นับตั้งแต่ปี 2557 “บีอีซี เวิลด์” เจ้าของ “ช่อง 3” ต้องเจอการเปลี่ยนแปลงของ Media Landscape ในยุคทีวีดิจิทัล มีคู่แข่งขันช่องฟรีทีวีมากขึ้น อีกทั้งพิธีกรข่าวเบอร์หนึ่ง “สรยุทธ สุทัศนะจินดา” ต้องยุติบทบาทลาจอในเดือนมีนาคม 2559 ทำให้เรตติ้งและรายได้ช่อง 3 ลดลง จนเริ่มขาดทุนในปี 2561 ถึงปี 2563
การกลับมานำทัพช่อง 3 ของ คุณสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม ปี 2563 กับภารกิจพลิกบีอีซี ให้ “กำไร” อีกครั้ง เริ่มเห็นสัญญาณตั้งแต่ไตรมาส 3 ปีก่อน เมื่อผลประกอบการโชว์กำไร มาปีนี้ได้อีกแรงหนุนสำคัญคือการคืนจอของคุณสรยุทธ กับ 2 รายการข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” และ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” ที่ช่วยผลักดันรายได้โฆษณารายการข่าวช่อง 3 กลับมาท็อปฟอร์มอีกครั้ง
“สุรินทร์” ครบ 1 ปี “บีอีซี” เทิร์นอะราวด์
หลังกลับมาร่วมงาน ช่อง 3 อีกครั้งเมื่อเดือนกรกฎาคมปีก่อน คุณสุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายธุรกิจโทรทัศน์ บริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด (มหาชน) สรุปการเปลี่ยนแปลงในรอบเกือบ 1 ปีที่ผ่านมาดังนี้
– ลดต้นทุนด้วยการลดขนาดองค์กร ปรับโครงสร้างใหม่ ลดต้นทุนพนักงาน เสริมบุคลากรทักษะใหม่ด้านดิจิทัล
– ยกเลิกการลงทุนในบริษัท บีอีซี เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด จุดนี้ทำให้ ช่อง 3 ได้รายการ “เรื่องเล่าเช้านี้” กลับมาเป็นของสถานี
– เพิ่มช่องทางสร้างรายได้จาก Global Content Licensing การขายลิขสิทธิ์ละครในต่างประเทศ ทั้งสถานีทีวี สตรีมมิ่ง แพลตฟอร์ม
– ปรับตัวเข้าสู่ Digital Transformation ในเวลาที่ถูกต้อง ด้วยการเปิดตัว 3 Plus Premium ซึ่งเป็น OTT Platform ของช่อง 3 ช่วงปลายเดือนมีนาคม 2564
จากการปรับตัวดังกล่าวทำให้ “บีอีซี” กลับมาทำกำไรอีกครั้งตั้งแต่ ไตรมาส 3 ปี 2563 ต่อเนื่องไตรมาส 4 ปี 2563 และไตรมาสแรก ปี 2564 แม้ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์โควิด
แนวโน้มที่เห็นชัดเจนคือ โฆษณาจากธุรกิจทีวี ช่อง 3 ซึ่งเป็นรายได้หลักของ บีอีซี เติบโตมาต่อเนื่องเป็นตัวเลขสองหลัก โดยไตรมาสแรกปีนี้ภาพรวมโฆษณาทีวี -5% แต่ช่อง 3 ทำได้ดีกว่าตลาด ธุรกิจทีวียังเป็นบวก 10-12%
หากไตรมาสสองปีนี้ยังทำกำไรได้ต่อเนื่อง ก็ถือว่าครบ 1 ปี ที่บีอีซี โชว์กำไร Turnaround ต้องถือว่า “บีอีซี” กลับมาฟื้นตัวแล้ว หลังจากต้องเจอกับภาวะขาดทุนมาตั้งแต่ปี 2561
