หลังจาก TMB ควบรวมกับธนาคารธนชาต และประกาศเปลี่ยนชื่อธนาคารใหม่เป็น “ธนาคารทหารไทยธนชาต” หรือ “ทีเอ็มบีธนชาต” (ttb) เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 ที่ผ่านมา ttb ก็ลุยเปิดแผนธุรกิจปีนี้ โดยเร่งเครื่อง 3 เรื่องสำคัญ รุกขยายฐานลูกค้าที่เลือกใช้ธนาคารเป็นธนาคารหลัก เพิ่มศักยภาพช่องทางดิจิทัล สร้างสรรค์แพลตฟอร์มดิจิทัลที่เป็นมิตรและรู้ใจ พร้อมยกระดับทักษะพนักงานเพื่อสนับสนุนทิศทางการดำเนินงานของธนาคาร
ตั้งเป้าดัน ttb สู่ Main Bank
คุณปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) หรือ ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การรวมทีมของ 2 องค์กรได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว 100% ผนึกเป็น One Team ที่พร้อมจะสานต่อ One Dream ที่มีร่วมกัน คือ การสร้างชีวิตทางการเงิน (Financial Well-being) ที่ดีขึ้นให้กับคนไทยทั้งประเทศ ผ่านโซลูชันทางการเงินที่จะช่วยให้ลูกค้ามีสุขภาพทางการเงินที่แข็งแรง พร้อมฝ่าอุปสรรค และสามารถเดินหน้าต่อไปได้แม้ในช่วงวิกฤต COVID-19 ซึ่งตลอดปี 2563 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2564 สิ่งที่ธนาคารดำเนินการควบคู่กันกับการเดินหน้ารวมกิจการระหว่างทีเอ็มบีและธนชาต เพื่อเป้าหมายการรวมเป็นหนึ่งเดียวกันอย่างสมบูรณ์ (EBT) ภายในเดือนกรกฎาคม 2564 คือ การให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 โดยในปีที่ผ่านมาได้ให้ความช่วยเหลือลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งรายย่อยและธุรกิจไปกว่า 750,000 ราย และในช่วงเวลานี้ก็ได้เตรียมมาตรการอย่างต่อเนื่องเพื่อช่วยให้ลูกค้าสามารถผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปได้
สำหรับปีนี้ ttb ได้วางเป้าหมายรักษาฐานลูกค้าเดิมที่มีอยู่ 10 ล้านรายให้มีฐานการเงินที่ดีที่สุด โดยมุ่งให้ความสำคัญใน 3 ด้าน ประกอบด้วย
- ขยายฐานลูกค้าที่เลือกใช้ธนาคารเป็นธนาคารหลัก (Main Bank) โดยมีเป้าหมายหลักคือ ลูกค้ารวมกว่า 10 ล้านราย ผ่าน Financial Well-being solution ที่จะทำให้ลูกค้ามีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้น ด้วยโซลูชันที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในทุกช่วงชีวิตผ่าน 4 เสาหลัก (Financial Well-being pillars) ได้แก่ ฉลาดออม ฉลาดใช้ (Mindful spending & start saving), รอบรู้เรื่องกู้ยืม (Healthy borrowing), ลงทุนเพื่ออนาคต (Investing for future) และมีความคุ้มครองที่อุ่นใจ (Sufficient protection)
- สร้างศักยภาพด้าน Digital-first operating model บนโมบายแบงก์กิ้งแพลตฟอร์ม ที่เป็นมิตรและรู้ใจตอบโจทย์ความต้องการที่แตกต่างกันในแต่ละคน แต่ละช่วงชีวิต มอบประสบการณ์ที่ดีกว่า สอดคล้องกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงของลูกค้า และมีความคล่องตัวที่สูงขึ้นในการขับเคลื่อนนวัตกรรม
