บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ธุรกิจค้าปลีกของเจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ แห่งเครือซีพี ยังคงได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทยต่อเนื่องมาตั้งแต่ปีก่อน ไตรมาสแรกปีนี้ มีกำไรสุทธิ 2,599 ล้านบาท ลดลง 54% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ส่วนร้านเซเว่น อีเลฟเว่น ทำกำไรไปได้ 947 ล้านบาท ลดลงถึง 75.4%
“ซีพีออล์” สรุปรายได้ไตรมาสแรก ปี 2564 อยู่ที่ 133,431 ล้านบาท ลดลง 8.5% จากช่วงเดียวกันปีก่อน สาเหตุรายได้จากการขายและบริการธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ลดลง จากผลกระทบโควิด-19 ระลอกใหม่ ทำให้การบริโภคในประเทศและกำลังซื้อลดลง และการท่องเที่ยวชะลอการฟื้นตัวไปอีก สัดส่วนรายได้จากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ 61% และธุรกิจค้าส่งแม็คโคร 39%
โดยมี “กำไรสุทธิ” ไตรมาสแรก 2,599 ล้านบาท ลดลง 54% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากผลประกอบการร้านสะดวกซื้อยังไม่ฟื้นตัวจากผลกระทบโควิด อีกทั้งมีภาระดอกเบี้ยจ่ายเพิ่มขึ้นจากเงินกู้ยืมระยะยาว ที่เข้าไปลงทุนในบริษัทร่วมทุนเมื่อปลายปี 2563 โดยกำไรจากธุรกิจร้านสะดวกซื้อและธุรกิจอื่นๆ มีสัดส่วน 40% ขณะที่กำไรจากธุรกิจค้าส่งแม็คโคร สัดส่วน 60%
ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” มีรายได้จากการขายสินค้าและบริการรวม 70,450 ล้านบาท ลดลง 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน โดยมียอดขายเฉลี่ยต่อร้านต่อวันเท่ากับ 65,024 บาท และยอดขายเฉลี่ยของร้านสาขาเดิมลดลง 17.1% มียอดซื้อต่อบิลโดยประมาณ 77 บาท จำนวนลูกค้าต่อสาขาต่อวันเฉลี่ย 845 คน ลดลงจากผลกระทบโควิดตั้งแต่ระลอกแรกต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน
ร้านเซเว่นฯ ได้ปรับตัวโดยใช้กลยุทธ์ออฟไลน์ทูออนไลน์ หรือ O2O อาทิ 7-Eleven Delivery, All Online และ 24Shopping เพื่อให้ลูกค้าเข้าถึงสินค้าอุปโภคบริโภคต่างๆ ในร้านเซเว่นฯ ผ่านบริการเดลิเวอรี่ส่งถึงปลายทาง หรือรับสินค้าที่ร้าน ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดี ทำให้มีรายได้จากการขายออนไลน์ชดเชยผลกระทบจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้บางส่วน
กลุ่มธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่น อีเลฟเว่น” ไตรมาสแรกมีกำไรสุทธิ 947 ล้านบาท ลดลง 75.4% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากได้รับผลกระทบเชิงลบจากสถานการณ์โควิดและภาระดอกเบี้ยจ่ายจากเงินกู้ยืมสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ตามไตรมาสแรกปีนี้ ร้านเซเว่นฯ ได้เปิดสาขาใหม่ 155 สาขา รวมเป็น 12,587 สาขาทั่วประเทศ แบ่งเป็น 1.ร้านสาขาบริษัท 5,816 สาขา คิดเป็น 46% ร้านเปิดใหม่ 131 สาขา ในไตรมาสแรก 2.ร้าน SBP และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 6,771 สาขา คิดเป็น 54% ร้านเปิดใหม่ 24 สาขา
ปี 2564 ซีพีออลล์ ได้วางแผนเปิดร้านสะดวกซื้อสาขาใหม่อีก 700 สาขา คาดว่าจะใช้งบลงทุน 11,500 – 12,000 ล้านบาท แบ่งเป็น เปิดร้านสาขาใหม่ 3,800 – 4,000 ล้านบาท การปรับปรุงร้านเดิม 2,400 – 2,500
ล้านบาท โครงการใหม่, บริษัทย่อย และศูนย์กระจายสินค้า 4,000 – 4,100 ล้านบาท สินทรัพย์ถาวร และระบบสารสนเทศ 1,300 – 1,400 ล้านบาท
แนวโน้มธุรกิจค้าปลีกปี 2564 สถานการณ์โควิดยังคงส่งผลกระทบในเชิงลบต่อรายได้และค่าใช้จ่าย รวมถึงมีความไม่แน่นอนอื่นๆ ในอนาคต ที่อาจเกิดขึ้นต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคและการดำเนินธุรกิจ โดยยังต้องปรับตัวตามสถานการณ์ตลอดเวลา