“พูดได้ว่ามาถึงวันนี้ เราเกือบจะ fully recovered แล้ว”
ปี 64 รายการข่าวเด่น พลิกรายได้ช่อง 3 ฟื้น
แม้ไตรมาสสองปีนี้ ประเทศไทยยังอยู่ในสถานการณ์โควิดระลอก 3 ซึ่งการระบาดกระจายวงกว้างมากกว่าระลอก 1 และ 2 ส่งผลให้ภาพรวมอุตสาหกรรมโฆษณาปีนี้อาจไม่เติบโตหรือติดลบ แต่ “ช่อง 3” ต่างออกไป เพราะมีปัจจัยบวกเข้ามาในปีนี้ โดยเฉพาะรายการข่าว ที่จะเป็น “จุดเปลี่ยน” สำคัญฟื้นรายได้โฆษณา
– เรื่องหลักคือ คุณสรยุทธ คืนจอ เริ่มจัด 2 รายการข่าว เรื่องเล่าเช้านี้ จันทร์-ศุกร์ เวลา 6.00-8.20 น. และ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 10.30-12.15 น. เรียกว่าจัดรายการ 7 วันรวด ส่งผลให้เรตติ้งรายการข่าวดีขึ้น จากแฟนคลับที่ติดตามคุณสรยุทธ รายได้โฆษณากลับมาโดดเด่นอีกครั้ง
– ตั้งแต่ต้นปี ช่อง 3 มีการเปลี่ยนแปลงรายการข่าวใหม่ เริ่มจากได้เวลา “เรื่องเล่าเช้านี้” คืนจาก บีอีซี เทโรฯ หลังจากยกเลิกการลงทุน ทำให้ช่อง 3 เป็นเจ้าของรายการเรื่องเล่าเช้านี้ และได้จำนวนนาทีโฆษณาเพิ่มขึ้น (จากเดิมแบ่งเวลาโฆษณากับบีอีซีเทโรฯ) จึงสร้างรายได้มากขึ้น
– การปรับโฉมรายการครอบครัวข่าวใหม่ กับ 5 พิธีกรข่าว 5 คาแรคเตอร์ 5 นำทัพโดย คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา” คุณกิตติ สิงหาปัด ข่าวสามมิติ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 22.30-23.00 น. และ เสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.25-22.55 น. “ไก่ ภาษิต อภิญญาวาท” เรื่องเด่นเย็นนี้ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 16.30-18.00 น. และข่าวเด่นเย็น เสาร์ อาทิตย์ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 18.00-18.20 น. “หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย” ข่าวเที่ยงวันทันเหตุการณ์ และโหนกระแส ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 11.20-12.35 น. และ “เอ ดนยกฤตย์ แดงหวานปีสีห์” รายการขันข่าวเช้าตรู่ ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 04. 30-05.30 น.
“สรยุทธ์”คัมแบ็ค โฆษณาข่าวแน่นจอ ไตรมาส 3 เล็งขึ้นราคา
หากย้อนดูรายได้จากรายการข่าว “เรื่องเล่าเช้านี้” ไตรมาสแรก ปี 2563 พบว่ามีอัตราการใช้เวลาโฆษณา (Loading) อยู่ที่ 30% ไตรมาสแรกปี 2564 (ก่อนคุณสรยุทธกลับมา) ขยับมาอยู่ที่ 60% เนื่องจากมีนาทีโฆษณาเพิ่มขึ้น จากโควตาเดิมที่เป็นของบีอีซี เทโรฯ เมื่อมาร่วมกับของช่อง 3 ทำให้จำนวนนาทีขายโฆษณาเพิ่มขึ้น นั่นเท่ากับดีขึ้นทั้งเวลาโฆษณาและอัตราการใช้เวลาโฆษณาเพิ่มขึ้น
