ปี 2563 เรียกได้ว่าเป็นปีที่ “สาหัส” ของคนทั้งโลก หลังเกิดการระบาดของโควิด-19 ซึ่งนอกจากจะคร่าชีวิตผู้คนไปมากมาย ยังส่งผลกระทบในวงกว้างทั้งต่อระบบเศรษฐกิจ ธุรกิจ และวิถีการใช้ชีวิต รวมถึงตลาดแรงงานในไทย เพราะหลายธุรกิจต้องหยุดให้บริการชั่วคราวจากมาตรการล็อกดาวน์ ดังนั้น เมื่อร้านต้องปิด ธุรกิจก็ต้องลดค่าใช้จ่าย ทำให้ต้องปรับลดจำนวนพนักงาน บางแห่งเอาไม่อยู่ก็ต้องปิดกิจการ ผู้คนจำนวนไม่น้อยจึงต้องอยู่ในภาวะว่างงาน แม้กระทั่งอาชีพที่เคยมั่นคงสูงอย่างนักบิน ก็กลายมาเป็นอาชีพที่ต้องเผชิญกับการขาดรายได้และตกงานกันแบบไม่ทันตั้งตัว
พิษจากโควิด-19 ในรอบแรกยังไม่ทันจะจางหาย โควิดระลอกใหม่ก็เข้ามาซ้ำเติมสร้างความบอบช้ำให้ตลาดแรงงานหนักขึ้นไปอีก เพราะตำแหน่งงานใหม่ๆ ไม่มีการขยาย ส่งผลให้มีคนว่างงานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ คำถามคือ ในขณะที่วัคซีนยังมีอยู่จำกัด และโควิด-19 ยังคงระบาดอยู่ ตลาดแรงงานไทยในปี 2564 หน้าตาจะเป็นอย่างไร มาฟังคำตอบจาก คุณพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ผ่านข้อมูล Wake-up Talk : Job Market Projection after Crisis รวมถึงแนวโน้มสายงานเกิดใหม่ที่ตลาดต้องการ และทักษะที่แรงงานไทยจำเป็นต้องมีในโลกธุรกิจหลังวิกฤตโควิด
ตลาดแรงงานพ้นจุดต่ำสุด ครึ่งปีแรกโต 5%
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแม้ตลาดแรงงานไทยจะเผชิญกับความท้าทายมากมาย ทั้งสภาพเศรษฐกิจซบเซา การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี แต่ผลกระทบยังไม่รุนแรงเท่ากับการระบาดของโควิด-19 เพราะส่งผลให้ตลาดแรงงานในไทยเปลี่ยนแปลงไปหลายด้าน ทั้งสภาพการจ้างงาน รูปแบบการทำงาน และสาขาอาชีพเปลี่ยนไป ซึ่งคุณพรลัดดา บอกว่า หากย้อนกลับไปดูอัตราการว่างงานในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า อัตราการว่างงานของไทยโดยเฉลี่ยอยู่ที่ระดับ 1% และมากสุดอยู่ที่ 1.24% แต่หลังจากถูกโควิด-19 ป่วนโลกธุรกิจให้บาดเจ็บ ส่งผลให้อัตราคนว่างงานไตรมาส 2 ปี 2563 กระโดดขึ้นสู่ระดับ 1.95%
นอกจากนี้ ช่วงโควิดระบาดรอบแรกยังทำให้จำนวนการประกาศงานทั้งหมดในไทยหายไปกว่า 35.6% กระทั่งเกิดการระบาดรอบสอง ตลาดหดตัวลงกว่ารอบแรก เพราะคน Panic ทำให้ในเดือนธันวาคม 2563 การประกาศงานหายไป 46% แต่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา ตลาดเริ่มค่อยๆ ฟื้นตัวกลับมา โดยจำนวนความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้น 24.65% จากจุดต่ำสุดในเดือนธันวาคม เนื่องจากมาตรการควบคุมของภาครัฐ ทำให้ผู้คนเริ่มกลับมาใช้ชีวิตปกติ จึงคาดการณ์ว่าตลาดแรงงานครึ่งปีแรกจะเติบโต 5% และจะฟื้นตัวเท่ากับก่อนเกิดโควิดประมาณต้นปี 2565 หากไม่มีการระบาดระลอกใหม่
