HomeBrand Move !!ปรับโครงสร้าง-กระจายเสี่ยงลงทุน ‘‘ดุสิตธานี” พลิกกำไร 74 ล้าน ไตรมาสแรก

ปรับโครงสร้าง-กระจายเสี่ยงลงทุน ‘‘ดุสิตธานี” พลิกกำไร 74 ล้าน ไตรมาสแรก

แชร์ :

ศุภจี สุธรรมพันธุ์ ดุสิตธานี

สถานการณ์โควิด-19 ทำธุรกิจโรงแรมกระทบหนัก นักท่องเที่ยวต่างชาติต้องหยุดเดินทางมาแล้วปีกว่า ตัวเลขผลประกอบการกลุ่มโรงแรมปี 2563 จึง “ขาดทุน” กันถ้วนหน้า อย่าง ดุสิตธานี” ที่เคยทำกำไรมาต่อเนื่อง ก็ขาดทุนกว่า 1,000 ล้านบาทในปีก่อน แต่หลังจากปรับโครงสร้างธุรกิจ ลดต้นทุน หารายได้ใหม่ ทำให้ไตรมาสแรกปีนี้ “ดุสิตธานี” พลิกมาทำกำไร

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

แม้ไตรมาสแรกของปีนี้ประเทศไทยยังเผชิญกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ “ดุสิตธานี” ก็สามารถทำรายได้ 1,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.9% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ที่มีรายได้รวม 1,262 ล้านบาท และทำกำไรสุทธิได้ 74 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้วที่ขาดทุนสุทธิ 82 ล้านบาท เป็นผลจากแผนการปรับโครงสร้างทางการเงิน รวมถึงการกระจายการลงทุนเพื่อสร้างแหล่งรายได้หลากหลายทาง

โดยธุรกิจอาหารมีรายได้เพิ่มขึ้น จากการขยายธุรกิจบริการจัดการอาหารแก่โรงเรียนนานาชาติ กำไรจากการขายเงินลงทุนของบริษัทร่วมทุนแห่งหนึ่งในโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค ซึ่งเป็นไปตามแผนงานระยะยาวที่ได้วางไว้ล่วงหน้า และกำไรจากการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน (NRF) ซึ่งเป็นผลจากการปรับกลยุทธ์การเติบโตทางธุรกิจของบริษัทที่กระจายการลงทุนไปยังธุรกิจอาหารและธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ นอกจากนี้ได้ควบคุมต้นทุนและค่าใช้จ่ายอย่างเข้มงวด ทำให้ค่าใช้จ่ายคงที่ลดลง  26% จากไตรมาสแรกปี 2563

dusit Q1 2021

ในไตรมาส 1 ปี 2564  กลุ่มดุสิตธานี มีรายได้ 1,311 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 49 ล้านบาท คิดเป็น 3.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อน  มาจากธุรกิจโรงแรม 33.3% ธุรกิจการศึกษา 8% รายได้จากธุรกิจอาหาร 12.1% รายได้จากธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 19.5% และรายได้จากธุรกิจอื่น 27.1%

– ธุรกิจโรงแรม ในไตรมาส 1 ปี 2564  มีรายได้ 437 ล้านบาท ลดลง 50.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลกระทบโควิด โดยแบ่งออกเป็นสองส่วน คือ ในประเทศไทย ยังได้รับผลกระทบจากโควิดระลอก 2 ปลายเดือนธันวาคมปี 2563 และธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศ ไตรมาสแรกปีนี้ มีอัตราการเข้าพักที่ดีต่อเนื่องจากไตรมาส 4 ปี 2563 โดยเฉพาะโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ โรงแรมดุสิตธานี มะนิลา และโรงแรมอื่นๆ ที่บริษัทรับจ้างบริหารในภูมิภาค ตะวันออกกลาง

Le Cordon Bleu dusit

– ธุรกิจการศึกษา ในไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้ 105 ล้านบาท ลดลง 2.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน  เนื่องจากรายได้ของวิทยาลัยดุสิตธานีลดลง จากจำนวนนักศึกษาลดลงและการเปลี่ยนรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบออนไลน์ แต่มีดีมานด์เพิ่มขึ้นในหลักสูตรของโรงเรียนสอนการประกอบอาหาร เลอ กอร์ดอง เบลอ ดุสิต

– ธุรกิจอาหาร ในไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้ 159 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43 ล้านบาท หรือ 37.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากรายได้ของกิจการ The Caterers ในประเทศเวียดนามซึ่ง Epicure Catering ได้เข้าไปลงทุนในกิจการดังกล่าวตั้งแต่ไตรมาส 1 ปี 2563 และลงทุนเพิ่มจนครบในปลายไตรมาส 3 ปี 2563

– ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้ 256 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 257 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากรายได้จากการจำหน่ายเงินลงทุนในหุ้นสามัญของบริษัทสวนลุม พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ดังกล่าวเป็นเงิน 251 ล้านบาทและรับรู้รายได้ค่าธรรมเนียมการจัดการจากการเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทสวนลุม พร็อพเพอร์ตี้ จำนวน 16 ล้านบาท หักกลบกับส่วนแบ่งผลขาดทุนจากเงินลงทุนในกิจการร่วมค้าบริษัท ดิ ออริจิ้น ดุสิต จำกัด 11 ล้านบาท โดยรับรู้ขาดทุนเพิ่มขึ้น 10 ล้านบาทจากงวดเดียวกันของปีก่อน จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายทางการตลาด

– ธุรกิจอื่น ไตรมาส 1 ปี 2564 มีรายได้จากธุรกิจอื่น 354 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 190 ล้านบาท หรือ 115.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากกำไรจากการวัดมูลค่าสินทรัพย์ทางการเงิน 278 ล้านบาท หักกลบกับกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ลดลง 40 ล้านบาท ส่วนแบ่งกำไรที่ลดลงจากเงินลงทุนใน DREIT 21 ล้านบาท รายได้ลดลงจากร้านอาหารบ้านดุสิตธานีและบริษัท ดุสิต ฮอสปิตัลลิตี้ เซอร์วิสเซส จำกัด (ธุรกิจจัดเลี้ยงนอกสถานที่และธุรกิจรับทำความสะอาด) 23 ล้านบาท

CEO dusit

ปี 64 เจอโควิดระลอก 3 กดดันรายได้ไตรมาส 2-3

คุณศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DTC กล่าวว่าผลการดำเนินงานที่เป็นบวกในไตรมาสนี้ มาจากการปรับกลยุทธ์ด้านการบริหารจัดการโครงสร้างทางการเงินใหม่ ทั้งจากการลงทุนที่ผ่านมาและโครงการดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค รวมถึงการรับรู้ผลกำไรจากการกระจายการลงทุนไปในกลุ่มธุรกิจอื่นๆ ตลอดจนการบริหารและการควบคุมต้นทุนทางการเงิน และค่าใช้จ่ายต่างๆ ตลอดปีที่ผ่านมาตั้งแต่เกิดโควิด

ทั้งการเพิ่มประสิทธิภาพของทรัพย์สินที่มีอยู่ (Asset Optimization) การบริหารจัดการทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด  (Asset Rationalization) และการรับรู้รายได้จากการบริหารจัดการเงินลงทุน (Gain from Sales of investment) ทำให้มีฐานการเงินเพียงพอที่จะรองรับวิกฤติที่เข้ามากระทบในช่วงนี้

แม้ว่าภาพรวมของสถานการณ์โรงแรมในประเทศไทย จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระลอก 2 ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สมุทรสาครในช่วงเดือนมกราคม แต่สถานการณ์ดังกล่าวอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ไม่กระจายไปทั่วประเทศ ทำให้ในช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ โรงแรมในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังคงทำรายได้ทั้งจากค่าห้องพักและรายได้ที่ไม่ใช่ห้องพัก (Non-Room) เช่น การตั้งร้านป๊อบอัพสำหรับจำหน่ายอาหาร การส่งอาหารแบบดิลิเวอรี่ รวมถึงการให้บริการอื่นๆ ของ Dusit on Demand ซึ่งเป็นความพยายามปรับ Business Model หรือโครงสร้างธุรกิจเพื่อรับมือกับโควิด-19 และทุกโรงแรมสามารถทำได้เป็นอย่างดี

Dusit International_Maldives (Fb. Dusit Thani Maldives)

Dusit International_Maldives

ขณะที่ธุรกิจโรงแรมของกลุ่มดุสิตธานีในต่างประเทศสามารถกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ จากการแพร่ระบาดที่มีแนวโน้มลดลงอย่างชัดเจน โดยหลายประเทศได้มีการฉีดวัคซีนครอบคลุมประชากรส่วนใหญ่ไปแล้ว ทำให้ธุรกิจโรงแรมท่องเที่ยวกลับมาฟื้นตัวได้ ซึ่งโรงแรมในต่างประเทศของกลุ่มดุสิตธานีสามารถทำผลงานได้ในระดับที่น่าพอใจ ทั้งในประเทศจีน ประเทศแถบตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา และมัลดีฟส์ สะท้อนให้เห็นว่าการกระจายการลงทุนของดุสิตธานีที่มีทั้งโรงแรมในประเทศและต่างประเทศ ที่สามารถกระจายความเสี่ยงทางธุรกิจได้อย่างชัดเจน

นอกจากนี้ยังทำการปรับโครงสร้างองค์กร ให้มีความกระชับขึ้น คล่องตัวขึ้น และใช้เป็นคลัสเตอร์ โมเดล ที่พนักงานสามารถทำงานได้หลายหน้าที่ และสามารถแบ่งปันทรัพยากรในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเรื่องการประหยัดต้นทุน รวมถึงค่าใช้จ่ายต่างๆ

ถึงแม้กลุ่มดุสิตธานี จะทำกำไรสุทธิได้ในภาวะที่ยากลำบากสำหรับธุรกิจโรงแรมและท่องเที่ยว แต่ก็ต้องยอมรับว่า ผลประกอบการในไตรมาสแรกปีนี้ ยังไม่ได้สะท้อนการระบาดของโควิดระลอก 3 ซึ่งกระจายเป็นวงกว้างทั่วประเทศ และคาดว่าจะส่งผลกดดันผลประกอบการของกลุ่มดุสิต ในไตรมาส 2 และไตรมาส 3 ของปี

ปัจจัยสำคัญของการฟื้นตัวของธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่อัตราการฉีดวัคซีน ซึ่งผู้ประกอบการทุกคนยังคงต้องระมัดระวังในการบริหารสภาพคล่องและเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับสถานการณ์ตลอดเวลา


แชร์ :

You may also like