เมื่อคุณสรยุทธ กลับมาจัด 2 รายการข่าว ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม รวมทั้งได้เพิ่มเวลารายการเรื่องเล่าเช้านี้ อีก 25 นาที จากเดิมเวลา 6.00-7.55 น. เป็น 6.00-8.20 น. วันละ 2.20 ชั่วโมง ทำให้มีนาทีขายโฆษณามากขึ้น โดยราคา Rate Card (ราคาเสนอขาย) อยู่ที่นาทีละ 2.2 แสนบาท นอกจากนี้เดือนพฤษภาคม อัตราการใช้เวลาโฆษณาขยับขึ้นมาอยู่ที่ 75% ส่งผลให้รายได้จากรายการข่าวเพิ่มขึ้นอย่างมาก
ส่วนรายการ “เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์” เป็นรายการข่าวที่มีอัตราการใช้เวลาโฆษณาสูงของสถานีมาต่อเนื่องอยู่แล้ว ปี 2563 อยู่ที่ 50-60% ไตรมาสแรกอยู่ที่ 75% ในเดือนพฤษภาคม เมื่อคุณสรยุทธ กลับมา ทำให้อัตราการใช้เวลาโฆษณาเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 95% (ราคาโฆษณา Rate Card 2.9 แสนบาทต่อนาที)
หลายปีที่ผ่านมา รายได้โฆษณาข่าว ช่อง 3 ลดลง จากทั้งการแข่งขันที่มีจำนวนช่องมากขึ้น เรตติ้งลดลง ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ราคาโฆษณาเรื่องเล่าเช้านี้ที่เคยทำได้ในอัตราสูง แต่เมื่อเรตติ้งลดลง ก็ต้องให้ส่วนลดมากขึ้น รายได้ทีวีจึงลดลงไป
“แนวโน้มอัตราการใช้เวลาโฆษณาในรายการข่าวที่เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่อง หากสามารถรักษาอัตรา Loading ให้ใกล้เคียง 95% ได้ทุกรายการ และอยู่ในระดับนี้ได้อีก 3-4 เดือน ก็มีโอกาสที่จะขยับราคาโฆษณาขึ้นได้เช่นกัน”
ช่อง 3 มีแผนที่จะปรับราคาโฆษณาขึ้นในช่วงไตรมาส 3 ปีนี้ รายการที่เป็นไปได้ เช่น เรื่องเล่าเช้านี้ เรื่องเล่าเสาร์อาทิตย์ โหนกระแส (ปกติขายโฆษณาเต็ม 100% มาตลอด) ละคร 19.00 น. เรตติ้้งดีตั้งแต่ต้นปี เป็นอีกความสำเร็จของช่อง 3 ที่ทำเรตติ้งอันดับ 1 ได้ในกลุ่ม 15 ปีขึ้นไป พื้นที่กรุงเทพฯและหัวเมืองใหญ่ และเป็นอีกรายการที่ขายโฆษณาเต็ม ปัจจุบัน Rate Card นาทีละ 3.6 แสนบาท
รูปแบบการขึ้นราคาโฆษณาหรือปรับราคาในธุรกิจทีวีเป็นเรื่องปกติ ขึ้นอยู่กับเรตติ้งของแต่ละรายการ โดย Rate Card ยังอยู่ในระดับเดิม หากเป็นช่วงที่เรตติ้งลด เศรษฐกิจไม่ดี สถานีก็จะใช้วิธีให้ส่วนลดจาก Rate Card หากเรตติ้งดีและอัตราการใช้เวลาโฆษณาเต็ม ก็จะให้ส่วนลด “ลดลง” นั่นก็เท่ากับเป็นการขึ้นราคาโฆษณา และเป็นโอกาสเพิ่มรายได้ให้กับช่องทีวี