เมื่อเทียบกับประเทศในอาเซียน คุณพรลัดดา บอกว่า ตลาดแรงงานไทยถือว่ากระทบน้อยสุด โดยประเทศอินโดนีเซียหนักสุด หายไป 56% ต่อด้วยฟิลิปปินส์ 47% และมาเลเซีย 39% แต่ในแง่การฟื้นตัว มาเลเซียฟื้นตัวเร็วสุด
ไอที มนุษย์ทองคำ-เงินเดือนสูง
หากมองในแง่ความต้องการแรงงานเมื่อแบ่งตามอุตสาหกรรม จากจำนวนประกาศงานบนเว็บไซต์ จ๊อบส์ ดีบี ในไตรมาส 1 ของปี 2564 พบว่า กลุ่มอุตสาหกรรมที่มีจำนวนประกาศหางานมากสุด ได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจไอที 12.9%
2.กลุ่มธุรกิจการผลิต 8.1%
3.กลุ่มธุรกิจการค้าปลีก-ส่ง 6.6%
4.กลุ่มธุรกิจการเงิน 6.5%
5.กลุ่มธุรกิจเทรดดิ้งและจัดจำหน่าย 6.2%
ส่วนธุรกิจที่มีอัตราการฟื้นตัวสูงสุดในไตรมาส 1 ปี 2564 เมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่
1.กลุ่มธุรกิจประกันภัย 42.9%
2.กลุ่มธุรกิจอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ 41.9%
3.กลุ่มธุรกิจการผลิต 37.7%
4.กลุ่มธุรกิจทางการแพย์ 37.5%
5.กลุ่มธุรกิจยานยนต์ 33.7%
“กลุ่มที่น่าสนใจคือ กลุ่มธนาคาร เนื่องจากในช่วง 2 ปีที่ผ่านมากลุ่มนี้ค่อนข้างนิ่ง แต่ปีนี้แนวโน้มกลุ่มนี้มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เพราะช่วงหลายปีที่ผ่านมาธนาคารหลายแห่งได้ทรานฟอร์มตนเอง ทั้งปิดสาขา หันมาโฟกัสเทคโนโลยีดิจิทัล ดังนั้น เมื่อทรานฟอร์มตัวเองเรียบร้อย วันนี้จึงกลับมาเดินหน้าจ้างงาน”
ในส่วนของความต้องการแรงงานเมื่อแบ่งตามสายงาน จะพบว่า สายงานที่ต้องการมากที่สุดในตลาด ได้แก่
1.สายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ 16.0%
2.สายงานไอที 14.7%
3.สายงานวิศวกรรม 9.8%
ส่วนสายงานที่มีจำนวนประกาศงานเติบโตขึ้นมากที่สุดเมื่อเทียบกับครึ่งปีหลังของปี 2563 ได้แก่
1.สายงานการตลาดและประชาสัมพันธ์ 29.7%
2.สายงานขนส่ง 24.7%
3.สายงานการผลิต 20.8%
นอกจากนี้ ในแต่ละเดือนยังพบอัตราการแข่งขันเพื่อให้ได้งานทำมีแนวโน้มสูงขึ้นถึง สะท้อนได้จากยอดใบสมัครเพิ่มขึ้น 20% จากก่อนช่วงโควิด-19 ใบสมัครอยู่ที่ 8 แสนใบต่อเดือน กลายเป็น 1 ล้านใบต่อเดือน หรือเทียบเป็นอัตราส่วนการแข่งขัน การรับสมัครงาน 1 ตำแหน่ง จะมีใบสมัคร 100 ราย จากปกติอยู่ที่ 60-80 รายต่อ 1 ตำแหน่ง และบางสายงานพุ่งไปถึง 1,000 ใบสมัคร โดยสายงาน “ไอที” ยังคงเป็นสายงานที่เงินเดือนสูงสุด
อาชีพร่วง-สายงานรุ่ง
ผลสำรวจ ยังพบด้วยว่า โควิด-19 ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป จนทำให้เกิดสายงานใหม่ๆ เพื่อตอบโจทย์ความต้องการใหม่ๆ ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นสายงานที่ไม่เคยเห็นมาก่อนในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เช่น ที่ปรึกษาด้านบล็อกเชนและสกุลเงินดิจิทัล, Cyber and Forensic Technology งานด้านเก็บหลักฐานและสืบเสาะหาข้อมูลผู้กระทำความผิดในโลกไซเบอร์ รวมถึงนักสร้างสรรค์คอนเทนต์และไลฟ์สด, งานด้าน Data Director ซึ่งเป็นการนำเอาข้อมูลมาวางแผนลยุทธ์ Cloud kitchen Manager ดูแลครัวกลาง ส่งอาหาร โดยไม่จำเป็นต้องมีหน้าร้าน และ Growth Officer ซึ่งมีหน้าที่มองหาและสร้าง New S-Curve ใหม่ให้กับธุรกิจในอนาคต
