HomePR News3 ปีที่รอคอยกับ “กม. แอปเรียกรถ” จับตาโค้งสุดท้ายก่อนฝันกลายเป็นจริง [PR]

3 ปีที่รอคอยกับ “กม. แอปเรียกรถ” จับตาโค้งสุดท้ายก่อนฝันกลายเป็นจริง [PR]

แชร์ :

เป็นเวลากว่า 3 ปีแล้วหลังจากที่กระทรวงคมนาคมได้พยายามผลักดันให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถนำมาให้บริการรับจ้างสาธารณะผ่านแอปพลิเคชันได้อย่างถูกกฎหมายในประเทศไทย จนกระทั่งถึง “โค้งสุดท้าย” ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา เมื่อนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้เผยว่า  ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยรถยนต์รับจ้างบรรทุกคนโดยสารไม่เกินเจ็ดคนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …. ดังกล่าว ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว โดยหลังจากนี้จะจัดทำประกาศตามกฎกระทรวงให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และคาดว่าประกาศฉบับนี้จะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายเดือนมิถุนายนหรือไม่เกินเดือนกรกฎาคมนี้ ซึ่งการผ่านร่างกฎหมายฉบับนี้จะเป็นประโยชน์ไม่เฉพาะกับภาครัฐเท่านั้น แต่ยังรวมถึงทุกภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้โดยสาร ผู้ขับขี่ และผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ทำความรู้จักบริการ และร่างกฎหมายแอปเรียกรถ

ในยุคสมัยที่ชีวิตของผู้คนขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ทั้งการเข้าถึงสมาร์ทโฟนและอินเทอร์เน็ตที่ง่ายและสะดวกสบาย ประกอบกับการพัฒนาทางเทคโนโลยีและดิจิทัลที่รุดหน้าอย่างรวดเร็ว และการเติบโตของสังคมเมือง รวมถึงรูปแบบการใช้ชีวิตของคนยุคใหม่ที่เน้นความรวดเร็วและคล่องตัวมากขึ้น ยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้แพลตฟอร์มต่างๆ รวมถึงบริการเรียกรถผ่านแอป (Ride-hailing) มีบทบาทสำคัญในการเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมต่อผู้โดยสารที่ต้องการใช้บริการให้สามารถเจอกับผู้ขับขี่ได้อย่างสะดวกสบายมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้กฎหมายไทยยังไม่ได้เปิดกว้างหรือรองรับให้สามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการสาธารณะได้ โดยเน้นให้ความสำคัญไปกับรถรับจ้างอย่างแท็กซี่เท่านั้น

กระทรวงคมนาคม โดยกรมการขนส่งทางบก จึงได้ผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่จะทำให้ประชาชนสามารถนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาจดทะเบียนเป็น “รถยนต์รับจ้าง” กับกรมการขนส่งทางบกเพื่อนำไปให้บริการสาธารณะผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ (หรือ แอปพลิเคชัน) ที่ได้รับการรับรองจากกรมการขนส่งทางบก ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเรียกรถหลายราย ไม่ว่าจะเป็น แกร็บ (Grab) โบลท์ (Bolt) ไลน์แมน แท็กซี่ (LINE MAN Taxi) โกเจ็ก (Gojek) ทรูไรด์ (True Ryde) และ บอนกุ (Bonku)

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างกฎหมายฯ ดังกล่าวยังครอบคลุมในประเด็นต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็น การกำหนดขนาด กำลังขับเคลื่อน (กิโลวัตต์) หรือประเภทของรถที่จะสามารถนำมาให้บริการ การต้องติดเครื่องหมายบนตัวรถว่าเป็นรถที่ให้บริการผ่านแอป การกำหนดอายุการใช้งานของรถที่ต้องไม่เกิน 9 ปี และต้องตรวจสภาพรถตามหลักเกณฑ์ของกระทรวง รวมไปถึงการกำหนดให้ผู้ขับขี่ต้องแต่งกายสะอาดและสุภาพ ขณะที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันต้องมีระบบการลงทะเบียนคนขับ การกำหนดให้ต้องมีการแสดงตัวตนของคนขับ เลขทะเบียนรถ ระยะทาง ระบบติดตาม-ตรวจสอบเวลา สถานที่รับส่ง ระบบคิดอัตราค่าโดยสารล่วงหน้า ตลอดจนระบบแจ้งข้อร้องเรียนหรือขอความช่วยเหลือ เป็นต้น

