HomeBrand Move !!ธุรกิจอาหารมาร์จิ้นสูง “เวิลด์แก๊ส” กระจายพอร์ตลงทุน ปั้น 6 แบรนด์ ชูเรือธง “ผัดไทยไฟทะลุ” เล็งขายแฟรนไชส์- JV เพิ่ม

ธุรกิจอาหารมาร์จิ้นสูง “เวิลด์แก๊ส” กระจายพอร์ตลงทุน ปั้น 6 แบรนด์ ชูเรือธง “ผัดไทยไฟทะลุ” เล็งขายแฟรนไชส์- JV เพิ่ม

แชร์ :

Chef Andy Yang World Gas

หากดูทิศทางกลุ่มพลังงานช่วงที่ผ่านมา จะเห็นว่าเริ่ม Diversify ไปธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มมากขึ้น เพราะมี “กำไร” สูง เรียกว่าเป็นตัวเลขสองหลัก อีกทั้งเป็นการกระจายพอร์ตโฟลิโอให้มีรายได้จากหลายทาง ท่ามกลางสถานการณ์ COVID-19 ในปีที่ผ่านมาทุกอย่างชะลอตัว แต่ “ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่” เจ้าของแบรนด์ “เวิลด์แก๊ส” เลือกเดินหน้าลงทุน “เชนร้านสตรีทฟู้ด” เพื่อชิงโอกาสใหม่จากมูลค่าตลาดกว่า 340,000 ล้านบาท

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

กลุ่มพลังงานที่ประสบความสำเร็จในการขยายพอร์ตธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มต้องยกให้ OR บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มจากร้านกาแฟ Café Amazon มีสาขาเบอร์หนึ่งในประเทศไทย ล่าสุดเข้าไปร่วมถือหุ้น “โอ้กะจู๋” ร้านอาหารเพื่อสุขภาพ ยังมีอีกหลายแบรนด์ร้านอาหารและเครื่องดื่มในมือที่สร้างกำไรงดงามให้ OR นั่นอาจถือเป็นต้นแบบให้กลุ่มพลังงานตามรอย

3 เหตุผล “เวิลด์แก๊ส” ขอลุยธุรกิจอาหาร

ปี 2563 ที่ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากโควิ-19 แต่ คุณชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) กลุ่มบริษัทพลังงานครบวงจรและผู้จัดจำหน่ายก๊าซแอลพีจีแบรนด์ “เวิลด์แก๊ส” มองโอกาสในจังหวะที่คนอื่นชะลอลงทุน ด้วยการแตกไลน์สู่ธุรกิจอาหาร ที่ถือเป็นน่านน้ำใหม่ ซึ่งก็มาจาก 3 เหตุผลหลัก

1.ขยายพอร์ตสร้างแหล่งรายได้ใหม่

กลุ่มดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ ทำธุรกิจพลังงานมา 42 ปี ใน 3 ประเภท 1.ธุรกิจก๊าซแอลพีจี แบรนด์ “เวิลด์แก๊ส” ซึ่งเป็นรายได้หลัก 2.ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซแอลพีจี มีแผนการทำธุรกิจซ่อมและผลิตถังก๊าซของบริษัทในอนาคต และ 3.การเริ่มเข้าไปลงทุนในธุรกิจพลังงานอื่นๆ ปี 2564 มีการลงทุนในพลังงานหมุนเวียนเป็นครั้งแรก เริ่มจากโซล่ารูฟท็อป

ส่วนการลงทุน ธุรกิจอาหาร ในปี 2563 ร่วมกับบริษัท วันเดอร์ฟู้ด อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ของ เชฟแอนดี้ ยังเอกสกุล จัดตั้งบริษัทใหม่คือ วันเดอร์ฟู้ด โฮลดิ้ง ถือเป็นการ Diversify กระจายความเสี่ยงธุรกิจ สร้างแหล่งรายได้ใหม่นอกจากกลุ่มพลังงานเป็นครั้งแรก

