หลังจากเกิดการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ คลัสเตอร์สถานบันเทิง กระจายไปกว่า 20 จังหวัด มีประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยง เข้าตรวจหาเชื้อโควิด จำนวนมากในโรงพยาบาลเอกชน ทำให้ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน โรงพยาบาลเอกชน หลายแห่งประกาศ “งด” รับตรวจโควิด เพราะคนไข้ล้น ไม่มีเตียงรักษา
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่ากรณีประชาชนไปตรวจโควิด-19 ที่โรงพยาบาลเอกชน และพบว่าติดเชื้อ แต่โรงพยาบาลไม่มีเตียงรักษา หากเจอปัญหานี้ ผู้ติดเชื้อที่ต้องการเตียงให้ โทรสายด่วน 1668 (กรมการแพทย์) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่จะจัดหาเตียงรักษาให้ผู้ป่วยติดเชื้อโควิด
ส่วนประชาชนที่สงสัยว่าตัวเองเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ ก่อนไปตรวจโควิด ให้ประเมินตัวเองผ่านแอป หรือหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการประเมินอาการให้ โทร.1422
โดยหลักการแล้ว กรมการแพทย์ เป็นเจ้าภาพดูแลการบริหารจัดการเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ปริมณฑล และทั่วประเทศ ทำงานร่วมกับ 5 ภาคีเครือข่ายหลัก คือ กรมการแพทย์ โรงพยาบาลของมหาวิทยาลัยต่างๆ เช่น ศิริราช รามา ธรรมศาสตร์ วชิระ โรงพยาบาลของกรุงเทพมหานคร เช่น ตากสิน เจริญกรุง โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลของกระทรวงกลาโหมทุกเหล่าทัพ และเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งทำงานร่วมกันมาตั้งแต่การระบาดโควิด-19 ระลอกแรก
ปัจจุบันในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีเตียงรองรับผู้ป่วยโควิดประมาณ 2,000 เตียง เป็นของโรงพยาบาลเอกชน 1,656 เตียง หรือประมาณ 65% ของเครือข่ายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล การระบาดระลอกแรกปีก่อน โรงพยาบาลเอกชนรับคนไข้ไปราว 40%
ส่วนการระบาดระลอกใหม่นี้ ข้อมูลการบริหารเตียงว่างของโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลล่าสุดวันนี้ (8 เม.ย.2564) ยังมีเตียงว่างอีก 293 เตียง แต่มีปัญหาว่าบางเครือข่ายของโรงพยาบาลเอกชนมีเตียงว่าง บางเครือข่ายขาดเตียง
แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่เป็นหลักการเหมือนกันทั่วประเทศว่า ผู้ติดเชื้อโควิด-19 “ทุกราย” ควรได้รับการรักษาในโรงพยาบาล คือ ไม่ให้รักษาที่บ้าน เหมือนในบางประเทศ เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ
นอกจากนี้โรงพยาบาลที่ตรวจผู้ป่วยและพบติดเชื้อโควิด ต้องเป็นผู้ดูแลผู้ป่วยเอง หรือหากไม่มีเตียงก็ต้อง ประสานโรงพยาบาลในเครือข่าย หรือนอกเครือข่ายที่เป็นโรงพยาบาลเอกชนด้วยกัน ผ่านสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เพื่อให้ผู้ป่วยได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกราย
“ปัญหาโรงพยาบาลเอกชนเตียงไม่พอที่เกิดขึ้นในขณะนี้ โรงพยาบาลต้นทางที่รับตรวจหาเชื้อโควิด ก็ต้องประสานข้ามเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ ด้วยกัน เพื่อหาเตียงรักษาผู้ป่วย”
เช่นเดียวกันเมื่อคนไข้เข้ามาตรวจโควิดที่โรงพยาบาลของรัฐ หรือตรวจจากรถหน่วยเคลื่อนที่เชิงรุก จากกรมควบคุมโรค สำนักอนามัยกรุงเทพมหานคร ที่ไปตรวจในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งแพร่ระบาด หากเจอผู้ป่วยติดเชื้อโรงพยาบาลรัฐก็จะเป็นผู้จัดหาเตียงรักษาผู้ป่วยทั้งหมด
การแก้ไขปัญหาขาดแคลนเตียงรองรับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในขณะนี้กรมการแพทย์ ได้ร่วมมือกับกรมสนับสนุนบริการสุขภาพดำเนินการจัดหา Hospitel (โรงแรมที่ปรับมาเป็นโรงพยาบาลมีแพทย์ดูแล) เพื่อรองรับผู้ป่วยติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ หรืออาการน้อย ไม่มีโรคแทรกซ้อน คาดว่าใน 1-2 วันนี้ จะได้จำนวน 500-1,000 เตียง โดยจะเริ่มดำเนินการได้ในวันนี้ (9 เม.ย.) 200 เตียง
นอกจากนี้ เครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน แจ้งมาวันนี้ (9 เม.ย.) หาเตียงเพิ่มได้อีก 200 เตียง และสถาบันบำบัดรักษาและฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งชาติบรมราชชนนี (สบยช.) มีอีก 40 เตียง และ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เตรียมเปิดโรงพยาบาลสนามอีก 450 เตียง ภายในวันอาทิตย์ 11 เมษายนนี้