เมื่อแอปเรียกรถถูกกฎหมาย แล้วใครบ้างที่ได้ประโยชน์

  • ผู้โดยสาร หรือประชาชนทั่วไปที่ใช้บริการขนส่งสาธารณะจะได้รับความสะดวกสบายในการสัญจรเดินทาง ซึ่งเพิ่มทางเลือกให้สามารถใช้บริการได้ทั้งการโบกรถแท็กซี่แบบเดิม หรือเรียกรถผ่านแอปพลิเคชัน เพื่อให้มารับได้ถึงที่โดยไม่ต้องรอนาน สามารถคาดการณ์ระยะเวลาการเดินทางได้ ทั้งยังมีการแสดงราคาที่โปร่งใสให้ทราบก่อนการเดินทางทุกครั้ง และยังสามารถเลือกวิธีการชำระเงินได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะด้วยเงินสดหรือตัดบัญชีผ่านแอปพลิเคชันได้เลย ที่สำคัญคือ มาตรฐานด้านความปลอดภัย เพราะมีระบบติดตามการเดินทางแบบเรียลไทม์ มีฐานข้อมูลของคนขับที่สามารถตรวจสอบได้หากมีเหตุฉุกเฉิน และมีระบบร้องเรียนหรือระบบให้ความช่วยเหลือตลอดเวลา
  • ผู้ขับขี่ ก็จะสามารถหารายได้เสริมและสร้างประโยชน์จากทรัพย์สินอย่างรถยนต์ที่มีอยู่เพื่อก่อให้เกิดรายได้ โดยไม่ต้องกังวลว่าจะต้องโดนดำเนินคดีทางกฎหมายเหมือนที่ผ่านมา ขณะที่ผู้ให้บริการแอปพลิเคชันหลายรายยังมอบสิทธิประโยชน์ให้กับคนขับเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นประกันอุบัติเหตุในขณะให้บริการ ระบบหรือเทคโนโลยีด้านความปลอดภัยที่ช่วยสร้างความอุ่นใจให้คนขับ รวมไปถึงบางรายอาจมีผลิตภัณฑ์ด้านการเงินอย่างสินเชื่อหรือการผ่อนชำระสินค้าเพื่อสนับสนุนหรือแบ่งเบาภาระให้กับคนขับด้วย
  • ในส่วนของแพลตฟอร์มหรือผู้ให้บริการแอปพลิเคชัน ถือเป็นโอกาสในการพัฒนาและขยายธุรกิจได้อย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเมื่อเปิดให้มีการแข่งอย่างเสรี ย่อมส่งผลให้เกิดการยกระดับของทั้งอุตสาหกรรม ทำให้เกิดการพัฒนามากขึ้น ทั้งในด้านมาตรฐานการบริการที่ดียิ่งขึ้น ราคาในการให้บริการที่สมเหตุสมผล ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์สูงสุดก็คือผู้บริโภคนั่นเอง
  • สำหรับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ ซึ่งหลายคนอาจเข้าใจว่าบริการเหล่านี้จะมาแย่งอาชีพหรือแย่งผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริงแล้ว ภาครัฐพยายามสร้างความสมดุลเพื่อให้อุตสาหกรรมบริการเดินทางขนส่งสาธารณะเกิดการพัฒนาและเดินหน้าได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยช่วยแก้ปัญหาให้กับกลุ่มคนขับรถแท็กซี่ในหลายมิติ เช่น การขยายอายุรถแท็กซี่จาก 9 เป็น 12 ปีการลดภาระต้นทุนติดตั้งอุปกรณ์ส่วนตัวโดยสนับสนุนการใช้ซอฟต์แวร์หรือแอปพลิเคชันเข้ามาแทนที่ ปัจจุบัน คนขับแท็กซี่หลายหมื่นรายหันมาหารายได้จากการรับงานผ่านแอปเรียกรถเหล่านี้อยู่แล้ว ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสในการหารายได้ได้สองช่องทาง ทั้งจากการรับงานแบบดั้งเดิมที่ผู้โดยสารโบกเรียกตามท้องถนน และการรับผู้โดยสารจากแอปเรียกรถที่จะช่วยประหยัดเวลาในการวนหาลูกค้า
  • และหากมองถึงผลประโยชน์ที่เกิดกับประเทศในภาพรวม การที่แอปเรียกรถถูกกฎหมายถือเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งในการสนับสนุนนโยบาย “ประเทศไทย 0” (Thailand 4.0) ของภาครัฐในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรมหรือเทคโนโลยีดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งจะช่วยส่งเสริมให้มีการหมุนเวียนของรายได้ในระบบเศรษฐกิจมหภาค ยกระดับมาตรฐานในด้านการเดินทางและขนส่ง รวมไปถึงช่วยสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่คุ้นชินกับการเรียกรถผ่านแอป รวมทั้งการท่องเที่ยวในประเทศ โดยเฉพาะในเมืองรอง ซึ่งไม่มีระบบขนส่งสาธารณะรองรับ ที่สำคัญ การทำให้แอปเรียกรถถูกกฎหมายยังถือเป็นอีกหนึ่งเครื่องยืนยันและเป็นอีกก้าวสำคัญในการผลักดันและพัฒนากฎหมายรูปแบบใหม่ที่สอดรับกับบริบทของธุรกิจดิจิทัลในปัจจุบัน ต่อไปในอนาคต

ปัจจุบันมีการนำรถยนต์ส่วนบุคคลมาให้บริการรับส่งคนผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ นับหลายหมื่นคัน ยังไม่นับรวมคนขับแท็กซี่จำนวนมากที่หันมารับงานจากแอปเรียกรถเหล่านี้ ฝันของประชาชนคนไทยที่จะสามารถนำรถยนต์ส่วนตัวมาประกอบอาชีพได้อย่างถูกกฎหมายไม่ใช่เรื่องลมๆ แล้งๆ อีกต่อไป แม้จะตามหลังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคอย่างสิงคโปร์ มาเลเซีย หรือเวียดนาม แต่ก็ยังไม่สายเกินไป… อดใจอีกนิด ไม่นานเกินรอ


แชร์ :

You may also like