HomeInsightKPMG ชี้ “ซีอีโอ” ทั่วโลกเกือบครึ่ง มองโควิด-19 ซัดธุรกิจซึมยาวถึงปี 2565

KPMG ชี้ “ซีอีโอ” ทั่วโลกเกือบครึ่ง มองโควิด-19 ซัดธุรกิจซึมยาวถึงปี 2565

แชร์ :

ผ่านมา 1 ไตรมาสแล้วสำหรับปี 2564 แม้จะมีวัคซีนโควิด-19 ออกมาให้อุ่นใจระดับหนึ่ง แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์ธุรกิจยังเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เพราะจำนวนผู้ติดเชื้อยังทำสถิติ New High ทุกวัน ทำให้บรรดาซีอีโอยังไม่สามารถวางใจ และจำต้องปรับตัวรับมือกับสถานการณ์ที่ยากจะคาดเดาได้ว่าจะมีอะไรเกิดขึ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

เคพีเอ็มจี ได้เผยผลวิจัย 2021 KPMG CEO Outlook Pulse Survey ซึ่งจัดทำขึ้นระหว่างเดือนกุมภาพันธ์ และมีนาคม 2564 โดยสำรวจความคิดเห็นซีอีโอทั่วโลกจำนวน 500 คน เกี่ยวกับวิธีการตอบสนองต่อผลกระทบจากโควิด-19 และความน่าจะเป็นในอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า พบซีอีโอทั่วโลกเกือบครึ่งมองแนวโน้มโควิด-19 อาจลากยาวจนถึงปี 2565 ธุรกิจถึงจะกลับมาปกติ

ชี้ธุรกิจอาจฟุบยาวถึงปี 65

ท่ามกลางสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ยังไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อไหร่ ทำให้ซีอีโอเกือบครึ่ง (ร้อยละ 45) มองว่าธุรกิจจะไม่กลับเป็น “ปกติ” จนกว่าจะถึงปี 2565 ซึ่งต่างจากงานวิจัยของปีที่แล้ว ที่พบว่าเกือบ 1 ใน 3 (ร้อยละ 31) คาดว่าสถานการณ์จะกลับเป็นปกติปลายปี 2564 นี้ และความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ซีอีโอ 1 ใน 4 (ร้อยละ 24) ชี้ว่าโมเดลธุรกิจขององค์กรตนได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างถาวรแล้ว

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า ซีอีโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 55) มีความกังวลเกี่ยวกับการเข้าถึงวัคซีนของพนักงาน ซึ่งจะส่งผลต่อการตัดสินใจว่าเมื่อใดจะให้ให้พนักงานเข้าทำงานในสำนักงานได้ โดยซีอีโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 90) มองทางเลือกที่จะให้พนักงานรายงานองค์กรเมื่อได้รับการฉีดวัคซีน ซึ่งจะช่วยให้องค์กรวางกลยุทธ์การรักษาความปลอดภัยให้กับพนักงาน แต่ในขณะเดียวกัน 1 ใน 3 (ร้อยละ 34) ยังมีความกังวลเรื่องการแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จเกี่ยวกับความปลอดภัยของวัคซีน ซึ่งอาจส่งผลให้พนักงานเลือกที่จะไม่รับวัคซีน

บิลล์ โทมัส ประธานและซีอีโอ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล

บิลล์ โทมัส ประธานและซีอีโอ เคพีเอ็มจี อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวว่า “ก่อนการตัดสินใจเรื่องใหญ่ๆ ซีอีโอต่างต้องการความมั่นใจว่าพนักงานของพวกเขาต่างได้รับการป้องกันจากเชื้อไวรัสโควิด-19 แผนการแจกจ่ายวัคซีนในแต่ละประเทศทำให้ผู้นำมีกำลังใจและความมั่นใจมากขึ้นในการเตรียมพร้อมองค์กรสำหรับ New Normal ซีอีโอต่างกำลังวางแผนรับมือกับการที่แต่ละพื้นที่จะได้รับวัคซีนไม่พร้อมกัน ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินการขององค์กร ห่วงโซ่อุปสงค์อุปทาน และพนักงาน ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะเวลาที่ต่างกันในแต่ละพื้นที่”

