หลังจาก เทสโก้ โลตัส (Tesco Lotus) ไปอยู่ในเครือค้าปลีกซีพีแล้ว ได้เห็นความเปลี่ยนแปลงหลายด้าน
– รีแบรนด์เทสโก้ โลตัส เป็น โลตัส (Lotus’s) และเปิดตัวโลโก้ใหม่ พร้อมทั้งทยอยปรับโฉมรูปแบบไฮเปอร์มาร์เก็ตให้เป็น Lotus’s
– รีแบรนด์ และรีโนเวทเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส เป็น Lotus’s go fresh
– รีแบรนด์สินค้า House Brand เป็นชื่อ Lotus’s
– เดินหน้าเปิดสาขาใหม่
และเตรียมเปิด “โลตัส” สาขาใหม่ที่ศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก (The Market Bangkok) ย่านราชประสงค์ นับเป็นอีกหนึ่งสาขาหลัก เพราะอยู่ใจกลางเมือง ที่เข้าถึงทั้งลูกค้าไทย และลูกค้าต่างประเทศ
อย่างไรก็ตามการเปิดสาขาใหม่ในย่านราชประสงค์ ย่อมต้องเจอกับการแข่งขันสูง โดยเฉพาะในค้าปลีกกลุ่มเดียวกันอย่าง “บิ๊กซี ราชดำริ” ซึ่งตั้งอยู่ข้างๆ แต่ด้วยทำเลที่มีศักยภาพสูง เชื่อว่างานนี้ “โลตัส” ไม่ยอมพลาดโอกาสในทำเลทองแห่งนี้ จึงพร้อมเดินหน้าเต็มกำลัง!
สำรวจ “ย่านราชประสงค์” แลนด์มาร์คกรุงเทพฯ
ย่านราชประสงค์ ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในทำเลทองที่มีความพร้อมทั้งองค์ประกอบของความเป็นย่านธุรกิจการค้า
– แหล่งรวมช้อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ รวมพื้นที่กว่า 880,000 ตารางเมตร
– โรงแรมกว่า 4,000 ห้อง
– ร้านค้ากว่า 5,500 ร้าน
– อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ กว่า 169,000 ตารางเมตร
– ย่านรวมเทวสถานของมหาเทพศักดิ์สิทธิ์ ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยว และคนไทยเดินทางมาย่านนี้
– เชื่อมต่อกับย่านสยามสแควร์ – ชิดลม
– ความพร้อมของระบบคมนาคมครบทุกเส้นทาง ทางรถ – รถไฟฟ้า – เรือ
ทำให้ก่อนเกิดสถานการณ์ COVID-19 ในย่านราชประสงค์มี Traffic ทั้งคนไทย และชาวต่างประเทศ ในย่านนี้ไม่ต่ำกว่า 500,000 – 600,000 คนต่อวัน จึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯ
ถึงแม้เวลานี้จะเผชิญกับ COVID-19 ทำให้ราชประสงค์เงียบเหงาลงไปอย่างมาก แต่หากวันหนึ่งที่สถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย และประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยว ย่านการค้าแห่งนี้ จะยังคงเป็นแลนด์มาร์คดึงนักท่องเที่ยวต่างประเทศกลับมาอีกครั้ง
โลตัส VS บิ๊กซี ชิงลูกค้าไทย – ต่างชาติ
บิ๊กซี ราชดำริ คือ หนึ่งใน Top 5 สาขาที่ทำยอดขายสูงสุดให้กับบิ๊กซี โดยมีทั้งลูกค้าไทย และนักท่องเที่ยวมาใช้บริการไม่ต่ำกว่า 4 ล้านคนต่อปี โดยกลุ่มหลักคือ นักท่องเที่ยวชาวจีน และเวียดนาม นี่จึงทำให้ยอดขายสาขานี้มากกว่า 50% มาจากกลุ่มนักท่องเที่ยว
ดังนั้น หลังจากบิ๊กซีมาอยู่ในกลุ่มบีเจซี (BJC) หนึ่งในกลุ่มธุรกิจเครือทีซีซี กรุ๊ปของตระกูลสิริวัฒนภักดี ได้เดินหน้าขยายสาขา พัฒนา Store Format ใหม่ เช่น บิ๊กซี ฟู้ดเพลส (Big C Food Place) เน้นจำหน่ายอาหาร และสินค้า Grab & Go ทั้งหลาย โฟกัสโลเกชันในเมือง บิ๊กซี ดีโป้ (Big C Depot) โมเดลค้าส่งขนาดกลาง 700 ตารางเมตร อยู่ติดกับมินิบิ๊กซี และเน้นตั้งสาขาในต่างจังหวัด พร้อมกับการปรับโฉมสาขา อย่างสาขาหลัก “บิ๊กซี ราชดำริ” ได้รีโนเวทใหญ่เมื่อปี 2561 เนื่องจากสาขานี้เป็นหนึ่ง Flagship Store ที่มีฐานลูกค้าไทย และลูกค้าต่างประเทศจำนวนมาก
อ่านเพิ่มเติม:
- ตามดู 8 ประเด็นที่น่าสนใจของ บิ๊กซี ราชดำริ โฉมใหม่ ห้างไทยขวัญใจ “จีน-เวียดนาม”
