สร้างกระแสกระหึ่มหน้าจอทีวีและโลกออนไลน์อีกครั้งกับปรากฏการณ์ “วันทอง” ละครทุบสถิติใหม่ของช่อง ONE31 ด้วยเรตติ้งตอนจบสูงสุดทั่วประเทศ 7.767 ขึ้นแท่นเป็นละครเรตติ้งสูงสุดของช่องวัน การรอลุ้นฉากสุดท้าย ทำให้ “วันทองตอนจบ” ยึดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่งไปครองกว่า 7 แสนทวีต พร้อมบทสรุปของเรื่องว่า “วันทองมิใช่หญิงสองใจ” และอีกสิ่งที่คนดูต้องจดจำคือ “อย่าไว้ใจช่องวัน”
เบื้องหลังปรากฏการณ์ “วันทอง” เวอร์ชั่นช่องวัน กับการเล่าเรื่องผู้หญิงชาวกรุงศรีอยุธยาที่ไม่มีสิทธิเลือก เชื่อมโยงกับกระแสสังคมใน พ.ศ.นี้ ผ่านการ Speak Out เรื่องความเท่าเทียมของหญิงชาย และการตีความตอนจบใหม่ ในมุมคิดที่ว่า “หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร ทำไมต้องตาย เราอยู่ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงไม่ดีกว่าหรือ” ความสำเร็จครั้งนี้เป็นบทพิสูจน์สื่อโทรทัศน์อย่างไร … Brand Buffet พาผู้อ่านไปฟังจาก คุณบอย ถกลเกียรติ วีรวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเดอะ วัน เอ็นเตอร์ไพรส์ และผู้อำนวยการผลิตละครวันทอง
ละครฟอร์มยักษ์เล่าวรรณคดีมุมใหม่
วรรณคดี “ขุนช้าง ขุนแผน” เป็นเรื่องราวที่คนไทยส่วนใหญ่รู้จักดี เพราะเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาบทร้อยแก้วร้อยกรองของนักเรียนมัธยม จึงมีความน่าสนใจที่จะนำมาทำเป็นละคร โดยมีคุณสันต์ ศรีแก้วหล่อ เป็นผู้กำกับการแสดง ที่เคยโชว์ฝีมือมาแล้วจากละคร “พิษสวาท” เขียนบทโทรทัศน์โดย คุณเกด พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ และอำนวยการผลิตโดย คุณนิพนธ์ ผิวเณร
จุดเริ่มต้น “วันทอง” เป็นโปรเจกต์ที่ช่องวันคิดมา 2-3 ปีแล้ว ก่อนลงมือถ่ายทำจริงช่วงกลางปี 2563 วางคอนเซ็ปต์เป็นการเล่าเรื่องในมุมของ “วันทอง” ว่าต้องผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้างในชีวิตและคำตราหน้าว่า “หญิงสองใจ” เป็นเรื่องจริงหรือไม่ โดยวางเป็นละครพีเรียดฟอร์มยักษ์ แต่เล่าใหม่ในมุมใหม่
แม้คนส่วนใหญ่จะรู้เรื่องราวของขุนช้าง ขุนแผนอยู่แล้ว แต่ด้วยความที่ พี่บอย ไม่ได้เรียนมัธยมในเมืองไทย จึงรู้เรื่องราววรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน ไม่มากนัก ซึ่งต้องถือเป็นข้อดีในการนำมาตีความใหม่ในมุมของวันทอง
พี่บอย เล่าว่าโปรเจกต์นี้ใช้เวลาหารือกันนานพอสมควรกว่าจะลงตัว เพราะในการพูดคุยอัพเดทกับทีมงาน ครีเอทีฟ คนเขียนบท เพื่อฟังไอเดียการเล่าเรื่องว่าจะออกมาในมุมไหน ส่วนใหญ่ก็ยังเป็นมุมของขุนช้าง ขุนแผน จึงได้คอมเมนต์กลับไปว่า “คุณกำลังเล่าเรื่องขุนช้าง ขุนแผน แต่สิ่งที่อยากฟังคือเรื่องวันทอง” เป็นแบบนี้อยู่ 2-3 รอบ ทีมงานก็ต้องกลับไปทำการบ้านมาใหม่
ความลงตัวของเรื่องวันทอง เกิดขึ้นเมื่อ คุณป้อน นิพนธ์ ผิวเณร ผู้อำนวยการผลิต บอกรายชื่อนักแสดงนำ “ป้อง ณวัฒน์” เป็นขุนแผน “ชาคริต แย้มนาม” เป็นขุนช้าง และ “ใหม่ ดาวิกา” เป็น “วันทอง” นั่นคือความลงตัวทั้งหมดที่ทีมงานทุกคนตอบรับทันที
แก้โจทย์อายุนักแสดง วางโครงเรื่อง “เล่าย้อนอดีต”
แม้รายชื่อนักแสดงนำลงตัวแล้ว แต่ทีมงานก็ยังเล่าไม่ถูกว่าจะวาง Structure ของเรื่องอย่างไร ยังคงอยู่กับกับดักเดิม เป็นการเล่าเรื่องขุนช้าง ขุนแผน
เรื่องราวมาลงตัวได้ก็ตอนเริ่มลงรายละเอียดบทตัวเอก “ขุนแผนกับวันทอง” เนื้อหาดั้งเดิมทั้งคู่รู้จักกันตั้งแต่เด็ก เริ่มรักกันตั้งแต่เป็นวัยรุ่น เรียกว่าอายุยังไม่ถึง 20 ปี เมื่อเป็นเช่นกันการจะให้ ป้อง ณวัฒน์ หรือ ชาคริต แย้มนาม มาเล่นเป็นตัวละครอายุไม่ถึง 20 ปี ก็ยากที่ผู้ชมจะเชื่อ!
เมื่อเลือกตัวละครเอกแล้วว่าต้องเป็น ป้อง ณวัฒน์ และ ชาคริต แย้มนาม สาเหตุที่ต้องเป็นนักแสดงรุ่นนี้ เพราะในเรื่องยังมีนักแสดงรุ่นลูก “พลายงาม” หรือ “จมื่นไวยวรนาถ” มาเป็นอีกตัวเอกเดินเรื่อง และตามวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผนเป็นเรื่องราวที่กินเวลาราว 20 ปีกว่าจะจบเรื่องราวของวันทอง
พี่บอย จึงให้ไอเดียโครงเรื่องวันทอง ว่าเทียบเคียงได้กับเรื่อง “ล่า” เวอร์ชั่นคุณหมิว ลลิตา วางโครงเรื่องคือการขึ้นศาลว่า “ทำไมผู้หญิงคนนี้ต้องฆ่าผู้ชาย 7 คน” จึงเล่าเรื่องผ่านศาล ส่วนเรื่องของ “วันทอง” ก็เปรียบได้กับลานพิพากษา ที่มีพ่ออยู่หัว พระพันวษา เป็นคนฟังความจากวันทองและเป็นผู้ตัดสิน
มาถึงจุดนี้ทุกอย่างจึงลงตัว ทั้งการเดินเรื่องเล่าผ่าน “วันทอง” ตามโครงเรื่องที่วางไว้จากการตีความวรรณคดีใหม่ และใช้วิธีเริ่มเรื่องจากการเล่าย้อนอดีต ของวันทอง ณ ลานพิพากษา ถึงสาเหตุไม่เลือกชายใด
เป็นการเริ่มเรื่องในช่วงที่ตัวเอก วันทอง ขุนช้าง ขุนแผน อยู่ในฐานะเป็นพ่อแม่ แก้โจทย์เรื่องอายุของนักแสดงนำที่ต้องมีฉากเล่นวัยไม่ถึง 20 ปีได้ทันที
“เหมือนเรายิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว หนึ่งเรากำจัดคำถามถึงนักแสดงอายุเกือบ 40 ปี มาเล่นเป็นคนอายุไม่ถึง 20 ปี ด้วยการให้เล่าย้อนอดีต ทำให้ผู้ชมเชื่อได้ สองเมื่อเริ่มเรื่องจากลานพิพากษา บทของวันทองจึงพูดได้เต็มที่ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตและการไม่เลือกชายใด ลงตัวด้วยละครเล่าผ่านมุมมองของวันทอง”
โยงเรื่องสมัยกรุงศรีฯ เข้ากับประเด็นสังคมใน พ.ศ.นี้
ละคร “วันทอง” เป็นโปรเจกต์ 2-3 ปีก่อนเริ่มเปิดกล้องในกลางปี 2563 มีหลายสิ่งที่เปลี่ยนแปลงในยุคนี้ ทั้งพฤติกรรมผู้ชมและสังคม จึงต้องวาง Plot ละครวันทองเพื่อเชื่อมโยงให้คนใน พ.ศ.นี้ดูติดตามด้วยการกระแสสังคมในยุคนี้ให้ความสนใจและพูดถึงสิทธิความเท่าเทียมของผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเป็นจุดที่ “ละครตั้งใจ” สื่อถึงอย่างมากอยู่แล้ว เรียกว่า “ลงตัว”
แม้เป็นละครพีเรียดทุกตัวละคร ไม่ว่าจะเป็น “เจ้า” อย่างพระพันวษา ก็ต้องแสดงอารมณ์สื่อความหมายของเรื่องราวต่างๆ ให้กับคนใน พ.ศ.นี้ดูและอินไปกับบทบาทได้ เพราะคนดูยุคนี้ไม่มีใครเกิดทันยุคที่เรื่องราววันทองในสมัยกรุงศรีอยุธยา จึงไม่รู้ความคิดเห็นของผู้คนในอดีต
“เมื่อทุกตัวละครต้องสื่อสารกับคนใน พ.ศ.นี้ ก็ต้องคิดว่าทำอย่างไร จึงจะได้ผลดีที่สุด เพื่อให้คนดูเข้าใจ รู้เรื่อง สนุกไปกับเนื้อหา และคิดตามไปละคร เมื่อความตั้งใจเป็นเช่นนั้น จึงเห็นการออกมา Speak Out ของวันทอง ที่สื่อถึงการมีสิทธิมีเสียงของผู้หญิง ทำไมผู้ชายทำได้ ผู้หญิงทำไม่ได้ เป็นเรื่องที่สร้างจุดสนใจให้คนในสังคมมีส่วนร่วมกับละครพีเรียด”
Perfect Casting ทั้งเบื้องหน้า-เบื้องหลัง
อีกหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของละครวันทอง คือการคัดเลือกตัวนักแสดง ที่เรียกได้ว่าเป็น Perfect Casting ของทั้งคนเบื้องหน้าและเบื้องหลัง ที่มาร่วมมือกันได้อย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นผู้กำกับการแสดง คุณสันต์ พูดได้ว่าคือ “ที่สุด” ในทุกพลังการทำงาน สะท้อนได้จากเสียงชื่นชมละครวันทองและการแสดงของแต่ละตัวละคร
คุณเกด พิมพ์มาดา คนเขียนบทที่มีผลงานหลายเรื่องรวมทั้ง “ล่า” ได้ทำงานอย่างเข้มข้นกับการค้นหาข้อมูลต่างๆ เพื่อทำให้บทละครเดินเรื่องไปได้อย่างมีเหตุมีผล เก็บทุกรายละเอียด
ที่สำคัญพลังของนักแสดงมีผลอย่างมาก หนึ่งในนักแสดงละครวันทอง ที่ได้รับความชื่นชมอย่างมาก คือ ชาคริต แย้มนาม ที่ถือเป็นตัวจุดประกายให้กับละครวันทอง เพราะในวันที่ ชาคริต รับเล่นเป็น “ขุนช้าง” เขาพูดกับตัวเองว่านี่คือ The role of a lifetime เรียกว่าเป็นบทของชีวิต
หลังจากละครออนแอร์ ก็มีเสียงถามเข้ามาเยอะว่า “คิดได้อย่างไร” ในการเลือกให้ ชาคริต แสดงเป็นขุนช้าง เพราะเขาแสดงเป็นพระเอกมาตลอดชีวิต ตั้งแต่ช่วงการคัดเลือกนักแสดงบทขุนช้าง และมีชื่อของชาคริต เข้ามา ก็ไม่มีคำถามว่าทำไม่ต้องเป็นคนนี้ แน่นอนว่าเป็นสิ่งที่สุดยอด เพราะทุกคนรู้ว่า ชาคริต เป็นนักแสดงที่มีความสามารถลึกล้ำ เห็นคุณค่าทางการแสดงสูง เต็มใจที่จะเข้าไปทุกบทบาทและอารมณ์ของตัวละคร ดึงเสน่ห์ออกมาให้ผู้ชมเห็น ส่วนใหม่-ดาวิกา ก็เป็นอีกหนึ่ง Perfect Casting ทำให้ทุกคนในทีมเชื่อมั่นในสิ่งนี้
“ชาคริต เองก็บอกว่า ช่วงที่เขารับบทเป็นพระเอกตลอดเวลาหลายปี ก็เริ่มเบื่อกับบทบาท ซ้ำๆ เดิมๆ เมื่อรู้ว่าจะได้เล่นเป็นขุนช้าง จึงเป็นอีกความท้าทายในชีวิตนักแสดง และถือเป็นความลงตัวของละครวันทอง”
ในวันที่ Fitting ชาคริต ไม่ได้มาแค่ภาพลักษณ์ภายนอกที่เป็นขุนช้าง แต่มาทั้งจิตวิญญาณของขุนช้าง เป็นสิ่งที่จุดประกายทั้งทีมงานว่าต้องเต็มที่ ทุกคนเปล่งประกายในจุดที่ตัวเองต้องรับผิดชอบทั้งเบื้องหน้า เบื้องหลัง แบบไม่มีใครยอมใคร! ทั้ง ป้อง ณวัฒน์, ใหม่ ดาวิกา, ชาคริต ต่างเป็นพลังเสริมในกลุ่มนักแสดงอื่นๆ ทำให้ละครวันทองสมบูรณ์แบบ
พลิก “บทจบ” คงคาแรกเตอร์ละครช่องวัน
สิ่งที่เป็นคาแรกเตอร์ของละครช่องวัน ที่ใครๆ ก็รู้ดี คือ อย่าได้คาดเดา “ตอนจบ” เพราะรถทัวร์อาจยูเทิร์นกลับไม่ทัน ตอนจบ “วันทอง” ก็เป็นอีกเรื่องที่ตอกย้ำสิ่งนี้
เนื้อหาของวรรณคดี “ขุนช้าง ขุนแผน” คือ “วันทอง ต้องตาย” เมื่อมาเป็นละครก็มีการดีเบทกันในทีมงานเช่นกันว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร พี่บอย เองก็ไม่ได้คำตอบ ณ ตอนที่พูดคุยเช่นกันว่าจะจบอย่างไร เพราะถอยออกมาเป็น “ผู้ชม” ปล่อยให้เป็นหน้าที่ตัดสินใจของทีมงานผู้กำกับและคนเขียนบท
หากย้อนไปถึงการพูดคุยบทสรุปวันทองจะจบอย่างไร ผู้กำกับเห็นว่าควรเป็นไปตามเนื้อเรื่องเดิม ส่วนผู้เขียนบทละครยืนยันว่า “อย่างไรวันทองก็ต้องถูกประหารและต้องมีฉากนี้ แต่การตีความใหม่ บทละครจะมีกุมารทองปลอมตัวเป็นวันทองไปถูกประหารแทน พาวันทองตัวจริงไปอยู่ในถ้ำ และมีฉากเฉลยว่าคนที่ถูกประหารไม่ใช่วันทอง”
พอได้ฟังซีนจบจากไอเดียคนเขียนบทก็ต้องยอมรับเลยว่า “คิดได้เก่ง” และชอบไอเดียนี้ เพราะยังคงได้เห็นฉากการถูกประหารตามวรรณคดี และความหมายของการตีความใหม่ ที่เลือกให้วันทองยังมีชีวิตอยู่ต่อไป ด้วยเหตุผลที่ว่า “ทุกวันนี้หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงอะไร ทำไมต้องตาย เราอยู่ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงไม่ดีกว่าหรือ”
การที่เลือกบทสรุปให้เห็นฉากวันทองถูกประหารและมาพลิกบทกันที่หลังว่ายังมีชีวิตอยู่ ก็มีความเป็นไปได้ เพราะตามวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน ก็เขียนไว้แค่นางวันทองถูกประหาร แต่ในเวอร์ชั่นช่องวันมาเล่าต่อให้มุมของวันทองว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ถือว่า “ลงตัว”
แต่ท้ายที่สุด พี่บอย บอกว่าเขาก็ไม่ได้ดูฉากจบก่อนผู้ชม และก็ต้องมาลุ้นเช่นกันว่าฉากจบจะเป็นอย่างที่ได้ฟังมาหรือไม่ บอกตรงๆ ก็อยู่ในฐานะผู้ชม ที่ต้องมาลุ้นที่หน้าจอพร้อมคนดูเหมือนกัน
“ยอมรับว่าละครที่ช่องวัน นำมาตีความใหม่ บางทีผมก็ทำตัวยาก ว่าจะเลือกเป็นคนดู หรือเป็นหนึ่งในคนที่ต้องรับรู้ว่าเรื่องจะจบอย่างไร เพื่อจะช่วยปรับเนื้อหา บทบาทในจุดนี้ก็ต้องแล้วแต่ละครแต่ละเรื่อง ส่วนวันทอง ก็รอลุ้นอยู่หน้าจอกับซีนวันทอง อยู่ในถ้ำเหมือนกัน”
ก็อย่างที่เห็นกันว่าละครวันทอง แฟนช่องวันต้องรอลุ้นยันจบตอนว่าเรื่องราวจะเป็นอย่างไร “วันทองตายหรือไม่ตาย” และกลายเป็น Talk of the town ณ โมเม้นต์ตอนจบ มี Reaction บนโลกออนไลน์ที่ต้องถกเถียงกันว่าจะเป็นอย่างไร หน้าฟีดโซเชียลมีเดียมีแต่เรื่องวันทอง และยังครองเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับหนึ่ง และต้องบอกว่าไม่ต่างจากการดูตอนจบของบ้านพี่บอย เช่นกัน เพราะก็ไม่มีใครรู้ก่อนว่าตอนจบจะเป็นอย่างไร นี่คือเสน่ห์ของละครที่ต้องรอลุ้นถึงฉากสุดท้าย
แน่นอนว่ามีคนที่ชื่นชอบวรรณคดีขุนช้าง ขุนแผน อาจจะต่อว่าเรื่องการพลิกบทจบ แต่ “วันทอง” เป็นละครที่ช่องวันนำมาตีความใหม่และต้องการสื่อให้เห็นถึงมุมของวันทอง ว่าไม่ได้เป็น “หญิงสองใจ”
“วันทองเป็น พล็อตละครเรื่องหนึ่ง ที่ช่องวันตีความและนำเสนอในอีกมุม ผมคิดว่างานศิลปะทุกวันนี้ ขึ้นอยู่กับว่าเมื่อทำออกมาแล้วสามารถยืนได้ด้วยตัวเองหรือไม่ หากไม่สามารถยืนได้ด้วยตัวเองก็ไม่น่าจะดี แต่การตีความและวิธีการทำเสนอ วันทอง เวอร์ชั่นใหม่ สามารถยืนอยู่ได้อย่างสง่างาม เป็นงานศิลปะที่น่าชื่นชม และบอกคนดูหรือคนเสพงานศิลปะได้อย่างดี คือ ต้องไม่ยึดติดในรูปธรรม ไม่เช่นนั้นเราคงไม่เห็นการตีความวรรณกรรมเดิมในเวอร์ชั่นต่างๆ ออกมาทำใหม่ทั้งในและต่างประเทศ เพราะวรรณกรรมหนึ่งเรื่องเรามองได้หลากหมายมุม ขึ้นอยู่กับการเสริมเหตุผลเนื้อหาให้ลงตัว”
“วันทอง”บทพิสูจน์ “ทีวีไม่ตาย”
กระแสละครวันทองทางทีวี บอกอะไรเราได้บ้าง? พี่บอย ย้ำว่าสิ่งที่เห็นได้ชัดเจน คือตอกย้ำความเชื่อว่า “ทีวีไม่ตาย”
ประเด็นนี้คงต้องเริ่มจากคอนเซ็ปต์ทำงานตั้งแต่ทำ “ทีวีดิจิทัล” ช่องวัน ที่ไปแข่งขันประมูลใบอนุญาตมาและเริ่มออกอากาศในปี 2557 เป็นจังหวะเดียวกับสื่อออนไลน์และโซเชียลมีเดีย บูมขึ้นมา จนเริ่มมีเสียงออกมาว่า “ทีวี” ไม่น่าไปรอดตั้งแต่ 1-2 ปีของทีวีดิจิทัล หลายคนว่า “ทีวีกำลังจะตาย เพราะคนไปอยู่กับโซเชียล มีเดียกันหมดแล้ว” ก็เป็นสิ่งที่คนทำทีวีตั้งคำถามเช่นกันว่า จะเป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่
