เทนเซ็นต์ คลาวด์ (Tencent Cloud) เปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ต (Internet Data Centre – IDC) แห่งล่าสุดของบริษัทในอินโดนีเซีย หวังขยายเครือข่ายระบบโครงสร้างพื้นฐานที่ปัจจุบันมีให้บริการแล้วใน 27 ภูมิภาค และ 61 พื้นที่ให้บริการ
ทั้งนี้ เทนเซ็นต์ระบุว่า อินโดนีเซีย เป็นตลาดคลาวด์สาธารณะ (Public Cloud) ที่เติบโตรวดเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชียแปซิฟิก โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยสะสม (CAGR) ร้อยละ 25 และคาดว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มสูงขึ้นเป็น 800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ภายในปี 2566[1] ดังนั้น ศูนย์ข้อมูลแห่งใหม่นี้จะช่วยรองรับความต้องการใช้บริการคลาวด์ที่กำลังเติบโตขึ้นทั้งในอินโดนีเซีย และภูมิภาคนี้
ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งล่าสุดของเทนเซ็นต์ คลาวด์ ตั้งอยู่ในย่านศูนย์กลางธุรกิจของกรุงจาการ์ตา ซึ่งได้เริ่มเปิดดำเนินงานเต็มรูปแบบแล้ว เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพในการเข้าถึง และการเชื่อมต่อเครือข่ายของผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตรายใหญ่ทั้งหมดในอินโดนีเซียและในระดับโลกให้สมบูรณ์ พร้อมทั้งช่วยประสานกระบวนการแลกเปลี่ยนข้อมูลเส้นทางระหว่างเกทเวย์คุณภาพสูง (border gateway protocol: BGP) ของเทนเซ็นต์ คลาวด์ให้ครอบคลุมทั่วทั้งประเทศ การเปิดตัวศูนย์ข้อมูลในอินโดนีเซียครั้งนี้ทำให้เทนเซ็นต์ คลาวด์เข้าถึงลูกค้า และผู้ใช้งานมากขึ้น ช่วยลดความล่าช้าในการเข้าถึงข้อมูลและแอปพลิเคชัน รวมถึงเอื้อให้ธุรกิจรวมถึงองค์กรต่างๆ ในประเทศสามารถเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลได้รวดเร็วยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังช่วยให้ลูกค้าของเทนเซ็นต์คลาวด์ สามารถดำเนินการและปฏิบัติตามกฎระเบียบ และข้อกำหนดต่างๆ ตลอดจนนำเสนอทางเลือกในการฟื้นฟูเมื่อเกิดภัยพิบัติให้กับทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
คุณโพชู หยาง รองประธานอาวุโสกลุ่มเทนเซ็นต์ คลาวด์ อินเตอร์เนชันแนล ระบุว่า “อินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลกด้วยจำนวนประชากรกว่า 270 ล้านคน และมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นอกจากนี้ โครงสร้างประชากรยังมีอายุน้อย จึงมีอัตราการปันผลทางประชากร (Demographic Dividend) จากอินเทอร์เน็ตอยู่ในระดับมหาศาล และตลาดอินเทอร์เน็ตบนอุปกรณ์มือถือของอินโดนีเซียยังพัฒนาอย่างรวดเร็วอีกด้วย เราจึงยินดีเป็นอย่างยิ่งกับการเปิดตัวศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งแรกของเทนเซ็นต์ คลาวด์ในอินโดนีเซีย”
การก่อตั้งศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตแห่งใหม่นี้จะช่วยรองรับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องของธุรกิจต่างๆ ในหลากหลายอุตสาหกรรม ตั้งแต่บริการทางการเงิน อินเทอร์เน็ต และอีคอมเมิร์ซ ไปจนถึงธุรกิจบันเทิง เกม และการศึกษาซึ่งรวมถึงธุรกิจดังต่อไปนี้
ธนาคารดิจิทัล
Bank Neo Commerce (BNC) มีระบบศูนย์กลางพร้อมด้วยฐานข้อมูลแบบกระจายตัวของเทนเซ็นต์ (Tencent Distributed Database – TDSQL) ที่ทำงานอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่เทนเซ็นต์ คลาวด์ได้นำระบบ TDSQL ออกให้บริการในต่างประเทศ ช่วยยกระดับสถาปัตยกรรมอินเทอร์เน็ตของอินโดนีเซียเพื่อภาคธุรกิจด้านบริการทางการเงินของประเทศ
ธุรกิจบันเทิง
JOOX – สตรีมมิงแพลตฟอร์มสำหรับดนตรี และความบันเทิง ก็สามารถใช้เทนเซ็นต์ คลาวด์เป็นผู้สนับสนุนพื้นฐานการให้บริการต่างๆ อย่างหลากหลาย ทั้งการสตรีมมิงเพลง และการร้องคาราโอเกะ ตลอดจนการชมคอนเสิร์ตในแบบไลฟ์สตรีมมิง และวิดีโอออนดีมานด์ เทนเซ็นต์ คลาวด์ ยังได้สนับสนุนการถ่ายทอดสดงานดนตรีระดับโลกผ่าน JOOX มากมายหลายงาน รวมถึงงาน Mnet Asian Music Awards (MAMA) ในการถ่ายโอนข้อมูลได้ด้วยความเร็วสูง การแปลแบบเรียลไทม์ และการขยายระบบเพื่อรองรับการใช้งานมีความยืดหยุ่นสูง
Aestron – ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับองค์กร เพื่อการสื่อสารแบบเรียลไทม์ (Real-time Communication – RTC) ได้ร่วมมือเชิงกลยุทธ์กับเทนเซ็นต์ คลาวด์ ซึ่งจากการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence – AI) ได้ส่งผลให้โครงสร้างพื้นฐานของแพลตฟอร์มจากเอสตรอน สามารถช่วยให้บริษัทต่างๆ เข้าถึงผู้ใช้งานต่อเดือนได้มากกว่า 400 ล้านราย ในประเทศต่างๆ กว่า 150 ประเทศ
WeTV – ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มความบันเทิงในเอเชีย ที่มาพร้อมฟีเจอร์ต่าง ๆ เช่น สามารถเลือกเสียง และคำบรรยายภาษาอินโดนีเซีย วิดีโอที่มีคุณภาพสูง และแสดงความคิดเห็นได้แบบเรียลไทม์
นอกจากนี้ ยังมีบริการช่วยเหลือ และสนับสนุนด้านความปลอดภัย และโครงสร้างพื้นฐานให้กับลูกค้าตลอด 24 ชั่วโมงทุกวัน ทำให้ศูนย์ข้อมูลอินเทอร์เน็ตของเทนเซ็นต์ คลาวด์ในอินโดนีเซีย ได้รับการรับรองมาตรฐานต่างๆ ซึ่งเป็นข้อพิสูจน์ถึงมาตรฐานความปลอดภัย และความมั่นคงในระดับสูง ทั้งการรับรองด้านการออกแบบและอาคารสถานที่ (Design & Facility) ในระดับ 3 จาก Uptime Institute, มาตรฐาน PCI DSS, มาตรฐาน ISO 27001, มาตรฐาน ISO 14001 และมาตรฐาน SNI (มาตรฐานท้องถิ่น) ด้วย