การเลือกลงทุนธุรกิจอาหาร เพราะเข้าถึงลูกค้าทุกกลุ่มได้ง่าย  โดย “วันเดอร์ฟู้ด” เริ่มต้นจากร้าน Hyper Fine Dining และสตรีทฟู้ด แต่ตั้งใจลงทุนหลายรูปแบบทั้งร้านอาหาร ภัตตาคาร เครื่องดื่ม และขนมหวาน

CEO WP Energy

คุณชมกมล พุ่มพันธุ์ม่วง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน)

2.ธุรกิจอาหารกำไร 20-30% สูงกว่าพลังงาน

หากดูผลประกอบการของ WP 3 ปีย้อนหลัง แม้มีรายได้หลักหมื่นล้าน แต่กำไรอยู่ที่หลักร้อยล้าน คือ ปี 2561 รายได้ 14,978 ล้านบาท กำไร 321 ล้านบาท ปี 2562 รายได้ 14,465 ล้านบาท กำไร 290 ล้านบาท และปี 2563 รายได้ 12,072 ล้านบาท กำไร 170 ล้านบาท

ปัจจุบันต้องยอมรับว่ากลุ่มพลังงาน “กำไร” บางมาก เป็นตัวเลขหลักเดียว จากภาวะแข่งขันสูง ขณะที่ภาพรวมธุรกิจอาหารกลุ่ม “เชนร้านสตรีทฟู้ด” คาดว่าปี 2564 จะมีมูลค่ากว่า 340,000 ล้านบาท เติบโต 5-6% ทุกปี นั่นคือน่านน้ำขนาดใหญ่ ที่สำคัญเป็นธุรกิจที่มาร์จิ้นสูง คือกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 50% และ Net Profit 20-30%

กลุ่ม WP จึงวางเป้าหมายการลงทุนธุรกิจอาหาร ปี 2564 สร้างผลกำไรเป็นสัดส่วน 10% ของกำไรรวม และภายใน 5 ปี หรือปี 2568 เพิ่มเป็น 20%

3.ได้พันธมิตร “เชฟแอนดี้” ปั้นแบรนด์ร้านอาหาร

การเข้าสู่ธุรกิจร้านอาหารของ WP ได้ร่วมมือกับพาร์ทเนอร์ เชฟแอนดี้ ยังเอกสกุล (เชฟแอนดี้ ยัง) ดีกรีเชฟมิชลินสตาร์ ผู้ก่อตั้งวันเดอร์ฟู้ด อินเตอร์เนชันแนล  มีประสบการณ์ในวงการอาหาร 30 ปี เป็นคนไทยคนแรกที่คว้า 1 ดาวมิชลิน จากร้านโรงเตี๊ยม ที่มหานครนิวยอร์ก

นอกจากนี้ เชฟแอนดี้ ยัง เป็นผู้ก่อตั้งร้านอาหาร Table 38 รูปแบบ Hyper Fine Dining ที่คว้ามิชลินสตาร์ 1 ดาวมาครอง และร้าน “ผัดไทยไฟทะลุ” เมนูสตรีทฟู้ดชื่อดังกับรางวัล “บิบ กูร์มองด์” มิชลิน ไกด์ กรุงเทพฯ

เชฟแอนดี้ ยัง มีความสามารถต่อยอดธุรกิจอาหารได้หลายรูปแบบ ทั้งอาหารคาว อาหารหวาน โดยใช้ Table 38 เป็น Lab คิดค้นและพัฒนาสูตรเมนูใหม่ๆ รวมทั้งแบรนด์ร้านอาหารใหม่ๆ ที่จะเปิดตัวออกมาต่อเนื่อง เรียกว่าเป็นการจับมือพันธมิตรแบบถูกคู่ ฝ่ายหนึ่งเชี่ยวชาญในวงการอาหาร อีกฝ่ายพร้อมด้านแหล่งเงินทุน

โดยเชฟแอนดี้ ยัง ก็บอกว่า “การตัดสินใจเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์กับ WP ให้เปรียบเทียบว่าหากเราเป็นต้นไม้ที่อยากเติบโต ก็ต้องมีกระถางใหญ่พอทำให้ต้นไม้โตได้”