อีกโอกาสเพิ่มรายได้ คือ การขยายเวลารายการข่าว เดิมเวลาออกอากาศรายการข่าว ช่อง 3 ที่เริ่มตั้งแต่ 04.00 และไปถึงหลังเที่ยงคืนอีกวัน คิดเป็นสัดส่วนเวลา 30-40% ของสถานี แต่ปัจจุบันเหลือ 20% หลังคุณสรยุทธ กลับมาและมีการปรับโฉมครอบครัวข่าวใหม่ อีกทั้งสถานการณ์ปัจจุบันคนให้ความสำคัญและติดตามรายการข่าวมากขึ้น ก็มีโอกาสที่ช่อง 3 จะเพิ่มเวลาข่าวได้อีกแน่นอน ในอดีตรายการเรื่องเล่าเช้านี้ เคยออกอากาศวันละ 3.30 ชั่วโมง ปัจจุบันอยู่ที่วันละ 2.20 ชั่วโมง
และมีโอกาสที่รายการข่าวจะเพิ่มสัดส่วนรายได้จาก 20% ของโฆษณาทีวีในปี 2563 กลับไปใกล้เคียงกับ 30% ที่เคยทำได้ในอดีต เพราะหลังจบไตรมาสแรกปี 2564 สัดส่วนรายได้ข่าวขยับขึ้นมาเป็น 23% แล้ว
ซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์บีบีซี Doctor Foster ผลิตเวอร์ชั่นไทย
ปัจจุบันในธุรกิจทีวีรายได้โฆษณาหลักยังมาจากละคร ปี 2563 มีสัดส่วน 65% ข่าว 20% วาไรตี้ 10% และค่าเช่าเวลา 5% หากคิดเป็นเม็ดเงินรายได้โฆษณาปีก่อนลดลงจากการใช้ละครรีรัน ในช่วงสถานการณ์โควิด เมื่อเป็นละครรีรัน ราคาโฆษณาก็ลดลงตามไปด้วย
แต่ปี 2564 ช่อง 3 กลับมาออกอากาศ “ละครเฟิร์สรัน” ตั้งแต่ต้นปีราคาโฆษณาจึงเพิ่มขึ้น อีกทั้งละครช่วง 19.00 น. ทำเรตติ้งได้ดี มาเป็นอันดับ 1 ส่วนละคร 20.00 น.เรตติ้งก็ดีขึ้น ทำให้อัตราการใช้เวลาโฆษณา (Loading) สูงขึ้นด้วย
กลยุทธ์การทำละครปีนี้ จะเพิ่มความหลากหลายพล็อตเรื่องละครมากขึ้น โดยเฉพาะการซื้อลิขสิทธิ์ละครจากต่างประเทศมีผลิตในเวอร์ชั่นไทย ปี 2563 ช่อง 3 ได้ซื้อลิขสิทธิ์ละครจากตุรกี มารีเมก คือเรื่อง “บาปอยุติธรรม”
ปี 2564 ได้เจรจาซื้อลิขสิทธิ์ (อยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา เนื่องจากติดโควิด) ซีรีส์ดังของ BBC เรื่อง Doctor Foster ที่ออกอากาศซีซั่นแรกปี 2015 เคยสร้างเป็นเวอร์ชั่นเกาหลี ในชื่อเรื่อง A World of Married Couple ออกอากาศในปี 2020 และกวาดเรตติ้งถล่มถลายมาแล้ว
ช่อง 3 จะนำมารีเมกเป็นละครไทย คาดว่าเริ่มผลิตได้ในไตรมาส 3 ปีนี้ หากสถานการณ์โควิดดีขึ้นและสามารถออกกองถ่ายละครได้ปกติแล้ว หวังว่าจะเป็นละครที่ได้รับความนิยมในประเทศไทยเช่นเดียวกับเวอร์ชั่นเกาหลี
“การซื้อลิขสิทธิ์ซีรีส์ต่างประเทศมาผลิตเป็นเวอร์ชั่นไทย เป็นการสร้างความหลากหลายในการนำเสนอละคร ทำงานง่ายขึ้นจากการได้เห็นตัวอย่างฉากละครในต่างประเทศมาแล้ว และนำมาดัดแปลงให้เหมาะกับตลาดไทย อีกทั้งยังเป็นการแก้ปัญหาการเขียนบทละครของไทย ที่บ่อยครั้งคนเขียนบทเริ่มไอเดียตัน เมื่อเป็นงานศิลปะ ก็คงไปเร่งคนเขียนบทไม่ได้”
