ปัจจุบันเป็นยุค “Experience is King” และหนึ่งในการสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้บริโภค คือ “ความสะดวกสบาย” และ “ความรวดเร็ว” กลายเป็นสิ่งพื้นฐานที่ทุกแบรนด์ ทุกสินค้า และบริการต้องมี โดยเฉพาะความสะดวกสบาย และการตอบโจทย์ความรวดเร็วในการ “เข้าถึง” สินค้า – บริการ
ยิ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคมีทางเลือกมากมาย ดังนั้นแบรนด์ไหนที่เข้าถึงผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายได้มากที่สุด ย่อมได้เปรียบทางการแข่งขัน
ด้วยเหตุนี้เองบรรดาแบรนด์สินค้า และบริการต่างๆ จึงพัฒนาโมเดล “ช่องทางการขาย” รูปแบบใหม่ๆ ที่เล็กลง มีความยืดหยุ่น และคล่องตัว เพื่อเข้าถึงผู้บริโภคได้ในโลเกชั่นต่างๆ ทุกหนแห่ง โดยไม่มีข้อจำกัด “ขนาดพื้นที่” มาเป็นอุปสรรค
โมเดลช่องทางการขายยอดนิยมในเวลานี้ มี 2 รูปแบบคือ
“รถเคลื่อนที่” ไม่ว่าจะในรูปแบบรถ Truck นำมาดัดแปลงเป็นรถขายของเคลื่อนที่ มีตั้งแต่รถบรรทุกขนาดใหญ่ นำไปจอดตามอีเว้นท์ หรือสถานที่ต่างๆ ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง และรถบรรทุกขนาดเล็ก มีทั้งตั้งจุดจอดประจำ และตระเวนไปตามแหล่งชุมชน ย่านคนทำงานออฟฟิศ ย่านที่พักอาศัย รวมถึงการนำยานพาหนะบางประเภทมาทำเป็นรถขายของเคลื่อนที่เช่นกัน
“ร้าน Grab & Go” หรือ “ร้าน To Go” เป็นรูปแบบร้านขนาดเล็กที่ตอบโจทย์ความสะดวก และรวดเร็ว เน้นตั้งอยู่ในโลเกชั่นที่มีคนเดินผ่านไปมาตลอดทั้งวัน เช่น รถไฟฟ้า ในอาคารสำนักงาน ในขณะที่สินค้านำมาจำหน่าย เป็นสินค้าพร้อมรับประทาน ลูกค้าหยิบ และจ่ายเงิน แล้วไป หรือถ้าเป็นเครื่องดื่ม ใช้เวลาทำไม่นาน
หาคำตอบทำไม “รถขายของเคลื่อนที่” และ “ร้าน Grab & Go” จึงเป็นโมเดลร้านค้ายอดนิยมแห่งยุค!
อันที่จริง “รถขายของเคลื่อนที่” อยู่คู่กับสังคมไทยมายาวนาน ตั้งแต่รถเข็น ไปจนถึงการนำรถกระบะ มาทำเป็นร้านขายของเคลื่อนที่ หรือที่คนไทยเรียกว่า “รถพุ่มพวง” มีทั้งรถพุ่มพวงอาหารสด รถพุ่มพวงข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้าน เช่น เครื่องจักสาร ไม้กวาด ภายในเต็มไปด้วยสินค้าต่างๆ มากมาย และขับตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ เช่น ในชุมชน ในหมู่บ้าน พร้อมเสียงประกาศเชิญชวนให้คนในชุมชน ในหมู่บ้านนั้นๆ มาซื้อ
ต่อมารถขายของเคลื่อนที่ในไทย ได้ถูกออกแบบให้ใหญ่ขึ้น ดีไซน์ดึงดูดสายตาของผู้ที่ผ่านไปมากขึ้น โดยนำรถบรรทุกมาทำเป็นรถขายของ (Mobile Truck) โดยเฉพาะรถบรรทุกขนาดเล็ก โดยประเภทธุรกิจที่นิยมทำคือ “อาหารและเครื่องดื่ม” หรือเรียกว่า “Food Truck” เป็นกระแสฮิตในไทยเมื่อหลายปีก่อน โดยส่วนใหญ่คนเช่น Food Truck เบอร์เกอร์, Food Truck เครื่องดื่ม, Food Truck ไอศกรีม