Chef Andy Yang

เชฟแอนดี้ ยัง

เปิดตัว 6 แบรนด์ วางแผน JV เชนร้านอาหารเพิ่ม     

กลุ่มธุรกิจอาหารของ “วันเดอร์ฟู้ด” ได้เริ่มตั้งแต่ในกลางปี 2563 โดยมีร้านสาขาเดิมของเชฟแอนดี้ ยัง อยู่แล้ว 2 แบรนด์ คือ Table 38 และ ผัดไทยไฟทะลุ ภายใต้ความร่วมมือกับ WP ในนาม วันเดอร์ฟู้ด โฮลดิ้ง ปัจจุบันมีธุรกิจอาหาร  6 แบรนด์

1.ผัดไทยไฟทะลุ  เมนูสตรีทฟู้ดรางวัลมิชลิน “บิบ กูร์มองด์” มี 2 โมเดล คือ เอ็กซ์เพรส สาขาแรกที่ Thai Test Hub คิงเพาเวอร์ มหานคร คิวบ์ และรูปแบบร้านสาขาแรกถนนดินสอ ล่าสุดเปิดร้านแฟลกชิป ที่สยามสแควร์ ซอย 10 โดยปีนี้จะขยายสาขาเอ็กซ์เพรสในคิงเพาเวอร์เพิ่มเติม  “ผัดไทยไฟทะลุ” ถือเป็นแบรนด์เรือธงเจาะลูกค้าคนไทยและต่างประเทศ ซึ่งรู้จักเมนูผัดไทยเป็นอย่างดี

2.Table 38 ร้านอาหาร Hyper Fine Dining ด้วยเซ็ตเมนูและรายการอาหารที่มีระดับราคาหลากหลายมากขึ้น รวมถึงการพัฒนาเมนูอาหารที่มีส่วนผสมของกัญชา และยังเป็น Lab พัฒนาเมนูอาหารใหม่ ๆ ให้กับแบรนด์ในเครือ

3.Table38 patisserie ครัวขนมอบและเบเกอรี่พรีเมี่ยมเพิ่งเปิดตัวสาขาแรกสยามดิสคัฟเวอรี่ กับโปรดักท์แรก ครัวซองต์ เกาะเทรนด์ขนมมาแรงในช่วงนี้ ซึ่งได้รับการตอบรับดี ปีนี้จะขยายเพิ่ม 40 จุดจำหน่าย

4.ปีกุน ร้านอาหารอีสานสไตล์ฟิวชั่น เตรียมเปิดตัวปลายเดือนเมษายนนี้ โดยขยายการให้บริการช่วงกลางคืนในรูปแบบของทาปาซอาหารอีสาน และบาร์พร้อมเครื่องดื่ม เพื่อเป็นสถานที่แฮงเอ้าท์แห่งใหม่

5.Hungry Rabbit ร้านข้าวซอยสูตรเข้มข้น ใส่ใจสุขภาพ เพื่อสร้างให้เป็นอีกเมนูฮิตของคนไทยและต่างชาติ เปิดสาขาแรกที่สยามสแควร์ ซอย 10 (พื้นที่เดียวกับ ผัดไทยไฟทะลุ)

6.Wonder Food Catering ธุรกิจรับจัดเลี้ยงในงานอีเวนต์ ปาร์ตี้ และงานแต่งงาน ธุรกิจการผลิตและส่งวัตถุดิบ รวมถึงอาหารสำเร็จรูปให้กับกลุ่มลูกค้าองค์กร เช่น โรงแรม สายการบิน เป็นการต่อยอดใช้ประโยชน์จากครัวกลางและเชฟที่มีอยู่เพื่อขยายธุรกิจเพิ่มเติม

“วันเดอร์ฟู้ดเราไม่ได้หยุดแค่ร้าน Hyper Fine Dining และสตรีทฟู้ด แต่กำลังศึกษาเข้าไปร่วมทุน (JV) กับเชนร้านอาหารและเครื่องดื่มที่มีอยู่แล้วในตลาด โดยคุยอยู่ 2-3 ราย เพื่อสนับสนุนเรื่องเงินทุน เพราะช่วงที่ผ่านมาธุรกิจร้านอาหารจำนวนมากได้รับผลกระทบโควิด การร่วมทุนเป็นสิ่งที่ win win ทั้งสองฝ่าย และสร้างโอกาสเติบโตไปด้วยกัน เพราะเรามีเป้าหมายจะนำธุรกิจร้านอาหารเข้าตลาดหลักทรัพย์ในอนาคต”