ส่วนความเห็นของพี่บอยที่พูดมาตลอดคือ “ก่อนที่เราจะทำทีวี เราต้องเชื่อก่อนว่าทีวีไม่ตาย”
โดยกลับมาดูว่า ฟังก์ชั่นของทีวีตอบสนองผู้ชมด้านใดบ้าง และออนไลน์มาทดแทนได้ทั้งหมดหรือไม่ ซึ่งก็ไม่ได้หมดทุกอย่าง การเข้ามาของออนไลน์และโซเชียล มีเดีย ทำให้คนใช้เวลาอยู่กับ “จอทีวี” น้อยลงอันนี้เป็นเรื่องจริง เพราะวันนี้คือ สงครามแย่งเวลาผู้ชมของทุกแพลตฟอร์ม
หากจะเข้าไปเสพสื่อออนไลน์ ผู้ชมต้องรู้ว่าจะดูอะไร เพื่อคลิกเข้าไปดู อย่างการเปิด Netflix ก็ต้องเลือกว่าจะดูอะไร ที่สำคัญต้องแทงหวยเหมือนกันว่า คอนเทนท์ที่เลือกจะสนุกหรือไม่ หรือไปที่ Youtube ก็ต้องเลือกว่าจะดูอะไร นอกจากการเลื่อนดูไปเรื่อยๆ พฤติกรรมแบบนี้เทียบเท่ากับการพลิกดูแมกกาซีนไปเรื่อยๆ นั่นจึงเห็นว่านิตยสารได้รับผลกระทบอย่างมากจากสื่อออนไลน์
เมื่อกลับมาดูที่ฟังก์ชั่นทีวี ก็ต้องดูว่า ออนไลน์ ทำได้ทุกอย่างเหมือนทีวีจริงหรือเปล่า ซึ่งที่จริงแล้วก็ทำไม่ได้ทุกอย่าง “ทีวี” มีฟังก์ชั่นสำคัญที่ยังไม่มีสื่อไหนทำแทนได้ คือ การเปิดเป็นเพื่อน มีทั้งภาพและเสียง โดยไม่ต้องเลือกว่าจะดูอะไร เพราะโปรแกรมจะเปลี่ยนไปเรื่อยๆ และระหว่างนั้นก็สามารถไปทำอย่างอื่นได้ โดยไม่ต้องตั้งใจดูเพราะใช้วิธีฟังแทนก็ได้ “ทีวีจึงทำหน้าที่เป็นเพื่อน” อัพเดทคอนเทนท์ตลอดวัน มีทั้งข่าว สาระ วาไรตี้ ละคร
ก่อนหน้านี้ “ทีวี” ก็ทำหน้าที่เป็นทั้งเพื่อนและ Destination คือ เมื่อถึงเวลา 20.30 น. ต้องมานั่งเฝ้าหน้าจอดูละคร แต่ปัจจุบันสามารถดูย้อนหลังในแพลตฟอร์มออนไลน์ในช่วงเวลาที่สะดวกได้ แต่ก็ต้องถูกสปอยล์ จากคนที่ดูและรู้เรื่องราวไปแล้ว
แต่ความเป็น Destination ของละคร ยังคงอยู่ได้ก็ต่อเมื่อสามารถทำคอนเทนท์ที่เป็น Talk of the town กลายเป็น Word of mouth สร้างกระแสดึงให้คนมาติดตามหน้าจอในตอนต่อไป เพื่อให้รู้ก่อน และไม่ให้ตกกระแสที่กำลังถูกพูดถึงในโลกออนไลน์ นั่นเท่ากับว่าโซเชียลมีเดียและสื่อออนไลน์ก็มาช่วยเสริม “ทีวี” อีกทาง
ปรากฏการณ์วันทอง เป็นข้อพิสูจน์ชัดเจนว่าสื่อทีวีไม่ตาย และออนไลน์ก็มาช่วยเสริม สร้างกระแสติดตามดูคอนเทนท์ทั้งหน้าจอทีวีในตอนต่อไป และกลับไปดูย้อนหลังในกลุ่มที่ไม่ได้ดูทางทีวี
สะท้อนได้จากหน้าฟีดโซเชียลมีเดียของหลายคนจะพูดถึง “วันทองตอนจบ” ซึ่งจะเกิดสิ่งนี้ไม่ได้เลยหากดูละครออนไลน์ เพราะหน้าฟีดแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ทีวี เข้าถึงได้หลายกลุ่มเป้าหมาย เมื่อเกิดกระแส จึงสามารถดึงให้โซเชียล มีเดีย มาพูดถึงคอนเทนท์ทีวีได้กว้างแบบที่ติดเทรนด์ทวิตเตอร์เบอร์หนึ่ง
“สิ่งที่แฮปปี้มากๆ กับปรากฏการณ์ วันทอง เพราะได้บอกอะไรบ้างอย่างกับสื่อทีวีและละครทีวีไทย จากที่รับรู้มาและเห็นฟีดแบคทั้งกระแสสังคม การพูดถึงในสื่อออนไลน์ เรตติ้งผู้ชม ยอดวิวดูย้อนหลัง ทั้งหมดได้บ่งบอกว่า นี่คือสิ่งที่สื่ออื่นทำไม่ได้ เพราะฉะนั้นอย่ามาพูดว่าทีวีกำลังจะตาย ปรากฎการณ์วันทองทำให้เห็นอย่างแข็งแรงว่าทีวีไม่ตาย และสื่ออื่นที่มีอยู่ก็ไม่สามารถที่จะทำให้เกิด Emotional Impact ได้เท่านี้”
เปรียบเทียบง่ายๆ เชื่อว่าหลายคนก็ติดตามดู ซีรีส์เกาหลีหลายเรื่องอย่าง สหายผู้กอง Crash Landing on You แต่ก็ไม่ได้เกิดกระแสว่าต้องมาเฝ้าหน้าจอรอดูพร้อมกันกับครอบครัว เหมือนละครไทยเรื่องฮิต ที่สร้างกระแส Talk of the town ได้ทั้งออฟไลน์ออนไลน์
เสน่ห์ของละครทีวีไทยที่ดูกันทั้งครอบครัว อย่างวันทองตอนจบ แต่ละเบรกต้องรอลุ้น ได้เห็น react แบบ real time มีทั้งเชียร์ มีทั้งลุ้น มีทั้งกรี๊ด มีทั้งเดา มีทั้งช็อก มีทั้งอึ้ง มีทั้งซึม มีทั้งซึ้ง มีทั้งต่อว่า มีทั้งรอยยิ้ม มีทั้งเสียงเฮ แถมมีโฆษณามาเบรกคั่นก็ต้องเฝ้าจอรอลุ้น เป็นสิ่งที่หาไม่ได้จากสื่ออื่น
“นี่คือเสน่ห์ของโทรทัศน์ และนี่ก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำไมผมถึงอยากทำอาชีพนี้ การสร้างความสุขให้กับผู้คนมันมีความสุขจริงๆ การรวมตัวกันของคนในครอบครัวเพื่อมาร่วมสนุกกันไปพร้อมๆ กันมันคือช่วงเวลาที่มีค่า และเราก็จะชื่นใจมากเมื่องานของเราสามารถทำให้เกิดกิจกรรมแบบนี้ได้”
ถึงแม้วันนี้เรามีมือถือส่วนตัว แทบเล็ต หรือคอมพิวเตอร์ ที่ต่างคนต่างสามารถเลือกดูในสิ่งที่แต่ละคนชอบ ซึ่งไม่ค่อยเหมือนกัน ใส่หูฟังแบบดูคนเดียวก็ได้ แต่ once in a while พอมันมีละคร หรือรายการ หรือข่าวสารอะไรบางอย่างที่เป็นสิ่งที่ทุกคนให้ความสนใจเหมือนกัน อยากดูพร้อมๆกัน อยากรู้ไปพร้อมๆกันกับคนทั้งประเทศ นั่นแหละครับคือหน้าที่ของโทรทัศน์
โทรทัศน์ไม่ตายแน่นอน ปัจจุบันมันอาจจะเปลี่ยนเครื่องมือในการรับชมไปบ้าง แต่ก็ยังเป็นศูนย์รวมความบันเทิงของคนในครอบครัว ญาติสนิทมิตรสหายได้เป็นอย่างดี มือถือ แทบเล็ต กลายเป็นเครื่องมือเสริมสร้างให้แต่ละคนออกมาแสดงความคิดเห็นกับคนที่ไม่ได้นั่งดูอยู่ด้วยกันแบบ real time ละครโทรทัศน์ไทยยังเป็นความบันเทิงที่สามารถ bring all generations together ได้
“มักมีคนถามว่าอะไรคือกุญแจความสำเร็จของช่องวัน ก็เป็นเรื่องยากที่จะบอก แต่สิ่งบอกได้คือ เมื่อเราทำทีวี เราต้องเชื่อก่อนว่าทีวีไม่ตาย ผมไม่เคยปฏิเสธ New Media เพราะเป็นส่วนที่เข้ามาช่วยเสริมและเติบโตไปด้วยกัน กลายเป็นรากฐานที่แข็งแกร่ง จากคอนเทนท์ที่แข็งแรง”