หลังจาก “SCG Packaging” หรือ “SCGP” เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา ได้เดินหน้า 3 กลยุทธ์ คือ Merger & Partnership, Organic Expansion, Innovative Packaging สร้างฐานธุรกิจแข็งแกร่งทั้งในไทย และต่างประเทศ โดยเฉพาะอาเซียน เป็นโฟกัสหลักของ SCGP ส่งผลให้ผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ของปี 2564 ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 และปัจจัยด้านต้นทุนสูง ยังคงอยู่ในทิศทางบวก นั่นคือ
– ยอดขาย 27,253 ล้านบาท เติบโต 12% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แบ่งเป็น
- 84% สายบรรจุภัณฑ์ครบวงจร
- 16% สายเยื่อกระดาษ
– กำไรสำหรับงวด 2,135 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23%
– EBITDA (กำไรก่อนหักต้นทุนทางการเงิน ภาษีเงินได้ ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย ไม่รวมเงินปันผลรับจากบริษัทร่วม และรวมกำไรขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนของเงินกู้ยืมตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปี 2562) อยู่ที่ 5,267 ล้านบาท
ไตรมาส 1/2564 ครั้งแรก SCGP ทำยอดขายตลาดต่างประเทศ มากกว่าไทย
หากแบ่งสัดส่วนยอดขาย 27,253 ล้านบาท ตามรายประเทศที่ SCGP เข้าไปทำธุรกิจ พบว่าไตรมาส 1/2564 เป็นครั้งแรกที่ตลาดประเทศไทย มีสัดส่วนน้อยกว่า 50% คือ อยู่ที่ 49% ในขณะที่ตลาดต่างประเทศ มีสัดส่วนอยู่ที่ 51% แบ่งเป็น อาเซียน 40% และยุโรป 11%
เมื่อเจาะเฉพาะตลาดอาเซียน มี 4 ตลาดหลักคือ
อินโดนีเซีย 19% ของยอดขายรวม
เวียดนาม 13% ของยอดขายรวม
ฟิลิปปินส์ 3% ของยอดขายรวม
มาเลเซีย 3%ของยอดขายรวม
อื่นๆ 2% ของยอดขายรวม
สัดส่วนยอดขายที่มาจากตลาดต่างประเทศ มากกว่าไทย สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ธุรกิจ SCGP ที่ต้องการ Diversify ไปในหลายประเทศ เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงทางธุรกิจ และสร้างโอกาสการเติบโตที่นอกจากตลาดไทย
“นับเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของ SCGP ที่สัดส่วนยอดขายประเทศไทย ต่ำกว่า 50% ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ และ Mission ที่เราอยากขยายตลาดอาเซียนให้โตมากกว่าเมืองไทย เพราะเราต้องการ Diversify ไปยังหลายประเทศ และต้องการสร้าง Supply Chain Solution เพื่อให้เกิด Linkage ในตลาดภูมิภาคนี้
SCGP เน้นไปในตลาด Consumer Link ที่เชื่อมโยงกับสินค้าอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ทำให้เรามีกลุ่มลูกค้ากระจายในหลายอุตสาหกรรม หลายตลาด หลายประเทศ และหลายหมวดหมู่สินค้า เราจึงสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงธุรกิจ ขณะเดียวกันเป็นโอกาสทางธุรกิจให้กับเราได้” คุณวิชาญ จิตร์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP ฉายภาพยุทธศาสตร์ธุรกิจ
3 กลยุทธ์ ขับเคลื่อน SCGP
สำหรับกลยุทธ์ขับเคลื่อน SCGP โตในปี 2564 ทั้งในไตรมาสแรก และนับจากนี้ ประกอบด้วย 3 กลยุทธ์คือ
1. Merger & Partnership (M&P)
เพื่อสร้างการเติบโตอย่างก้าวกระโดด ที่ผ่านมา SCGP ลงทุนควบรวมกิจการ และสร้างความร่วมมือกับเจ้าของกิจการเดิมในธุรกิจบรรจุภัณฑ์ประเภทต่างๆ ในต่างประเทศ เช่น