ปีนี้เตรียมงบลงทุนไว้กว่า 50 ล้านบาทในการขยายธุรกิจอาหารและสาขาเพิ่มเติม รวมทั้งเปิดแบรนด์ใหม่ภายใต้การพัฒนาของเชฟแอนดี้ ยัง มีหลายเมนูที่สามารถพัฒนาเป็นร้านอาหารได้ เช่น “ผัดซีอิ้ว” เพราะวันนี้ยังไม่มีร้านใดเป็นเบอร์หนึ่งชัดเจน รวมทั้งสร้าง Cloud Kitchen เพื่อตอบรับการเติบโตของธุรกิจการรับส่งอาหารถึงที่บ้าน (Food Delivery)

Pad Thai Fa Ta Lu ผัดไทยไฟทะลุ

พาแบรนด์สตรีทฟู้ดไทยขายแฟรนไชส์ต่างประเทศ

เป้าหมายของวันเดอร์ฟู้ด หลังจากสร้างธุรกิจร้านอาหารทุกแบรนด์ให้เป็นมาตรฐานและรสชาติเดียวกันแล้ว ในอีก 1-2 ปีจากนี้ จะนำสตรีทฟู้ดไทย “ผัดไทยไฟทะลุ” และ  Hungry Rabbit  ร้านข้าวซอย เปิดขายแฟรนไชส์ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ซึ่งจะเป็นรูปแบบมาสเตอร์แฟรนไชส์ ประเทศละ 1 ราย

อีกโอกาสทางธุรกิจคือตลาด เครื่องปรุงรส เป็นแผนต่อยอดธุรกิจร้านอาหาร เพื่อให้ลูกค้าคนไทยและต่างชาติ นำไปปรุงทำอาหารทานเองที่บ้าน เริ่มด้วยซอสผัดไทย เพราะเป็นเมนูที่ต่างชาติรู้จักมากที่สุด น่าจะเริ่มได้กลางปี 2565 และยังมองโอกาสทำตลาดอาหารกึ่งสำเร็จรูปพร้อมรับประทาน เมนูที่ได้รับความนิยม เช่น ผัดไทย ก๋วยเตี๋ยวเรือ ซึ่งมีแล็บพร้อมในการพัฒนาเมนูต่างๆ เพื่อยกระดับสตรีทฟู้ดไทยไปสู่ตลาดโลก

“การขยายแฟรนไชส์และตลาดเครื่องปรุงรส เราไม่ได้มองแค่การเติบโตในประเทศอย่างเดียว แต่มองโอกาสการเป็นพาร์ทเนอร์ หรือ JV ร่วมกับผู้ประกอบการรายอื่นๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจอาหารในต่างชาติด้วย”

ทั้งกลุ่มดับบลิวพีและเชฟแอนดี้ ยัง มีเป้าหมายเหมือนกันว่า ต้องการส่งเสริมให้อาหารสตรีทฟู้ดไทยเป็นที่รู้จักในฐานะแม่เหล็กที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เข้ามาลิ้มลอง และคาดหวังว่าธุรกิจอาหารในเครือจะเป็นหนึ่งในปัจจัยช่วยส่งเสริมและกระตุ้นการท่องเที่ยวไทย เมื่อเราพร้อมเปิดประเทศหลังสถานกาณ์โควิด-19 คลี่คลาย และนำแบรนด์ร้านอาหารในรูปแบบ Thai comfort street food ไปปักธงเปิดแฟรนไชส์ในต่างประเทศ

Pad Thai Fa Ta Lu ผัดไทยไฟทะลุ

Pad Thai Fa Ta Lu ผัดไทยไฟทะลุ

Hungry Rabbit ข้าวซอย


แชร์ :

You may also like