ภายในมีพื้นที่ประกอบอาหาร และจอดให้บริการในสถานที่หนึ่งๆ เช่น ในพื้นที่ของ Community Mall ที่จัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งให้กับร้านค้าขนาดเล็ก ภายในพื้นที่ Flea Market ตามงานอีเว้นท์ แหล่งคนหนาแน่น เช่น ย่านอาคารสำนักงาน
กระแส Food Truck เกิดขึ้นในไทยยุคนั้น มาพร้อมกับการเติบโตของคนรุ่นใหม่ ที่อยากเป็นเจ้าของกิจการ ประกอบกับมีค่ายรถยนต์ พัฒนารถ-ออกแบบ และตกแต่งให้เป็นร้านค้าเคลื่อนที่ นำเสนอสู่ตลาดมากขึ้น จึงทำให้ร้านรูปแบบ Food Truck ส่วนใหญ่ในยุคนั้น เจ้าของเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ เพราะด้วยจุดเด่นใช้เงินลงทุนไม่สูงมาก มีความคล่องตัวสูง สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเป้าหมายได้ถึงที่ ใช้คนน้อย และบริหารจัดการได้ง่ายกว่า เมื่อเทียบกับการเปิดหน้าร้านแบบถาวร
ขณะที่เวลานี้ “รถขายของเคลื่อนที่” กลายเป็นช่องทางการขายที่ “แบรนด์ใหญ่” หลายแบรนด์ ต่างกำลังลงทุนในโมเดลนี้ และให้ความสำคัญไม่น้อยไปกว่าการเปิดร้านสาขาภายในศูนย์การค้า
เช่นเดียวกับโมเดล “ร้าน Grab & Go” เป็นร้านขนาดเล็ก ทุกวันนี้กลายเป็นอีกหนึ่งโมเดลช่องทางการขายหลักของแบรนด์ต่างๆ ในธุรกิจอาหาร และเครื่องดื่ม เพื่อเข้าไปอยู่ในชีวิตประจำวันของผู้บริโภคตลอดทั้งวัน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งรีบ เช่น ช่วงเช้า
เหตุผลหลักที่ทำให้แบรนด์สินค้าและบริการต่างๆ โดยเฉพาะในธุรกิจอาหาร – เครื่องดื่ม และสินค้าไลฟ์สไตล์ในชีวิตประจำวัน ขยายร้าน ด้วยโมเดล “รถเคลื่อนที่” และ “ร้าน Grab & Go” นั่นเพราะ
1. Market Penetration: รุกขยายจุดจำหน่าย เข้าถึงผู้บริโภคให้ได้มากที่สุด
เดิมทีแบรนด์ใหญ่ เน้นขยายสาขาใน Modern Retailer เช่น ศูนย์การค้า ไฮเปอร์มาร์เก็ต คอมมูนิตี้มอลล์ ข้อดีของการเปิดสาขาค้าปลีกเหล่านี้ คือ มี Traffic โดยไลฟ์สไตล์คนไทยชอบเดิน และจับจ่ายในสถานที่เหล่านี้อยู่แล้ว และแบรนด์สามารถสร้างช้อปที่สื่อสารแบรนด์ และภาพลักษณ์
ยิ่งในธุรกิจร้านอาหาร ที่ผ่านมาฟู้ดเชนโฟกัสขยายสาขาไปตามค้าปลีกสมัยใหม่ และเน้นให้บริการ Dine-in เป็นหลัก แต่การเกิดขึ้นของ COVID-19 ได้เปลี่ยน Landscape ธุรกิจนี้เปลี่ยนไป โดยผู้บริโภคใช้บริการรับประทานที่ร้านน้อยลง ใช้เวลาอยู่ในศูนย์การค้าลดลง และหันไปใช้บริการ Food Delivery กับ Take Away มากขึ้น
ประกอบกับการเติบโตของธุรกิจ ไม่จำกัดอยู่แค่ในสถานที่ค้าปลีกสมัยใหม่เท่านั้น ยังมีอีกหลายโลเกชั่นที่ทำให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้น
