หลังจากมีข่าวเรื่องการควบกิจการกันมายาวนาน ล่าสุดสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการสตาร์ทอัพอินโดนีเซีย “โกเจ็ก” (Gojek) และ “โทโกพีเดีย” (Tokopedia) ประกาศควบรวมกิจการกันแล้ว โดยจะมีการตั้ง Holding Company ชื่อ GoTo Group ขึ้นมาแล้วมีสองบริษัทอยู่ภายในโดยที่บริหารงานแบบแยกส่วนกัน คาด IPO สิ้นปีนี้
การควบกิจการดังกล่าวคาดว่าจะนำไปสู่ “บริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่” ที่ครอบคลุมบริการจำนวนมาก ตั้งแต่บริการเรียกรถ (Ride Hailing) บริการทางการเงิน (Digital Payments) ไปจนถึงธุรกิจอีคอมเมิร์ซ (e-commerce) ได้เลยทีเดียว และนั่นอาจทำให้คู่แข่งของโกเจ็กอย่างแกร็บ (Grab) หรือค่าย SEA ตกอยู่ในสถานการณ์ที่ลำบากมากขึ้นได้
เหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะ Gojek และ Tokopedia ต่างมีฐานที่มั่นอยู่ในอินโดนีเซีย ประเทศที่แม้จะมีความไม่สะดวกหลายประการทั้งในด้านการคมนาคมขนส่ง – เครือข่ายอินเทอร์เน็ต แต่อินโดนีเซียก็เป็นประเทศที่มีประชากรหลายร้อยล้านคน ซึ่งสามารถสเกลธุรกิจได้ดีกว่าประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน โดยจะเห็นได้ว่า ที่ผ่านมา เม็ดเงินลงทุนจากบริษัทเทคโนโลยีทั้งซีกโลกตะวันตกและซีกโลกตะวันออกต่างเทไปยังอินโดนีเซียมากเป็นอันดับหนึ่ง (อ้างอิงจากรายงาน e-Conomy 2020)
สำหรับรูปแบบของการควบรวมที่จะเกิดขึ้นนั้น นอกจากจะมีการฟอร์ม GoTo Group ขึ้นมาในฐานะ Holding Company แล้วมี Gojek กับ Tokopedia อยู่ภายในแล้ว ทั้งสองบริษัทจะยังคงบริหารกันแบบแยกส่วนต่อไป แต่จะมีการทำงานร่วมกัน เพื่อสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ มากขึ้น
ใครเป็นใครในตำแหน่งบริหาร
สำหรับรายชื่อผู้บริหารนั้น พบว่า Andre Soelistyo ซีอีโอของ Gojek จะก้าวขึ้นเป็นซีอีโอของ GoTo Group และประธานของ Tokopedia อย่าง Patrick Cao จะก้าวขึ้นมาเป็นประธานของ GoTo Group ด้วย
ส่วน Kevin Aluwi Co-CEO ของ Gojek จะก้าวขึ้นเป็นซีอีโอของ Gojek และ William Tanuwijaya ผู้ก่อตั้ง Tokopedia จะเป็นซีอีโอของ Tokopedia แทน
ด้านฝ่ายการเงินของ Gojek พบว่าจะมีการรีแบรนด์เป็น GoTo Financial ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ รายชื่อนักลงทุนที่อยู่เบื้องหลังทั้ง Gojek – Tokopedia มีทั้ง Google, Temasek, Facebook, KKR, Astra International, SoftBank, Alibaba
Soelistyo กล่าวว่า การควบรวมนี้ส่งผลดีต่อไรเดอร์ของ Gojek ที่จะมีงานจากการส่งพัสดุของ Tokopedia เข้ามาเพิ่ม ด้านร้านค้าต่าง ๆ บน Tokopedia เองก็จะได้ประโยชน์จากการมีโซลูชันเหล่านี้เข้ามาช่วยเสริมด้วย
ทางกลุ่มยังได้เปิดเผยด้วยว่า ในปี 2020 ที่ผ่านมา ทั้งกลุ่มรวมกันมียอดทรานแซคชั่นมากกว่า 22,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และมีผู้ใช้งานแบบ Active Monthly Users กว่า 100 ล้านคน ซึ่งนอกจากอินโดนีเซียแล้ว Gojek ยังมีฐานที่มั่นในไทย เวียดนาม สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ด้วย
ส่วน Tokopedia ที่ตอนนี้มีให้บริการแค่ในอินโดนีเซีย ก็มีความเป็นไปได้ที่จะขยายออกสู่ประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ มีรายงานว่าการควบรวมของ Gojek และ Tokopedia เผชิญแรงเสียดทานจากหน่วยงานภาครัฐของประเทศต่าง ๆ น้อยกว่าแผนการควบรวมระหว่าง Gojek กับ Grab ที่มีขึ้นก่อนหน้านี้ เนื่องจากธุรกิจของทั้งสองบริษัทมีความแตกต่างกันพอสมควร จึงทำให้ลดประเด็นด้านการผูกขาดการค้าลงไปได้
ความกังวลตอนนี้มีอย่างเดียว นั่นคือ Tokopedia เป็นผู้ให้บริการ Digital Payment ชื่อ OVO ส่วน Gojek ก็มีบริการ Digital Payment ชื่อ GoPay ซึ่งทั้งสองตัวต่างก็เป็นยักษ์ใหญ่ด้าน Digital Payment ในอินโดนีเซียทั้งคู่นั่นเอง