านราย และขยายฐานลูกค้าใหม่
เปิดตัว “เอบีพีโอ” มุ่งสู่ Tech Company
ฝั่งธุรกิจ B2B (Business to Business) ได้ปรับโครงสร้างธุรกิจใหม่ควบรวม 7 กลุ่มธุรกิจ จัดตั้งเป็น บริษัท เอบีพีโอ จำกัด (ABPO) ในเครือ TVD โดยได้วางยุทธศาสตร์ทรานส์ฟอร์มองค์กร สู่การเป็นบริษัท Tech Company จากปัจจุบันที่เป็นผู้ดำเนินธุรกิจขายสินค้าและให้บริการที่หลากหลาย เพื่อสร้างฐานธุรกิจให้เติบโตได้ต่อเนื่องในยุคดิจิทัล โดยมี 4 บริการ คือ 1.Contact Center 2.Technology Service Provider 3.Direct Response Agency และ 4.Fulfillment & Logistic
ปัจจุบัน ABPO มีแผนเข้าลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัป Tech Company และได้ทำการลงทุนใน BLOCKFINT บริษัท Fintech สตาร์ทอัป และ Blockchain Technology ผู้พัฒนาระบบซอฟท์แวร์ แอปพลิเคชันสำหรับการสร้าง Neo Banking (ธนาคารดิจิทัลในโลกออนไลน์) ซึ่งเป็นระบบธนาคารรูปแบบใหม่ที่จะเปลี่ยนแปลงการดำเนินธุรกิจธนาคารในอนาคต และ บริษัท EAT LAB ผู้พัฒนาระบบ AI Core Tech เพื่อช่วยผู้ประกอบการร้านอาหารต่างๆ วิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค การพัฒนาโปรโมชั่นที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ
โดยมีแผนงานเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัปต่างๆ มากขึ้น และสนใจขยายการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัปด้าน Food Ordering (สั่งอาหาร) เพื่อเพิ่มสัดส่วนการลงทุนและก้าวสู่การเป็น Tech Company พร้อมทั้งมีเป้าหมายในอนาคตที่จะนำ ABPO เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ต่อไป