นอกจาก “กิมจิ” เป็นอาหารประจำชาติเกาหลีใต้ ที่อยู่ในทุกมื้ออาหารแล้ว ยังเป็นสินค้าทางวัฒนธรรมที่ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศ กลายเป็นหนึ่งในสินค้าสร้างรายได้ให้กับประเทศ
ยิ่งในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ความต้องการกิมจิของเกาหลีใต้ในตลาดต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้ยอดส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้ นับตั้งแต่ปี 2021 และล่าสุดไตรมาส 1 ของปี 2021 ยังคงเติบโตต่อเนื่อง
โดยก่อนหน้านี้ สมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี (Korea International Trade Association) รายงานยอดการส่งออกกิมจิของเกาหลีใต้ (ระหว่างเดือนมกราคม – ตุลาคม 2020) มีปริมาณอยู่ที่ 32,833 ตัน เพิ่มขึ้น 42.1% คิดเป็นมูลค่า 119.09 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 36.4% ทั้งปริมาณ และมูลค่าการส่งออกดังกล่าว แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์
10 อันดับประเทศที่นำเข้ากิมจิจากเกาหลีใต้มากสุดคือ
- ญี่ปุ่น คิดเป็นสัดส่วน 49.9% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 59,481 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สหรัฐอเมริกา 15.7% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 18,684 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ฮ่องกง 5.3% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 6,281 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ไต้หวัน 4.1% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 4,922 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ออสเตรเลีย 4.0% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 4,783 ล้านเหรียญสหรัฐ
- เนเธอร์แลนด์ 3.2% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3,794 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สิงคโปร์ 2.8% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3,347 ล้านเหรียญสหรัฐ
- สหราชอาณาจักร 2.6% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 3,060 ล้านเหรียญสหรัฐ
- แคนาดา 2.3% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 2,764 ล้านเหรียญสหรัฐ
- มาเลเซีย 1.3% ของการส่งออกทั้งหมด คิดเป็นมูลค่า 1,591 ล้านเหรียญสหรัฐ
Q1/2021 ส่งออกกิมจิ ยังโตไม่หยุด!
ข้อมูลจาก กรมศุลกากรเกาหลีใต้ ได้รายงานภาพรวมการส่งออกกิมจิ เกาหลีใต้ไปยังตลาดต่างประเทศในไตรมาส 1/2021 (มกราคม – มีนาคม) ส่งออกปริมาณ 11,181 ตัน คิดเป็นมูลค่า 46.6 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 54.3% ทำลายสถิติมูลค่าการส่งออกในไตรมาส 2/2021 มีมูลค่าที่ 42 ล้านเหรียญสหรัฐ
ขณะที่การนำเข้ากิมจิในไตรมาสแรกของปีนี้ ปริมาณ 67,940 ตัน มูลค่าการนำเข้า 38.5 ล้าน ปริมาณการนำเข้า ส่งผลให้เกินดุลการค้า 8.06 ล้านเหรียญสหรัฐ นับว่าสูงสุดในรอบ 11 ปี นับตั้งแต่ปี 2009 เวลานั้นเกินดุลการค้าอยู่ที่ 9.34 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้กิมจิ ที่ผลิตในเกาหลีใต้ ส่งออกไปยังประเทศต่างๆ มีราคาแพงกว่ากิมจิที่ผลิตนอกเกาหลี และถูกนำเข้ามาในประเทศเกาหลีใต้
3 ตลาดหลักที่นำเข้ากิมจิ จากเกาหลีใต้ คือ
- ญี่ปุ่น นำเข้าเพิ่มขึ้น 67.9% คิดเป็นมูลค่า 24.72. ล้านเหรียญสหรัฐ
- สหรัฐฯ นำเข้าเพิ่มขึ้น 80.6% คิดเป็นมูลค่า 8.46 ล้านเหรียญสหรัฐ
- ฮ่องกง นำเข้าเพิ่มขึ้น 50.3% คิดเป็นมูลค่า 2.34 ล้านเหรียญสหรัฐ
หาคำตอบทำไม Demand กิมจิเพิ่มขึ้น ?