ปั้น 3 Plus สร้างรายได้ดิจิทัล แพลตฟอร์ม
ตั้งแต่ปี 2563 วิชั่นของ บีอีซี ชัดเจนว่าอยู่ภายใต้กลยุทธ์ Single Content Multiple Platform คือการทำคอนเทนต์ 1 ครั้ง หรือมีต้นทุนครั้งเดียว แต่เผยแพร่ได้หลายแพลตฟอร์ม เพื่อโอกาสสร้างรายได้หลายครั้ง
ปัจจุบันบีอีซี มีรายได้จากการขายลิขสิทธิ์ละครในต่างประเทศ (Global Content Licensing) ทั้งการขายละครที่ออกอากาศจบไปแล้วและละครออกอากาศพร้อมประเทศไทย (Simulcast) ให้กับสถานีทีวีและสตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งรายได้จาก 3 Plus ซึ่งเป็นดิจิทัล แพลตฟอร์ม หรือ OTT ของช่อง 3 เอง รวมกันเป็นสัดส่วน 20%
ต้องบอกว่า 3 Plus ถือเป็นอนาคตของบีอีซี เวิลด์ ที่สอดคล้องกับวิชั่นใหม่ไม่ใช่แค่ Television Company อีกต่อไป แต่ต้องการเป็น Leading Content Provider ในประเทศไทย ด้วยการเป็น Total Entertainment Company
แพลตฟอร์มของ 3 Plus จะมีคอนเทนต์ของช่อง 3 ให้ดูฟรี และการรับชมแบบสมาชิก 3 Plus Premium ซึ่งจะมี “ออริจินัล คอนเทนต์” และ Exclusive Content ถือเป็น ดิจิทัล แพลตฟอร์ม ที่จะทำให้ ช่อง 3 เข้าถึงคนรุ่นใหม่ที่ดูคอนเทนต์ผ่านช่องทางดิจิทัล และรักษาฐานผู้ชมกรุงเทพฯ และหัวเมือง ขยายฐานสร้าง Fandom ที่ชื่นชอบดาราและศิลปินช่อง 3
ปัจจุบัน 3 Plus ในกลุ่มดูฟรีมีสมาชิก 1.8 ล้านคน เป้าหมายปีนี้ 5-6 ล้านคน ส่วนสมาชิกจ่ายรายเดือนราคา 79 บาท มีจำนวน 15,000 คน เป้าหมายปีนี้ 1 แสนคน
การปรับตัวของ บีอีซี และ ช่อง 3 ตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา เริ่มชัดเจนในเส้นทางการเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในหลากหลายแพลตฟอร์ม จากจุดแข็ง “ดารานักแสดง” จำนวนมากในมือ ที่จะต่อยอดทำงานด้านผลิตคอนเทนต์กับ สตรีมมิ่ง แพลตฟอร์มต่างๆ ควบคู่ไปกับ 3 Plus ของตัวเอง โดยมีเป้าหมายสร้างรายได้ในกลุ่มขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์และดิจิทัล ให้ได้ 1 ใน 3 ของรายได้ในอนาคต เป็นการกระจายโอกาสสร้างรายได้จากหลายช่องทาง
ขณะที่ธุรกิจทีวีปีนี้ก็มีโอกาสเติบโตได้สูงกว่าอุตสาหกรรมโฆษณา จากรายได้ข่าวที่เพิ่มขึ้น ท่ามกลางโควิดที่ยังกระทบกับหลายธุรกิจ แต่ปีนี้ “บีอีซี” ยังวางเป้าหมายรายได้เติบโตเป็นตัวเลขสองหลัก และกำไรกลับมาเทิร์นอะราวด์ ที่วิ่งนำไปก่อนแล้วเห็นจะเป็นราคาหุ้นบีอีซี กับสถิตินิวไฮในรอบ 3 ปี