– ลงทุนใน Go-Pak UK Limited เพื่อขยายฐานตลาดบรรจุภัณฑ์อาหารในภูมิภาคต่าง ๆ เช่น ยุโรป อเมริกาเหนือ รองรับ Mega Trend การดำรงชีวิตของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป
– ลงทุนใน Bien Hoa Packaging Joint Stock Company (SOVI) ประเทศเวียดนามเพื่อขยายฐานลูกค้าในอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภคบริโภค
– ซื้อหุ้น 70% ของ Duy Tan เวียดนาม เป็นบริษัทผลิตภัณฑ์พลาสติกคงรูป ที่มีฐานลูกค้าชั้นนำในประเทศเวียดนาม โดยคาดว่าจะปิดดีลในช่วงกลางปีนี้
“การขยายการลงทุนในเวียดนาม เป็นไปตามกลยุทธ์บริษัทฯ ที่ต้องการขยายธุรกิจบรรจุภัณฑ์ปลายน้ำให้มีความหลากหลายมากขึ้น ทั้งบรรจุภัณฑ์กระดาษ เยื่อกระดาษ และพลาสติก เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า และผู้บริโภค”
2. Organic Expansion
– ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์จากวัสดุสมรรถนะสูงและพอลิเมอร์อีกกว่า 347 ล้านชิ้นต่อปี ในบริษัท วีซี่ แพ็คเกจิ้ง (ประเทศไทย) จำกัด
– เดือนเมษายน การเปิดดำเนินการโรงงานผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ กำลังผลิตส่วนเพิ่ม 400,000 ตันต่อปี ของ Fajar ในประเทศอินโดนีเซีย
นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 โครงการ ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จช่วงไตรมาส 4 ของปีนี้คือ
– ขยายกำลังการผลิตกระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการสร้าง
– ขยายกำลังการผลิตบรรจุภัณฑ์อ่อนรูป หรือ Flexible Packaging ในไทย
SCGP คาดการณ์ว่าถ้า 4 โครงการแล้วเสร็จ และเดินการผลิตเต็มที่ในปี 2565 จะทำให้บริษัทฯ มียอดขายเพิ่มขึ้น 10,000 ล้าบาท
3. Innovation Packaging
เปิดตัวโปรดักต์ใหม่ OptiBreath เป็นเทคโนโลยีฟิล์ม ช่วยคงความสดของผักผลไม้ให้อยู่ได้นานขึ้น และ ODOR LOCK บรรจุภัณฑ์เก็บกลิ่นอาหาร ไม่ให้แพร่กระจายรบกวนสินค้าอื่น
นอกจากนี้ การเติบโตของ SCGP ยังมาจากความต้องการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น อย่างในตลาดไทย Demand ในตลาดอาหาร – เครื่องดื่มเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคสต็อคอาหาร – เครื่องดื่มก่อนเข้าเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นผลมาจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายหลักกระตุ้นการขายด้วยแคมเปญ
เช่นเดียวกันอินโดนีเซีย ที่ผู้บริโภคซื้ออาหาร และเครื่องดื่มเตรียมไว้ก่อนวัน Hari Raya อันเป็นวันสำคัญของชาวมุสลิม ส่งผลให้ Demand บรรุจภัณฑ์เพิ่มขึ้น
งบลงทุน 20,000 ล้าน – ตั้งเป้ายอดขาย 100,000 ล้าน
ขณะที่งบลงทุนทั้งปี 2021 อยู่ที่ 20,000 ล้านบาท สำหรับขยายธุรกิจ และควบรวมกิจการ โดยในไตรมาสแรกใช้ไปแล้ว 4,600 ล้านบาท
ขณะที่ปีนี้วางเป้ายอดขาย 100,000 ล้านบาท มาจากทั้ง Organic Expansion การทำ M&P และการพัฒนานวัตกรรมบรรจุภัณฑ์ใหม่
“ทั้ง 3 กลยุทธ์ จะทำให้เรามีความสามารถในการแข่งขันได้ ไม่ใช่แค่ในไทยเท่านั้น แต่ขยายไปยังอาเซียน และถึงแม้จะเกิดวิกฤต Pandemic ในประเทศไทย เรามั่นใจว่า SCGP มี Resilient หรือความยืดหยุ่น ประกอบกับพอร์ตโฟลิโอลูกค้าที่หลากหลายอุตสาหกรรม เราจึงมั่นใจว่าปีนี้ ยังคงเติบโตต่อเนื่อง” คุณวิชาญ กล่าวทิ้งท้าย