ด้วยเหตุนี้เองศูนย์การค้า และค้าปลีกสมัยใหม่เซ็กเมนต์ต่างๆ จึงไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของการขยายสาขาร้าน แบรนด์ต่างปรับเปลี่ยนรูปแบบช่องทางการขาย ด้วยการพัฒนาโมเดลที่มีขนาดเล็กลง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบรถเคลื่อนที่ หรือร้าน To Go เพื่อตอบโจทย์ทั้งต้นทุน ความคล่องตัว ความรวดเร็วในการรุกขยายจุดจำหน่ายเพิ่มเติม และเพื่อยกแบรนด์และสินค้าไปนำเสนอให้กับผู้บริโภคในพื้นที่นั้นได้โดยตรง เช่น สถานีบริการน้ำมัน ย่านอาคารสำนักงาน รถไฟฟ้า โรงพยาบาล ย่านชุมชน
2. Network Synergy: สร้างเครือข่ายร้าน เพิ่มจุดบริการ Delivery – Take Away
สำหรับธุรกิจเชนร้านอาหาร นอกจากสาขาร้านเต็มรูปแบบแล้ว การเปิดร้านขนาดเล็กที่อยู่นอกศูนย์การค้า หรือค้าปลีกเซ็กเมนต์อื่น ยังใช้เป็น Network ที่แข็งแกร่งในการให้บริการ Food Delivery ในพื้นที่โซนต่างๆ เพื่อให้บริการได้ครอบคลุม และตอบโจทย์บริการ Take Away สำหรับลูกค้าที่ต้องการซื้อกลับ
3. Touch Point: เชื่อมโยงแบรนด์ กับชุมชน
ถึงแม้จะเป็นสาขาขนาดเล็ก แต่ในความเล็กที่กระจายสาขาอยู่ตามโลเคชั่นต่างๆ กลับมามีพลังในการเป็น Touch Point สื่อสารแบรนด์ตรงถึงผู้บริโภคในทำเล หรือย่านนั้นๆ ได้เห็น และได้รับรู้สินค้า – โปรโมชั่นใหม่ที่แบรนด์กำลังโปรโมท และเกิดการ Remind แบรนด์
เปิดเคส “Mister Donut – Oishi – Sizzler – MUJI” ยกสินค้าขึ้นรถเคลื่อนที่ – เปิดร้าน To Go เจาะตรงถึงชุมชน
เวลานี้จะเห็นแบรนด์ใหญ่ขยับมาทำโมเดลรถขายของเคลื่อนที่ และร้าน To Go มากขึ้น ดังเช่น 4 แบรนด์นี้
“Mister Donut” จับรถตุ๊กตุ๊ก แปลงเป็นร้านโดนัทเคลื่อนที่
Mister Donut (มิสเตอร์ โดนัท) อีกหนึ่งแบรนด์สำคัญในเครือ CRG ที่ปัจจุบันมี 375 สาขา และมีหลาย Store Format เพื่อให้แต่ละรูปแบบ Match กับโลเกชั่น และพฤติกรรมลูกค้าแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบร้าน 189 สาขา Kiosk 177 สาขา Food Truck 5 สาขา Delco Container 3 สาขา และล่าสุดเปิดตัวช่องทางการขายใหม่ “รถสามล้อโมเดล” (Mobile Tuk Tuk Model) ขณะนี้มี 1 คัน
เหตุผลที่เลือกนำ “รถตุ๊กตุ๊ก” มาพัฒนาเป็นร้านขายโดนัทเคลื่อนที่ เพราะด้วยจุดเด่นคือ เป็นโมเดลขนาดเล็ก จึงคล่องตัว และยืดหยุ่นสูง สามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ ไปตามย่านต่างๆ เช่น สถานศึกษา โรงพยาบาล และชุมชนต่างๆ เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้าได้หลากหลายกลุ่ม และเข้าไปอยู่ใน Occasion การบริโภคได้มากขึ้น ขณะเดียวกันเป็น Touch Point สื่อสารแบรนด์กับผู้บริโภคที่ผ่านไปมาแล้วเห็น
ที่สำคัญด้วยความที่เป็นโมเดลช่องทางการขายขนาดเล็ก จึงไม่ต้องใช้เงินทุนสูง ทำให้ CRG เล็งเห็นว่าเป็นโมเดลตุ๊กตุ๊ก สามารถต่อยอดสู่การขายแฟรนไชส์ได้ โดยมีแผนเปิดให้ผู้ประกอบการรายย่อย กลุ่มนักลงทุนใหม่ และกลุ่มผู้ประกอบการคนรุ่นใหม่ที่สนใจเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรทำธุรกิจร่วมกัน
