HomeBrand Move !!รู้จัก “ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” ธุรกิจ Vending Machine ในเครือสหพัฒน์ ที่เตรียมขาย IPO  

รู้จัก “ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” ธุรกิจ Vending Machine ในเครือสหพัฒน์ ที่เตรียมขาย IPO  

แชร์ :

Sun Vending

เป็นอีกเทรนด์ธุรกิจตอบโจทย์พฤติกรรม “สะดวกซื้อ” 24 ชั่วโมง กับเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ที่มีผู้เล่นระดับบิ๊กอยู่ในตลาดนี้ ไม่ว่าจะเป็น T.G. Vending ของกลุ่ม TCP รวมทั้ง CP Retailink ในเครือซีพี แต่ผู้นำในตลาดเวนดิ้ง แมชชีน คือ SUN108 ของกลุ่มสหพัฒน์ ที่ทำธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี ถึงสิ้นปี 2564 จะมีกว่า 15,000 เครื่อง ล่าสุดได้ยื่นไฟลิ่ง เตรียมขาย IPO 200 ล้านหุ้น

ADFEST 2024

Santos Or Jaune

ข้อมูลจากไฟลิ่งที่ยื่นต่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)  เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ของบริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (“SVT”)  ชื่อเดิม “บริษัท ซันร้อยแปด จำกัด” ผู้ดำเนินธุรกิจค้าปลีกผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ซึ่งมีโรงงานปรับปรุงสภาพและประกอบ (Refurbishment) เครื่องอัตโนมัติ พร้อมทั้งจำหน่ายเวนดิ้ง แมชชีนให้กับลูกค้าภายใต้เครื่องหมายการค้า SUNVENDING”  (ชื่อเดิม SUN108)

โดยเสนอขายหุ้น IPO 200 ล้านหุ้น คิดเป็น 28.57% ของจำนวนหุ้นสามัญที่ออกและเรียกชำระแล้วทั้งหมดของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนในครั้งนี้

SVT ผู้นำ “เวนดิ้งแมชชีน” ธุรกิจในเครือสหพัฒน์

มาทำความรู้จัก IPO น้องใหม่ “ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี” หรือ SVT ถือเป็นผู้บุกเบิกธุรกิจค้าปลีกขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (Vending machine) ในประเทศไทยมากว่า 20 ปี  ก่อตั้งขึ้นโดยกลุ่มโชควัฒนาหรือสหพัฒนพิบูล (เครือสหพัฒน์ฯ) ที่เห็นโอกาสเติบโตของธุรกิจเครื่องอัตโนมัติต่อประชากรในประเทศไทยยังมีตลาดรองรับอีกมาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น ญี่ปุ่น จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย

โดยเริ่มจากการนำเข้าเครื่องอัตโนมัติจากประเทศญี่ปุ่น ทั้งเครื่องมือสอง (Used) และเครื่องใหม่มาผ่านกระบวนการปรับปรุงเพื่อการใช้งานในประเทศไทย โดย SVT มีโรงงานปรับปรุงสภาพและประกอบ (Refurbishment) เครื่องอัตโนมัติ และมีสาขากระจายสินค้า 11 แห่ง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการกว่า 26 จังหวัด

สิ้นปี 2563 SVT มีเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติอยู่ในตลาดกว่า 13,339 เครื่อง จำหน่ายสินค้าทั้งประเภทเครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอุปโภคบริโภคอื่นๆ รวมแล้วมีสินค้ากว่า 688 รายการ (SKU) โดยสัดส่วนของทำเลที่ตั้ง 70% อยู่ในพื้นที่โรงงาน ที่เหลือได้แก่ ห้างสรรพสินค้า อาคารที่พักอาศัย สถานศึกษา อาคารสำนักงาน ปั๊มน้ำมัน ฯลฯ

ปัจจุบัน SVT แบ่งประเภทธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

1.ธุรกิจขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (ทรัพย์สินของ SVT) เป็นผู้นำอันดับ 1 ในตลาดเวนดิ้งแมชชีน

2.ธุรกิจขายและให้เช่าเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ (สินค้าเพื่อขายและให้เช่า)

3.ธุรกิจบริการพื้นที่โฆษณาบนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

