ย้อนหลังไปเมื่อปีที่แล้ว ชื่อของ “ไทยชนะ” เป็นที่รู้จักในวงกว้างจากการประกาศใช้ในวันที่ 17 พฤษภาคม 2020 ในฐานะระบบลงทะเบียนออนไลน์ของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส Covid-19 เพื่อเก็บข้อมูลการเข้าใช้งานในพื้นที่สาธารณะของประชาชน โดยมีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เป็นหน่วยงานที่ได้รับอนุญาตให้เข้าถึงข้อมูลเพียงผู้เดียว ซึ่งในวันแรกของการเปิดใช้งานมีร้านค้าร่วมลงทะเบียนมากกว่า 44,000 ร้าน และมีผู้เข้าใช้บริการรวมมากกว่า 2 ล้านคน
อย่างไรก็ดี ในวันที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อ Covid-19 ของประเทศไทยทะลุ 1,000 รายต่อวัน มีเสียงทวงถามดังมากขึ้นทุกที กับการทำงานของ “ไทยชนะ” ว่าตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา การที่หน่วยงานภาครัฐสนับสนุนให้ประชาชนสแกน QR Code เพื่อเช็คอิน-เช็คเอาท์สถานที่ต่าง ๆ อย่างเคร่งครัดนั้นมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนกับการป้องกัน Covid-19
เหตุที่เสียงของการถามหาดังขึ้นเรื่อย ๆ นั้น ส่วนหนึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่ามาจากเป้าหมายหลักของไทยชนะที่ออกแบบมาเพื่อ
- ประเมินความหนาแน่นของสถานประกอบการ เพื่อให้ร้านค้าสามารถบริหารจัดการและช่วยผู้ใช้ในการตัดสินใจว่าจะไปใช้บริการหรือไม่
- ช่วยในการสอบสวนโรค ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิด จากพิกัดสถานที่ที่บุคคลเข้าใช้บริการร้านค้า
- บันทึกระยะเวลาที่อยู่ในสถานที่ จะได้พิจารณาความเสี่ยงในกรณีที่มีรายงานว่าผู้ติดเชื้อเคยไปสถานที่เดียวกัน
แม้จะยังไม่มีคำตอบจากผู้ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทางการ แต่การให้สัมภาษณ์ของคุณสมคิด จิรานันตรัตน์ หนึ่งในผู้ร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มไทยชนะกับทางบีบีซีไทยเมื่อช่วงเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ก็มีหลายอย่างน่าสนใจ โดยคุณสมคิดให้ความเห็นเกี่ยวกับการระบาดของ Covid-19 ในจังหวัดสมุทรสาครว่า แพลตฟอร์มไทยชนะไม่สามารถตอบโจทย์ได้อีกต่อไป เนื่องจากโจทย์ใหญ่สำหรับการระบาดดังกล่าวนั้นคือการติดตามไทม์ไลน์ผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นจำนวนมาก และแอปพลิเคชันอย่าง “หมอชนะ” น่าจะตอบโจทย์มากกว่าในสถานการณ์ดังกล่าว
หมอชนะคือใคร
หมอชนะเป็นแอปพลิเคชันที่เริ่มพัฒนาเมื่อราวเดือนกุมภาพันธ์ 2020 และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2020 โดยกลุ่มผู้พัฒนาซอฟต์แวร์อิสระชื่อ “Code for Public” และกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ และการวิเคราะห์ข้อมูลภายใต้ชื่อ “กลุ่มช่วยกัน”
จุดเด่นของแอปพลิเคชันหมอชนะคือการใช้เทคโนโลยีอย่าง GPS และ Bluetooth ในการติดตาม “ตำแหน่งของผู้ใช้แอปฯ” และหากพบว่าผู้ใช้แอปฯ ได้เข้าใกล้ตัวบุคคลที่มีประวัติเสี่ยงมาก็จะมีการแจ้งเตือน โดยในช่วงเริ่มต้น ทางทีมงานผู้พัฒนาระบุว่า แอปพลิเคชันสามารถแสดงสถานะความเสี่ยงเป็น QR Code สีต่าง ๆ ได้
นอกจากนี้ แอปพลิเคชันยังจัดการข้อมูลส่วนบุคคลตาม พ.ร.บ. คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ. 2562 และมีการลงทะเบียนใช้แอปแบบไม่ระบุตัวตน (Anonymous) ด้วย
ทำไมการติดตามตัว (Contact Tracing) ได้ถึงตอบโจทย์
นอกจากประเด็นเรื่อง Privacy ในมุมของนักพัฒนา สิ่งที่ต้องให้ความสำคัญเพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันที่สามารถเป็นเครื่องมือช่วยรัฐบาลควบคุมการระบาดของ Covid-19 ได้จริงคือการเข้าใจว่า เชื้อโรคไม่ได้อยู่ที่สถานที่ แต่อยู่ที่ “คน”
เห็นได้จากแนวคิดในการพัฒนาแอปพลิเคชันของประเทศต่าง ๆ เช่น Trace Together ของสิงคโปร์ หรือหมอชนะที่เน้นการติดตามตัวผู้ใช้งาน ไม่ใช่เน้นการเช็คอินสถานที่ อีกทั้งยังเป็นแนวทางที่ค่ายผู้พัฒนาซอฟต์แวร์ชั้นนำของโลก ทั้ง Apple และ Google ให้ความสำคัญ และต่างเดินหน้าไปในทิศทางดังกล่าวทั้งสิ้น
