นับจากเริ่มออกอากาศ “ทีวีดิจิทัล” 24 ช่อง ในปี 2557 จำนวนช่องเพิ่มขึ้น 4 เท่าจากยุคแอนาล็อก 6 ช่อง บรรดาเศรษฐีแข่งกันประมูลชิงช่อง กสทช.โกยเงินไปกว่า 5 หมื่นล้าน แต่นับจากนั้นกลายเป็นวิบากกรรมของผู้ถือใบอนุญาต “ขาดทุนหนัก” บางรายต้องหาผู้ร่วมทุนใหม่ ท้ายสุด กสทช. ต้องเปิดทางให้ “คืนช่อง” ในปี 2562 ก่อนจบอายุใบอนุญาต 15 ปีในปี 2572
ใช่ว่าจะมีแต่คนบาดเจ็บจากทีวีดิจิทัล คนรวยก็มีเช่นกัน “แอน จักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN บอกว่า “เธอรวยจากการขายคอนเทนท์ให้ทีวีดิจิทัล และก็นำกำไรกลับมาซื้อช่องทีวีดิจิทัลในราคาถูก” ตามดูกลยุทธ์ และเหตุผลทำไม JKN เลือกลงทุนทีวีดิจิทัล ธุรกิจที่ใครๆ ก็บอกว่า “ขาลง” Brand Buffet สรุปเป็น 7 เรื่องราว ดังนี้
1.JKN เริ่มต้นจากช่องทีวีดาวเทียม
ธุรกิจครอบครัวดั้งเดิมของ “แอน จักรพงษ์” คือร้านเช่าวิดีโอ ST VDO ทำให้มีประสบการณ์ในการซื้อขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ในต่างประเทศ และมีคอนเทนท์จำนวนมากในมือ ปี 2554 ยุคทีวีดาวเทียมรุ่งเรือง จึงได้ร่วมทุนกับ “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ของ อากู๋ ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม เปิดช่องทีวีดาวเทียม JKN นำเสนอคอนเทนท์ต่างประเทศ ทั้ง สารคดี ซีรีส์ จากนั้นในปี 2556 JKN ขอซื้อหุ้นคืนจากจีเอ็มเอ็ม และยังคงทำช่องทีวีดาวเทียม JKN ออกอากาศมาถึงปัจจุบัน
2.ยุคทีวีดิจิทัล 24 ช่อง โอกาสทองของคอนเทนท์
มาในยุคทีวีดิจิทัล กสทช. เปิดให้ประมูลใบอนุญาต 24 ช่อง ช่วงปลายเดือนธันวาคม 2556 มีผู้ประกอบการช่องเก่า ผู้ผลิตคอนเทนท์ รวมทั้งเศรษฐีไทยเข้าร่วมประมูลจำนวนมาก กสทช.โกยเงินค่าประมูลไปถึง 50,862 ล้านบาท
เมื่อถึงเวลาต้องเริ่มออกอากาศในเดือนเมษายน 2557 หลายช่องไม่มีคอนเทนท์ออกอากาศ เพราะผลิตไม่ทัน จึงต้องพึ่งพาคอนเทนท์จากต่างประเทศ นี่จึงเป็นโอกาสขายคอนเทนท์ของ JKN เรียกว่าเกือบทุกช่องเป็นลูกค้า JKN และยังเป็นผู้แจ้งเกิดซีรีส์อินเดีย ในตลาดทีวีไทย ทำให้ ช่อง 8 ของ “เฮียฮ้อ อาร์เอส” กวาดเรตติ้งอยู่ในกลุ่มผู้นำทีวีดิจิทัลมาแล้ว
3.เริ่มจากเข้าตลาด mai รายได้-กำไรโตย้ายไป SET
ยุคทีวีดิจิทัล ผู้ประกอบการ “เจ้าของ” ช่องอยู่ในภาวะ “ขาดทุน” จากการแข่งขันสูง อุตสาหกรรมสื่อเปลี่ยนสู่ออนไลน์ เม็ดเงินโฆษณาลดลงและยังกระจุกตัวอยู่ในผู้นำเรตติ้งช่องเก่า ทำให้ “รายใหม่” ไปไม่รอด คนที่ออกจากตลาดรายแรก คือ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ คุณพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย ขอคืนใบอนุญาตทีวีดิจิทัล 2 ช่อง “ไทยทีวีและโลก้า” ตั้งแต่ปี 2558
แต่ฝั่งขายคอนเทนท์ JKN กลับโกยรายได้และกำไร จนในปี 2560 “แอน จักรพงษ์” นำบริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ mai ผลประกอบการ “กำไร” มาต่อเนื่อง
- ปี 2560 รายได้ 1,155 ล้านบาท กำไรสุทธิ 187 ล้านบาท