เหตุผลที่ทำให้ Demand กิมจิจากเกาหลีใต้ในต่างประเทศเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ยอดส่งออกเติบโต มาจาก 2 ปัจจัยหลักคือ
1. คนสนใจ Healthy Food มากขึ้น เนื่องจากกิมจิ เป็นหนึ่งในอาหารที่มีจุลินทรีย์โพรไบโอติกส์ (Probiotics) เป็นจุลินทรียดี ที่พบได้ในอาหาร เช่น นมเปรี้ยว, โยเกิร์ต, กิมจิ ช่วยเรื่องระบบย่อยอาหาร และวัตถุดิบกิมจิ คือ ผัก ที่คนเกาหลีนำผักต่างๆ มาทำเป็นกิมจิหลากหลายประเภท เช่น กิมจิผักกาดขาว, กิมจิหัวไชเท้า, กิมจิแตงกวา, กิมจิต้นหอม ซึ่งการบริโภคผักช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย
ในช่วง COVID-19 ผู้คนต่างตระหนักในการดูแลสุขภาพมากขึ้น และเลือกบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ ทำให้กิมจิ นอกจากเป็นเครื่องเคียงอาหารทุกมื้อของชาวเกาหลีอยู่แล้ว ยังได้รับความนิยมในประเทศต่างๆ มากขึ้นด้วย
2. กระแส Korean Wave ยังมาแรง เป็นผลมาจากการที่ภาครัฐ และภาคเอกชน ผนึกกำลังใช้พลัง Soft Power เพื่อสร้าง K Wave หรือคลื่นปรากฏการณ์เกาหลีให้เข้าไปอยู่ในวิถีชีวิตของคนทั่วโลก ผ่าน 4 เสาหลักคือ
– K-Content หรือ K-Entertainment ประกอบด้วย K-Pop, K-Series, K-Movie, K-Variety Show, K-Comic, K-Animation
– K-Beauty ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว และความงามแบรนด์เกาหลีต่างๆ
– K-Food มีทั้งอาหาร ผลไม้ – เครื่องดื่มประจำชาติดั้งเดิมของชาวเกาหลี และเมนูอาหารครีเอทใหม่ ที่กลายมาแพร่หลายในประเทศอื่นด้วยเช่นกัน
– K-Goods สินค้าต่างๆ แบรนด์เกาหลี
จะสังเกตได้ว่าเวลาที่เราดูคอนเทนต์บันเทิง ไม่ว่าจะเป็นซีรีส์ หนัง และรายการวาไรตี้เกาหลี จะเห็นกิมจิปรากฏอยู่ในคอนเทนต์นั้นๆ เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเป็นเครื่องเคียง หรือเป็นส่วนหนึ่งของวัตถุดิบเมนูอาหารมื้อนั้น เช่น ซุปกิมจิเต้าหู้อ่อน, ข้าวผัดกิมจิ ทำให้คนดูได้รับวัฒนธรรมอาหารเกาหลี ผ่านคอนเทนต์เหล่านี้ และนำไปสู่การสัมผัสประสบการณ์จริง ด้วยการรับประทานอาหารเกาหลี ทำให้วัฒนธรรมเกาหลีกลายเป็นส่วนหนึ่งของคนทั่วโลก โดยที่สุดแล้วส่งผลต่อการเติบโตของมูลค่าทางเศรษฐกิจประเทศเกาหลี
Cho Eui-yun นักวิจัยของ สมาคมการค้าระหว่างประเทศแห่งเกาหลี แสดงความเห็นว่า “แม้จะมีข้อถกเถียงกันในเรื่องมาตรฐานกิมจิสากลกับประเทศจีน แต่ทุกวันนี้กิมจิจากเกาหลีใต้ ก็ปรากฏอยู่บนโต๊ะอาหารทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ได้ถึงสถานะของเกาหลีในการเป็นแหล่งกำเนิดกิมจิ และจากความต้องการการบริโภคกิมจิที่เพิ่มขึ้น ได้รับการยอมรับว่ามีประโยชน์ต่อสุขภาพ เราจึงคาดการณ์ว่าการส่งออกกิมจิเกาหลี ยังคงเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะถ้ามีการเพิ่มกำลังการผลิตภายในประเทศ และพัฒนาคุณภาพสินค้า”
Credit Photo : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand