หากเอ่ยชื่อเอสโตเนีย ประเทศเล็ก ๆ ในกลุ่มสหภาพยุโรป เชื่อว่าภาพที่ปรากฏขึ้นในหัวอาจเป็นภาพของประเทศที่สร้างตัวเองให้มีจุดเด่นบนแผนที่โลกผ่านสิ่งที่เรียกว่า เทคโนโลยีดิจิทัล ได้อย่างน่าสนใจ กับความสามารถในการใช้ดิจิทัลอำนวยความสะดวกทางธุรกิจในระดับที่เทียบเคียงกับประเทศอิสราเอล ทั้ง ๆ ที่มีประชากรแค่ 1.3 ล้านคน
ข้อมูลจาก World Bank ปี 2020 บอกว่า เอสโตเนียเป็นประเทศที่ผู้คนสามารถเริ่มต้นธุรกิจได้ง่ายเป็นอันดับ 14 ของโลก แซงหน้าประเทศเพื่อนบ้านอย่างฝรั่งเศส (37) เยอรมนี (125) และอังกฤษ (18) ขาดลอย ไม่เพียงเท่านั้น ประเทศเล็ก ๆ ที่มีประชากรเพียง 1.3 ล้านคนนี้สามารถผลิตสตาร์ทอัพระดับยูนิคอร์นได้แล้วถึง 6 ราย จนได้รับสมญานามว่า Startup Factory ด้วยอีกฉายาหนึ่ง
สตาร์ทอัพระดับท็อปที่มีจุดเริ่มต้นจากเอสโตเนีย (เช่น มีผู้ก่อตั้งเป็นชาวเอสโตเนีย, มีสำนักงานใหญ่ในเอสโตเนีย หรือมีศูนย์ R&D อยู่ในเอสโตเนีย) มีตั้งแต่ Skype, Playtech, Wise, Bolt, Pipedrive, Zego และ ID.me นอกจากนี้ก็ยังมีสตาร์ทอัพระดับ 100 ล้านเหรียญสหรัฐอีกนับสิบรายที่กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องในประเทศนี้ด้วย
ในปี 2020 ที่ผ่านมา สตาร์ทอัพในเอสโตเนียทำให้เกิดการหมุนเวียนของเม็ดเงินมากถึง 782 ล้านเหรียญยูโร (เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 43%) และทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศ 6,072 ตำแหน่ง และมีการจ่ายภาษีการจ้างงานให้กับรัฐบาลถึง 97 ล้านเหรียญยูโร (ประมาณ 3,670 ล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 24% เมื่อเทียบกับปี 2019
เอสโตเนียมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร
อาจกล่าวได้ว่าความสำเร็จของสตาร์ทอัพในเอสโตเนียมาจาก “รัฐบาล” ที่พยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของประเทศ ทั้งเรื่องการมีประชากรที่น้อยมาก, การไม่มีทรัพยากรที่เป็นที่หมายตาของตลาด รวมถึงไม่ใช่ประเทศเป้าหมายปลายทางที่ผู้คนให้ความสนใจเหมือนประเทศอื่นในสหภาพยุโรป
สิ่งที่รัฐบาลเอสโตเนียทำก็คือการยกระดับบริการของภาครัฐทั้งหมดขึ้นไปอยู่บน “ดิจิทัล” และไม่ได้จำกัดการเข้าถึงแค่ประชาชนในประเทศ แต่ยังขยายให้ผู้ประกอบการต่างชาติเข้าถึงได้ด้วย ซึ่งหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่ทำให้เอสโตเนียก้าวมาถึงจุดนี้ได้ก็คือ โครงการ e-Residency ของรัฐบาลที่ริเริ่มมาตั้งแต่ปี 2014
e-Residency คืออะไร
โครงการ e-Residency คือบริการสร้างอัตลักษณ์ทางดิจิทัล หรือ Digital Identity Card ที่ออกโดยรัฐบาลเอสโตเนีย สำหรับไว้ใช้ยืนยันตัวตนว่าเราเป็นใคร เวลาอยู่บนออนไลน์ และเข้ามาใช้เซอร์วิสของรัฐบาลเอสโตเนีย หรือเซอร์วิสของภาคเอกชนในเอสโตเนีย เช่น การเปิดบัญชีธนาคาร ฯลฯ ซึ่งรัฐบาลเอสโตเนียมองว่า การมี Digital Identity นี้จะทำเราสามารถทำธุรกิจบนโลกออนไลน์ได้ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในโลก และรัฐบาลก็สามารถทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศจากบริษัทเหล่านี้ได้ ไม่ว่าพวกเขาจะมาจากที่ใดในโลก
ปัจจุบัน บริการ e-Residency มีผู้สมัครใช้บริการแล้วกว่า 80,000 คน (การสมัครหนึ่งครั้งมีอายุใช้งานได้ 5 ปี) โดยในจำนวนนี้มีบุคคลที่มีชื่อเสียงระดับโลกรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าจะเป็น Shinzo Abe อดีตนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น, Angela Merkel นายกรัฐมนตรีของเยอรมนี, Guy Kawasaki นักลงทุนชาวอเมริกัน, Edward Lucas บรรณาธิการอาวุโสของ The Economist
ทำไมต้องสร้างอัตลักษณ์ทางดิจิทัล