ขณะที่สายงานที่อยู่ในช่วงขาลงคือ สายงานที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด ไม่ว่าจะเป็นสายงานด้านการท่องเที่ยว และโรงแรม รวมถึงสายงานด้านการศึกษา เนื่องจากเป้นสายงานที่สามารถนำเทคโนโนโลยีเข้ามาในการเรียนการสอนได้
โควิด ทำพฤติกรรมคนทำงานเปลี่ยน
แม้ปีนี้ภาพรวมตลาดแรงงานในไทยจะมีทิศทางเป็นบวก แต่พฤติกรรมการทำงานของผู้บริโภคในปัจจุบันปรับเปลี่ยนไปอย่างมาก สะท้อนชัดจากผลสำรวจ “ถอดรหัสลับ จับทิศทางความต้องการคนทำงานยุคใหม่” (Global Talent Survey) ซึ่งจ๊อบส์ ดีบี ร่วมกับบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป (Boston Consulting Group) และ เดอะ เน็ตเวิร์ก (The Network) สำรวจพนักงานกว่า 2 แสนคน ใน 190 ประเทศ โดยพบว่า คนทำงานหันมาให้ความสนใจการทำงานแบบเวอร์ชวลมากขึ้น โดยกว่า 57% ของคนทำงานทั่วโลกยินดีที่จะทำงานกับบริษัทที่อยู่ต่างพื้นที่ และ 50% ของคนไทยพร้อมจะไปทำงานกับบริษัทที่อยู่ต่างประเทศหากมีโอกาสโดยเฉพาะคนที่มีทักษะสูง ต่างจากสมัยก่อนที่ส่วนใหญ่ไม่นิยมย้ายถิ่น โดย 3 อันดับประเทศที่คนไทยอยากไปทำงานด้วยมากที่สุด ได้แก่ 1.ออสเตรเลีย 2.ญี่ปุ่น 3. สิงคโปร์ นอกจากนี้ คนทำงานในปัจจุบันยังมองหาองค์กรขนาดใหญ่ในการเข้าทำงานมากขึ้น ทำให้บริษัทจำเป็นต้องปรับวิธีการดึงดูดคนกลุ่มนี้ให้ทำงานกับองค์กรในไทยมากขึ้น
ไม่ใช่เฉพาะพนักงานชาวไทยที่พร้อมไปทำงานในต่างประเทศ แต่แรงงานต่างชาติยังสนใจจะเข้ามาทำงานกับบริษัทในประเทศไทยมากขึ้นเช่นเดียวกัน โดยผลการสำรวจพบว่า ในปี 2020 ประเทศไทยถูกจัดอยู่ในอันดับ 35 จากประเทศทั่วโลกที่คนทำงานต่างชาติสนใจอยากเข้ามาทำงาน ขยับขึ้นมาจากอันดับ 43 และ 39 ในปี 2014 และ 2018 ตามลำดับ โดยแรงงานต่างชาติ 5 อันดับแรกที่อยากมาทำงานที่ไทย ได้แก่ 1.สิงคโปร์ 2. มาเลเซีย 3.จีน 4.อินโดนีเซีย และ 5.รัสเซีย
แน่นอนว่า เมื่อแรงงานต่างชาติสนใจเข้ามาทำงานกับบริษัทในไทยมากขึ้น ย่อมส่งผลให้เกิดการแก่งแย่งตำแหน่งงานกันมากขึ้น และทำให้แรงงานไทยต้องพัฒนาทักษะใหม่ๆ มากขึ้น เพราะการสำรวจพบว่า ทักษะแรงงานไทยกว่า 70% ยังเป็นกลุ่มทักษะปานกลางกลางถึงต่ำ และไม่มีการเปลี่ยนแปลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยทักษะสำคัญที่แรงงานไทยจำเป็นต้องมีมากขึ้น นอกจากทักษะด้านเทคนิคในสายงาน (Hard Skill) และทักษะการทำงานร่วมกับคนอื่น (Soft Skill) คือ Meta Skill เป็นทักษะในการปรับตัว เรียนรู้สิ่งใหม่ และสร้างสรรค์นวัตกรรมให้ตอบโจทย์กับตลาดที่เปลี่ยนไป