อย่างไรก็ดี หลังจากเปิดตัวเมื่อเดือนเมษายน 2020 แอปพลิเคชันหมอชนะไม่ได้รับความสนใจเท่าที่ควร จนกระทั่งมีการประกาศจาก ศบค. เกี่ยวกับการยกระดับการบังคับใช้มาตรการป้องกันโรค เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2021 ว่า ต้องมีแอปพลิเคชันหมอชนะ เพื่อใช้ควบคู่กับการใช้แอปพลิเคชันไทยชนะ โดยนายแพทย์ทวีสิน วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหาร
การประกาศดังกล่าวทำให้ตัวเลขผู้ใช้งานแอปพลิเคชันหมอชนะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จาก 4.9 แสนคนต่อวันเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2021 เป็น 6.82 ล้านคนต่อวัน เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2021 และมียอดการดาวน์โหลดทั้งหมด 8.11 ล้านครั้ง รวมถึงมีการเปิดเผยสถิติการส่งแจ้งเตือนจากแอปหมอชนะว่าสามารถแจ้งเตือนได้จริง โดยมียอดสะสมรวม 5,927 ราย (อ้างอิงจากกระทรวงสาธารณสุข)
หมอชนะยังตอบโจทย์อยู่ไหมในวันนี้
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 มกราคม 2021 ก็มีรายงานว่า ทางกลุ่ม Code for Public ซึ่งเป็นผู้พัฒนาแอปหมอชนะได้ตัดสินใจถอนตัวจากการทำงานร่วมกัน โดยทางทีมพัฒนาจะขอแก้ไขบั๊กที่เกิดขึ้น เช่น การกินแบต การใช้ Data ฯลฯ เป็นครั้งสุดท้ายภายใน 2 สัปดาห์ หลังจากนั้นการแก้ไขหรือปรับเปลี่ยนใด ๆ จะเป็นหน้าที่ของภาครัฐที่รับไปดูแลต่อ ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากการถอนตัวของทีมงาน ฟีเจอร์หลักที่เคยเป็นจุดขายอย่างการเปลี่ยนสีของ QR Code ที่ควรจะทำได้ทันทีเพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้งาน กลับกลายเป็นฟีเจอร์ที่ต้องรอการดำเนินการบางอย่างก่อนจึงจะสามารถใช้งานได้
ตัวอย่างหนึ่งคือ การอัปเดตข้อมูลล่าสุดของเพจ ทีมงานอาสาหมอชนะ ที่ระบุว่า “มีการดำเนินงานหมอชนะประจำวันที่ 8 เม.ย. 64 ดังต่อไปนี้
1. คำขอส่ง Notification จำนวน 2 เคส ได้ดำเนินการเสร็จสิ้น โดย
1.1 เคสแรกจำนวน 1307 ราย ในบริเวณสถานบันเทิง กทม. อาทิ คริสตัลคลับทองหล่อ barbarbar ฯ
1.2 เคสสองจำนวน 147 ราย ในบริเวณคาเฟ่ เดล มาร์ ภูเก็ต, อิลูชันภูเก็ต, Shelter ภูเก็ต
2. คำขอข้อมูล Timeline จำนวน 31 เคส ขณะนี้กำลังดำเนินการ
3. คำขอเปลี่ยนสี QR Code จำนวน 29 เคส ขณะนี้กำลังดำเนินการ
หมายเหตุ: เนื่องจากมี request เข้ามาเป็นจำนวนมากตั้งแต่เวลาประมาณ 15:30 น. วันนี้ อาจทำให้การดำเนินการมีความล่าช้าเกิดขึ้นบ้าง”
นอกจากนี้ หากย้อนดูคำให้สัมภาษณ์ของ นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กับไทยพีบีเอส เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2021 ซึ่งเป็นวันหลังจากทีมพัฒนาหมอชนะประกาศถอนตัว จะพบว่า มีการใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันหมอชนะเพียง 2 รูปแบบเท่านั้น ได้แก่
- แบบที่ 1 เมื่อทีมสอบสวน พบผู้ป่วยยืนยัน COVID- 19 จะถ่ายภาพ QR code และ ส่งมาที่กรมควบคุมโรค เพื่อสืบค้นหาเครื่องใกล้เคียง ที่ลงแอปพลิเคชันในช่วงเวลาที่คาดว่าจะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ เพื่อส่งข้อความให้เฝ้าอาการระวังตนเองและการปฏิบัติตัว พร้อมสถานที่หรือเบอร์ติดต่อสอบถามกลับ
- แบบที่ 2 การสืบค้นหาเครื่องใกล้เคียงที่ลงแอปพลิเคชัน จากสถานที่ที่ผู้ป่วยยืนยันเดินทางไปในช่วงเวลาที่คาดว่ามีโอกาสในการแพร่กระจายเชื้อได้ และดำเนินการส่งข้อความไปเช่นเดียวกับแบบที่หนึ่ง
สิ่งที่น่าติดตามหลังจากนี้จึงเป็นเรื่องของความรู้ความเข้าใจในการใช้เทคโนโลยีของหน่วยงานภาครัฐว่ามีมากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะในวันที่ประเทศไทยมีตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทะลุ 1,000 คนแล้วอย่างเป็นทางการ เพราะหากมีความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยีอย่างแท้จริง จะเข้าใจถึงประโยชน์ของการวิเคราะห์และแจ้งเตือนได้แบบอัตโนมัติ ซึ่งจะนำไปสู่การจำกัดวงของผู้ได้รับความเสี่ยงได้ดีกว่า
แต่ถ้าหากไม่เข้าใจ เราก็อาจได้เห็นการทำ Contact Tracing แบบแมนนวลกันต่อไป ซึ่งคงไม่ใช่ทุกคนที่จะมีเวลามานั่งอ่านไทม์ไลน์ของผู้ติดเชื้อ Covid-19 เป็นพัน ๆ คนทุกวันอย่างแน่นอน
Photo Credit : NUMBER 24 – Authorized Shutterstock Partner in Thailand