ส่วนหนึ่งมาจากการมองเห็นเทรนด์การใช้ชีวิตของผู้คนที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของ Digital Nomad ที่รัฐบาลเอสโตเนียมองว่า ในอนาคต ผู้คนจะสามารถทำงานจากที่ไหนก็ได้ในโลก ขอเพียงมีอินเทอร์เน็ต – คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊ก ซึ่งในประเทศที่ไม่มีจุดดึงดูดให้ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาอย่างเอสโตเนียนั้น การเปิดโอกาสให้ผู้คนเข้ามาทำธุรกิจได้ผ่านออนไลน์ก็ถือเป็นอีกหนึ่งหนทางสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างน่าสนใจ และแนวคิดนี้ยิ่งตอบโจทย์มากขึ้นในยุคที่โลกเจอภัยพิบัติด้านโรคระบาดอย่าง Covid-19
ประโยชน์อีกหนึ่งข้อสำหรับการเป็น e-Resident ของเอสโตเนีย คือการลดอุปสรรคในการก่อตั้งบริษัทในสหภาพยุโรป ไม่ว่าจะเป็น การดำเนินงานโดยไม่ต้องผ่านระบบราชการต่าง ๆ รวมไปถึงการดำเนินธุรกิจจากที่ใดก็ได้ ซึ่งเป็นความต้องการหลักของกลุ่ม Digital Nomads เนื่องจากการทำงานในอนาคตไม่จำเป็นจะต้องรวมมาจากที่เดียวอีกต่อไป โดยหลังจากลงทะเบียนเป็น e-Resident เรียบร้อยแล้ว ผู้ใช้งานจะได้รับบัตรยืนยันตัวตนดิจิทัล ที่อนุญาตให้จัดตั้งบริษัทในสหภาพยุโรปได้อย่างอิสระ สามารถบริหารธุรกิจจากที่ใดก็ได้ โดยสมาชิกที่ได้รับการยืนยันตัวตนอย่างถูกต้องแล้วจะสามารถเข้าถึงช่องทางบริการ e-service ต่าง ๆ ของเอสโตเนียได้ด้วย อาทิ บริการลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์, การเปิดตัวและดำเนินธุรกิจในรูปแบบออนไลน์ 100% ในสหภาพยุโรป เป็นต้น
ปัจจุบัน ผู้ที่สมัคร e-Residency ของเอสโตเนียได้มีการเปิดบริษัทแล้วกว่า 17,000 แห่ง ซึ่งแน่นอนว่า บริษัทเหล่านี้ก็จะทำรายได้ให้กับเอสโตเนียอีกไม่น้อยเลย
“คนไทย” มอง e-Residency อย่างไรให้เป็นโอกาส?
ความเคลื่อนไหวล่าสุดเพื่อขยายบริการ e-Residency ให้เข้าถึงผู้คนให้มากขึ้นก็คือการที่พวกเขาตัดสินใจตั้งจุด Pick up Point ใน 4 ประเทศ ได้แก่ ไทย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ และบราซิล เพื่อให้คนที่มาสมัคร e-Residency กับรัฐบาลเอสโตเนียสามารถมารับบัตรประชาชนดิจิทัลได้สะดวกขึ้น
Lauri Haav ผู้อำนวยการของโครงการ e-Residency ให้เหตุผลที่เลือกประเทศไทยเป็นหนึ่งใน Pick up Point ของ e-Residency ก็คือ การมองว่า จะมีผู้คนจำนวนมากให้ความสนใจประเทศไทยในฐานะประเทศสำหรับการอยู่อาศัยในระยะยาวมากขึ้น
“จากการคาดการณ์จำนวนของ Digital Nomads จากทั่วโลก พบว่าอาจมีการรวมตัวกันในภูมิภาคนี้มากถึง 5 – 10 ล้านคน ส่งผลให้ความต้องการบริการที่รองรับในด้านนี้มีมากขึ้นเช่นกัน ประกอบกับไทยเป็นฮับด้านธุรกิจในภูมิภาคนี้ สนามบินของไทยติดหนึ่งใน 20 สนามบินที่มีทราฟฟิกมากที่สุดในโลก”
ไม่เพียงเท่านั้น เขายังมองว่า ในแง่ของคนไทยที่อยากไปทำธุรกิจในยุโรป ก็สามารถใช้ประโยชน์จากการสมัคร e-Residency และการมีจุด Pick up Point อยู่ในประเทศไทยได้เช่นกัน
จะเห็นได้ว่า การสร้างประเทศให้ประสบความสำเร็จตามแนวทางของเอสโตเนียคือการทำความเข้าใจกับจุดอ่อนของตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องจำนวนประชากรที่น้อยมาก และการไม่มีจุดเด่นด้านอื่น ๆ ที่นักลงทุนควรจะสนใจ จากนั้นก็ก้าวข้ามมันด้วยจุดเด่นข้ออื่นที่เหนือกว่า อย่างการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ให้ประชาชนและภาคธุรกิจสามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ จากภาครัฐได้โดยง่าย และโปร่งใส
ส่วนการสร้าง e-Residency และมองเผื่อไปถึงนักธุรกิจต่างชาติ อาจเป็นมุมมองขั้นกว่าของรัฐบาลเอสโตเนียที่หลายประเทศอาจต้องศึกษาเพิ่มเติม โดยเฉพาะประเทศที่มีฝันอยากก้าวไปให้ถึงเลข 4.0 อย่างประเทศไทย
ปัจจุบัน เอสโตเนียมี e-Residents กว่า 80,000 คน จาก 170 ประเทศทั่วโลก ซึ่งได้ทำการเปิดบริษัทไปแล้วกว่า 17,000 แห่ง โดยมีพนักงานกว่า 2,000 คน ถูกจ้างงานจาก e-Resident เหล่านี้ โดยบริษัทเหล่านี้มีมูลค่าการซื้อขาย อยู่ที่ 3.68 พันล้านยูโร ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2021 และนับตั้งแต่ก่อตั้งขึ้นในปี 2014 โครงการ e-Residency ได้ถูกบันทึกไว้ว่า ได้สร้างรายได้ให้กับรัฐบาลเอสโตเนียแล้วถึง 54 ล้านยูโร หรือประมาณ 2,040 ล้านบาท