- ปี 2561 รายได้ 1,422 ล้านบาท กำไรสุทธิ 227 ล้านบาท
- ปี 2562 รายได้ 1,710 ล้านบาท กำไรสุทธิ 252 ล้านบาท
- ปี 2563 รายได้ 1,682 ล้านบาท กำไรสุทธิ 312 ล้านบาท
ช่วงปลายปี 2563 เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ก็ย้ายจากตลาด mai ไป SET ทำให้ต้องเริ่มปล่อยอาวุธสร้างรายได้ใหม่ในฐานะ Content Commerce Company
4.เก็บกำไรขายคอนเทนท์ให้ทีวีดิจิทัล มาเทกโอเวอร์ NEW18
ตั้งแต่ยุคทีวีดิจิทัล ปี 2557 ถึง JKN เข้าตลาดฯ เก็บสะสมกำไรมากว่า 1,000 ล้านบาท เมื่อต้องสร้าง S-Curve ใหม่ในการเติบโตนอกจากขายคอนเทนท์ให้ช่องทีวีดิจิทัล ที่หายจากตลาดไปแล้ว 9 ช่อง ทั้งจากการปิดตัวของ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” 2 ช่อง และขอคืนใบอนุญาต ตามมาตรา 44 อีก 7 ช่อง เรียกว่าลูกค้า JKN ก็หายไปด้วยเช่นกัน
อีกทั้งเห็นเทรนด์ธุรกิจคอนเทนท์ต่างประเทศ ก็มุ่งสู่การค้าขายเมอร์เชนไดส์ ไม่ว่าจะเป็น Disney ,SONY, Warner Bros. Pictures, Universal Pictures “เจเคเอ็น” จึงเริ่มพัฒนาสินค้าในกลุ่ม Health & Beauty มาตั้งแต่สิงหาคม 2563 ขายผ่านช่องทางทีวีดาวเทียม JKN ไปออกรายการทีวีดิจิทัลต่างๆ เพื่อขายสินค้า แต่ละครั้งทำยอดขายได้รายการละ 15 ล้านบาท
เมื่อเห็นโอกาสค้าขายในธุรกิจ “คอมเมิร์ซ” จึงตัดสินใจเข้าลงทุนซื้อช่องทีวีดิจิทัล NEW18 ด้วยมูลค่าไม่เกิน 1,100 ล้านบาท เหลือใบอนุญาตประกอบกิจการอีก 8 ปี จนถึงปี 2572 เพื่อเป็นช่องทางค้าขายสินค้า เพราะวันนี้ฐานผู้ชมทีวีสูงสุด ยังอยู่ที่ทีวีดิจิทัล
“ตลอด 7 ปีแรกของทีวีดิจิทัล เรากวาด เก็บ โกย รายได้จากการขายคอนเทนท์ โดยไม่ต้องไปเปิดช่องแข่ง ตั้งแต่ JKN เข้าตลาดฯ ได้กำไรสะสมมากว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นเงินที่นำไปลงทุนซื้อช่องทีวีดิจิทัล”
5.มีทีวีดิจิทัลจีบร่วมทุน แต่ทำไมเลือก NEW18 เรตติ้งรั้งท้าย
ถามถึงเบื้องหลังการตัดสินใจเลือกซื้อกิจการช่อง NEW18 “แอน จักรพงษ์” บอกว่าดูสถานการณ์ทีวีดิจิทัลมาตลอดตั้งแต่เริ่มต้นออกอากาศ ก็เชื่อว่าน่าจะมีช่องไปต่อไม่ไหว และเป็นโอกาสให้ JKN จะเข้าซื้อได้ เมื่อถึงเวลา จึงเป็นสิ่งที่เตรียมตัวล่วงหน้ามาแล้ว 7 ปี และพัฒนาสินค้าขึ้นมารอไว้ก่อน เพราะทิศทางจะไปทาง “คอมเมิร์ซ” เมื่อ “โอกาส” มา “ความพร้อม” มี ก็เข้าลงทุนในช่อง NEW18 ทันที
ก่อนปิดดีลกับช่อง 18 มีทีวีดิจิทัล 4-5 ช่อง มาชวนไปร่วมลงทุนด้วยในสัดส่วน 30-50% รวมทั้งให้เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพราะทุกคนต้องการคอนเทนท์ที่ JKN ถืออยู่ แต่ NEW18 ของกลุ่มเหตระกูล ขายให้ทั้ง 100% จึงเลือกออปชั่นที่ดีที่สุด
อีกคำถามยอดฮิตทีวีดิจิทัล “ขาลง” ช่อง NEW 18 เรตติ้งรั้งท้าย ทำไมถึงซื้อ “ตอบง่ายๆ ถ้าไม่รั้งท้ายเขาคงไม่ขาย ถ้าช่องอันดับ 1 ก็ไม่มีเหตุผลต้องขาย”