นโยบายรัฐและแผนการฉีดวัคซีน ส่งผลต่อการตัดสินใจขององค์กร

ขณะเดียวกัน ซีอีโอ 3 ใน 4 (ร้อยละ 76) มองว่า การที่รัฐบาลรณรงค์ให้ธุรกิจกลับมาปฏิบัติการเหมือนปกติจะเป็นสัญญาณให้แต่ละองค์กรอนุญาตให้พนักงานกลับเข้าทำงานที่สำนักงานตามปกติ นอกจากนี้ ร้อยละ 61 ของผู้บริหารทั่วโลกกล่าวว่าจะรอจนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนประสบผลสำเร็จ (มากกว่าร้อยละ 50 ของประชากรทั้งหมดได้รับการฉีดวัคซีน) ในที่สำคัญๆ ก่อนที่จะตัดสินใจให้พนักงานกลับเข้าทำงานได้ตามปกติ เมื่อพนักงานกลับเข้าที่ทำงานแล้ว องค์กร 1 ใน 5 (ร้อยละ 21) จะมีมาตรการป้องกันเพิ่มเติมโดยการขอให้ลูกค้าและบุคคลภายนอกอื่นๆ แจ้งถึงสถานะการฉีดวัคซีนของตนเองก่อนที่จะเข้ามาในบริเวณสำนักงาน

การวิจัยครั้งนี้ ยังพบว่า มีเพียงร้อยละ 17 ของซีอีโอทั่วโลกต้องการ “ลดขนาด” สำนักงานลง เนื่องจากโควิด-19 ซึ่งต่างจากการสำรวจเมื่อเดือนสิงหาคม 2563 ที่ซีอีโอจำนวนร้อยละ 69 วางแผนที่จะลดขนาดสำนักงานภายใน 3 ปี้ข้างหน้า ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอาจจะมีการลดขนาดสำเร็จแล้วหรือแผนการรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้มีการเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ ซีอีโอยังไม่เชื่อมั่นที่จะให้พนักงานทำงานจากนอกสำนักงาน (Remote Working) โดยมีเพียง 3 ใน 10 (ร้อยละ 30) ของผู้บริหารระดับสูงที่จะมีการพิจารณาทำงานแบบ Hybrid คือการที่พนักงานส่วนใหญ่ทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Remote Working) 2-3 วันต่อสัปดาห์ ส่งผลให้มีเพียง 1 ใน 5 (ร้อยละ 21) องค์กรที่พร้อมจะจ้างพนักงานที่ทำงานจากนอกสำนักงาน ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนจากผลสำรวจปีที่แล้ว (ร้อยละ 73 ในปี 2563)

ห่วงความปลอดภัยทางไซเบอร์มากสุด

ขณะเดียวกัน ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้ซีอีโอมองว่า ความปลอดภัยทางไซเบอร์จากการทำงานที่บ้านเป็นสิ่งสำคัญที่สุดจะส่งผลต่อการเติบโตและการดำเนินธุรกิจขององค์กรในระยะเวลา 3 ปีจากนี้ เพราะอาจนำไปสู่ความเสี่ยงขององค์กรในการรั่วไหลของข้อมูล และยังให้ความสำคัญกับวางแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม (Environment) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือ ESG ให้รัดกุมยิ่งขึ้น โดยซีอีโอส่วนใหญ่ (ร้อยละ 89) ให้ความสำคัญไปที่การคงประโยชน์ที่ได้รับจากช่วงโควิด-19 ในด้านความยั่งยืนและการลดผลกระทบที่องค์กรมีต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศให้มากที่สุด นอกจากนี้ เกือบทั้งหมด (ร้อยละ 96) ยังต้องการเพิ่มความสำคัญด้านสังคมในการจัดการ ESG

Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand


แชร์ :

You may also like