อ่านเพิ่มเติม CRG :
- 4 เหตุผล ‘เซ็นทรัล’ เปิดโมเดล Delco ‘มิสเตอร์ โดนัท – อานตี้ แอนส์’ ขยายสาขาเข้าชุมชน-ปั๊มน้ำมัน
- สำรวจตลาดร้านอาหารปี ‘64 “CRG” ชู 5 กลยุทธ์ทรานส์ฟอร์มธุรกิจ “สาขาโมเดลใหม่ – ทำ M&A – ขายแฟรนไชส์”
“Oishi” จากร้าน Dine-in สู่โมเดล “Food Truck” และ “To Go”
ที่ผ่านมากลุ่มธุรกิจร้านอาหารของ Oishi Group (โออิชิ กรุ๊ป) เน้นให้บริการ Dine-in แต่ผลจาก COVID-19 ที่ทำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนไป และถึงแม้คนยังเดินศูนย์การค้า หรือค้าปลีกเซ็กเมนต์อื่น แต่ใช้เวลาน้อยลง
Oishi จึงมองว่าการเปิดร้านในศูนย์การค้าที่ปัจจุบันคนเดินน้อยลง อาจไม่ใช่คำตอบสุดท้ายของ Oishi เสมอไป ในขณะที่โจทย์ใหญ่สำคัญอันดับแรก คือ Penetrate เข้าถึงลูกค้าให้ได้มากที่สุด จากปัจจุบันจำนวนร้านอาหารในเครือ Oishi (ณ ตุลาคม – ธันวาคม 2563) มี 265 สาขา ด้วยการออกฟอร์แมตช่องทางการขายใหม่
– Food Truck มีจุดจอดตามหมู่บ้าน อาคารสำนักงานต่างๆ เพื่อให้ผู้บริโภคเข้าถึงสินค้าของ Oishi โดยเมนูที่จำหน่าย เน้นเมนูอาหารรับประทานได้สะดวก เช่น เมนูเบนโตะต่างๆ ซูชิ มากิ
– ร้าน Oishi To Go โดยจัดสรรพื้นที่ร้านรูปแบบ Dine-in ส่วนหนึ่ง มาทำเป็นมุม Grab & Go ขายสินค้าพร้อมรับประทาน ปัจจุบันมี 3 สาขา คือ Oishi Eaterium แฟชั่นไอส์แลนด์ Shabushi เดอะมอลล์ บางกะปิ Shabushi ซีคอนสแควร์ (ชั้น G)
“Sizzler” ใช้โมเดล Grab & Go เข้าถึงผู้บริโภคตลอดวัน
เป็นอีกเชนร้านอาหารหนึ่งที่เน้นให้บริการ Dine-in มาโดยตลอด และสาขาส่วนใหญ่อยู่ในศูนย์การค้า แต่จากการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคที่หันมาใส่ใจสุขภาพ และไลฟ์สไตล์เร่งรีบ เมื่อปีที่แล้ว “Sizzler” (ซิซซ์เล่อร์) ได้เปิดตัวโมเดล “Sizzler To Go” (ซิซซ์เล่อร์ ทู โก) ร้านคีออสรูปแบบ Grab & Go ขยายสาขาตามสถานีรถไฟฟ้า อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล และโลเกชั่นขนาดเล็ก มีผู้คนหนาแน่น ถึงปัจจุบันมี 7 สาขา รองรับทั้งการซื้อแบบ Take Away และ Delivery
สินค้าที่จำหน่ายเน้นตอบโจทย์สุขภาพ และเป็นอาหารพร้อมรับประทาน เช่น สลัด แซนด์วิช น้ำผัก-ผลไม้ พร้อมทั้งปรับเมนู Signature มาบรรจุในกล่อง เช่น เมนู Steak Box
การเปิด “Sizzler To Go” (ซิซซ์เล่อร์ ทู โก) เป็นทั้ง Channel Network และ Touch Point ในการเข้าถึงโอกาสการบริโภคของผู้บริโภคกลุ่ม Urban Lifestyle เร่งรีบ และต้องการความสะดวก รวดเร็ว ในตลอดทั้งวัน ตั้งแต่มื้อเช้า – กลางวัน – เย็น ไปจนถึงมื้อรอง
