เอไอเอส (AIS) เปิดภาพรวมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ยอดการใช้งานเติบโต 30% นับแต่มี Covid-19 ไม่ต่างจากเม็ดเงินในการลงทุนเครือข่ายเพื่อรองรับ 5G ที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน ขณะที่รายได้นั้นพบว่าไม่เติบโตอย่างที่ควรจะเป็น โดยผู้บริหารเอไอเอสคาดการณ์ว่าอาจเติบโตเพียง 2 – 5% เท่านั้น
สำหรับรูปแบบการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคมที่กล่าวมานั้น คุณสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร AIS มองในแง่ดีว่า ส่วนหนึ่งมาจากกระแส Digitalization ที่ทำให้งานต่าง ๆ ปรับตัวเข้าสู่ระบบดิจิทัล ประกอบกับการ Work From Home ที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทำให้มีการใช้งานเครือข่ายเพิ่มขึ้น
ส่วนปัจจัยที่ทำให้รายได้ไม่เติบโตเท่าที่ควรนั้น ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับกำลังซื้อของผู้บริโภค เนื่องจากการระบาดของ Covid-19 กระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้าง แต่กระนั้นก็ยังถือว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ได้รับผลกระทบน้อยเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่มีการเติบโตติดลบ เช่น อุตสาหกรรมท่องเที่ยว
สำหรับแผนการดำเนินงานในปีนี้ นอกจากปรับการทำงานขององค์กรสู่โหมด Work From Home 100% แล้ว ผู้บริหารเอไอเอสยังต่อยอดโครงการ AIS 5G สู้ภัย COVID-19 เพื่อรับมือการระบาดในระลอกสาม ใน 4 ด้านประกอบด้วย
- การนำเครือข่าย AIS 5G, 4G และ Free Wifi ช่วยสนับสนุนโรงพยาบาลสนาม 31 แห่ง หรือคิดเป็นจำนวนเตียงกว่า 10,000 เตียง เพื่อให้ผู้ป่วย และบุคลากรทางการแพทย์ได้เข้าถึงอินเทอร์เน็ต และสามารถทำระบบ CCTV เพื่อเฝ้าระวังผู้ป่วย ลดความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังสามารถส่งต่อข้อมูลการแพทย์ได้อย่างรวดเร็ว
- การนำเทคโนโลยีการแพทย์ทางไกล หรือ Telemedicine เข้ามาช่วย ผ่านพาร์ทเนอร์อย่างแอปพลิเคชัน มีหมอ (Me-More) โดยจะให้บริการในโรงพยาบาลสนามในกรุงเทพมหานคร
- การใช้ AI ร่วมกับ CT Scan ในการตรวจวินิจฉัยทางเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) ปอดของผู้ป่วย เพื่อวิเคราะห์ผู้ติดเชื้อ Covid-19 (ปัจจุบันใช้งานอยู่ที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ โรงพยาบาลน่าน โรงพยาบาลร้อยเอ็ด และโรงพยาบาลเพชรบูรณ์) ซึ่งสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้ภายในเวลา 25 วินาทีต่อ 1 เคส ความแม่นยำสูงสุดในการวินิจฉัยสูงถึง 96% ความรวดเร็วนี้ช่วยให้บุคลากรทางการแพทย์ได้รับความปลอดภัย ลดปริมาณการตรวจสารคัดหลั่ง ลดจำนวนชุดตรวจ COVID-19 ช่วยลดการใช้ PPE และแบ่งเบาภาระให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ได้อีกทางหนึ่ง
- การสนับสนุนการใช้งานแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ โดยเอไอเอสพัฒนาแอปพลิเคชันดังกล่าวมาแล้วกว่า 4 ปี และมีผู้ใช้งานเป็น อสม. มากกว่า 500,000 ราย ส่วนหนึ่งเอไอเอสชี้ว่าแอปดังกล่าวมีฟีเจอร์ที่กระทรวงสาธารณสุขมองว่าจำเป็น เช่น การติดตาม เฝ้าระวังผู้ป่วย ดูแลสุขภาพจิตผู้ป่วยหลังจากหาย ฯลฯ