“เรตติ้งอันดับที่เท่าไหร่ไม่สำคัญ สำคัญว่าจะเดินจากตรงนี้ไปสู่ความสำเร็จได้อย่างไร เพื่อเปลี่ยนก้อนหินให้กลายเป็นทองคำ เมื่อมีโอกาสซื้อมาแล้วด้วยราคาไม่แพง ก็ต้องมองโอกาสหารายได้”
6.ซื้อ NEW18 กว่าพันล้าน คุ้มหรือไม่
การลงทุนทำทีวีดิจิทัล สิ่งแรกที่ต้องมีก่อนคือ “คอนเทนท์” JKN เป็น Exclusive Distributor ให้กับค่ายคอนเทนท์ดังต่างประเทศทั่วโลก ทั้งสารคดี ละคร ซีรีส์ การ์ตูน ภาพยนตร์ มีคอนเทนท์ 8 กลุ่ม ค้าขายมา 22 ปี เป็นเบอร์ 1 คอนเทนท์ต่างประเทศ โดยถือลิขสิทธิ์ 5-7 ปี และต่อสัญญากันไปเรื่อยๆ ที่ผ่านมาทีวีดิจิทัล ซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนท์ไปออกอากาศราว 2-3 ปี เวลาถือครองลิขสิทธิ์ยังเหลืออยู่ให้นำมาใช้ประโยชน์อีก บางสารคดีขายวนได้ 20-30 รอบยังมีคนซื้อ เรียกว่าไม่มีต้นทุนแล้ว
“คอนเทนท์ที่ JKN มีอยู่ในมือตอนนี้ สามารถนำมาออกอากาศ 24 ชั่วโมง ได้ยาว 10 ปี เพราะถือลิขสิทธิ์ไว้ยาวไม่ปล่อย การนำคอนเทนท์ที่มีอยู่ไปมาออกอากาศในทีวีดิจิทัลของตัวเอง จึงไม่มีต้นทุนแล้วและยังสร้างโอกาสหารายได้ใหม่”
การซื้อกิจการ NEW18 มูลค่าไม่เกิน 1,100 ล้านบาท สิ่งที่ JKN ได้มา คือ ใบอนุญาตทีวีดิจิทัลที่เหลืออีก 8 ปี อาคารสำนักงาน สตูดิโอออกอากาศ 3 สตูดิโอ อุปกรณ์ออกอากาศ ตั้งอยู่บนพื้นที่ 4 ไร่ย่านแบริ่ง ตีมูลค่าได้ราว 500 ล้านบาท และยังได้ Tax Shield อีก 400 ล้านบาท มองว่าเป็นการลงทุนที่ “คุ้ม”
7.เป้าหมายรายได้ปี 67 โกย “หมื่นล้าน”
หลังซื้อกิจการ NEW18 แล้ว ในเดือนพฤษภาคมนี้ จะเปลี่ยนชื่อช่องเป็น JKN18 และมีผังรายการใหม่ใช้ “คอนเทนท์” เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ “คอมเมิร์ซ” ค้าขายผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพและความงาม โดยมีสินค้าทำตลาดราว 20 รายการ ภายใต้แบรนด์ Olig Fiber, V-Allin , Hair now, Instinct และ C-TRIA by Anne JKN ผ่านกลยุทธ์ “ซูเปอร์สตาร์ มาร์เก็ตติ้ง” ใช้ดาราศิลปินมาเป็นพรีเซ็นเตอร์กระตุ้นการใช้และซื้อสินค้า
ล่าสุดเปิดตัวเครื่องดื่มสมุนไพรสกัดผสมวิตามิน ภายใต้แบรนด์ Cupid (คิวปิด) ได้แก่ Dragon X และ Tiger X วางจำหน่ายในโมเดิร์นเทรด โลตัส 2,600 สาขา
พร้อมกำลังพัฒนาสินค้าส่วนผสมกัญชง ร่วมกับ “ดีโอดี ไบโอเทค” หรือ DOD อีก 10 รายการ ในกลุ่มเครื่องดื่มสุขภาพ 3 รายการ และเสริมอาหาร 7 รายการ
ปี 2564 JKN วางเป้าหมายรายได้ไว้ที่ 3,000 ล้านบาท มีรายได้จากการซื้อขายคอนเทนท์ 2,000 ล้านบาท ธุรกิจคอมเมิร์ซ 1,000 ล้านบาท ปี 2565 เป้าหมายอยู่ที่ 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนเทนท์ 2,500 ล้านบาท และคอมเมิร์ซ 2,500 ล้านบาท และปี 2567 เป้าหมายรายได้ 10,000 ล้านบาท มาจากคอนเทนท์ 5,000 ล้านบาทและ คอมเมิร์ซ 5,000 ล้านบาท
นี่คือกลยุทธ์ “คอนเทนท์ คอมเมิร์ซ” ที่ แอน จักรพงษ์ วางไว้เพื่อให้ JKN บรรลุเป้าหมายรายได้ “หมื่นล้าน” ใน 5 ปี และคุ้มการลงทุนทีวีดิจิทัลใน 4 ปี กับเป้าหมาย JKN18 ไต่อันดับท็อปเทน