- สร้างศักยภาพบุคลากร (People development) เพื่อสนับสนุนการสร้าง Humanized digital เนื่องจากธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะเทคโนโลยี แต่ให้ความสำคัญกับการสร้างความสัมพันธ์และให้ความช่วยเหลือเป็นที่ปรึกษาทางการเงินผ่านพนักงานของธนาคาร โดยใช้ดิจิทัลเป็นเครื่องมือที่มาช่วยอำนวยความสะดวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการให้บริการลูกค้า เพื่อให้สอดรับกับยุคดิจิทัล ซึ่งพนักงานจะได้รับการพัฒนายกระดับทักษะเดิมให้ดีขึ้น (Up-skill) และสร้างทักษะใหม่ที่จำเป็นในการทำงาน (Re-skill) ที่เหมาะสม เพื่อสนับสนุนทิศทางของธนาคารที่จะสร้าง Humanized digital หรือ รูปแบบการให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลที่เป็นมิตรและรู้ใจ
“สิ่งที่จะต้องทำคือ การสร้างความเข้มแข็งทางการเงินเพื่อเป็นภูมิคุ้มกันให้คนไทยก้าวข้ามวิกฤติต่างๆ ไปได้ และมีชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นได้” คุณปิติ กล่าว
ลุยพัฒนาโซลูชันตอบโจทย์ลูกค้า 4 กลุ่ม ตามช่วงชีวิต
สำหรับลูกค้ารายย่อย ttb จะยึดความต้องการและเป้าหมายของลูกค้าเป็นที่ตั้ง โดยแบ่งลูกค้าเป็น 4 กลุ่มตามช่วงชีวิต พร้อมกับออกแบบโซลูชันทางการเงินที่สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละช่วงชีวิต ดังนี้
- กลุ่มลูกค้าที่เพิ่งเริ่มทำงาน วัยที่กำลังก่อร่างสร้างตัว เพื่อล้านแรกในชีวิต ธนาคารจะเน้นโซลูชันด้านฉลาดออม ฉลาดใช้ เพื่อให้ลูกค้าได้ใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง พร้อมรับสิทธิประโยชน์รอบด้าน รวมถึงประกันอุบัติเหตุฟรี ที่ช่วยบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายที่คาดไม่ถึงหากเกิดอุบัติเหตุผ่านบัญชี all free และ ออมอย่างมีวินัยเพื่อใช้ในยามฉุกเฉินผ่านบัญชี no fixed
- กลุ่มลูกค้าที่เริ่มสร้างครอบครัว เป็นเสาหลักของบ้าน ต้องการชีวิตอิสระในวันข้างหน้า ธนาคารจะเสนอโซลูชันเกี่ยวกับสินเชื่อสำหรับลูกค้าที่ต้องการมีบ้าน มีรถ ที่ใหญ่ขึ้นสำหรับครอบครัวที่ใหญ่ขึ้น พร้อมทั้งเป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้คนกลุ่มนี้มีระเบียบวินัยในการผ่อนชำระเพื่อปลอดหนี้ได้เร็วที่สุด และมีโซลูชันการรวบหนี้ด้วยทรัพย์สินที่มีอยู่ เพื่อให้จัดการปลอดหนี้ได้เร็วที่สุด สามารถเริ่มต้นเก็บออม และลงทุนเพื่ออนาคตได้ต่อไป
- กลุ่มลูกค้าที่ประสบความสำเร็จจากหน้าที่การงาน ต้องการมีชีวิตที่มั่นคงและเกษียณอย่างไร้กังวล ธนาคารเน้นการให้ความรู้ด้านการลงทุน จัดทัพตามความเสี่ยง ต่อยอดความมั่งคั่ง ผ่านผลิตภัณฑ์การลงทุนที่หลากหลาย และ ttb smart port พอร์ตการลงทุน ที่ตอบทุกโจทย์การลงทุนครบวงจร โดยมืออาชีพ