ทั้งนี้คุณสมชัย เผยว่า ทั้ง 4 ข้อไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเป็นสิ่งที่เอไอเอสเคยทำมาแล้ว ในการระบาดระลอก 1 – 2 แต่มองว่า การลงมาช่วยดังกล่าวจะทำให้การรับมือกับ Covid-19 รอบนี้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
โควิด-19 ระลอกสาม พิสูจน์ใจ “ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก”
สิ่งที่น่าสนใจอาจเป็นสิ่งที่ผู้บริหารเอไอเอสทิ้งท้ายหลังให้ข้อมูลด้านการช่วยเหลือ เพราะที่ผ่านมา เราอาจได้ยินสำนวน “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก – ปลาเร็วกินปลาช้า” มาอย่างต่อเนื่อง แต่ผู้บริหารเอไอเอสมองว่า สถานการณ์ที่กำลังเกิดขึ้นนี้ ต้องใช้แนวคิด “ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก” ทุกคนจึงจะสามารถรอดพ้นได้อย่างปลอดภัย
“สถานการณ์ในปัจจุบันมีจุดที่น่ากังวลหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความกังวลของคนไทยต่อการระบาด Covid-19 ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก (ปีที่แล้วคนไทยมีความกังวลมากกว่า ทั้ง ๆ ที่สถิติผู้ติดเชื้อต่ำมากเมื่อเทียบกับการระบาดในระลอกสามนี้) และมองว่าโมเดลสามประสาน นั่นคือ การที่สามองค์กรอย่างรัฐบาล เอกชน และประชาชน ร่วมมือกันอย่างจริงจังจะสามารถนำพาประเทศไทยให้รอดพ้นจาก Covid-19 ได้”
“รัฐบาลต้องเตรียมพร้อมเรื่องวัคซีนให้ได้ เพราะวัคซีนคือคำตอบ คือภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดระลอก 4 – 5 ขึ้นได้อีก นอกจากนั้นก็ต้องเตรียมมาตรการเยียวยา อย่าเยียวยาระยะสั้นอย่างเดียว ต้องหาทางฟื้นฟูกิจการขนาดเล็กให้กลับขึ้นมาด้วย ส่วนภาคประชาชน อย่ารอให้รัฐบาลมาช่วยอย่างเดียว ทุกคนต้องลุกขึ้นมาช่วยกัน ปรับตัวเอง รู้จักประหยัด ได้เงินเยียวยามา ก็ต้องรู้จักปรับตัวรับดิจิทัล”
“สุดท้ายคือภาคเอกชนที่แข็งแรงอยู่แล้ว เราเห็นสัญญาณที่ดี กับการที่ 40 ซีอีโอเข้าไปคุยกับสภาหอการค้าไทย รวมถึงยังมี 200 ซีอีโอที่บอกว่าพร้อมสนับสนุนงบประมาณให้กับประเทศ แต่เราก็อยากเห็นความร่วมไม้ร่วมมือกันมากกว่านี้ เหมือนที่เอไอเอสทำเน็ตเวิร์กให้ รพ. สนามไปแล้ว 31 แห่ง ถ้าค่ายอื่นอยากมาทำ ก็สามารถทำกับ รพ.สนามแห่งอื่น ๆ ได้เช่นกัน”
คุณสมชัยยังได้กล่าวทิ้งท้ายด้วยว่า ในสถานการณ์เช่นนี้ ต้องใช้คอนเซ็ปต์ ปลาใหญ่ช่วยปลาเล็ก เพราะมีความจำเป็นอย่างมากที่องค์กรใหญ่ ๆ จะต้องยอมผ่อนคลาย กฎกติกา การแข่งขัน ยอมให้รายเล็กเติบโตบ้าง
“เอไอเอสไม่ต้องการเป็นปลาใหญ่กินปลาเล็ก แต่ปลาใหญ่ต้องช่วยปลาเล็ก เพราะถ้าในระยะยาวองค์กรต่าง ๆ ไม่สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนได้จริงสุดท้ายก็จะตายหมด และถ้ารายเล็กตายหมด รายใหญ่อย่างเราจะตายตาม ดังนั้น องค์กรที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ต้องเป็นพี่ใหญ่ช่วยน้องเล็กให้ได้ ต้องเป็นปลาใหญ่พาปลาเล็กว่ายผ่านคลื่นที่จะถาโถมเข้ามา ถ้าทำได้ทุกคนจะแข็งแรงทั้งหมด ถ้าเราไม่ช่วยรายเล็ก การเติบโตจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างยั่งยืน”