สำหรับแฟนคลับค่ายดิสนีย์ (Disney) ที่เฝ้ารอจะได้รับชมคอนเทนท์ในตำนานทั้งจักรวาล The Avengers, Star Wars หรือแม้แต่การ์ตูนคลาสสิกที่เราดูกันตั้งแต่เด็ก ตอนนี้ได้เวลาแคะกระปุกแล้ว เพราะผู้บริหาร Disney ออกมาประกาศอย่างเป็นทางการว่าจะเปิดตัวบริการ Disney+ Hotstar ในประเทศไทยในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
หนึ่งสัญญาณที่น่าสนใจก็คือ เมื่อก่อนหน้านี้ ราว 1 สัปดาห์ Disney+ ได้ประกาศ “ปิดรับสมัคร” ตำแหน่งงานในเมืองไทย ซึ่งก็เป็นสัญญาณว่าทีมงานที่จะดูแลตลาดและคอนเทนท์ในประเทศไทยพร้อมแล้ว จนกระทั่ง Reuters ได้เผยแพร่ข้อความของ Robert Chapek ซีอีโอ The Walt Disney Company ที่ระบุกับนักวิเคราะห์ว่า “ดิสนีย์วางแผนจะเปิดตัว Disney+ ในมาเลเซียวันที่ 1 กรกฎาคม และในประเทศไทยวันที่ 30 มิถุนายน” (Disney plans to launch Disney+ in Malaysia on June 1 and in Thailand on June 30)
สำหรับราคาค่าบริการ คาดการณ์ว่าจะอยู่ที่ 299 บาทต่อ 3 เดือน ซึ่งถ้าหากว่าเป็นไปตามนี้จริง ก็ถือว่าใกล้เคียงกับ Netflix ซึ่งเป็นผู้ให้บริการ Video Streaming รายสำคัญในเมืองไทย (ราคาค่าบริการรายเดือนของ Netflix เริ่มต้นที่ 279 บาท แต่ Netflix มีแพกเกจสำหรับการดูในโทรศัพท์มือถืออย่างเดียวโดยอยู่ที่ 99 บาทต่อเดือนให้เลือกด้วย)
ธีมปาร์คยังขาดทุน สตรีมมิ่งต้องรับไม้ต่อ
การขยายบริการสตรีมมิ่งในประเทศต่าง ๆ เพิ่มเติมอาจเป็นอีกหนึ่งหนทางเพิ่มรายได้ให้กับ Disney ในเวลานี้ เนื่องจากที่ผ่านมา ธุรกิจธีมปาร์คของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการระบาดของไวรัส Covid-19 และถึงแม้บางประเทศในซีกโลกตะวันตกจะเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวบ้างแล้วก็ตาม แต่สถานที่ท่องเที่ยวก็ยังต้องจำกัดจำนวนผู้เข้าชมตามมาตรการของรัฐบาลอยู่ดี (ดิสนีย์แลนด์ในแคลิฟอร์เนียเริ่มกลับมาเปิดให้บริการเมื่อ 30 เมษายนที่ผ่านมา)
จากการเปิดเผยของ Disney เมื่อต้นเดือนเมษายนพบว่า Disney+ มีผู้สมัครสมาชิกแล้วถึง 103.6 ล้านคน และในไตรมาสนี้ยังมีการเปิดตัวซีรีส์ดังอย่าง “WandaVision” และ “The Falcon and the Winter Soldier” ด้วย ซึ่งนักวิเคราะห์คาดว่าจะทำให้ผู้สมัครสมาชิกของ Disney+ เพิ่มขึ้นเป็น 109.3 ล้านคนได้เลยทีเดียว
อย่างไรก็ดี ตัวเลขที่น่ากังวลไม่น้อยก็คือรายได้ต่อเดือนของผู้ใช้บริการแต่ละรายที่ลดลง จาก 5.63 เหรียญสหรัฐ เหลือ 3.99 เหรียญสหรัฐ ขณะที่นักลงทุนคาดหวังว่า ค่าเฉลี่ยควรจะอยู่ที่ 4.10 เหรียญสหรัฐ ส่วนสาเหตุที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ได้รับการอธิบายว่ามาจากการเปิดตัว Disney+ Hotstar ในตลาดนอกสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นบริการที่มีราคาถูกกว่าบริการปกติของ Disney+ นั่นเอง
ทั้งนี้ รายได้รวมของ Disney ในไตรมาส 2 ของปี (สิ้นสุดเมื่อวันที่ 3 เมษายน) ลดลง 13% เหลือ 1.56 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ แต่ Disney ก็มีข้อดีอย่างอื่นมาชดเชย นั่นคือรายได้สุทธิจากการดำเนินงานต่อเนื่อง ที่พบว่าเพิ่มขึ้น 912 ล้านเหรียญสหรัฐ จากไตรมาสเดียวกันเมื่อปีก่อนหน้าที่ทำไว้แค่เพียง 468 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น
เมื่อหันมาดูในแต่ละเซคชั่นพบว่า รายได้จากฝ่ายมีเดียของ Disney เพิ่มขึ้นเป็น 2.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือเพิ่มขึ้น 74% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าด้วย ส่วนบริการสตรีมมิ่งนั้น แม้จะขาดทุน 290 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ก็ยังต่ำกว่าที่นักลงทุนจากวอลสตรีทคาดการณ์ เนื่องจากมีรายได้ค่าโฆษณาจาก Hulu และ ESPN+ ที่ทำได้สูงกว่าที่คาดการณ์จากอีเวนท์การแข่งขันกีฬาต่าง ๆ เข้ามาช่วยเสริม
ส่วนธุรกิจธีมปาร์คอย่างดิสนีย์แลนด์ที่หลายคนฝันอยากกลับไปเที่ยวอีกครั้งนั้น อาจไม่ใช่เรื่องน่ายินดี เพราะในไตรมาสที่ผ่านมา บริษัทขาดทุนจากการดำเนินงาน 406 ล้านเหรียญสหรัฐ (เนื่องจากดิสนีย์แลนด์ในแคลิฟอร์เนียและกรุงปารีสต้องปิดตัวตลอดทั้งไตรมาส)
สำหรับธุรกิจภาพยนตร์ Disney บอกว่าเริ่มมีความพยายามลดเวลาการรอฉายให้สั้นลง โดยภาพยนตร์เรื่อง Free Guy และ Shang Chi : And The Legend of The Ten Rings จะเริ่มฉายบน Disney+ หลังจากฉายในโรงภาพยนตร์เพียง 45 วัน และเป็นไปได้ว่าสตูดิโออื่น ๆ อาจเลียนแบบแนวคิดนี้ของ Disney ไปใช้กับภาพยนตร์ของตัวเองด้วย