- กลุ่มลูกค้าที่มีความมั่งคั่ง เตรียมเข้าสู่วัยเกษียณ อยากใช้ชีวิตได้ตามใจ สุขภาพเป็นหนึ่ง ลูกหลานสบาย ธนาคารพร้อมส่งมอบโซลูชันด้านประกันชีวิตและการลงทุนที่มอบความอุ่นใจ ในการรักษาความมั่งคั่ง พร้อมดูแลสุขภาพ และวางแผนส่งต่อมรดกให้กับทายาทได้อย่างสบายใจ
ขณะที่สินเชื่อรถยนต์ ในปีที่ผ่านมา ธนาคารได้ช่วยเหลือลูกค้าและคู่ค้าด้วยโครงการ “ตั้งหลัก” ซึ่งช่วยลูกค้า ผ่อนหนักเป็นเบาได้กว่า 600,000 รายทั่วประเทศ และมอบประกันคุ้มครองไวรัส COVID-19 ให้แก่บริษัทคู่ค้าทั้งรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้แล้วกว่า 3,000 รายทั่วประเทศ
สำหรับปีนี้ ธุรกิจสินเชื่อรถยนต์ของธนาคารภายใต้แบรนด์ ttbDRIVE พร้อมขับเคลื่อนสนับสนุนครอบคลุมทุกภาคส่วนใน ecosystem ของธุรกิจรถยนต์ ด้วยภารกิจ “มากกว่าสินเชื่อรถ เพื่อให้ชีวิตคุณดีขึ้น” ได้แก่
- พร้อมขับเคลื่อนให้ลูกค้าไปต่อ โดย ttbDRIVE พร้อมช่วยลูกค้าเคลียร์ทุกอุปสรรคทางการเงิน รวมหนี้ ลดภาระ เพิ่มสภาพคล่องด้วย “รถแลกเงินเคลียร์หนี้” และมอบสิทธิพิเศษให้ลูกค้าที่รักษาวินัยทางการเงินเป็นอย่างดีผ่านโครงการ “จ่ายดีมีคืน” อีกทั้งยังช่วยให้ลูกค้าเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกและรวดเร็วยิ่งขึ้น ด้วยโปรแกรม auto-approve ผนวกกับ scoring model พร้อมเจ้าหน้าที่ ttbDRIVE agent ให้บริการครอบคลุมทุกพื้นที่ทั่วประเทศ
- พร้อมขับเคลื่อนให้ธุรกิจคู่ค้าไม่สะดุด โดยได้เปิดตัว “DRIVE Connect Platform” มิติใหม่ของการทำตลาดออนไลน์ผ่านทาง Facebook ให้กับกลุ่มผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว (ดีลเลอร์รถมือสอง) และยังมีระบบ “Cross-area Booking” สามารถรองรับการซื้อขายรถยนต์ใหม่และรถยนต์ใช้แล้วผ่านช่องทางออนไลน์ ลดข้อจำกัดด้านพื้นที่ให้แก่คู่ค้า และ 3. พร้อมยกระดับศักยภาพทีมงาน ttbDRIVE เพื่อการทำงานในยุคดิจิทัล ผ่าน DRIVE Academy โรงเรียนสินเชื่อรถยนต์ ttb เพื่อจะฝึกทีมงาน DRIVE ภายใต้หลักสูตรที่เข้มข้น เพื่อสร้างบริการที่ดีให้กับลูกค้าและคู่ค้าทุกราย
จัด 3 โซลูชั่นช่วยลูกค้าธุรกิจ
ส่วนลูกค้าธุรกิจองค์กร จากการแข่งขันและความผันผวนที่ต้องเผชิญ ทำให้ลูกค้าธุรกิจได้รับผลกระทบหนักโดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจ SMEs ทำให้ธนาคารเตรียมมาตรการให้ความช่วยเหลือผ่าน 3 โซลูชัน เพื่อชีวิตทางการเงินที่ดีขึ้นของลูกค้าธุรกิจ
- มอบแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมและเพียงพอ โดยเน้นการสนับสนุนเอสเอ็มอีที่อยู่ในซัพพลายเชนของธุรกิจขนาดใหญ่ให้ได้รับวงเงินที่เพียงพอบนเงื่อนไขที่เหมาะสมผ่าน “สินเชื่อเพื่อเครือข่ายธุรกิจ ทีทีบี (ttb supply chain solutions)” และช่วยเสริมสภาพคล่องในภาวะวิกฤตด้วยโครงการช่วยเหลือลูกค้าเอสเอ็มอี (Special Loan) และมาตรการพักทรัพย์ พักหนี้ (Asset warehousing) ที่สอดคล้องนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย
- มอบโซลูชันและบริการที่ช่วยยกระดับประสิทธิภาพการบริหารธุรกิจ ด้วย “ธนาคารดิจิทัลเพื่อโลกธุรกิจ ทีทีบี บิสซิเนสวัน (ttb business one)” ที่เป็นมากกว่าเครื่องมือการทำธุรกรรมออนไลน์ บิสซิเนสวัน ช่วยให้ทำธุรกรรมได้ครบตั้งแต่เรื่องสินเชื่อ จนถึงธุรกรรมต่างประเทศ มีรายงานครบถ้วน เรียกดูง่าย และนำไปต่อยอดทำรายงานเชิงวิเคราะห์ได้ สามารถเชื่อมต่อกับระบบของพันธมิตรและลูกค้า เช่น ERP POS และอีกหนึ่งดิจิทัลโซลูชันที่ช่วยลดเรื่องการใช้เงินสดและเอกสารอย่างเต็มรูปแบบก็คือ “ระบบบริหารการเรียกเก็บเงิน ทีทีบี (ttb digital invoice management)” ซึ่งเป็นการนำโซลูชันของธนาคารมาเชื่อมต่อกับระบบการเรียกเก็บเงินของลูกค้าธุรกิจ ลดการใช้เงินสดและเอกสาร ลดเวลาดำเนินการ และค่าใช้จ่ายเรื่องคน
- มอบชีวิตทางการเงินที่ดีให้แก่พนักงานและคู่ค้า ด้วย “บริการการจ่ายเงินเดือนและสวัสดิการพนักงาน ทีทีบี เพย์โรลพลัส (ttb payroll plus)” รวมไปถึงบริการและผลิตภัณฑ์ด้านการบริหารความเสี่ยงและด้านประกัน อย่างเช่น “ประกันสินเชื่อธุรกิจ ทีทีบี วันไลฟ์ (ttb one life business insurance)” เป็นต้น
สำหรับความคืบหน้าในการรวมกิจการด้านบุคลากร ประพันธ์ อนุพงษ์องอาจ ผู้จัดการใหญ่ ทีเอ็มบีธนชาต (ttb) บอกว่า ขณะนี้ได้รวมพนักงานทั้งสององค์กรเป็นพนักงานของทีเอ็มบีธนชาต (ttb) แล้ว 100% เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และเร่งสร้างวัฒนธรรมองค์กรใหม่ เพื่อหล่อหลอมพนักงานให้เป็นหนึ่งเดียว ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้สามารถเดินหน้าไปตามเป้าหมายที่วางไว้
ส่วนช่องทางการให้บริการและการสื่อสาร ได้ทยอยรวมช่องทางหลักของทั้งสองธนาคาร เช่น สาขา และ atm รวมทั้งทำการ รีแบรนด์เป็นทีเอ็มบีธนชาต หรือ ttb ตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งลูกค้าเดิมของทั้งสองธนาคารสามารถเข้าไปใช้บริการได้ ขณะที่ช่องทางอื่น ๆ เช่น Digital channels จะทยอยรวมเป็นแบรนด์ใหม่ ttb และมีกำหนดแล้วเสร็จทั้งหมดในเดือนกรกฎาคม 2564 อีกทั้งสื่อทางการตลาดต่าง ๆ รวมทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ก็ได้เปลี่ยนโฉมใหม่ภายใต้แบรนด์ ttb เช่นกัน
ด้านระบบงาน IT และระบบงานผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มีการเตรียมความพร้อมในการเชื่อมต่อระบบของทั้งสองธนาคารไว้แล้ว สำหรับกระบวนการสุดท้ายของการรวมกิจการ คือ การเชื่อมต่อระบบของทั้งทีเอ็มบีและธนชาตให้เป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์ (Entire Business Transfer) ซึ่งการเชื่อมต่อระบบในครั้งนี้ ทีมงานได้มีการวางแผนงานอย่างรัดกุมและมีการซักซ้อมแบบเสมือนจริง (Mock run) เพื่อให้การเชื่อมต่อระบบในวันจริงสำเร็จตามแผน