- บิ๊กซีรุกค้าปลีก-ค้าส่ง ลดราคา-เติมร้านค้า ดึงผู้บริโภค และโชห่วยอยู่ในระบบนิเวศธุรกิจ
ขณะที่การเปิด โลตัส (Lotus’s) ชั้น G โซน M2 ในศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก แม้จะไม่ได้เป็นโมเดลไฮเปอร์มาร์เก็ตที่จำหน่ายสินค้าครบวงจรอย่างบิ๊กซี ราชดำริ หรือโลตัสสาขาใหญ่ เช่น รามอินทรา พระราม 4 ฯลฯ ก็ตาม แต่โลตัส สาขาเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ที่สร้างขึ้นรูปแบบซูเปอร์มาร์เก็ต เน้นสินค้าในชีวิตประจำวันเป็นหลัก เชื่อว่าจุดประสงค์หลักของสาขานี้คือ
– ด้วยศักยภาพของโลเคชั่นที่อยู่ใจกลางเมือง และเป็น Destination นักท่องเที่ยวต่างชาติ จึงเพิ่มโอกาสเข้าถึงผู้บริโภคไทย และคนต่างประเทศได้ในวงกว้าง รวมทั้งเป็น Touch Point ในการแบรนด์ดิ้ง ทั้งโลตัสเอง และสินค้า – บริการในเครือซีพี
– ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความสะดวก และรวดเร็วในซื้อของกินของใช้ในชีวิตประจำวัน
– สร้าง Win-Win ทั้ง 2 ฝ่ายคือ โลตัสได้เปิดสาขาโลเคชั่นใจกลางเมือง ขณะที่เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก หวังให้โลตัสเป็นหนึ่งใน Magnet สร้างทราฟิกคนมาเดิน และเกิดการใช้จ่าย
เพราะเป็นที่ทราบกันว่านับตั้งแต่ปี 2562 เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ศูนย์การค้าในเครือเดอะ แพลทินัม กรุ๊ป เปิดให้บริการ การตอบรับของลูกค้ายังไม่คึกคักมากนัก
ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลโลเคชั่นย่านนี้ เต็มไปด้วยช้อปปิ้งมอลล์ขนาดใหญ่ แม้จะคนละเซ็กเมนต์ก็ตาม แต่ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า Retail Developer ในย่านนี้ที่เปิดให้บริการมาก่อน สามารถตอบโจทย์ความครบวงจร และมีแบรนด์แม่เหล็กดึงลูกค้า
ขณะที่ เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก ยังไม่สามารถสร้างความแตกต่างอย่างชัดเจน และยังไม่มีผู้เช่าที่เป็นแบรนด์ใหญ่ที่มีพลังดึงคนมากพอ นี่จึงเป็นโจทย์ใหญ่
ในที่สุดช่วงเดือนมีนาคม ปี 2563 ดองกิ เปิดสาขา 2 ที่นี่ แต่ด้วยสถานการณ์ COVID-19 ทำให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวทั่วโลกหยุดชะงัก และในเวลาต่อมารัฐบาลประกาศ Lockdown กระทบต่อเศรษฐกิจ และกำลังซื้อประชาชน กระทั่งถึงวันนี้ ประเทศไทยอยู่ในภาวการณ์ระบาด ระลอก 3 ทำให้ธุรกิจรีเทล ร้านค้า และผู้ประกอบการ SME กระทบต่อเนื่องยาวข้ามปี! รวมทั้ง เดอะ มาร์เก็ต แบงคอก เช่นกัน
แต่เมื่อเครือเดอะ แพลทินัม กรุ๊ป เลือกปักหมุดพัฒนา Mixed-use Project แห่งนี้ให้แจ้งเกิด ต้องผลักดันให้ศูนย์การค้าเดอะ มาร์เก็ต แบงคอก เดินต่อไปได้
ในปีนี้ ได้ โลตัส มาเป็นอีก Magnet สำคัญ เพื่อสร้างความครบวงจรของศูนย์การค้า ซึ่งซูเปอร์มาร์เก็ต เป็นหนึ่งใน Magnet สำคัญของธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ ในการดึงคนมาใช้จ่ายของกินของใช้ทั่วไป ขณะที่ “ดองกิ” เน้นสินค้าอาหาร และของใช้จากญี่ปุ่นเป็นหลัก
เชื่อว่าเมื่อใดที่สามารถสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในประเทศได้ การระบาด COVID-19 เบาบางลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเป็นปกติ และเร่งฟื้นการท่องเที่ยว เพื่อเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศเข้ามา เชื่อว่าค้าปลีกในย่านราชประสงค์นี้ จะกลับมาคึกคัก และเห็นสีสันของการทำแคมเปญดึงดูดลูกค้าให้มาช้อปอย่างแน่นอน