อีกทั้งยังเป็นโมเดลที่ตอบโจทย์ช่วงเวลาการให้บริการต่อวันที่นานขึ้น เพราะเปิดตั้งแต่ 6.00 – 20.00 น. โดยเฉลี่ยประมาณ 13 – 14 ชั่วโมงต่อวัน แตกต่างจากสาขาในศูนย์การค้า ที่มีข้อจำกัดด้านช่วงเวลาให้บริการที่เปิดให้บริการตั้งแต่ 10.00 น. เป็นต้นไป จนถึงประมาณ 21.00 – 21.30 น. เฉลี่ย 11 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น
นอกจากนี้ ด้วยความที่เครือไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป เป็นฟู้ดเชนรายใหญ่ที่มี Brand Porftolio หลายแบรนด์ ได้ใช้จุดแข็งนี้ ทำ Synergy แบรนด์ในเครือ โดยนำเชนร้าน The Coffee Club ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักในช่วง COVID-19 เนื่องจากสาขาส่วนใหญ่อยู่ในแหล่งท่องเที่ยว จึงได้ปรับกลยุทธ์เอาบริการเครื่องดื่ม The Coffee Club มาไว้ในสาขา Sizzler To Go เพื่อสร้างความหลากหลายของสินค้า และเพิ่มโอกาสการขายให้กับเชนร้านกาแฟนี้ได้เข้าถึงผู้บริโภคมากขึ้น
อ่านเพิ่มเติม Minor Food Group:
“MUJI” ใช้รถพุ่มพวง สร้างความสัมพันธ์แบรนด์ กับคนท้องถิ่น
ในปี 2019 Ryohin Keikaku บริษัทแม่ของ MUJI และเมืองซาคาตะ (Sakata) ตั้งอยู่ในจังหวัดยามากาตะ (Yamagata) ได้จับมือร่วมกันทำ Sakata Project เพื่อพัฒนาเมืองแห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง โดย MUJI ได้ส่งพนักงาน 17 คนลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของคนในพื้นที่ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่น เพื่อนำไปจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพชีวิต พร้อมทั้งนำเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัด
จากการสำรวจพบว่าเมืองซาคาตะ เป็นเมืองที่อัตราการเกิดของประชากรลดลง และผู้คนที่อาศัยส่วนมากเป็นผู้สูงอายุ ดังนั้นเพื่อสร้างความสะดวกให้กับคนในเมืองนี้ ไม่ต้องเดินทางไปซื้อสิ่งของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน
ในสเต็ปแรก “MUJI” ได้นำรถบรรทุกขนาดเล็กมาทำเป็นรถ MUJI คลื่อนที่ หรือรถพุ่มพวงที่ภายในรถมีเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องเขียน และของใช้ในชีวิตประจำวันต่างๆ โดยลงพื้นที่ใน 4 เขตคือ Nikko, Osawa, Kanonji และ Ichijo รวมทั้งพื้นที่แถบภูเขา ด้วยมุ่งหวังให้รถพุ่มพวง MUJI สร้างความสัมพันธ์ระหว่างแบรนด์ กับผู้คนในท้องถิ่น และระหว่างคนในชุมชนด้วยกัน
อ่านเพิ่มเติม MUJI :
นี่เป็นตัวอย่างส่วนหนึ่งของแบรนด์ใหญ่ ที่ขยับตัวมาสร้างช่องทางการขายรูปแบบรถขายของเคลื่อนที่ และร้าน Grab & Go สำหรับเจาะตรงถึงผู้บริโภคในชุมชน หรือย่านนั้น ถึงแม้มีขนาดเล็กลง แต่กลับเป็นโมเดลที่ใช้ต้นทุนทั้งการลงทุน และบุคลากรน้อย มีความคล่องตัว และยืดหยุ่นสูง เชื่อว่าต่อไปตามโลเกชั่นต่างๆ จะปรากฏภาพหน่วยรถเคลื่อนที่ และร้านซื้อกลับลักษณะนี้อีกมากมาย