4.ธุรกิจแฟรนไชส์เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ

sun Vending-Machine

ปี 66 ขยายครบ 20,000 เครื่อง 

SVT มีเป้าหมายจะขยายบริการเครื่องอัตโนมัติให้ครบ 20,000 เครื่อง โดยเป็นเครื่องอัตโนมัติประเภทที่รองรับเงินสดและการชำระผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์หรือแอปพลิเคชั่นต่างๆ (Electronic payment) จำนวน 15,000 เครื่อง ภายในปี 2566 และคงความเป็น “ผู้นำ” ในธุรกิจเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติในประเทศไทยและพร้อมขยายธุรกิจสู่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ในปี 2559 SVT ได้ร่วมกับระบบแรบบิทไลน์เพย์ (Rabbit Line Pay) เพิ่มช่องทางการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟน จากนั้นได้เปิดรับชำระผ่านแอปพลิเคชั่น อาลีเพย์ (Alipay) ด้วยการสแกนคิวอาร์โค้ดที่ตัวเครื่อง

ปี 2560 ถึงปัจจุบัน SVT พัฒนาระบบการรับชำระเงินแบบ cashless กับเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ 7 ช่องทาง ได้แก่ Prompt Pay, Rabbit card , Line pay, True Money ,Ali Pay,  Wechat , Shopee pay และมีแผนอัพเกรดเครื่องอัตโนมัติที่มีอยู่ให้สามารถรองรับการชำระเงินแบบ Cashless ให้ได้มากขึ้น

หลัง IPO กลุ่มโชควัฒนายังถือหุ้นรวม 67%

เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2564 บริษัท ซันเวนดิ้ง เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) ได้จดทะเบียนเพิ่มทุนอีก 200 ล้านบาทเพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนทั่วไป จำนวน 200 ล้านหุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 1.00 บาท คิดเป็น 28.57% ของหุ้นสามัญที่ออกและชำระแล้วภายหลังการเสนอขายหุ้นสามัญครั้งนี้

sun Vending-Machine SAHA Group

โดยมีโครงสร้างการถือหุ้นของ SVT ภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO ดังนี้

ก่อน IPO ผู้ถือหุ้นของ SVT ณ วันที่ 31 มีนาคม 2564 มีจำนวน 132 ราย แบ่งกลุ่มผู้ถือหุ้นออกเป็น 4 กลุ่ม

1.กลุ่มโชควัฒนา

– บมจ.สหพัฒนพิบูล และบริษัทในเครือ (กลุ่มสหพัฒน์ฯ) 61.62%

– กลุ่มครอบครัวโชควัฒนา (ไม่ใช่กรรมการและผู้บริหารของ SVT) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม 24.12%

– กรรมการ(นามสกุลโชควัฒนา) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม 8.20%

2.กรรมการและผู้บริหาร 4 อันดับแรก 1.96%

3.ผู้บริหาร (ไม่ใช่นามสกุลโชควัฒนา) ในกลุ่มสหพัฒน์ฯ 0.34%

4.ผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ 3.76%

หลังขายหุ้น IPO สัดส่วนหุ้นเป็นดังนี้

1.กลุ่มโชควัฒนา

– บมจ.สหพัฒนพิบูล (สหพัฒน์ฯ) และบริษัทในเครือ 44.02%

– กลุ่มครอบครัวโชควัฒนา (ไม่ใช่กรรมการและผู้บริหารของ SVT) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม 17.23%

– กรรมการ (นามสกุลโชควัฒนา) และบริษัทที่มีอำนาจควบคุม 5.85%

2.กรรมการและผู้บริหาร 4 อันดับแรก 1.41%

3.ผู้บริหาร(ไม่ใช่นามสกุลโชควัฒนา) ในกลุ่มสหพัฒน์ฯ 0.24%

4.ผู้ถือหุ้นรายย่อยอื่นๆ (จำนวน 69 ราย) 2.68%

5.หุ้นเสนอขายต่อประชาชน (IPO) 28.57%

ส่องรายได้ SVT ย้อนหลัง 3 ปี

ธุรกิจของ SVT ปี 2563 มีเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติติดตั้งกระจายอยู่ในสถานที่ต่างๆ จำนวน 13,339 เครื่อง แบ่งออกเป็น 4 รูปแบบหลัก คือ ประเภทเครื่อง Can, เครื่อง See Through, เครื่อง Cup, และ เครื่อง Noodle ซึ่งสินค้าที่จำหน่ายผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติจะเป็นสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป และสินค้าอื่นๆ เช่น หน้ากากอนามัย ขนมปังเบอเกอรี่ เป็นต้น รวมแล้วมีสินค้ากว่า 688 รายการ

รายได้ของ SVT มาจาก 4 ช่องทาง คือ 1.รายได้จากการขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ สัดส่วน 95%  2.รายได้จากการขายเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ 3.รายได้จากการบริการพื้นที่โฆษณาบนเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ และ 4. รายได้จากการบริการ

sun 108Vending-Machine

สำหรับผลประกอบการของ SVT ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา

  • ปี 2561 รายได้ 1,699 ล้านบาท กำไร 132 ล้านบาท  อัตราส่วนกำไร 7.78%
  • ปี 2562 รายได้ 1,805 ล้านบาท กำไร   93 ล้านบาท  อัตราส่วนกำไร 5.17%
  • ปี 2563 รายได้ 1,767 ล้านบาท กำไร   55  ล้านบาท  อัตราส่วนกำร 3.14%

อัตรากำไรสุทธิในปี 2562 และในปี 2563 ลดลงเนื่องจากค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารเพิ่มขึ้น สาเหตุหลักมาจากขยายการลงทุนในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและการขยายสาขาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้ค่าเสื่อมราคาของเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติและค่าใช้จ่ายพนักงานของสาขาเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าบริการวางพื้นที่เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเพิ่มขึ้น

สถานการณ์แพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 ส่งผลกระทบต่อรายได้จากการขายสินค้าผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติของบริษัท โดยเฉพาะลูกค้ากลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นลูกค้าหลักของบริษัท ทำให้ SVT กระจายความเสี่ยงโดยการขยายพื้นที่ให้บริการติดตั้งเครื่อง ใน Segment ใหม่ๆ เพิ่มขึ้น เช่น ปั๊มน้ำมัน สถานีรถไฟฟ้า MRT 7 สถานี คอนโดนิเนียม เป็นต้น เพื่อให้สอดรับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การ Work Form Home

จากแผนขยายติดตั้งเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติให้ครบ 20,000 เครื่องในปี 2566 แบ่งออกเป็น กลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม  3,500 เครื่อง กลุ่มระบบขนส่งมวลชน 500 เครื่อง ห้างสรรพสินค้าและศูนย์แสดงสินค้า 1,000 เครื่อง

ส่วนธุรกิจให้เช่าเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติ SVT มีแผนร่วมกับพันธมิตรทางการค้า ทั้งผู้ผลิตสินค้า และผู้ประกอบธุรกิจ Retail รายใหญ่ เพื่อขยายการให้บริการเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติไปยังพื้นที่ต่างๆ ร่วมกันทั่วประเทศ โดยมีรายได้จากส่วนแบ่งของยอดขาย (GP) หรือค่าเช่า และทำให้แบรนด์ของ SVT เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้นและเป็นผู้นำในตลาด Vending Machine โดยคาดว่าจะมีการให้เช่าเครื่องมากกว่า 1,500 เครื่อง ภายในปี 2566

ธุรกิจแฟรนไชส์จะเริ่มในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 โดยตั้งเป้าในปี 2566 จะมีเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติประมาณ 2,500 เครื่อง

โดยวางแผนการติดตั้งอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ในเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นเครื่องแบบ Smart SVT จะผลิตเครื่อง Smart เพิ่มเป็น 15,000 เครื่อง ภายในปี 2566 ซึ่งมีแผนผลิตปีละ 5,000 เครื่อง

sun Vending-Machine 2566

นอกจากนี้ได้พัฒนาสินค้าที่เป็นแบรนด์สินค้าของ SVT เพื่อจัดจำหน่ายผ่านเครื่องอัตโนมัติ โดยจะผลิตเครื่องดื่มในหมวดต่างๆ ที่เป็นที่นิยมในตลาดตามเทรนด์ผู้บริโภค ผ่านเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติที่เป็นจุดแข็งในช่องทางการจำหน่ายของ SVT ซึ่งมีผู้ใช้บริการมากกว่า 20 ล้านรายการ (Transaction) ต่อเดือน

สินค้าที่เป็นแบรนด์ของ SVT จะไม่ได้จำหน่ายเพียงช่องทางเครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติเท่านั้น แต่ยังมีแผนกระจายไปในช่องทางการจัดจำหน่ายอื่นๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ (ร้านค้าส่ง ร้านสะดวกซื้อ) คาดว่าการผลิตสินค้าเองจะทำให้ได้รับส่วนต่างกำไรมากขึ้นอีก 0.3-0.5%

sun Vending new product

ธุรกิจ Vending Machine ก็เปรียบได้กับร้านสะดวกซื้อ ถึงสิ้นปีนี้ SVT จะมีเครื่องขายสินค้าอัตโนมัติราว 15,000 เครื่อง จำหน่ายสินค้า 24 ชั่วโมง เรียกว่าจำนวนจุดขายแซงร้านเซเว่น อีเลฟเว่นที่จะมีราว 13,100 สาขาในปีนี้ไปแล้ว


แชร์ :

You may also like